“ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะเอาการเรียนเป็นตัวตั้งหรือเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง คนอื่นกำลังเดือดร้อนและไม่มีกินแต่เราบอกว่ามาเรียนหนังสือกันเถอะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเข้าใจ empathy มากขึ้น ตอนนี้ต้องถามว่าคะแนนสอบใหญ่กว่าหรือชีวิตใหญ่กว่า”
มิรา เวฬุภาค
ผู้บริหาร mappa
นานๆ ครั้งหนึ่งจึงได้อ่านหรือได้ยินใครพูดถึงเรื่องการศึกษาในประเด็นที่แตกต่าง บทสนทนาของคุณบี-มิรา ที่ยกมาเป็นครั้งหนึ่ง เรามักเป็นห่วงที่เด็กที่เรียนไม่ได้ เรียนออนไลน์ไม่ได้ หรือกำลังจะหลุดจากระบบการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะความขัดสน
แต่ที่เราไม่ค่อยคิดคือตัวการศึกษานั้นเองที่เป็นต้นเหตุ
แทนที่ตัวการศึกษาจะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือลดตัวลงไปให้เด็กเหล่านั้น ‘เรียนได้’ แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่คิดเพียงวิธีว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้น แม้จะเป็นความตั้งใจดีแต่ก็เป็นวิธีการที่ผิด ไม่นับว่าบ่อยครั้งทำไปโดยมิได้คาดหวังผลลัพธ์อะไรเลย
ใครๆ ยังพากันจะช่วยเด็กที่หลุดออกจากระบบ ไม่มีใครคิดเรื่องจะลากการศึกษาโน้มตัวลงไปหาเด็กๆ
ความยากจนมีขนาดของปัญหา (volume) และความรุนแรงของปัญหา (severity) มากกว่าเรื่องเรียนหนังสือไม่ได้มากนัก เปรียบเหมือนเด็กจะถูกรถชนตายอยู่แล้วยังจะขอให้เขาผูกเชือกรองเท้าก่อนวิ่งหนี ที่เราควรทำคือหยุดรถ ลงไปอุ้มเขาวิ่งหนี เปรียบเหมือนหยุดเดินเครื่องการศึกษาแล้วช่วยเหลือชีวิตของพวกเขาก่อน ที่เขียนนี้เป็นอุปมาอุปไมย ในความเป็นจริงเราทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้
เราควรหยุดเดินเครื่องการศึกษาเพราะการศึกษาวันนี้เป็นการศึกษาที่ไม่มีประโยชน์ ดังที่นักเรียนเลวคนหนึ่งพูดไว้
“วันนี้เราทำเพียงเอาของออฟไลน์มาวางบนออนไลน์ มิหนำซ้ำยังเป็นของออฟไลน์ที่แย่ๆ อีกต่างหาก”
ของแย่ๆ พวกนี้จะไม่เรียนก็ไม่มีใครเป็นอะไรหรอก ดังที่เราพร่ำบ่นและท่องได้อยู่เสมอว่า “การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้ กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าการเรียนหนังสือ” เมื่อท่องกันได้เช่นนี้ก็อย่าวิตกวิจารณ์กันเกินไป หากเราจะหยุดเดินเครื่องการศึกษาแล้วโน้มตัวลงไปช้อนเด็กๆ ขึ้นมาจากอุปสรรคทั้งปวงที่รุมล้อมเขาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเกรดที่ใกล้ตก เครื่องมือไอทีที่ไม่มี หรือความยากจนที่ไม่มีทางออก
อีกครั้งหนึ่ง เราทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ นั่นคืออุ้มเขาออกไปมิให้ถูกรถชนเสียก่อนแล้วจึงสอนผูกเชือกรองเท้าทีหลัง แต่ครั้งนี้การสอนผูกเชือกมิใช่การวาดรูปวิธีผูกเชือกในสมุดจดงาน แต่เป็นการนำผูกจริงในชีวิตจริงเพื่อนำไปใช้จริง เช่นนี้จึงเป็นไปตามที่ท่องกันนั่นคือ “การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้ และวิธีเรียนรู้สำคัญกว่าการนั่งเรียนหนังสือ”
การปิดโรงเรียนเพราะโควิดหรือเพราะไม่มีเด็กนักเรียนมากพอมิใช่คำตอบ การเปิดโรงเรียนนั่งเรียนด้วยกันในห้อง 40 คนมิใช่คำตอบเช่นกัน เราต้องการวิธีเรียนรู้ในที่โล่งโอเพนแอร์และเรียนรู้สรรพสิ่งรอบตัวในชีวิตจริง ตามบริบทของท้องถิ่นนั้นจริงๆ ซึ่งหากโรงเรียนหรือคุณครูเริ่มต้นเช่นนี้ได้ การที่เด็กแต่ละคนมีเครื่องมือไอทีไม่พร้อมจะลดความสำคัญลง แต่ตัวโรงเรียนเองที่ต้องมีเครื่องมือไอทีเพียบพร้อม นี่จึงเป็นหน้าที่ของผู้กุมนโยบายการศึกษาและผู้บริหารการศึกษาระดับสูง
ไม่มีหรอกนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน มีแต่โรงเรียนหรือผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน
ไม่มีหรอกเด็กๆ ที่ตกมาตรฐาน มีแต่ผู้กุมนโยบายและผู้บริหารการศึกษาระดับสูงที่ตกมาตรฐาน
การศึกษาที่แท้ควรตั้งอยู่บนความจริง แล้วถ้าความจริงของบ้านเรา ของหมู่บ้านเรา ของตำบลเราคือความยากจน การศึกษานั้นเองที่ต้องปรับตัวเองให้มาเรียนรู้เรื่องความยากจน มิใช่มัวแต่ให้ท่องของออฟไลน์แย่ๆ ที่ไปวางอยู่ในออนไลน์ แล้วทำเด็กสอบตกหรือหลุดจากระบบเพียงเพราะเรียนออนไลน์ไม่ได้
ปิดท้ายด้วยการรำลึกถึงข่าวการสอบเข้าโรงเรียนอนุบาลของโรงเรียนสาธิตบางแห่งที่ชอบใช้คำว่า “สัมภาษณ์เด็ก สัมภาษณ์พ่อแม่” แทนคำว่าการสอบคัดเลือก แล้วหลุดวิธีตัดคะแนนเด็กเล็กเมื่อเด็กร้องไห้ออกมาให้สาธารณชนเห็น
ไม่มีหรอกเด็กที่ผิดปกติ มีแต่สังคมที่ผิดปกติ
ควรถึงเวลาที่เราพูดคุยกันอย่างจริงจังว่า ทำอย่างไรให้โรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนสาธิตที่ดีมีราคาถูกลง และเด็กยากจนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงได้