หลังการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งสืบทอดอำนาจต่อกันมาล่วงทศวรรษจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความพยายามของรัฐบาลใหม่ต่อจากนั้นคือการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใช้แทนที่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515 โดยใช้ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ หรือเรียกกันติดปากว่า ‘สภาสนามม้า’
อย่างไรก็ตามจากการค้นคว้าทางวิชาการบางชิ้นนี้พบว่า ‘สภาสนามม้า’ ไม่ใช่ทั้งอุบัติเหตุการเมือง และไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบแบบแผน ดังเห็นได้จากการถกเถียงของผู้กุมอำนาจในขณะนั้น
หลากความคิดทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากอำนาจกองทัพในทศวรรษที่ 2510 ส่วนหนึ่งมาจากสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ที่เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล นักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมากซึ่งได้รับดอกผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายโอกาสทางการศึกษา ได้ก่อตัวขึ้นมาเป็นกลุ่มทางสังคมที่มีบทบาทนำในการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันอุดมการณ์ชาตินิยมจากหลายปีกการเมือง ทั้งอนุรักษนิยม กษัตริย์นิยม สังคมนิยม จนกระทั่งความคิดเอียงซ้าย ต่างก็พร้อมใจขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร พร้อมๆ ขับไล่ให้รัฐบาล ‘ขายชาติ’ ที่ยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยนั้นหลุดจากอำนาจ รายงานบางชิ้นเสนอว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีทหารจีไอเข้ามาอยู่ในไทยถึง 60,000 คน ขณะที่รัฐบาลถนอมก็อนุมัติให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานการบิน เป็นฐานทัพทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกนอกเขตอธิปไตยสหรัฐ
นอกจากนั้นความไม่พอใจต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ล่าช้า ก็เป็นส่วนสำคัญประกอบเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยมีพลังการเมืองของคนหนุ่มสาวในการเปลี่ยนแปลงสังคม การกบฏต่อวัฒนธรรมและระบบสถาบันเก่าแบบอำนาจนิยม-ทุนนิยม เป็นมวลชนสำคัญ
อย่างไรก็ตามแม้ว่า อุดมการณ์ชาตินิยมทางเลือกของนักศึกษาประชาชนจะให้ทั้งแรงบันดาลใจและประสบการณ์ในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ แต่ส่วนหนึ่งของขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีบทบาทสำคัญอันทำให้การขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม สำเร็จขึ้นมาก็คืออุดมการณ์กษัตริย์นิยมและอุดมการณ์อนุรักษนิยม
ความคิดกษัตริย์นิยม ก่อตัวท่ามกลางกระแสยกย่องเชิดชูบทบาทสถาบันกษัตริย์ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างนักศึกษากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9
ทศวรรษที่ 2500-2510 นักศึกษาปัญญาชนหันกลับไปรื้อฟื้นอดีตและให้ความหมายใหม่แก่สถาบันกษัตริย์ว่า เป็นทั้งราชาชาตินิยมที่พาประเทศชาติพ้นจากการตกเป็นอาณานิคม และเป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผลที่สุดได้หลอมรวมเป็นวาทกรรมราชาชาตินิยมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และวิพากษ์ระบอบเผด็จการทหารที่ฉ้อฉล
ทำให้แต่ละกระแสความคิด แม้จะแตกต่างกันในเชิงอุดมการณ์ แต่ก็มีจุดร่วมขมวดเป็นปมเดียวกันมุ่งไปที่การต่อต้านเผด็จการทหาร เรียกร้องประชาธิปไตย และในที่สุดวาทกรรมทุกกระแสก็ปรากฏตัวร่วมกันในการเดินขบวนของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จบลงด้วยการหนีออกนอกประเทศของ ‘3 ทรราช’ คือจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ผลจากการใช้อาวุธสงครามปราบปรามนักศึกษาประชาชนก็ทำให้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ท่ามกลางการปะทะกันในเหตุการณ์นั้นนำมาซึ่งความโกรธเกรี้ยวของประชาชนจนมีการเผาสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง
ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว
ถึงจุดนี้กระแสความคิดหลายอย่างก่อนเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นเป็น 14 ตุลาคม 2516 ก็เหลือเพียงบางความคิดมีฐานะนำขึ้นมาในความพยายามก่อตั้งองค์กรเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของผู้เข้าร่วมการต่อสู้นั้น
‘สภาสนามม้า’ เพื่อแทนที่ ‘สภาตรายาง’
‘สภาสนามม้า’ คือชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของ ‘สมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2516’ ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพียงไม่นาน เมื่อสถานะของกองทัพเสื่อมทรุดลงไปอย่างมาก พร้อมๆ กับสถาบันกษัตริย์ที่เข้ามามีส่วนสำคัญทางการเมือง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้โปรดเกล้าพระราชทานบุคคลจำนวน 2,347 คน ขึ้นมาทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลจำนวน 299 คน ทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยมีภารกิจสำคัญคือ เร่งร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน ตามที่ให้สัญญาไว้แก่ประชาชน
อุปสรรคสำคัญคือ แม้ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารจะจากไปพร้อมกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่สภานิติบัญญัติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตรายางให้รัฐบาลจอมพลถนอม นั้นยังคงอยู่ ซึ่งบทบาทของ ‘สภาตรายาง’ นี้มีส่วนสำคัญในการประวิงเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ จนมีส่วนสำคัญให้นักศึกษา ประชาชน ก่อตัวเป็นความไม่พอใจต่อความจริงใจของรัฐบาลจอมพลถนอม กระทั่งนำมาสู่การเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ภายหลังเหตุการณ์มีสมาชิกสภานิติบัญญัติทยอยลาออกกระทั่งเหลือเพียง 11 คน ในเดือนธันวาคม 2516 และได้มีการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุคจอมพลถนอมในวันที่ 16 ธันวาคม 2516 สภาพการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันในหมู่ผู้กุมหางเสือประเทศในเวลาต่อมา
สถานะทางกฎหมายของสภาสนามม้าควรจะเป็นเช่นไร?
ในความเป็นจริงสมัชชาแห่งชาติหรือสภาสนามม้านั้น ทำหน้าที่เพียง 10 วัน แต่ก็นับว่าเป็นสิบวันที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นใหม่ต่อมาด้วย นั่นเพราะว่าจะเป็นการทดสอบว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น สามารถโอบรับเอาความคิดและอุดมการณ์ของการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 ไว้ได้มากน้อยเพียงใด อันส่งผลต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยต่อไป เวลาต่อมามีการเสนอหลักฐานใหม่เพื่อแสดงให้เห็นความไม่ลงรอยของผู้มีอำนาจต่อสถานะของสภาสนามม้าขึ้นมา
การค้นคว้าของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงแรกของการประกาศแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ ไม่ปรากฏการอ้างกฎหมายมาตราใด ซึ่งไม่สอดคล้องไปกับระบอบใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หากดูตามลำดับเวลาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม) กับสมัชชาแห่งชาติซึ่งจะทำหน้าที่แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ จะเห็นว่ามีการซ้อนทับในแง่ของเวลา จนส่งผลต่อการทยอยลาออกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชาติชุดที่จอมพลถนอมได้แต่งตั้งไว้ และมีการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นในเวลาต่อมา โดยมี สัญญา ธรรมศักดิ์ ทำหน้าที่เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ
จากการค้นคว้าของ จันทนา ไชยนาเคนทร์ พบว่า ในการดำเนินการของสมัชชาแห่งชาติ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการของสมัชชาแห่งชาติ เช่น พระยามานวราชเสวี องคมนตรีเป็นรองประธานสภาแห่งชาติ ดร.กัลย์ อิศรเสนา เลขาธิการสำนักพระราชวังเข้ามาดูแลเรื่องการเตรียมประชุม
กรณีนี้เองทำให้หนังสือพิมพ์ มหาราษฎร์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงปีกหนึ่งของขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ได้วิพากษ์วิจารณ์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ถึงการให้สัมภาษณ์พาดพิงสถาบันกษัตริย์ เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลหากนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือมีบทบาททางการเมือง ก็ย่อมจะตกอยู่ในฐานะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ อันอาจจะเป็นการเสื่อมเสียต่อฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดละเมิดมิได้ไป หรือกลับกันหากนำเอาพระองค์ท่านมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ‘แต่ไม่ตกอยู่ในฐานะที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือละเมิดได้’ ก็จะผิดแบบแผนการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปอีก ที่สุดการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนได้เสียสละชีวิตและต่อสู้มาก็จะสลายไป
ส่วน ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนคนสำคัญในยุคสมัย ‘เดือนตุลา’ ก็ได้เขียนบทความวิจารณ์ต่อสถานการณ์นี้ไว้อย่างชัดเจนว่า
“ในที่นี้ผมอยากจะแยกองค์พระมหากษัตริย์ ออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับสถาบัน ผมเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำรงอยู่ในสังคมเรา ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะผมคลั่งไคล้ใหลหลงกับของเก่าคู่บ้านคู่เมือง แต่ผมพิจารณาจากทุกแง่มุมแล้ว เห็นว่าสถาบันนี้มีประโยชน์ที่สุดและสำคัญที่สุด และเป็นหลักชัยอันเดียวที่จะยึดมั่นคนไว้ให้ได้ทั้งประเทศ แต่สถาบันนี้จะมีประโยชน์เช่นนั้นแหละดำรงคงอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถาบันดังกล่าวต้องอยู่เหนือการเมืองด้วยประการทั้งปวง”
ต่อมา สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้พยายามแสดงให้เห็นว่าการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติไม่ได้แต่งตั้งตามอำเภอใจ โดยอ้างในภายหลังว่า ‘สภาสนามม้า’ เป็นการแต่งตั้งตามมาตรา 6 แห่งธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2515 ในประเด็นการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ว่างลง ส่วนการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดจอมพลถนอมนั้น ได้อ้างมาตรา 16 ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย”
จากการค้นคว้าของจันทนา พบว่ามีบันทึกด้วยลายมือส่งตรงถึง สัญญา ธรรมศักดิ์ โดย ม.ร.ว.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ ลงลายเซ็นท้ายข้อความ เป็นการบันทึกแสดงความกังวลใจของ ‘นักกฎหมายท่านหนึ่ง’ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต่อการอ้างกฎหมายดังกล่าวของ สัญญา ธรรมศักดิ์ ในบันทึกสรุปได้ว่า พระบรมราชโองการฉบับแรกที่โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ โดยอ้างมาตรา 6 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2515 นั้น ทำได้แค่เพียงแต่งตั้งซ่อมเพิ่มเข้าไป แต่ไม่ได้ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะตั้งสภาใหม่ (ทั้งที่สภาเก่ายังอยู่)
และในบันทึกฉบับเดียวกันนั้นก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นการอ้างข้อกฎหมายในการตั้งสภานิติบัญญัติใหม่ (มาตรา 6) หรือ ยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา 16) ก็ล้วนผิดรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ในบันทึกดังกล่าวจะเสนอทางออกไว้ 2 ประการ คือ หนึ่ง ทำการยึดอำนาจการปกครองและสั่งการไปโดยไม่ต้องอาศัยกฎหมายเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงขอนิรโทษกรรมตามแบบอย่างที่คณะปฏิวัติหลายรุ่นได้ทำมา ส่วนทางที่สองคือ ปฏิบัติตามกฎหมาย และทำตามโดยเคร่งครัดมิใช่อ้างตามมาตรา 6 และมาตรา 16 อย่างที่ทำมา
ทางออกที่ ‘นักกฎหมาย’ ในบันทึกฉบับนี้เสนอคือ ให้ใช้มาตรา 22 และ 23 ตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2515 โดยในมาตรา 22 ระบุว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย” และมาตรา 23 ระบุว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าการกระทำหรือการปฏิบัติใดขัดหรือแย้ง หรือไม่เป็นไปตามธรรมนูญแห่งการปกครองนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด” โดยในการอ้างมาตรา 23 นี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เสนอไว้ในบันทึกว่า
“ต้องทำเสียแต่ตอนนี้ ถ้ารอไปจนใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีมาตรา 23 นี้ให้ใช้ แล้วปัญหาจะไม่ยุติ”
อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ ก็ไม่มีผู้ใดนำไปใช้ และข้อถกเถียงนี้ก็หายไปอย่างเงียบงัน
เบื้องหลังความคิด ‘สภาสนามม้า’
จันทนา ไชยนาเคนทร์ เสนอไว้ว่า ความคิดเรื่องสภาสนามม้า อาจเริ่มได้ที่ข้อเสนอของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนบทความตีพิมพ์ในปี 2514 คึกฤทธิ์เสนอไอเดีย ‘ราชประชาสมาสัย’ ซึ่งเป็นการผสานแนวคิดที่คึกฤทธิ์เห็นว่าสุดทาง 2 แนวทางคือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตย โดยมีหลักว่า “ให้พระมหากษัตริย์กับประชาชนร่วมกันปกครองแผ่นดิน ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตยที่แล้วมา”
ในช่วงเวลาดังกล่าวไอเดียดังกล่าวดูจะยังกว้างเกินไปที่จะเข้าใจ จนกระทั่งเป็นรูปธรรมต่อมาในปี 2515 คึกฤทธิ์ ได้เสนอรูปธรรมขึ้นมาอีกครั้ง (อันเป็นช่วงเวลาที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการจอมพลถนอมอยู่) ว่า
“ในระยะต่อไปอาจจะให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากราษฎรครึ่งหนึ่งแล้วก็แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง หรือก็อาจจะเป็นการให้พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบัญชีรายนามผู้ที่ราษฎรควรจะเลือกลงไป ถ้าต้องการผู้แทนร้อยคนก็ให้พระราชทานลงไปห้าสิบ” แล้วค่อยพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งโดยตรง
เป็นเรื่องที่น่าสนใจเมื่อมีการเสนอหลักฐานใหม่ถึงความพยายามในการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเรียกว่า ‘ราชสภา’
ในบันทึกของ สัญญา ธรรมศักดิ์ ในปี 2515 อันเกิดขึ้นก่อนที่จอมพลถนอม จะแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ระบุว่าให้มีคณะหนึ่งทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 คน และไม่เกิน 80 คน
“พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกราชสภา ทั้งนี้โดยมีกรรมการบริหารประเทศทุกคนเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง ส่วนนอกจากนี้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ทรงเลือกเฟ้นเห็นสมควรด้วยคุณวุฒิและชื่อเสียงเกียรติคุณ”
ถึงตรงนี้อาจจะเห็นได้ว่าแนวคิดราชประชาสมาสัยดูจะสอดคล้องกับโครงสร้างและเนื้อหาของ ‘สภาสนามม้า’ กระนั้น จันทนา ไชยนาเคนทร์ ก็สรุปไว้ว่าอิทธิพลของความคิดดังกล่าวสัมพันธ์มากน้อยเพียงใด ยังต้องอาศัยข้อมูลที่มากกว่านี้ในอนาคตข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างและชื่อเรียกราชสภาจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่รูปแบบและที่มาของสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะคล้ายคลึงกันนั้นก็มาปรากฏจริงใน ‘สภาสนามม้า’ หรือสมัชชาแห่งชาติ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2516 มีพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,347 คน เพื่อให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติเลือกตั้งกันเองให้เหลือ 299 คน เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2516 ข้าราชการพลเรือนเป็นกลุ่มที่ได้รับเลือกเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติมากที่สุด และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมติสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2516
สภานิติบัญญัติชุดนี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่า ‘สภาสนามม้า’ เนื่องจากมีการเลือกกันที่สนามม้าราชตฤณมัยฯ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ มี 2 คน คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภาคนแรก ส่วนอีกคนคือ ประภาศน์ อวยชัย
อ้างอิง: จันทนา ไชยนาเคนทร์. (2558, ก.ค.-ธ.ค.). ความเป็นมาและสถานะทางกฎหมายของ ‘สภาสนามม้า’. ชุมทางอินโดจีน: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์ 4(7): 51-64. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. สมัชชาแห่งชาติ 2561 หรือ วิธีทำรัฐประหารโดยไม่ให้คนรู้ตัว. สืบค้นจาก http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_5237.html 13 ตุลาคม 2562. ประจักษ์ ก้องกีรติ. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548. ที่มาภาพ: หนังสือภาพ ร่มโพธิ์ ร่มไทย การเมืองการปกครองไทย (เล่ม 1) พ.ศ. 2493-2525, สถาบันพระปกเกล้า. |