ว่าที่วิศวกร Google กับวิทยานิพนธ์แร็พๆ แห่งฮาร์วาร์ด

ภาพประกอบ: Shhhh

 

โอบาสิ ชอว์ (Obasi Shaw) นักศึกษาปริญญาตรีปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ใช้เวลาหนึ่งปีในการแต่งอัลบั้มเพลงแร็พ ‘Liminal Minds’ ในฐานะวิทยานิพนธ์ สุดท้ายธีสิสของเขาคว้ารางวัลรองอันดับ 1 ของภาควิชา (Summa Cum Laude) มาครองพร้อมดีกรีบัณฑิตเกียรตินิยม

ถือเป็นวิทยานิพนธ์เพลงแร็พชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

แต่ละเพลงของชอว์ จะพูดถึงมุมมองที่ต่างกันของตัวละครในแต่ละบทเพลง ส่วนรูปแบบเนื้อเพลงนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักประพันธ์ชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 14 เจฟฟรีย์ ชอเซอร์ (Geoffrey Chaucer) บิดาแห่งกวีนิพนธ์ของอังกฤษและผู้เขียน ‘นิยายแคนเทอร์เบอรี’ (Canterbury Tales) – บทกวี เกี่ยวกับการเดินทางของบุคคลที่แตกต่างกันไปยังเมืองแคนเทอร์เบอรี โดยชอเซอร์ถือเป็นกวีคนแรกๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสร้างสรรค์งานเมื่อ 600 ปีก่อน และเขียนด้วยภาษาที่ธรรมดา เข้าใจง่ายเพื่อเล่าเรื่องของแต่ละคนที่ผ่านพบ

โดยแต่ละบทเพลงของชอว์จะมุ่งเน้นไปที่ ลักษณะเฉพาะต่างๆ ของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา

หนุ่มน้อยวัย 20 ปีคนนี้เกิดที่ Stone Mountain รัฐจอร์เจีย ซึ่งอยู่แถบชานเมืองของแอตแลนตา กล่าวว่า ไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าฮาร์วาร์ดจะยอมรับงานของเขา โดยทั่วไป นักศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องส่งวิทยานิพนธ์ก็ได้ แต่สำหรับคนที่ต้องการเกียรตินิยม วิทยานิพนธ์คือสิ่งจำเป็น และเพราะต้องการแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ชอว์จึงทำมากกว่าการเขียนเรียงความหรือรวบรวมบทกวี

คนจุดประกายเรื่องนี้คือแม่ของชอว์ หลังสังเกตเห็นว่าลูกชายเขียนเพลงแร็พจำนวนมากและได้ไปแสดงสดในงาน Open Mic Nights ของมหาวิทยาลัย หากบุคคลสำคัญที่เปลี่ยนความคิดของชอว์ต่อเพลงแร็พคือ เคนดริค ลามาร์ (Kendrick Lamar) แร็พเพอร์ชื่อดัง ศิลปินเบอร์แรกๆ ที่ปรับแนวเพลงแร็พไปสู่การวิจารณ์วรรณกรรม

ที่มา : Hyperbeast.com

ก่อนวิทยานิพนธ์แร็พๆ ของชอว์จะเสร็จสิ้น ทั้งนี้อัลบั้ม To Pimp A Butterfly ของ เคนดริค ลามาร์ และ Illmatic ของนาส (Nas) แร็พเพอร์อเมริกันอีกคน เคยถูกบรรจุไว้ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะตำราและหลักไมล์สำคัญทางวัฒนธรรม

‘Declaration of Independence’ คือแทร็คแรกของชอว์ในอัลบั้ม เขาแต่งเนื้อไว้ว่า

“ดูเถิด สิ่งที่เราแบกไว้มีอยู่ 3 ชั้น คือ ร่างกายและจิตใจ ที่ครอบครองวิญญาณอันอิสระเอาไว้ และตัวเราคือหลักฐาน หยุดการแสดงออกอันนอกลู่นอกทางและกำจัดความชั่วร้ายออกไป เราทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน”

ชอว์ยังได้ใช้ข้อเขียนบางส่วนของ เจมส์ บอลดิน (James Balwdin) (กวีและนักเขียนชาวสหรัฐที่หยิบเอาประเด็นเหยียดสีผิว คุกคามทางเพศ ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกันมาเป็นแก่นสำคัญในการสร้างสรรค์งาน) โดยชอว์นำมาใช้ในเนื้อเพลงที่การพูดถึงทาสและการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบัน

จอช เบลล์ (Josh Bell) ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของชอว์ เผยว่า เขารู้สึกประทับใจมากกับความสร้างสรรค์ของลูกศิษย์ เบลล์ถึงกับยกย่องว่ามันเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างงานวิชาการและการสรรค์สร้างงานศิลปะ

และหลังจากจบการศึกษา ชอว์จะได้เข้าทำงานในฐานะวิศวกรซอฟท์แวร์ของ Google

ใครอยากฟังวิทยานิพนธ์ของว่าที่วิศวกรคนนี้ คลิกได้ที่ https://soundcloud.com/obasishaw


ที่มา: independent.co.uk

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า