เมื่อประวัติศาสตร์อยากโมเอะ ใน Aesthetica: สาวใช้กับปริศนาคดีศิลป์

ถ้ามองหนังสือเป็นโปรดักท์หนึ่ง เราจะไม่ตีขลุมว่าคนรักการอ่าน หรือชอบอ่านหนังสือ ต้องมีบุคลิกแบบใดแบบหนึ่งตามสเตอริโอไทป์ เพราะหนังสือก็มีหลากหลายประเภทมาก

และถ้าดูจากจำนวนยอดพิมพ์หนังสือแต่ละปก รวมถึงเม็ดเงินที่สะพัดในแวดวงหนังสือประเภทต่างๆ ตลาดที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับกลุ่ม niche ที่เราคุ้นๆ อยู่ (เหมือนมหาสมุทรเทียบกับแอ่งน้ำ) ก็คือตลาดไลท์โนเวล กระทั่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของนักออกแบบ

ปกบางท่านด้วยซ้ำ

แต่การออกแบบคือการเล่นกับสเตอริโอไทป์ตรงๆ เลยแหละ 

หรือเราจะพูดว่ามันคือไวยากรณ์ของการออกแบบดี? เช่น หนังสือที่มีหน้าตาแบบไลท์โนเวล เล่มนี้

ผู้เขียน ภานุ ตรัยเวช เป็นนักเขียนที่มีผลงานหลากหลาย ภานุช่วงแรกที่เรารู้จักคือนักเขียนวรรณกรรมน่าจับตาที่มีผลงานออกมาสองสามเล่ม (เล่มที่เราอยากแนะนำให้อ่านคือ คดีดาบลาวยาวแดง) ช่วงที่สองของภานุน่าจะนับจากผลงานที่ติดอันดับขายดี ‘ในไวมาร์เยอรมัน ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง’ ซึ่งเป็นการขยับจาก fiction มาเขียนงาน non-fiction ประวัติศาสตร์เต็มรูปแบบ

ช่วงที่สามของเขา ไม่ได้เขียนหนังสือแต่หันมาคร่ำเคร่งกับบอร์ดเกมแทน (555)

และในส่วนผสมของการเป็นนักเขียนและโอตาคุ (การ์ตูนญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์เยอรมัน เกมกระดาน และอื่นๆ) ในที่สุดงานของของภานุก็กระโดดมายังพรมแดนของไลท์โนเวล

The Mill ผลงานของเรมบรังด์ที่ลิงค์กับปกไลท์โนเวล

สเตอริโอไทป์ของคนอ่านหนังสือ สเตอริโอไทป์ของโอตาคุ และสเตอริโอไทป์ของไลท์โนเวล สามอย่างนี้ไม่มีอะไรเหมือนกัน แต่งานออกแบบไลท์โนเวล ก็คือการหยิบไวยากรณ์ของการออกแบบหนังสือการ์ตูนมาใช้กับหนังสือนิยาย สันนิษฐานว่าที่หยิบไวยากรณ์หนังสือการ์ตูนมาใช้ เพราะเดิมทีเป็นการแต่งนิยายต่อจากมังงะเรื่องนั้นๆ หรือเป็น spin-off จากมังงะเรื่องหลัก 

การถ่ายทอดไวยากรณ์ของหนังสือการ์ตูนสู่นิยาย จึงไล่มาตั้งแต่ขนาดของรูปเล่ม การแบ่งเนื้อหาเป็นเล่มๆ ไป และมักออกแบบปกให้เข้าชุด โดยไล่เรียงไปตามตัวละครที่เด่นในเล่มนั้นๆ ต้องมีแจ็กเกตหุ้มปกพิมพ์ 4 สี ส่วนปกในเป็นอาร์ตการ์ดพิมพ์สีเดียวเสมอ ฯลฯ

เมื่อไวยากรณ์ในการออกแบบมาถึงขนาดนี้แล้ว ส่วนประกอบที่สำคัญมากๆ ของไลท์โนเวลคือ นักวาดภาพประกอบ แม้จำนวนชิ้นงานจะไม่มาก แต่ศักดิ์และสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์ไลท์โนเวลนั้น คนเขียนและคนวาด แทบจะเท่าๆ กัน ต่างจากหนังสือประเภทอื่น (ยกเว้นหนังสือภาพ) ที่มักให้ศักดิ์ผู้เขียนสูงกว่าเสมอ

ไลท์โนเวลเล่มนี้สื่อสารชัดเจนถึงกลุ่มเป้าหมาย ว่าเป็นแนว ‘สาวเมด’ (genre หนึ่งของมังงะ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายท่านและสาวใช้ ที่มักจะ ‘โมเอะ’ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู) องค์ประกอบ สี ฟอนต์ที่ใช้ให้กลิ่นแบบหนังพีเรียด (ปกหลังระบุไว้ว่าเป็นแนวแฟนตาซี) ตัวเรื่องราวนั้นอิงจากประวัติศาสตร์ยุคศตวรรษที่ 17 ในเนเธอร์แลนด์ ช่วงปลายของสงครามประกาศเอกราชของเนเธอแลนด์จากสเปน (Dutch War of Independence) โดยตัวเอกของเรื่องคือสาวใช้ผมแดงหน้าตาโมเอะชื่อ เซริม และนายท่านหนุ่มเซอร์ผมยาวชื่อ เรมบรังด์ – ใช่แล้ว จิตรกรชาวดัตช์ผู้โด่งดังคนนั้นแหละ

ที่น่าสนใจมากๆ คือ บทแรก

มันคือการปูพื้นประวัติศาสตร์ ให้เราเห็นบริบทยุคนั้น ทั้งเรื่องสงคราม ความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิสเปนและชาวดัตช์ผู้ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ แต่เรื่องราวเหล่านี้เล่าได้อย่างมีชั้นเชิง และเนียนไปกับการสร้างคาแรกเตอร์นายท่านและสาวใช้ตัวเตี้ย อาจจะจั๊กจี้หน่อยๆ ที่ในไดอะล็อกมีคำว่า ‘เจ้าคะ’ ซึ่งทำให้เราได้ยินเสียงในหัวเป็นซาวด์แทรคการ์ตูนญี่ปุ่นในเนทฟลิกซ์อย่างช่วยไม่ได้

มันเป็นบทโหมโรงประวัติศาสตร์จริงพร้อมๆ ไปกับการปูคาแรกเตอร์โมเอะแบบการ์ตูน  เป็นส่วนผสมที่ประหลาดมาก ลูกหยอดแบบสูตรของเรื่องแนวสาวเมด ความก้ำกึ่งของความสัมพันธ์นาย-บ่าวว่าจะพัฒนาไปสู่ความรักแบบชู้สาวได้ไหม คือคีย์ของเรื่องแนวนี้

แต่ภานุก็คือภานุ หลังจากไวยากรณ์แบบไลท์โนเวลทำงานเต็มสูบล่อหลอกโอตาคุให้ติดกับในบทที่หนึ่ง เรื่องราวในบทต่อๆ ไป มีทั้งการดำเนินเรื่องตามขนบนิยายสืบสวนสอบสวนที่เน้นความกระฉับกระเฉง เรื่องแนวลี้ลับเหนือนธรรมชาติ แต่บทที่ตัวเรื่องราวถูกจริตเราที่สุด คือบท ‘เด็กหนุ่มกับเกรียง’ ที่ใช้ไวยากรณ์การเล่าแบบวรรรกรรม หยิบจับชีวประวัติในวัยหนุ่มของเรมบรังด์ในช่วงที่เพิ่งฝึกหัดเป็นจิตรกรมาเล่าใหม่ ให้เห็นถึงสภาพสังคมเนเธอร์แลนด์ยุคนั้นละเอียดขึ้น ในเรื่องการศึกษา ศาสนา ความเชื่อ 

จบเล่มที่หนึ่งด้วยตัวละครหลักอีกตัว (ตามสูตร พระเอกต้องมีสองคน เราจะได้ลุ้นไงว่าสุดท้ายสาวใช้จะลงเอยกับใคร) ซึ่งหยิบมาจากชีวิตจริงของ ยาน ฟานเดอเฮย์เดน ในเรื่องนี้ยานเป็นนักดับเพลิงหนุ่มหล่อ และฉากอีปิคสุดในเล่มนี้ คือไฟไหม้ในกรุงอัมสเตอร์ดัม

ไลท์โนเวลเล่มนี้ไม่ใช่นิยายแฟนตาซีแน่ๆ แต่เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์เต็มตัว ที่เล่าด้วยภาษาแบบไลท์ๆ แต่ให้ภาพการสร้างบ้านสร้างเมือง เป็นนิยายมนุษย์นิยมแท้ๆ สมกับที่กล่าวกันว่า ‘พระเจ้าสร้างทะเล แต่ชาวดัตช์สร้างแผ่นดิน’

Aesthetica สาวใช้กับปริศนาคดีศิลป์ (เล่ม 1)
เรื่อง ภานุ ตรัยเวช / ภาพ Midnight Companyพะโล้พับลิชชิ่, มีนาคม 2019

 

ปล.1 โดยส่วนตัว คิดว่าบทส่งท้ายของบรรณาธิการท้ายเล่มค่อนข้างเป็นจุดด้อย อาจจะด้วยภาษาที่ใช้ ที่ลำลองมากๆ อันที่จริงบทส่งท้ายในหนังสือการ์ตูนก็มักเขียนด้วยภาษาแบบนี้แหละ แต่ด้วยการออกแบบ ช่วยให้มันแยกส่วนกว่านี้ (เช่น ตัวหนังสือเล็กลง หรือใช้ฟอนต์ที่เป็นลายมือ  หรือกระทั่งเป็นเท็กซ์สั้นๆ ตรงปีกปกก็พอแล้ว)

ปล.2 ปรูฟผิดเยอะ มีการเคาะวรรคที่ลักลั่น ไม่ค่อยเนี้ยบ และที่พลาดที่สุดคือเหมือนไม่ได้ปรูฟบนอาร์ทเวิค มีเท็กซ์ท้ายบทพิมพ์ทับไปบนตัวจบบทด้วย

 ปล.3 พูดถึงจิตกรรม — ใน My name is Red ของ ออร์ฮาน ปามุก พูดถึงโลกทัศน์สองแบบระหว่างจิตรกรรมอิสลามและจิตกรรมเวนิส (สาวงามในศิลปะอิสลาม ต้องมีหางตาชี้ เพราะนี่คือสเตอริโอไทป์ของ ‘หญิงงาม’ ซึ่งได้อิทธิพลมาจากศิลปะจีน แต่จิตรกรรมเวนิสคือการวาดภาพพอเทรต และภาพหญิงงาม ก็คือภาพเหมือนของหญิงงามมีเลือดมีเนื้อจริงๆ) ส่วนในไลท์โนเวลเล่มนี้ เรมบรังด์ก็วาดภาพเหมือนนั่นแหละ แต่ประหลาดดีที่มังงะอาร์ทแบบไลท์โนเวล คือการหวนกลับไปสู่ ‘โลกของแบบ’ ที่มีสเตอริโอไทป์ของสาวงามหนุ่มหล่อมีหน้าตาเป็นบล็อคเดียว — เหมือนศิลปะยุคออตโตมันเลยแฮะ

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า