อายลัน คูร์ดี (Aylan Kurdi) เด็กชายวัย 3 ขวบชาวโซมาเลียเชื้อสายเคิร์ด – ชาวเคิร์ดเป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยราว 36.4 – 45.6 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตุรกี, อิหร่าน, อิรัก, ซีเรีย และกระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปกว่า 2 ล้านคน
ร่างไร้ลมหายใจของเด็กน้อยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อถูกคลื่นซัดมานอนฟ้องโลกบนชายหาดตุรกีราวสามปีก่อน ขณะลี้ภัยทางทะเลด้วยเรือยาง
2 กันยายน 2016 ครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียของ อายลัน คูร์ดี พร้อมกับเพื่อนผู้อพยพรวม 16 คนส่วนใหญ่มีพื้นเพจากซีเรีย ขึ้นเรือยางที่รองรับได้เพียงแปดคน จากท่าเรือตุรกี หนีภัยสงครามและความไม่สงบจากกองกำลัง ISIL (Islamic State of Iraq and the Levant: รัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์) มุ่งหน้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปลายทางคือประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป
เรือยางที่บรรทุก 16 ชีวิตนี้มีปลายทางอยู่ที่แคนาดา โดยครอบครัวคูร์ดีทั้งสี่คนจะเดินทางไปสมทบกับญาติที่เมืองแวนคูเวอร์ หลังจากเสียเงินค่าพื้นที่ในเรือไปทั้งหมด 5,860 ดอลลาร์ (ประมาณ 196,070 บาท)
หลังจากภาพหนูน้อยคูร์ดีปรากฏไปทั่วโลก ฟรองซัวร์ โอลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสขณะนั้น ยกหูถึง เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี และผู้นำยุโรปอีกหลายประเทศ เขาบอกว่ารูปดังกล่าวเป็นการเตือนถึงความรับผิดชอบของโลกต่อผู้ลี้ภัย ส่วนนายกรัฐมนตรีของไอริช เอ็นดา เคนนี ก็บอกว่าภาพดังกล่าวคือ “ความล้มเหลวของมนุษยชาติ”
โดยทั่วไป เส้นทางอพยพทางเรือไปยุโรปมีสามเส้นทางหลัก คือ
เส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกลาง (นิยมสูงสุด) โดยมีลิเบียเป็นต้นทางหลักไปยังอิตาลี กรีซ และมอลตา
เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกไปยังสเปน
เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกไปยังคาบสมุทรบอลข่าน
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) หนึ่งในหน่วยงานของสหประชาชาติ ให้ข้อสังเกตว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของทุกปี จำนวนเรือผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริกาจะมีมากกว่าช่วงอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่ยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศอบอุ่น ทำให้การเดินทางค่อนข้างปลอดภัยมากกว่าช่วงต้นปีซึ่งอากาศหนาวและคลื่นลมรุนแรง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
IOM ระบุว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม – 22 กรกฎาคม 2018 มีผู้อพยพทางเรือทั้งสิ้น 53,269 คน เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของทั้งปีที่แล้ว อยู่ที่ 110,603 คน และ 244,722 คนในปี 2016 จำนวนผู้อพยพโดยรวมอาจจะดูน้อยลงอย่างชัดเจน คือ 53,269 คน (1 มกราคม – 22 กรกฎาคม 2017) กับ 110,603 ในช่วงเดียวกันปี 2017 แต่ถ้าพิจารณาจากยอดผู้เสียชีวิตปี 2016 อยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สัดส่วนผู้เสียชีวิตปี 60 อยู่ที่ 2.15 เปอร์เซ็นต์
อิตาลีเคยเป็นปลายทางอันดับ 1 ของผู้อพยพ เฉพาะปีนี้ ตลอดเดือนกรกฎาคม ผู้อพยพไปสเปนมียอดสูงกว่าอิตาลี ซึ่งจำนวนนี้นับเป็นเพียง 36 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพในเส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด
ด้านอิตาลีก็ยังเป็นปลายทางยอดนิยม รองจากสเปนราว 1,600 คน แต่ผู้อพยพที่ประสบความสำเร็จและเดินทางมาถึงกลับลดลงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2017 ซึ่งนับว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2014 และกรีซตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนผู้อพยพ 29 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกรีซรับผู้อพยพได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 5,000 คน
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาถึงยอดผู้เสียชีวิตในเดือนมิถุนายน ในเส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนกลาง (ต้นทางคือแอฟริกาเหนือ ปลายทางคืออิตาลี) กลับมีสถิติสูงสุดในรอบสี่ปี (เมือเปรียบเทียบกับยอดผู้อพพยพที่ลดลงเรื่อยๆ)
เดือนมิถุนายนปีนี้ ผู้อพยพ 564 รายจมน้ำและสูญหายในเส้นทางแอฟริกาเหนือ-เกาะซิซิลี ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 529 ราย, 388 รายในปี 2016, 5 รายในปี 2015 และ 314 รายในปี 2014
ผู้อพยพที่เสียชีวิตระหว่าง 1 มกราคม – 22 กรกฎาคม 2018 มีจำนวน 1,492 คน มากกว่าครึ่งเสียชีวิตช่วง 1 มิถุนายน – กรกฎาคม ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานจากบอสเนีย เฮอร์เซโกวินา, มอนเตเนโกร และอัลแบเนีย รองลงมาคือ ปากีสถาน, ซีเรีย, อัฟกานิสถาน, อิหร่าน และอิรัก ตามลำดับ
นโยบายรับผู้อพยพของของเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส
เยอรมนี
อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า
เราเห็นตรงกันว่าเราต้องการลดจำนวนคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เราต้องการปกป้องพรมแดนของเรา และเราทั้งหมดรับผิดชอบต่อทุกประเด็น ไม่ใช่ว่าจะจัดการกับเรื่องผู้อพยพกับประเทศต้นทาง และผู้อพยพจากประเทศที่สองเท่านั้น ทุกคนรับผิดชอบต่อทุกอย่าง ที่ไหนก็ตาม เราต้องการมาตรการของยุโรป
ฝรั่งเศส
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่า แต่ละประเทศก็มีความเห็นตรงกันเรื่องที่จะเพิ่มความเข้มงวดตามชายแดน และร่วมมือกับประเทศส่งผ่านมากขึ้น
มาครงยังเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ผู้อพยพในยุโรป ที่เจ้าหน้าที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วว่าคนที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายแต่ละคนนั้น สามารถยื่นเอกสารเป็นผู้ลี้ภัยได้หรือไม่ และส่งคนที่ไม่สามารถยื่นเรื่องได้กลับประเทศ
อิตาลี
ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ให้เรือช่วยเหลือผู้อพยพ Aquarius เทียบท่า และพยายามส่งต่อให้มอลตาแต่มอลตาปฏิเสธเช่นกัน สุดท้ายสเปนเปิดท่าเรือบาเลนเซียรับผู้อพยพจากเรือลำดังกล่าว ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอิตาลีก็ได้เรียกร้องให้ชาติอื่นๆ ในสหภาพยุโรปมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น และเรียกร้องให้เรือองค์กรการกุศลหยุดช่วยเหลือผู้อพยพในทะเล
ทั้งนี้รัฐบาลใหม่ของอิตาลีต้องการบริหารประเทศภายใต้สโลแกนแบบประชานิยมเมื่อครั้งหาเสียง (Italian First) ซึ่งทำให้ มัตเตโอ ซัลวินี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอิตาลี ออกมาประกาศปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพ ก่อให้เกิดความไม่พอใจขยายไปทั่วยุโรป แม้แต่ประชาชนบางส่วนในอิตาลีเองก็มีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขนโยบายช่วยเหลือผู้ลี้ภัยใหม่
อ้างอิงข้อมูลจาก: |