คุณครูอยากแก้ปัญหาเด็กเกเรในห้องเรียน แต่มันมีข้อแลกเปลี่ยน รู้ใช่ไหม…
ซูซาน (Susan) ผู้ปกครองของเด็กหญิงวัย 8 ขวบคนหนึ่งกล่าวว่า มาถึงจุดหนึ่ง การส่งลูกไปโรงเรียนกลายเป็นเรื่องใจสลาย เมื่อเธอได้รับโทรศัพท์จากโรงเรียนครั้งแล้วครั้งเล่าว่าลูกของเธอมีปัญหา จนเธอต้องย้อนกลับไปดูที่โรงเรียน ถึงจะลาออกจากงานแล้ว แต่นั่นก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อลูกสาวของเธอตอบโต้คุณครูว่า “ทำไมครูไม่ฆ่าหนูทิ้งซะเลยล่ะ” นี่คือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้โรงเรียนตัดสินใจไล่เธอออก เพราะหมดหนทางที่จะเยียวยาแล้ว
สถิติของทางการระบุว่า นักเรียนในอังกฤษจำนวน 6,685 คนถูกไล่ออกจากโรงเรียน และตั้งแต่ปี 2012-2013 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นถึง 44 เปอร์เซ็นต์
คุณครูใหญ่กล่าวว่า มาตรการไล่ออกจะถูกใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย หากไม่เป็นเพราะพฤติกรรมอันตรายของพวกเขาเองเสียแต่แรก อย่างเช่นการพกอาวุธมาโรงเรียน โดย ทอม เบนเนตต์ (Tom Bennett) ที่ปรึกษาของรัฐด้านพฤติกรรมในโรงเรียนให้ความเห็นว่า
หากเด็กจะถูกไล่ออกด้วยเหตุผลนี้ การไล่ออกถือว่าไม่ใช่การกระทำที่ชั่วร้าย เพื่อนร่วมชั้นเรียนของพวกเขาควรได้รับการปกป้องสิทธิเช่นกัน
นักวิจารณ์เชื่อว่าโรงเรียนเริ่มหมดความอดทนกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง นักเรียนส่วนใหญ่ที่ถูกไล่ออกไม่ได้รับวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านจิตใจหรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษใดๆ พวกเขามักเป็นเด็กผิวสี เด็กผู้ชาย หรือมีฐานะยากจน
นอกจากนี้ ยังมีจำนวนเด็กที่ออกจากโรงเรียน ‘อย่างไม่เป็นทางการ’ เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากผู้ปกครองจำนวนหนึ่งถูกยุยงให้พาเด็กย้ายโรงเรียนอย่างผิดกฎหมาย ผู้ปกครอง 2 ใน 14 คนทางตอนเหนือของลอนดอนได้รับคำแนะนำให้สอนหนังสือลูกที่บ้าน (หนึ่งในนั้นเลี้ยงลูกคนเดียวพร้อมกับเรียนมหาวิทยาลัย และยังอาศัยอยู่กับพ่อ) รายงานจากกลุ่มนักวิจัย Institute for Public Policy Research (IPPR) ประเมินว่าจำนวนนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนอาจมากถึง 48,000 คน หรือทุกๆ 1 ใน 200 คน
โรงเรียนที่มีมาตรการจัดการกับเด็กที่มีปัญหาในห้องเรียนโดยการเชิญเด็กออกจากห้อง มาตรการดังกล่าวคงต้องยอมรับว่าไม่มีประสิทธิภาพ เพราะก่อนที่เด็กจะกลับไปเรียนในชั้นเรียนตามปกติ ควรที่จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเข้ามาดูแลเสียก่อน โดยช่วงปี 1997-2010 พรรคแรงงานซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้นได้ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อจัดการปัญหานี้ ผลลัพธ์คือจำนวนเด็กที่ถูกไล่ออกลดลงทันที
แต่เมื่อมีการไล่ออกเพิ่มขึ้น โรงเรียนก็ตัดงบประมาณซึ่งได้จากรัฐบาลท้องถิ่นไปปรับปรุงผลการสอบของเด็กมากกว่าใช้แก้ปัญหาพฤติกรรมของเด็ก คุณครูที่ฝึกฝนวิธีรับมือกับพฤติกรรมเด็กมาน้อยก็จะต้องทำงานที่พวกเขาไม่ถนัดหนักขึ้น
ผู้ปกครองคนหนึ่งเปิดเผยว่าการไล่ออกทำให้พวกเขาเข้าถึงการช่วยเหลือ แต่เด็กๆ ไม่ควรเจออะไรแบบนี้ตั้งแต่แรก
ระบบจัดการกับเด็กที่ถูกไล่ออกนั้นก็ไร้ระเบียบ โรงเรียนจะเลือกการศึกษานอกสถานที่ให้เด็กเหล่านี้บนพื้นฐานของราคามากกว่าคุณภาพ มีเพียงส่วนน้อยที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษา หลังจากถูกไล่ออก ผู้ปกครองหลายคนต้องดิ้นรนกับการหาโรงเรียนใหม่ให้ลูก โรงเรียนที่ยินดีรับพวกเขาเมื่อพร้อม
เด็กๆ ลงเอยด้วยการศึกษาต่อในโรงเรียนเฉพาะทาง ซึ่งเป็นเหมือนทางเลือกชั่วคราวมากกว่า ผู้ตรวจการโรงเรียนให้ข้อสังเกตว่านักเรียนเหล่านี้เรียนไม่กี่วิชา แค่ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์พื้นฐานเท่านั้น มีการทำวิจัยเกี่ยวกับผลการเรียนของเด็ก ปรากฏว่ามีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ถูกไล่ออกสอบผ่านระดับ 5 ของ General Certificate of Secondary Education* ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดที่ใช้สมัครงานได้
คีราน กิล (Kiran Gill) ผู้ก่อตั้ง The Difference องค์กรการกุศลซึ่งช่วยจัดหาคุณครูที่มีความสามารถมาสอนเด็กๆ ที่ถูกไล่ออก ให้ความเห็นว่า การไล่เด็กออกไม่ได้ส่งผลเสียเฉพาะตัวเด็ก แต่ส่งผลเสียอย่างยิ่งใหญ่แก่ประเทศด้วย งานวิจัยโดยกระทรวงยุติธรรมในปี 2012 ยังเสนอไว้ว่า นักโทษมากกว่า 6 ใน 10 คนเคยถูกไล่ออกจากโรงเรียน การไล่เด็กออกอาจแก้ปัญหายุ่งเหยิงในห้องเรียนได้ แต่มันก็มีต้นทุนที่ต้องเสียไปเช่นกัน
*ระบบการศึกษาสำหรับเด็กที่มีอายุ 14-16 ปี ในโรงเรียนหรือวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ
อ้างอิงข้อมูลจาก:
economist.com/news