พีระพัฒน์ สวัสดิรักษ์: อ่าน
หนังสือจิตวิทยาแห่งความสุขและการพัฒนาตัวเอง ถ่ายทอดผ่านวิธีถามตอบแบบที่เพลโตเคยทำ จนทำให้ขึ้นหิ้งขายดีเมื่อปีที่แล้ว
กล้าที่จะถูกเกลียด คือหนังสือสัญชาติญี่ปุ่นที่เขียนร่วมกันโดย คิชิมิ อิชิโร และ โคะกะ ฟุมิทะเกะ แปลเป็นภาษาไทยโดย โยซุเกะ และ นิพดา เขียวอุไร จากสำนักพิมพ์ WeLearn
หลักใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้เป็นการสำแดงแนวคิดเชิงจิตวิทยาของ อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) นักจิตวิทยาและนักปรัชญาชาวออสเตรีย ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งการพัฒนาตัวเอง’
แอดเลอร์นำเสนอวิธีคิดใหม่ๆ มากมาย ที่อาจสั่นคลอนหัวสมองคนอ่านจนกลับตาลปัตรไปมาได้ เช่น “การปฏิเสธว่าแผลใจในอดีตไม่มีผลกับการติดสินใจในชีวิตปัจจุบัน” “ความทุกข์ใจทั้งหมดล้วนเกิดจากความสัมพันธ์กับผู้คน” “อย่าใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่น” และ “จงมอบความหมายให้กับชีวิตที่ไม่มีความหมาย”
คิชิมิ อิชิโร ผู้เขียนในภาษาต้นฉบับกล่าวว่า หลักจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยใหม่ แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปรัชญากรีกแนวโสกราตีสและเพลโต เห็นได้ชัดจากแนวคิดเรื่อง ‘การยึดเป้าหมายเป็นสำคัญ’ และแนวคิดเรื่อง ‘คนเราเป็นปัจเจกบุคคลที่ต้องอยู่ในบริบทสังคม’ ของเขานั้นก็คล้ายคลึงกับแนวคิดของนักปรัชญาชาวเยอรมันอย่าง จอร์จ ฟรีดริช เฮเกิล (Georg Friedrich Hegel) ส่วนแนวคิดเรื่อง ‘การตีความข้อบกพร่องโดยใช้มุมมองของตัวเองมากกว่าข้อเท็จจริง’ ก็คล้ายคลึงกับการมองโลกของ ฟรีดริช นิตซ์เชอ (Friedrich Nietzsche) นอกจากนี้แอดเลอร์ยังรับแนวคิดปรากฏการณ์นิยมของ เอ็ดมันด์ ฮุสเซิร์ล (Edmund Husserl) และ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) มามากพอสมควร
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ขึ้นหิ้งขายดีในไทยและกลายเป็นคัมภีร์ที่ชาวญี่ปุ่นนำแนวคิดมาปรับใช้กับตัวเอง คือเทคนิควิธีในการดำเนินเรื่อง ที่ใช้แค่บทสนทนาของคนสองคน ถามตอบกันไปเรื่อยๆ เพื่อนำเสนอจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ไปจนจบเล่ม
ชายหนุ่ม: งั้นผมเริ่มเลยนะครับ อาจารย์เชื่อว่าโลกใบนี้เรียบง่ายไม่มีอะไรซับซ้อนใช่ไหมครับ?
นักปรัชญา: ครับ โลกใบนี้เรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน
ชายหนุ่ม: อาจารย์แน่ใจนะครับว่ากำลังพูดถึงโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่โลกในอุดมคติ หมายความว่าปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมกับอาจารย์ก็เป็นเรื่องที่เรียบง่ายเหมือนกันเหรอ
นักปรัชญา: แน่นอนครับ
หรือ
ชายหนุ่ม: ที่อาจารย์บอกว่าโลกและชีวิตของคนเรานั้นเรียบง่ายคงจะหมายถึงชีวิตของพวกเด็กๆ สินะครับ เพราะเด็กไม่มีภาระหน้าที่ ไม่ต้องทำงานหรือเสียภาษี ได้ใช้ชีวิตตามใจชอบโดยมีพ่อแม่และสังคมคอยปกป้อง มีเวลาใช้ชีวิตเหลือเฟือจนรู้สึกว่าจะทำหรือจะเป็นอะไรก็ได้ เหมือนมีมือคอยช่วยปิดหูปิดตาให้ไม่ต้องรับรู้ความจริงอันโหดร้าย
ถ้าอย่างนั้นก็เข้าใจได้ครับ ในสายตาของเด็กโลกคงจะเรียบง่ายจริงๆ นั่นแหละ
แต่พอเราโตเป็นผู้ใหญ่ โลกก็จะเผยธาตุแท้ออกมา เราถูกบีบให้ต้องเผชิญกับความจริงที่คอยพร่ำบอกเราว่า “อย่างแกมันก็ได้แค่นี้แหละ” เมื่อเราโตขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยคิดว่าเป็นไปได้กลับกลายเป็น “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” ช่วงเวลาแสนสุขจบสิ้นลง โลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายเข้ามาแทนที่
นักปรัชญา: คุณคิดอย่างนี้นี่เอง น่าสนใจจริงๆ
ชายหนุ่ม: รู้แบบนี้แล้วอาจารย์ยังจะบอกว่าโลกนี้เรียบง่ายอยู่อีกเหรอ?
นักปรัชญา: ครับ ผมยังยืนยันคำเดิม โลกใบนี้เรียบง่าย ชีวิตคนเราก็เช่นกัน
ชายหนุ่ม: ทำไมล่ะครับ ไม่ว่าจะมองยังไงโลกใบนี้ก็สับสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยความขัดแย้งไม่ใช่เหรอ?
นักปรัชญา: ‘โลก’ ไม่ได้สับสนวุ่นวายครับ ‘ตัวคุณ’ ต่างหากที่ทำให้โลกดูสับสนวุ่นวาย
ชายหนุ่ม: ตัวผมเหรอ?
นักปรัชญา: ไม่มีใครอยู่ในโลกอย่างปราศจากอคติหรอกครับ เราแต่ละคนล้วนอยู่ในโลกส่วนตัวที่ตัวเองปั้นแต่งขึ้นมาทั้งนั้น ดังนั้น โลกที่คุณเห็นกับโลกที่ผมเห็นจึงแตกต่างกัน เรียกว่าโลกของใครของมันก็ว่าได้
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากการที่ชายหนุ่มผู้ท้อแท้กับชีวิตคนหนึ่ง ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของนักปรัชญาที่มองโลกในแง่ดีจนทำให้เขารู้สึกขนลุกขนพอง ชายหนุ่มเลือดร้อนจึงมุทะลุเข้ามาพบกับนักปรัชญาถึงบ้านทีเดียว จากนั้นเขาก็ไถ่ถามถึงความลับที่นักปรัชญารู้และเก็บงำอยู่กับตัว ด้วยใจที่หวังว่าจะหักล้างความคิดของเขาให้ได้ พร้อมกับจะตอกย้ำให้นักปรัชญาเชื่อว่า “โลกนี้มันไม่ได้สวยงามขนาดนั้นนะครับ”
ความสนุกของบทสนทนาคือการคะคานกันด้วยเหตุและผล พร้อมยกตัวอย่างประกอบความเชื่อที่แต่ละคนยึดถือ นักปรัชญาสวมบทบาทเป็นปราชญ์ที่คมคาย และกำลังอธิบายจิตวิทยาแบบแอดเลอร์อย่างแนบเนียน ส่วนชายหนุ่มก็เหมือนกำลังแสดงเป็นคนอ่านอย่างๆ เราๆ ท่านๆ นั่นแหละ เพราะแต่ละคำพูดแต่ละคำถามของเขา ได้พูดแทนคนอ่านซึ่งมีความสงสัยใคร่รู้และบางครั้งก็งงงวยกับความคิดของนักปรัชญาผู้นี้ การคะคานกันทำให้แนวคิดแบบแอดเลอร์ที่รสขมปี๋มีความกลมกล่อมมากขึ้น การอ่านจึงลื่นไหลไปได้อย่างไม่มีสะดุด
บทสนทนาที่แฝงไปด้วยปรัชญาอันลึกซึ้งเช่นนี้ คิชิมิได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานเขียนอมตะของเพลโต เขาอยากรักษาแบบแผนที่มีมาตั้งแต่ยุคโสกราตีสไว้ ด้วยความชื่นชมที่เห็นนักปรัชญากรีกพูดถึงเรื่องยากๆ โดยไม่ต้องใช้ศัพท์เฉพาะทางเลยแม้แต่คำเดียว ผิดกับแวดวงวิชาการสมัยใหม่ที่มักใช้แต่คำศัพท์ที่เข้าใจกันเองเท่านั้น
“เพลโตเป็นผู้นำแนวคิดของโสกราตีสมาเขียนให้คนรุ่นหลังอ่าน ผมจึงอยากเป็นเพลโตของแอดเลอร์บ้าง” อาจารย์คิชิมิพูดตอนที่เขากับโคะกะได้พบกันที่เกียวโต เมื่อผู้เป็นศิษย์ได้ยินอย่างนั้นจึงตอบกลับไปโดยไม่คิดเลยว่า “ถ้าอย่างนั้นผมจะเป็นเพลโตให้อาจารย์เองครับ” หนังสือเล่มนี้จึงถือกำเนิดขึ้น
กล้าที่จะถูกเกลียด ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นต้นฉบับเป็นเสมือนคัมภีร์ที่ชาวญี่ปุ่นหลายล้านคนนำไปใช้เพื่อสร้างชีวิตที่ดีในแบบที่ต้องการ โดยมียอดขายกว่า 150,000 เล่มในแดนปลาดิบ ส่วนในไทยเองก็ไม่น้อยหน้า หนังสือเล่มนี้เคยขึ้นชั้น Best Seller ของร้านหนังสือยักษ์ใหญ่มาแล้วหลายสาขา กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงถูกจัดอยู่ในอันดับ Top Ten ของหนังสือขายดีหมวดจิตวิทยา
มีผู้คนไม่น้อยหยิบหนังสือเล่มนี้ไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดมากเกินไปนัก เพราะชื่อหนังสือเชิญชวนให้ค้นหาเบื้องหลังของความคิดนี้เหลือเกิน คำว่า ‘กล้า’ และคำว่า ‘เกลียด’ จูงใจให้คนอ่านต้องพินิจพิเคราะห์ถึงความจริงในชีวิตอีกครั้ง แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่ออ่านจนจบเล่มก็อาจพบว่า แนวคิดหลายอย่างในหนังสือนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับใช้ได้จริงในทันทีทันใด คงต้องเป็นหน้าที่ของผู้อ่านเองที่จะครุ่นคิด เลือกที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่อก็ได้ อาจซื้อเพียงบางวิธีคิดมาประยุกต์ให้เข้ากับตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และแอดเลอร์ บิดาแห่งการพัฒนาตัวเองที่ลาลับโลกนี้ไปแล้วก็คงดีใจ ที่แนวคิดของเขายังพอมีประโยชน์กับมนุษยชาติในปี 2018 อยู่