พัฒนาการเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ความข้อนี้เป็นที่รู้กันทั่วว่าสำคัญ เท่าๆ กับที่รู้กันทั่วว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่เพราะอะไรทั้งที่รู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญกลับไม่มีความพยายามจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการเด็กและการศึกษาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
คำตอบหนึ่งคือเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นว่าสองเรื่องนี้สำคัญมากพอ
หรือไม่ก็เพราะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับงานพัฒนาเด็กและงานการศึกษายังไม่เห็นความสำคัญมากพอ
วันนี้เราพบคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิดที่เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ปีและไม่มีทีท่าว่าจะสงบในเร็ววัน นอกจากนี้เรายังสัมผัสได้ว่ามีคุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ๆ ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากได้เวลา โอกาส หรือรัฐสวัสดิการที่ดีเพื่อช่วยให้เราเลี้ยงลูกได้ง่ายกว่าเดิมและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
“จำนวนคนรุ่นใหม่และจำนวนครอบครัวสมัยใหม่มีน้อยเกินไป ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วันนี้เราจึงยังคงได้ผู้ใหญ่ที่มีความคิดอ่านอย่างเดิมและบริหารแบบเดิมแล้วก็จะได้ผลลัพธ์เช่นเดิม นั่นคือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” ผมเคยเขียนไว้เองที่ WAY magazine นี้
จำนวนที่มากพอนั้น การแพทย์เรียกว่า critical mass คือมวลวิกฤติ
วิกฤติต่ออะไร วิกฤติต่อการเปลี่ยนแปลงและมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในกรณีนี้หมายถึงขนาดของมวลชนมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่จำนวนของเด็กสมัยใหม่ที่มากพอ และจำนวนครอบครัวสมัยใหม่ที่มากพอ
ยิ่งไปกว่านั้นครอบครัวสมัยใหม่จึงจะเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นเด็กสมัยใหม่ได้ ขนาดของมวลจึงจะเพิ่มเร็วมากขึ้นเป็นทวีคูณ
เพื่อให้ได้เด็กสมัยใหม่ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้เรื่อง ‘เวลาวิกฤติ’ คือ critical period หมายถึงเวลาช่วงหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำอะไรอย่างหนึ่ง หากไม่ทำจะหวนกลับไปทำอีกมิได้เหตุเพราะโอกาสที่จะทำนั้นปิดไปแล้ว ก็เหมือนการไปดูงานคอนเสิร์ตแสดงสดอะไรสักอย่างให้ตรงเวลา หากไปไม่ตรงเวลาอดีตนั้นหวนกลับมิได้อีก ถึงจะซื้อเทปกลับบ้านไปดูตอนต้นก็มิใช่การแสดงสดอีก
โอกาสที่ปิดนั้นมีทั้งที่เป็นโอกาสทางจิตวิทยาและโอกาสทางชีววิทยา
โอกาสทางจิตวิทยาหมายถึงเด็กไม่พร้อมที่จะพัฒนาเรื่องนั้นๆ อีกเมื่อเวลาวิกฤติผ่านไป เขาจะพร้อมตอนอายุหนึ่งเท่านั้น พอเวลาล่วงเลยเขาจะเลิกสนใจเรื่องเดิมไปสนใจเรื่องใหม่ต่อ
โอกาสทางชีววิทยาหมายถึงภาวะที่สมองปิดรับพัฒนาการบางเรื่องเมื่อพ้นเวลา ส่วนใหญ่เกิดจากการหลั่งสารสื่อนำประสาท (neurotransmitters) ชุดใหม่ๆ มายับยั้งการทำงานของสารสื่อนำประสาทชุดเก่าๆ มิให้ทำงานได้อีก อาจจะเป็นการยับยั้ง (inhibition) โดยตรงหรือการปิดตัวรับ (receptors) อย่างถาวร
ที่คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ๆ ควรทราบจึงเป็นเรื่องเวลาวิกฤติ มากกว่านี้คือครูพี่เลี้ยงตามศูนย์พี่เลี้ยงเด็กและครูอนุบาล ถัดไปคือครูประถมและผู้บริหารการศึกษาระดับต้นและระดับกลาง สุดท้ายคือผู้บริหารกระทรวงการพัฒนามนุษย์ฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลใดๆ ควรทราบว่าเราจะท่องบ่นวิสัยทัศน์พันธกิจเลิศหรูโดยไม่ลงมือทำอะไรนั้นมิได้ และการพร่ำบ่นไม่เลิกราของนักคิดนักการศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน
เราต้องการการลงมือทำวันพรุ่งนี้
เหตุที่เป็นวันพรุ่งนี้เพราะเวลาวิกฤติของพัฒนาการเด็กหลายเรื่องเริ่มตั้งแต่แรกคลอด และบางเรื่องเริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์ แล้วโอกาสจะปิดหลังจากอายุประมาณ 9-15 ปีเป็นอย่างช้าที่สุด คือช่วงเวลาที่สมองของคนเราจะหลั่งสารสื่อนำประสาทจำนวนหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดกระบวนการตัดแต่งสมอง (synaptic pruning) ให้เรียบร้อยก่อนจะปิดบัญชีลงอย่างค่อนข้างจะถาวร
หากเราคำนึงว่าอายุ 15 ปีนี้คือมัธยม 3 นั่นหมายความว่าเพียง 15 ปีเท่านั้นเราจะได้คนรุ่นใหม่จำนวนมากจนน่าจะถึงมวลวิกฤติที่ผู้บริหารใน 15 ปีข้างหน้าจะทนอยู่นิ่งเฉยไม่ได้แล้ว ‘เปลี่ยนแปลง’ นั่นคือปี พ.ศ. 2580
เขียนเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์เลย
เวลาวิกฤติที่สำคัญมีดังนี้
6 เดือนแรกหลังคลอด ทารกจะสร้างแม่ที่มีอยู่จริง ทำได้ดีที่สุดเมื่อแม่มีเวลาอยู่บ้านเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง
12 เดือนแรก เด็กมีหน้าที่ไว้ใจแม่และโลก การอ่านนิทานก่อนนอนทุกคืนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อการนี้ แม่จึงควรมีหนังสือนิทาน รวมทั้งมีเวลาและแรงที่จะอ่าน นี่เป็นโอกาสที่พ่อจะเข้ามาทำหน้าที่ได้ง่ายมาก
3 ปีแรก เด็กจะสร้างสายสัมพันธ์กับแม่และสร้างตัวตน ตัวตนคือประธานของประโยค เด็กจะเดินจากไป ตามด้วยวิ่ง และเดินทางสู่อนาคต รัฐที่รู้ทันจึงจะค้นหาหนทางที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกให้พ่อแม่-ลูก มีปฏิสัมพันธ์กันโดยง่ายตลอด 3 ปี วิธีที่ง่ายและได้ผลคือการสร้างพื้นที่เล่นจำนวนมาก
7 ปีแรก เด็กมีหน้าที่อ่าน-เล่น-ทำงาน เพื่อสร้างเซลล์สมอง (neurons) และจุดเชื่อมต่อประสาท (synapses) ที่จะเป็นรากฐานของความสามารถระดับสูงที่เรียกว่า Executive Function (EF) รัฐที่รู้ทันจึงจัดการศึกษาชั้นอนุบาลแบบบูรณาการและเปิดโอกาสให้เด็กอนุบาลได้ อ่าน-เล่น-ทำงาน มิใช่นั่งเรียนหนังสืออย่างเคร่งเครียด บังคับอ่าน บังคับเขียน และบังคับบวกลบเลขอย่างเข้มงวด
12 ปีแรก คือเด็กประถม หน้าที่สำคัญทางจิตวิทยาพัฒนาการและเป็นเวลาวิกฤติคือการลดความเป็นศูนย์กลางของตนเองแล้วอ่าน-เล่น-ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนด้วยโจทย์ปัญหาหรือโครงงานเพื่อการเรียนรู้ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมและการทำงานเป็นทีมที่มีเป้าหมายร่วม (collaboration) รัฐที่รู้ทันจึงจัดการศึกษาเพื่อรองรับพัฒนาการเหล่านี้
เวลาวิกฤติเหล่านี้เป็นเวลาวิกฤติทางจิตวิทยา ส่วนเวลาวิกฤติทางชีววิทยาคือกระบวนการตัดแต่งสมองนั้นจะปิดลงหลังจากจบชั้นประถมไปไม่นาน
เราจึงจะได้เยาวชน-คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเชิงนามธรรมอย่างดีที่สุด ได้แก่ ความคิดเชิงคุณค่า อุดมคติ อุดมการณ์ จริยธรรม จิตสาธารณะ และการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง ซึ่งก็คือรากฐานของประชาธิปไตย
ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังรู้จักคิดวิพากษ์ ไม่เชื่อสิ่งที่เชื่อตามๆ กันมา แล้วรู้จักพูด ไม่เพียงรู้จักพูดแต่ยังรู้จักฟังและเจรจาต่อรองเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งก็คือทักษะการทำงานเป็นทีมที่มีเป้าหมายร่วม อันเป็นความสามารถที่จำเป็นต้องเพาะกันมาตั้งแต่ครั้งประถม ขืนปล่อยให้เรียนแบบแพ้คัดออกอีก เราจะได้ผู้ใหญ่ไร้ปัญญาและจิตใจคับแคบแบบที่เป็นอยู่นี้อีก
รัฐรวมศูนย์ทำงานทั้งหมดที่ควรจะทำนี้มิได้ เหตุเพราะรัฐมีขนาดใหญ่มากเกินไปในขณะที่ชุมชนต่างๆ มีขนาดเล็กและแตกต่างกันมากมายมากเกินไป เกินกว่ารัฐรวมศูนย์จะใช้วิธีเดียวทำหมดทั่วประเทศ นี่คือเหตุผลง่ายๆ ที่ส่วนท้องถิ่นควรได้รับการกระจายอำนาจและงบประมาณ เพื่อการจัดการงานพัฒนาเด็กและการศึกษาด้วยตัวเอง
ทั้งหมดนี้คือใจความสำคัญของ ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 วันที่ 9 มีนาคม นี้