เสรีภาพสื่อมวลชนในปี 2018 ในสนามรบโซเชียลมีเดียและ Fake News

ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษถาคม 2018 จากการจัดอันดับขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reports Without Borders) ประจำปี 2018 ทั้งหมด 180 ประเทศ มีภาพรวมดังนี้

นอร์เวย์ยังคงเป็นอันดับ 1 ในด้านเสรีภาพของสื่อ ตามมาด้วยสวีเดน โดยเนเธอร์แลนด์แซงฟินแลนด์ขึ้นมาอยู่ในอันกับ 3 ของตาราง ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ จาไมกา เบลเยียม นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก และคอสตาริกา

ส่วนอันดับล่างสุดที่ 180 ยังคงเป็นเกาหลีเหนือที่มีเฉพาะสื่อของรัฐ ไล่ขึ้นมาคือ เอริเทรีย เติร์กเมนิสถาน ซีเรีย จีน เวียดนาม ซูดาน จิบูตี คิวบา กินี ลาว และ ซาอุดีอาระเบีย

แกมเบีย คือประเทศที่สามารถไต่อันดับขึ้นมาได้สูงที่สุด 24 อันดับจาก 143 มาเป็น 122 ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 20 อันดับ จาก 63 เป็น 43 และกรีซ 14 อันดับ จาก 88 มาอยู่ที่ 74

ในทวีปอเมริกา สหรัฐตกมาอยู่ที่ 45 จาก 43 แคนาดาอยู่ที่ 18 เม็กซิโก 47 ส่วนชาติพันธมิตรของสหรัฐในการต่อสู้กับ ISIS เช่น เยอรมนีอยู่ที่ 15 ฝรั่งเศส 33 อังกฤษ 40 และอิรัก 160

จากภาพรวมปี 2018 ของ RFS ที่เพิ่งออกมาทำให้สามารถสรุปคร่าวๆ ได้ว่า สื่อมวลชนต้องรับมือกับแรงกดดันและการคุกคามมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา และไม่ใช่เฉพาะประเทศที่เป็นเผด็จการ ประเทศที่มีประชาธิปไตยและผู้นำจากการเลือกตั้งก็ต้องเผชิญสถานการณ์ไม่ต่างกัน

ประชาธิปไตยตะวันตกไม่เสรีเหมือนที่คิด

รายงานจาก RSF และ Freedom House เปิดเผยรายงานที่ได้มีผลออกมาไม่ต่างกันคือ ในชาติตะวันตก มักมีความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของบรรดาสื่อทั้งหลาย ข่มขู่ ดูถูก จำกัดการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอ

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเทียบกับห้าปีที่แล้ว สื่อถูกกดดันจนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่จากเดิมสถานการณ์สื่ออยู่ในขาลงอยู่แล้วยิ่งดิ่งเร็วกว่าเดิมจากการขึ้นมาของ โดนัลด์ ทรัมป์

นอกจากนี้ ในชาติที่เป็นประชาธิปไตย บรรดาผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลายมองสื่อเป็นเหมือนศัตรูมากกว่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เกิดระบบการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย บางคนแสดงท่าทีคุกคามสื่ออย่างเปิดเผย เช่น ทรัมป์พยายามทำลายความน่าเชื่อถือและโจมตีสื่อต่อหน้าสาธารณชน ห้ามให้สื่อบางรายเข้าทำเนียบขาว มักเรียกตีตราข่าวที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นข่าวปลอม หรือ fake news

รายงานนี้บอกว่าทรัมป์เป็นเหมือนพวกกระเหี้ยนกระหือรือที่จะทำลายสื่อ และสำหรับทรัมป์ เขามองว่า “สื่อคือศัตรูของประชาชน” ซึ่งเคยเป็นคำพูดของ โจเซฟ สตาลิน สมัยโซเวียตเรืองอำนาจ

สำหรับยุโรป จากที่เคยอยู่ในอันดับชาติที่สื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวมากที่สุดและมีผู้นำมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในปีนี้กลับตรงกันข้าม เช่น ที่ฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคม นักข่าวถูกไล่จากห้องแถลงข่าวเมื่อถามถึงข่าวฉาวของนักการเมือง ในโปแลนด์ รัฐบาลสั่งปรับสถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอกิจกรรมการประท้วงของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และ Freedom House รายงานว่า เสรีภาพสื่อของฮังการีแทบจะหายไปหมดสิ้น เพราะนักการเมืองได้ซื้อสื่อส่วนใหญ่ไปเกือบทั้งหมด

รายงานเสรีภาพของสื่อมวลชนสรุปว่า

การปลดปล่อยความเกลียดชังโดยมุ่งไปที่สื่อมวลชนเป็นวิธีการคุกคามประชาธิปไตยที่เลวร้ายที่สุด

โมเดลแบบจีนๆ

การควบคุมสื่อแบบเข้มงวดเคร่งครัดทำให้จีนอยู่ในอันดับที่ 170 แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการด้านสื่อ มีมาตรการเซ็นเซอร์ ติดตาม ตรวจตรา การสื่อสารภายในประเทศเป็นอย่างดี จนปัจจุบันมีนักข่าวมากกว่า 50 คนถูกจำคุก RSF บอกว่าโมเดลของจีนเหมือนเป็น “New World of Media Order” การจัดระเบียบสื่อในโลกใหม่

สหายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเสรีภาพที่แย่ไม่แพ้กัน

ประเทศไทย แม้อยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหาร คสช. แต่อันดับของไทยก็ขยับจาก 142 มาเป็น 140 เป็นรองปากีสถาน อินเดีย และเมียนมาร์ ซึ่งสำหรับเมียนมาร์ที่หล่นลงมา 10 อันดับที่ 137 มีสาเหตุจากการคุกคามสื่อเต็มรูปแบบในกรณีวิกฤติโรฮิงญา

กัมพูชาตกลงมา 10 อันดับอยู่ที่ 142 เป็นผลมาจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซน พยายามต่อต้านสื่อในประเทศทุกรูปแบบ บังคับให้ปิดสื่ออิสระกว่า 30 องค์กร วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จนกลุ่มมนุษยชนมองว่าทิศทางของฮุนเซนเริ่มจะใกล้เคียงโมเดลของจีนมากขึ้นทุกที

มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 145 สิงคโปร์ 151 แต่มาเลเซียเป็นชาติแรกที่ออกกฎหมายต่อต้าน fake news ที่มีบทลงโทษจำคุกถึงหกปี ขณะที่สิงคโปร์กำลังจะออกกฎหมายลักษณะนี้เหมือนกัน

ส่วนฟิลิปปินส์ของ โรดริโก ดูเตอร์เต อยู่ในอันดับที่ 133 พวกเขาโจมตีและคุกคาม กระทั่งสั่งปิดสื่ออิสระ ร้ายแรงที่สุดคือ ระหว่างพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเตอร์เตเรียกนักข่าวว่าสปาย นอกจากนี้ยังเตือนสื่อมวลชนว่า พวกเขาไม่ใช่ข้อยกเว้นของการถูกลอบสังหาร

COUNTRY
2018 INDEX
2017 INDEX
GLOBAL SCORE (2018)
GLOBAL SCORE (2017)
Timor Leste 95 98 30.81 32.81
Indonesia 124 124 39.68 39.93
Philippines 133 127 42.53 41.08
Myanmar 137 131 43.15 41.82
Thailand 140 142 44.31 44.69
Cambodia 142 132 45.90 42.07
Malaysia 145 144 47.41 46.89
Singapore 151 151 50.95 51.10
Brunei 153 156 51.48 53.72
Laos 170 170 66.41 66.41
Vietnam 175 175 75.05 73.96
อ้างอิงข้อมูลจาก:
rsf.org
asiancorrespondent.com
seasia.co
voanews.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า