วันที่ 4 มกราคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเรื่อง ‘แต่งตั้งประธานองคมนตรี’ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี นับเป็นประธานองคมนตรี คนที่ 2 ในรัชกาลที่ 10 หลังจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2562
ในทางประวัติศาสตร์การเมือง การเปลี่ยนแปลงประธานองคมนตรี การเปลี่ยนสัดส่วนองคมนตรี ไม่เพียงสะท้อนบริบทสังคมการเมืองในแต่ละยุคสมัย หากยังเผยให้เห็นดุลอำนาจ ความสำคัญของตัวแสดงทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา
กำเนิดในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2490
‘องคมนตรีสภา’ เริ่มในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2417 ในนาม ‘ปรีวี เคาน์ซิล’ หรือ ‘ที่ปฤกษาในพระองค์’ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติคำว่า ‘องคมนตรี’ ขึ้นมาแทนที่คำว่า ‘ปรีวี เคาน์ซิล’ และพระราชทานตำแหน่งให้กับข้าราชการในพระองค์กว่า 227 คน ใน พ.ศ. 2470 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงยกเลิก พระราชบัญญัติองคมนตรี จุลศักราช 1236 และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470
คำว่า ‘องคมนตรี’ จึงถูกใช้แทนคำว่า ‘ปรีวี เคาน์ซิล’
แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พุทธศักราช 2475 มิได้รับรองสถานะขององคมนตรีแต่อย่างใด ก่อนจะมีการยกเลิกองคมนตรีในเวลาต่อมา และฟื้นกลับคืนมาอีกครั้งในอีก 25 ปีต่อมา
เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2490 ถือเป็นการปิดฉากอำนาจคณะราษฎรอย่างถาวร หนึ่งในมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงกลับมาในนาม ‘อภิรัฐมนตรี’ และเป็นต้นทางไปสู่การกำหนดให้มีองคมนตรีในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2492 ในช่วงเวลานี้เองสมาชิกองคมนตรีส่วนใหญ่คือ ‘เชื้อพระวงศ์’ และ ‘ข้าราชการ’ ที่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนอย่างค่อยเป็นค่อยไป มาสู่ ‘สามัญชน’ ที่ถวายงานใกล้ชิดต่อพระมหากษัตริย์
ขณะที่อำนาจหน้าที่ขององคมนตรีซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนักตลอด 4 ทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงทั้งสัดส่วนและสถานะของสมาชิกองคมนตรีสภาเกิดขึ้นอย่างสำคัญหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สัดส่วนองคมนตรีที่มาจาก ‘ผู้พิพากษา’ เพิ่มเข้ามาแทนที่เชื้อพระวงศ์และข้าราชการอย่างชัดเจน
จนกระทั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2534 ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ขององคมนตรีในรัฐธรรมนูญ 2534 ซึ่งให้อำนาจประธานองคมนตรีรับสนองพระราชโองการแทนประธานสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ก่อนที่องคมนตรีจะมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ‘พฤษภา 2535’ กระทั่งการรัฐประหารในปี 2549 สถาบันองคมนตรีก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย รวมถึงหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
จากราชนิกุลสู่ขุนทหาร
โยชิฟูมิ ทามาดะ (Yoshifumi Tamada) สำรวจการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนสมาชิกองคมนตรีสภาไว้ในบทความเรื่อง Democratization and the Military in Thailand1 ตีพิมพ์ในปี 2019 ซึ่งสัมพันธ์กับ 3 จังหวะสำคัญที่เปลี่ยนแปลงในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 หลังจากการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 คือ
1. ไม่ทรงตอบรับการขึ้นครองราชย์ทันทีในเดือนตุลาคม 2559 จนกระทั่งพระองค์มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559
2. การเปลี่ยนแปลงที่มาสมเด็จพระสังฆราช โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้กฎหมายคณะสงฆ์ เพื่อเพิ่มพระราชอำนาจ
และ 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านการลงประชามติในปี 2560 โดยรัฐบาล คสช.
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ทามาดะเสนอไว้ว่า ในเดือนธันวาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แต่งตั้งสมาชิกองคมนตรี 14 คน ซึ่งเป็นข้าราชการทหารเกษียณอายุกว่าครึ่งหนึ่ง และ 4 ใน 7 คน เป็นนายทหารระดับผู้บัญชาการกองทัพของกองทัพบกและกองทัพอากาศ ทำให้มีสัดส่วนทหารเพิ่มขึ้นในองคมนตรีสภาเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และมีผู้พิพากษา 28 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนนี้ค่อนข้างสูง หากเปรียบเทียบกับรัชสมัยอันยาวนานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีสัดส่วนองคมนตรีที่เป็นทหารคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนองคมนตรี 52 คนตลอดรัชสมัย ซึ่งหากสำรวจลึกลงไป สมาชิกองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 อาจจะแบ่งเป็น 2 ช่วงสำคัญคือ
หนึ่ง หลังรัฐประหาร 2490 จนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 องคมนตรีในช่วงเวลานี้มักประกอบไปด้วยเชื้อพระวงศ์ ขุนนางข้าราชการ และผู้ใกล้ชิด เช่น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (หม่อมเจ้าธานีนิวัต โสณกุล), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย, พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เป็นต้น
สอง หลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึงสิ้นรัชสมัยในปี 2559 จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้พิพากษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ได้แก่ นายประกอบ หุตะสิงห์, นายจินตา บุณยอาคม, นายกิตติ สีหนนทน์, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, นายจิตติ ติงศภัทิย์ ภายใต้ประธานองคมนตรีที่ชื่อ นายสัญญา ธรรมศักดิ์
ข้อสังเกตของทามาดะคือ สมาชิกองคมนตรีที่มาจากสัดส่วนของผู้พิพากษาเป็นผลมาการสร้าง ‘จิตสำนึกใหม่’ เขาได้ยกกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณขึ้นมาพิจารณา โดยเห็นว่าตัวบทของการถวายสัตย์ปฏิญาณได้มีแบบแผนที่เปลี่ยนไป กล่าวเฉพาะผู้พิพากษา หลังปี 2540 จะมีถ้อยความในการถวายสัตย์ที่แตกต่างไปจากคณะรัฐมนตรีและองคมนตรี ทำให้ผู้พิพากษารู้สึกเข้าถึงความสัมพันธ์โดยตรงกับในหลวงรัชกาลที่ 92
นอกจากนั้นยังมีการออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่ในปี 2544 ซึ่งให้ความหมายว่า รัชกาลที่ 9 พระราชทานความยุติธรรมทั่วทั้งแผ่นดิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผนวกความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันตุลาการเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์
ทว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน ดังจะเห็นได้จากตารางระยะการดำรงตำแหน่งองคมนตรีในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งองคมนตรีสภามักเต็มไปด้วยผู้พิพากษา ยิ่งในช่วงท้ายรัชสมัยได้มีผู้พิพากษาดำรงตำแหน่งองคมนตรีเป็นจำนวนมาก และทั้งหมดเป็นอดีตตำแหน่งประธานศาลฎีกา มากกว่านายทหารหรือข้าราชการ
อย่างไรก็ตาม ทามาดะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนองคมนตรีในรัชสมัยปัจจุบันที่มีทหารกว่า 50 เปอร์เซ็นต์นั้น กว่าครึ่งหนึ่งของข้าราชการทหารเป็นนายทหารระดับผู้บัญชาการกองทัพของกองทัพบกและกองทัพอากาศ และ 3 ใน 7 คน ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูงในกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ อาจเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปเพื่อค้ำจุนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือกองพลทหารราบที่ 2 ซึ่งมีอำนาจอย่างสูงตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนขององคมนตรีจากอดีต นับตั้งแต่เชื้อเจ้า เชื้อพระวงศ์ คนใกล้ชิด ผู้พิพากษา ข้าราชการ มาจนกระทั่งล่าสุดคือข้าราชการทหาร คือเนื้อหาสำคัญเพื่อช่วยทำความเข้าใจความเป็นไปของบ้านเมือง
เชิงอรรถ
|
*รายนามองคมนตรีและช่วงปีที่ดำรงตำแหน่ง
รัชกาลที่ 9
1. พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (18 มิถุนายน พ.ศ. 2492 – 8 กันยายน พ.ศ. 2517)
2. พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2492 – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517)
3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (6 มิถุนายน 2492 – 28 มีนาคม 2493)
4. พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส (18 มิถุนายน พ.ศ. 2492 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494)
5. พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) (8 เมษายน พ.ศ. 2495 – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517)
6. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (8 เมษายน พ.ศ. 2495 – 25 กันยายน พ.ศ. 2519)
7. พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) (8 เมษายน พ.ศ. 2495 – 27 สิงหาคม พ.ศ. 2505)
8. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย (8 เมษายน พ.ศ. 2495 – 22 สิงหาคม พ.ศ. 2503)
9. พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (8 เมษายน พ.ศ. 2495 – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496)
10. หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ (24 เมษายน พ.ศ. 2496 – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517)
11. พลเอก ศักดิ์ เสนาณรงค์ (14 กรกฎาคม พ.ศ.2498 -19 กรกฎาคม พ.ศ. 2498)
12. พระยาบริรักษ์เวชชการ (ไล่ฮวด ติตติรานนท์) (2 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 – 26 มีนาคม พ.ศ. 2511)
13. นายศรีเสนา สมบัติศิริ (21 มีนาคม พ.ศ. 2501 – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2525)
14. พลเอก หลวงกัมปนาทแสนยากร (กำปั่น อุตระวณิชย์) (5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517)
15. พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 – 27 ตุลาคม พ.ศ. 2513)
16. พลเอก หลวงสุรณรงค์ (ธงไชย โชติกเสถียร) (7 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 – 18 มกราคม พ.ศ. 2529)
17. หม่อมเจ้าวงศานุวัตร เทวกุล (1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 – 3 เมษายน พ.ศ. 2534)
18. นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2517 – 4 กันยายน พ.ศ. 2541)
19. พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร (26 มีนาคม พ.ศ. 2518 – 16 กันยายน พ.ศ. 2541)
20. นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา (26 มีนาคม พ.ศ. 2518 – พ.ศ. 2534)
21. ประกอบ หุตะสิงห์ (26 มีนาคม พ.ศ. 2518 – 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2537)
22. นายจินตา บุณยอาคม (26 มีนาคม พ.ศ. 2518 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530)
23. นายกิตติ สีหนนทน์ (2518-2527)
24. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ (26 มีนาคม พ.ศ. 2518 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2536)
25. ร้อยเอก หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ (26 มีนาคม พ.ศ. 2518-7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546)
26. นายเชาวน์ ณศีลวันต์ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2518-6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
27. พลเอก สำราญ แพทยกุล (19 ธันวาคม พ.ศ. 2518-24 กรกฎาคม พ.ศ. 2529)
28. นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (15 ธันวาคม พ.ศ. 2520 – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559)
29. นายจิตติ ติงศภัทิย์ (18 เมษายน พ.ศ. 2522 – 12 สิงหาคม พ.ศ. 2539)
30. นายกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา (18 เมษายน พ.ศ. 2522-12 สิงหาคม พ.ศ. 2539)
31. พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช (3 มีนาคม พ.ศ. 2527 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
32. พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ (28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
33. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
34. พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา (24 ธันวาคม พ.ศ. 2534 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558)
35. นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (24 ธันวาคม พ.ศ. 2534 – 29 กันยายน พ.ศ. 2549)
36. หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร (9 เมษายน พ.ศ. 2535 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2547)
37. พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ (13 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
38. นายอำพล เสนาณรงค์ (9 กันยายน พ.ศ. 2537-6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
39. นายจำรัส เขมะจารุ (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558)
40. หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ (3 ตุลาคม พ.ศ. 2538 – 7 เมษายน พ.ศ. 2549)
41. หม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล (7 สิงหาคม พ.ศ. 2540 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
42. นายศักดา โมกขมรรคกุล (6 มกราคม พ.ศ. 2542 – 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550)
43. นายเกษม วัฒนชัย (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
44. นายพลากร สุวรรณรัฐ (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
45. นายสวัสดิ์ วัฒนายากร (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2555)
46. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ (14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
47. พลเรือเอก ชุมพล ปัจจุสานนท์ (15 มีนาคม พ.ศ. 2548 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
48. นายสันติ ทักราล (15 มีนาคม พ.ศ. 2548 – 29 เมษายน พ.ศ. 2554)
49. นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (16 สิงหาคม พ.ศ. 2550 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
50. นายศุภชัย ภู่งาม (8 เมษายน พ.ศ. 2551 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
51. นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ (8 เมษายน พ.ศ. 2551 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
52. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก (8 เมษายน พ.ศ. 2551 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
รัชกาลที่ 10
1. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
2. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
3. นายเกษม วัฒนชัย (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
4. นายพลากร สุวรรณรัฐ (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
5. นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
6. นายศุภชัย ภู่งาม (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
7. นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – 18 มกราคม พ.ศ. 2560)
8. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
9. นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (12 มีนาคม พ.ศ. 2561 – ปัจจุบัน)
10. วิรัช ชินวินิจกุล* (โปรดเกล้าให้พ้นจากตำแหน่ง) (12 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2561)
11.นายจรัลธาดา กรรณสูต (12 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
12. นายอำพล กิตติอำพล (2 ตุลาคม 2561 – ปัจจุบัน)
13. พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
14. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
15. พลเอก ธีรชัย นาควานิช* (โปรดเกล้าให้พ้นจากตำแหน่ง) (6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – 19 มิถุนายน 2561)
16. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ (23 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
17. พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ (8 มิถุนายน พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน)
18. พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท (2 ตุลาคม 2561 – ปัจจุบัน)
19. พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง (2 ตุลาคม 2561 – ปัจจุบัน)
20. นายนุรักษ์ มาประณีต (4 พฤษภาคม 2563 – ปัจจุบัน)