ปฏิกิริยานักศึกษาหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค สัญญาณร้าวฉานและการชุมนุมระลอกใหญ่

ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เกิดคำถามมากมายต่อผลตัดสินดังกล่าวและแนวทางการให้เหตุผลทางกฎหมายขององค์คณะตุลาการ รวมถึงเกิดปฏิกิริยาของสังคมที่มีต่อระบบยุติธรรมที่มีแนวโน้มลุกลามไปสู่การชุมนุมระลอกใหญ่

มช. ตั้งเวทีปราศรัยถึงความอยุติธรรม

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ไม่นาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการเคลื่อนไหวเป็นที่แรกในระดับภูมิภาค เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 7 สิงหาคม 2567 นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเปิดเวทีปราศรัยถึงความอยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้ง 11 คน บริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมมีการแขวนแผ่นป้ายข้อความ “ชนชั้นใดตรากฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น” พร้อมเปิดพื้นที่ให้บุคคลที่สนใจขึ้นไฮด์ปาร์ค  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ ได้ขึ้นปราศรัยว่า “เราต่อสู้โดยใช้ระบบตัวแทนเราเลือกตั้งผู้แทน เราเลือกพรรคการเมืองเพื่อไปสู้ใช้กลไกในทางนิติบัญญัติ กี่ครั้งกี่หนที่เกิดสิ่งเดิมยุบพรรคตัดสิทธิ แจ้งข้อหา สส. ยังไม่รวมพี่น้องประชาชนที่ลุกขึ้นสู้ในชีวิตประจำวันของเขาเอง พวกเขาถูกแจ้งความดำเนินคดีจากคนกลุ่มเดิม”

ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ทัศนัย ยังกล่าวต่อไปว่า “ผมยืนอยู่ที่บันไดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมไม่ได้กำลังสื่อสารกับนักเรียนกฎหมาย ผมกำลังสื่อสารกับเนติบริกรที่ทำงานรับใช้สังคมและนิติรัฐที่บิดเบี้ยวนี้ ผมกำลังสื่อสารกับนักศึกษานิติศาสตร์ในทุกมหาวิทยาลัย อะไรที่เป็นเยี่ยงอย่างไม่ดี อย่าทำตามและจงถ่มถุยใส่มัน ผมกำลังสื่อสารถึงสมาชิกสภาสูง ไม่ว่าท่านจะเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรด้วยวิธีไหนก็ตาม สถานะอันทรงศักดิ์ของท่าน ถ้ายังทนอยู่กับระบบที่บิดเบี้ยวอย่างนี้ได้ อย่าอยู่ให้อายหมา ผมกำลังสื่อสารถึง สส. ของทุกพรรคการเมือง ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้แทนราษฎร เข้าใจคำว่าราษฎรและประชาชนเสียใหม่ว่าเขาไม่ใช่ขี้ข้าใคร ผมกำลังสื่อสารถึงรัฐบาลในเวลาปัจจุบันที่หาเสียงมาตระบัดสัตย์ทำไม่ได้หรือไม่อยากทำ เป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้”  

ด้าน นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงใหม่ อดีตพรรคก้าวไกล ปัจจุบันสังกัดพรรคประชาชน ได้ร่วมปราศรัยในครั้งนี้ด้วย พร้อมเดินต่อไปไม่ว่าพรรคจะถูกยุบกี่ครั้งก็ตาม มิฉะนั้น อุดมการณ์จะหยุดตามไปด้วย ขณะที่ นายคุณานนต์ คุณานุวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งคำถามว่าเราจะอยู่กันในสังคมแบบนี้หรือ ที่อำนาจที่อยู่เหนือพวกเราพร้อมเสกทุกอย่างให้หายไป 

ความเคลื่อนไหวบริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่
ที่มา: https://www.facebook.com/photo?fbid=497384696379612&set=pcb.497386063046142

นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวและการแสดงออกต่อการยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ บริเวณคณะรัฐศาสตร์แและรัฐประศาสนศาสตร์ หอนาฬิกา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริเวณประตูท่าแพด้วย 

แฟลชม็อบธรรมศาสตร์กลับมาแล้ว!

18.00 น. ของวันที่ 7 สิงหาคม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านคำตัดสินคดียุบพรรค โดยออกแถลงการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ใจความสำคัญว่า การเป็นนิติรัฐ ย่อมไม่หมายความเพียงว่ารัฐต้องผูกพันกับกฎหมาย หากแต่การกระทำของรัฐต้องมีความชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทำการตามอำเภอใจ หากแต่ใน 20 ปีที่ผ่านมา แทนที่จะเป็นที่พึ่งในการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรที่ตรวจสอบและจำกัดอำนาจผู้ปกครองตามหลักนิติรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นเครื่องมือในการขยายขอบเขตของอำนาจรัฐและสถานะของผู้ปกครองในระบบยุติธรรม

“แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงขอยืนยันว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ตามระบอบประชาธิปโตยในระบบรัฐสภา และประณามการตัดสินใจที่จะยุบพรรคก้าวไกลโดยศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ว่าเป็นการกระทำที่ยอมรับมิได้ และเป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน”

จากนั้นแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้นัดรวมตัวกัน ณ โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 1 (SC1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมทิ้งท้ายข้อความในเฟซบุ๊กว่า “แฟลชม็อบธรรมศาสตร์กลับมาแล้ว”

ใครกันแน่เซาะกร่อนบ่อนทำลาย

8 สิงหาคม องค์กรผู้แทนนิสิตนักศึกษา อันประกอบไปด้วยองค์การนิสิตนักศึกษา สภานิสิตนักศึกษา สโมสรนิสิตนักศึกษา คณะกรรมการนิสิตนักศึกษา ชมรมนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างองค์กรผู้แทนนิสิตนักศึกษา 88 องค์กร แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย พร้อมตั้งคำถามด้วยว่าการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ประชาธิปไตยเสียเองหรือไม่

แถลงการณ์ดังกล่าวแสดงความกังวลว่า การตัดสินยุบพรรคและตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค ส่งผลกระทบต่อหลักการประชาธิปไตยและดุลอำนาจในกระบวนการนิติบัญญัติ และที่สำคัญคือผลกระทบต่อประชาชนผู้แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองตามครรลองของระบอบการปกครอง

นอกจากนี้ แถลงการณ์ร่วมระหว่างองค์กรผู้แทนนิสิตนักศึกษา 88 องค์กร ระบุด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยิ่งตอกย้ำว่า มาตรา 112 และข้อถกเถียงเกี่ยวกับการยึดโยงสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะความมั่นคงของรัฐ นอกจากจะไม่สามารถถูกเอื้อนเอ่ยถึง แสดงความเห็น หรือตั้งข้อสงสัยได้แล้ว กระทั่งการนำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติเพื่อแก้ตามรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ถูกกีดกัน จนนำมาสู่การตัดสินยุบพรรคและประหารชีวิตทางการเมืองแก่คณะกรรมการบริหารพรรคในท้ายที่สุด

“มาตรฐานการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเกราะกำบังมิให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ได้เกิดขึ้นอีกตลอดกาล การจับกุม คุมขัง และตัดสินจำคุกประชาชนจากการวิพากษ์วิจารณ์ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อาจนำมาซึ่งความเสียยิ่งกว่าครั้งที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้จะยังคงเป็นปมปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง เกลียดชัง และความร้าวฉานในสังคมการเมืองไทยสืบต่อไป”

นิสิตจุฬาฯ ข้องใจหลักวิชาการของ จิรนิติ หะวานนท์

10 สิงหาคม สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหนังสือเชิญ ศ.(พิเศษ) ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ เข้าอธิบายแนวทางการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญน่าสงสัยว่าถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ 

หนังสือเชิญของสภานิสิตจุฬาฯ ระบุตอนหนึ่งว่า “สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความถูกต้องเชิงวิชาการของการจัดการเรียนการสอนของท่านภายใต้หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต อันเป็นเหตุมาจากการใช้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ส่อขัดต่อหลักการนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการศึกษาของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในปัจจุบันและอนาคต”

ทั้งนี้ สภานิสิตฯ จะซักถาม ศ.(พิเศษ) ดร.จิรนิติ หะวานนท์ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป และจะเปิดให้รับชมการประชุมและการซักถามได้ผ่าน Facebook Live ที่เพจสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นักศึกษา มธ. ยื่นถอดถอน อุดม รัฐอมฤต พ้นอาจารย์พิเศษ

11 สิงหาคม สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจดหมายเปิดผนึกถึง คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ถอดถอน อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์พิเศษ และไม่มีการเชิญกลับมาสอนอีกเป็นอันขาด รวมถึงไม่ให้คุณค่าและความสำคัญในคุณูปการใดๆ ของอุดม รัฐอมฤต ในฐานะนักกฎหมายมหาชนอีกต่อไป

เนื้อความในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า “จากคำวินิจฉัยในครั้งนี้ แม้แต่เพียงการตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามหลักการที่สอนแก่นักศึกษา การยึดหลักนิติวิธีและหลักนิติธรรมซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของนักกฎหมาย ก็ยังไม่ปรากฏสู่สายตาของนักศึกษาและประชาชน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่อาจเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักศึกษาได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นผู้เป็นอาจารย์สอนกฎหมายมหาชน กลับกลายเป็นผู้กระทำสิ่งที่น่าละอายเช่นนี้เสียเอง”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า