on this day: 12 เมษายน 2476 ‘ปรีดี พนมยงค์’ ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ หลังเสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจผ่านแนวคิดรัฐสวัสดิการ

12 เมษายน เป็นวาระครบรอบ 89 ปีที่ ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ต้องเดินทางไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศสตามคำสั่งของรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2476 ภายหลังการเสนอร่าง ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ หรือที่เรียกกันว่า ‘สมุดปกเหลือง’ แต่แนวคิดของปรีดีกลับถูกคัดค้านด้วยเสียงส่วนใหญ่ในสภา รวมถึงยังมีการออก ‘สมุดปกขาว’ ซึ่งเป็นข้อวินิจฉัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ตอบโต้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ว่า เป็นแนวคิดที่ลอกเลียนพรรคบอลเชวิคของรัสเซีย อีกทั้งยังเกิดข้อกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปรีดีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศในที่สุด

สมุดปกเหลือง-สมุดปกขาว

เค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ถูกร่างขึ้นขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลัก 6 ประการ อันถือเป็นนโยบายของคณะกรรมการราษฎรชุดแรกในระบอบประชาธิปไตยของไทยในสมัยนั้น ซึ่งนำโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเพื่อให้ตอบโจทย์นโยบายในหลักข้อ 3 ที่กล่าวไว้ว่า “รัฐบาลจะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” เค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้จึงประกอบไปด้วยคำชี้แจงเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ  พร้อมกับร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ

ถัดจากนี้จะเป็นการหยิบยกข้อเสนอในหมวดต่างๆ จากเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดหลักที่ปรีดีต้องการเรียกร้องจากรัฐ ดังนี้

หมวดที่ 1 เงินเดือนและเบี้ยบำนาญของราษฎร

จากร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ได้มีการระบุถึงเงินเดือนถ้วนหน้าที่รัฐต้องจ่ายให้แก่ราษฎรอย่างชัดเจน และนอกจากการจ่ายเงินเดือนถ้วนหน้าแล้ว รัฐยังต้องจ้างราษฎรทุกคนเป็น ‘ข้าราชการ’ ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากมองอย่างเป็นธรรมจะพบว่าชาวบ้านที่ทำอาชีพเกษตรกร รับจ้าง หรือหาเช้ากินค่ำ ต่างมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ดังนั้น การเรียกร้องให้ลูกจ้างทุกคนเป็นข้าราชการตามมุมมองของปรีดีในที่นี้จึงหมายความว่า ทุกคนจะต้องได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร คนขุดถนน ครู ปลัด หรือวิศวกรสร้างเขื่อน แต่ในทางกลับกัน ข้อเสนอในหมวดนี้ก็ค่อนข้างขัดกับภาพลักษณ์ของคำว่า ‘ข้าราชการ’ ในสมัยนั้นโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังทำให้เกิดการคัดค้านในกลุ่มข้าราชการในขณะนั้น หรือสามารถกล่าวได้ว่า ข้อเสนอข้อนี้อาจสร้างความกังวลที่จะต้องสูญเสียสถานะทางสังคมในสังคมข้าราชการกลุ่มเดิมก็เป็นได้

หมวดที่ 3 การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

จากร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ปรีดีได้ระบุไว้ว่า “รัฐจะมีหน้าที่รับประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Social Assurance)” หรืออาจกล่าวได้ว่า ราษฎรจะต้องได้รับประกันจากรัฐบาลตั้งแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นแม้จะอยู่ในสภาวะที่เจ็บป่วย พิการ ชรา หรือทำงานไม่ได้ ราษฎรก็จะยังมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ฯลฯ โดยปรีดีได้ให้เหตุผลว่า เมื่อปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตได้รับการประกันจากรัฐแล้ว ราษฎรทุกคนก็จะสามารถนอนตาหลับ เพราะไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเจ็บป่วย พิการ หรือชราแล้วจะต้องอดอยาก หากมีบุตรก็จะไม่ต้องกังวลในบุตรเมื่อตนสิ้นชีพไป ว่าบุตรจะอดอยากหรือหาไม่

หมวดที่ 5 การจัดหาที่ดิน แรงงาน และทุน

ปรีดีได้เสนอในหลักในการจัดการที่ดินผ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า รัฐจะต้องเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยเป็นเจ้าของที่ดินและเป็นผู้ว่าจ้างเองด้วย โดยวิธีการที่รัฐจะได้มาซึ่งที่ดินตามเค้าโครงเศรษฐกิจถูกระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ ว่า เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นบ้านของตัวเองเช่นเดิม แต่ที่ดินว่างเปล่าหรือที่ดินที่ไม่ใช่มีไว้สำหรับปลูกบ้าน รัฐมีอำนาจที่จะซื้อคืน แต่ต้องมีการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมา จะไม่มีการยึดเอาคืนอย่างดื้อๆ เป็นอันขาด

หมวดที่ 7 การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์ เนื่องจากรัฐบาลกลางคุมไม่ทั่วถึง

เพื่อเลี้ยงราษฎรในประเทศตัวเอง ปรีดีจึงได้ระบุในเค้าโครงการเศรษฐกิจไว้ว่า รัฐจะต้องดำเนินเศรษฐกิจในประเทศเองโดยใช้รูปแบบสหกรณ์ และเมื่อราษฎรได้รวมกันเป็นสหกรณ์ มีบ้านอยู่เป็นหมู่ด้วยกันแล้ว การจัดให้สหกรณ์ได้มีการปกครองตามแบบเทศบาล (Municipality) ย่อมทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการอนามัยและสาธารณสุข เช่น สหกรณ์จะได้จัดให้มีแพทย์ภายใต้ข้อบังคับว่าด้วยการรักษาอนามัย และการศึกษาอบรมหมู่คนซึ่งจะสามารถจัดทำได้ง่ายขึ้น เพราะสมาชิกอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเสร็จจากการทำงานวันหนึ่งๆ สหกรณ์อาจออกข้อบังคับให้คนในพื้นที่ได้เรียนหรืออบรมเพิ่มเติม โดยการเรียนอาจเป็นการบรรยายจากหนังสือหรือแสดงภาพ ฉายภาพ และการแสดงอื่นๆ

นอกจากนี้ การระงับปราบปรามโจรผู้ร้ายก็จะสะดวกมากยิ่งขึ้น และทางทหารอาจอาศัยสหกรณ์เป็นเครื่องมือที่จะอบรมวิชาทหารบุคคลก่อนที่จะถูกเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงพวกกองเกินอัตรา (Military Preparation) โดยการเกณฑ์ทหารการระดมพลเหล่านี้ก็จะสะดวกขึ้นด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลข้างต้น เป็นการหยิบยกประเด็นสำคัญจากแนวคิดของปรีดีในร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งหากมองผ่านบริบทสังคมในปัจจุบัน แน่นอนว่ามีหลายประเด็นในร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ที่อาจดูมีความเป็นสังคมนิยมจนเกินไปและแทบนำมาปรับใช้กับบริบทสังคมในปัจจุบันไม่ได้เลย แต่หากมองเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ผ่านบริบทสังคมในสมัยนั้น ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ประเทศไทยหรือสยามไม่มีแม้แต่ระบบอุตสาหกรรม เกษตรกรรมยังคงใช้วัวควายในการไถนาด้วยวิธีดั้งเดิม ไม่มีระบบชลประทาน อีกทั้งนาก็ยังสามารถทำได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีกำลังคนและเทคโนโลยีที่เพียงพอจะพัฒนาพื้นที่ได้ ด้วยเหตุนี้ ปรีดีจึงมองว่า การที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้ ‘รัฐต้องเป็นผู้ลงทุน’ ทั้งในส่วนของเครื่องจักรที่ใช้ทำการเกษตร การพัฒนาระบบชลประทาน รวมไปถึงในส่วนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับดังกล่าวของปรีดีจะผ่านกระบวนการคิดและการนำเสนออกมาอย่างดีแค่ไหน ก็ยังมีข้อคัดค้านตามมาในภายหลัง โดยเฉพาะเมื่อถูกนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อให้สภาพิจารณา รวมไปถึงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถานการณ์และความมั่นคงของคณะราษฎรจึงเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน

‘สมุดปกขาว’ เครื่องมือที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ใช้วิจารณ์ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี

“ราษฎรของเราตลอดจนชนชั้นคนขอทานยังมิปรากฏเลยว่าอดตาย คนที่อดตายจะมีก็แต่คนที่กลืนไม่ลงเพราะความเจ็บไข้เท่านั้น แม้แต่สุนัขตามวัดก็ปรากฏยังไม่มีอดตาย … ความอดอยากแร้นแค้นนี้ย่อมแล้วแต่ตราชูอะไรชั่งเป็นเครื่องวัด ที่ได้รับเงินเดือน 200 บาท ก็นับว่าอดอยากแร้นแค้นก็ได้ ถ้าเทียบการกินอยู่กับผู้ได้ที่เงินเดือนเดือนละ 1,000 บาท”

ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากสมุดปกขาวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือในหลวงรัชกาลที่ 7 ใช้ตอบโต้และวิจารณ์ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี โดยมีใจความที่ต้องการจะสื่อออกไปว่า แท้จริงแล้วคนไทยไม่ชอบถูกบังคับ อีกทั้งความจนความรวยเป็นเรื่องมุมมองของปัจเจกบุคคล คนมีน้อยแต่คิดว่าตนไม่ลำบากก็มีมากนัก คนมีมากกว่าแต่กลับมองว่าตนมีไม่พอก็มากมาย

นอกจากนี้ อีกเสียงคัดค้านหลักที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เกิดจากเรื่อง ‘ที่ดิน’ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการปฏิรูปที่ดินนั้นอาจส่งผลให้ชนชั้นปกครองหรือชนชั้นเจ้าสั่นคลอนได้ อีกทั้งการระบุว่าต้องมีการว่าจ้างทุกคนเป็นข้าราชการอาจทำให้ข้าราชการเดิมรู้สึกว่าตนสูญเสียสถานะทางสังคมไป และในท้ายที่สุด ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ก็ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดค้านเค้าโครงนี้เกือบทั้งหมด ซึ่งได้ระบุไว้ว่าโครงการนี้ไม่ต่างจากโครงการพรรคบอลเชวิคของรัสเซียอย่างแน่นอน คำวินิจฉัยนี้จึงส่งผลให้ไม่มีใครในสภากล้าพอที่จะสนับสนุนปรีดีได้เลย อีกทั้งภายหลังจากปี 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ออกกฎหมายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอำนาจเดิม เช่น การออกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ฉบับแรกของสยามที่กลายเป็นอาวุธเพื่อใช้ในการกำจัดศัตรูทางการเมือง

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

ด้วยเหตุนี้ การเกิดขึ้นของกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงส่งผลให้ปรีดีต้องถูกเนรเทศออกจากประเทศไปยังประเทศฝรั่งเศสในช่วงนั้น รวมถึงคณะผู้ก่อการคณะราษฎรถูกจำกัดบทบาทให้หมดอำนาจหน้าที่ไป แต่ในท้ายที่สุดปรีดีก็ได้กลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารครั้งที่ 2 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาถูกเนรเทศ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย จนกระทั่งเสียชีวิต ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้เชิญปรีดีกลับมาช่วยเหลืองานรัฐบาลต่อไป โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องไม่รื้อฟื้นเค้าโครงการเศรษฐกิจอีก

พระยาพหลพลพยุหเสนา

หากอ่านและพิจารณาโดยถี่ถ้วนจะพบว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เสียทีเดียว อีกทั้งได้มีการระบุอย่างชัดเจนไว้ในร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า “เป็นการผสมระหว่างทุนนิยม (capitalism) และสังคมนิยม (socialism) ไว้ด้วยกัน ทุกอย่างจะต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

แม้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีจะถูกปัดตกไป แต่ปรีดีก็ยังได้ทิ้งมรดกไว้ให้ประเทศไทย นั่นคือ การจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการริเริ่มกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและยังถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า