โต๊ะหมู่บูชาที่ไม่ได้มีการถวายผัก ผลไม้ บุหรี่ น้ำแดง หรือเครื่องดื่มมึนเมา ทว่าเต็มไปด้วยขวดน้ำหอม Jo Malone และเครื่องสำอางจำนวนมาก เทพทู่เอ๋อเสิน (Tu’er Shen) ถูกฉายแสงสู่สังคมโลกในฐานะเทพผู้ปกปักรักษากลุ่ม LGBTQI และเป็นที่พึ่งทางใจที่รับฟังมากกว่ากดดันผู้ศรัทธา
วันที่ 7 มีนาคม 2566 สำนักข่าว The Guardian รายงานการสัมภาษณ์หนึ่งในผู้ศรัทธาที่แวะเวียนมายังวิหารแห่งนี้เป็นประจำ เพราะต้องการตามหาความสงบ ตามหาผู้รับฟัง และตามหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มเพศหลากหลายในไต้หวัน
“ในวิหารอื่นๆ เป็นเรื่องปกติที่เจ้าสำนักจะบอกว่าคุณควรทำอะไร แต่ที่นี่แตกต่าง ที่นี่รับฟังเหมือนเพื่อน ที่นี่ไม่มีแรงกดดันทางศาสนา”
รูปลักษณ์ของเทพทู่เอ๋อเสิน ปรากฏบนภาพในลักษณะของตัวการ์ตูนปรมาจารย์เต๋า สวมหูกระต่าย พร้อมถือพู่กันสีรุ้ง เหนือเทพเจ้ากระต่ายมีป้าย ‘เทพประจำตัว LGBTQI’ แปะอยู่ อย่างไรก็ตาม ลู่เวยหมิง (Lu Wei-ming) ผู้ก่อตั้งศาล ระบุว่า ศาลแห่งนี้พร้อมต้อนรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการรับพรด้านความรัก มิตรภาพ หรือแม้แต่ด้านความก้าวหน้าทางวิชาการ
ตำนานของเทพทู่เอ๋อเสิน ระบุว่า ในศตวรรษที่ 17 มีปัญญาชนชื่อ หูเทียนเป่า (Hu Tianbao) ตกหลุมรักเจ้าหน้าที่ผู้ชายที่มาตรวจตราพื้นที่จนถูกราชการสั่งประหาร ต่อมาฮูเทียนเปาได้ปรากฏในฝันของคนในพื้นที่และระบุว่าถูกวิญญาณดวงอื่นล้อว่าเขาคือ ‘กระต่าย’ และแต่งตั้งให้เขาเป็นทู่เอ๋อเสิน คอยดูแลความรักระหว่างผู้ชายต่อไป
คำว่า ‘กระต่าย’ เป็นคำแสลงหมายถึงกลุ่มเพศหลากหลายในสังคมจีนอย่างยาวนาน เมื่อเข้าสู่ปีกระต่ายตามปฏิทินนักษัตรจึงเกิดการปรับเป้าหมายของศาลเจ้านี้ใหม่ให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันมากขึ้น
“ตอนตั้งวิหารนั้นหลายศาสนาหลักในโลกยังไม่เปิดรับวัฒนธรรม LGBTQI แต่ทุกคนต้องการความรักและต้องการที่จะถูกรัก” ลู่เวยหมิงกล่าว พร้อมระบุต่อว่า “กลุ่ม LGBTQI ถูกเนรเทศออกจากสังคมโลก เราจึงเป็นผู้ดูแลพวกเขา ผู้ที่ไม่มีใครสนใจจะดูแล”
แม้ไต้หวันจะเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ทว่าสภาพสังคมและวัฒนธรรมของเกาะยังมีความอนุรักษนิยมสูง การพยายามผลักดันที่ทางด้านศาสนา การยอมรับ และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่ม LGBTQI ในประเทศนี้จึงเป็นพัฒนาการและการปรับตัวให้สอดรับกับสังคมสมัยปัจจุบัน