ประชามติกับการรณรงค์โดยภาษีประชาชน

DSC_0318-reภาพ: ณัชปกร นามเมือง / เมธาวี เด่นทรัพย์ไพบูลย์

 

งานสัมมนาวิชาการ ‘ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ’ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมจัดโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) โครงการปริญญาโท สาขาวิชาการเมืองการปกครอง สำหรับนักบริหาร (MPE) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

สืบเนื่องจาก iLaw และประชาชนรวม 107 คน ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงผลการประชุมว่าจะส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะช่วยให้ พ.ร.บ.ประชามติ (มาตรา 61 วรรคสอง) ไม่ถูกนำเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

“หากกฎเหล่านี้ยังอยู่ การออกเสียงประชามติคงไม่สามารถถือได้ว่าเป็นการออกเสียงประชามติโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้” จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าว

IMG_9777nirun-re
ภาพ: ณัชปกร นามเมือง

ความสำคัญของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการยอมรับว่า รัฐธรรมนูญคืออำนาจของประชาชน

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความเห็นว่า การจะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ ที่เป็นข้อตกลงทางกฎหมาย ทางโครงสร้างทางการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชน อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นหลักประกันสิ่งที่เป็นอำนาจของประชาชนในการคุ้มครองประโยชน์และความถูกต้อง หมายความว่า เป็นเรื่องของประชาชนที่จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้น และสิ่งนี้คือความชอบธรรมของการทำประชามติ

การทำประชามติ สำคัญและมีความหมายในสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’ มากกว่าการเลือกตั้ง เพราะการทำประชามติคือการแสดงถึงอำนาจของประชาชนในทางตรง ตัดสินเลยว่าจะเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้

ขณะนี้ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ถูกทำให้สับสนคลุมเครือ มีความไม่แน่นอน ตอนนี้กลายเป็นว่า ประชามติที่จะเกิดขึ้น เป็นการหาข้อสรุปว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

“สังคมไทยได้ผ่านปรากฏการณ์ที่ว่า กฎหมายคืออำนาจ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาแล้วอย่างชัดเจน ในรัฐธรรมนูญ 2540 กำกับไว้ในมาตรา 3 ว่า เราจะปกครองและใช้กฎหมาย โดยยึดหลักนิติธรรม นั่นหมายความว่า ต้องถือกฎหมาย คือความยุติธรรมและความถูกต้อง ไม่ใช่กฎหมายคืออำนาจ”

ยุคสมัยของการตีความว่า กฎหมายคือคำสั่งผู้มีอำนาจนั้นใช้ไม่ได้ เพราะคนมีอำนาจมาก ก็มีโอกาสทุจริตได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะขึ้นชื่อว่าอำนาจนั้นไม่เข้าใครออกใคร นิรันดร์กล่าวว่า สิ่งที่อ้างว่าเป็นกฎหมาย ความจริงเป็นคำสั่ง คสช. ซึ่งตามหลักสากลไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย เพราะกฎหมายต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

นิรันดร์มองว่าสังคมไทยค่อนข้างมีปัญหา เพราะผู้นำมักจะคิดถึงเป้าหมาย แต่ไม่สนใจเรื่องกระบวนการวิธีการ และกระบวนการวิธีการจะเป็นตัวตัดสินว่า ฝ่ายปกครองใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมหรือไม่ หากใช้อำนาจและมีความไม่เข้าใจ หรืออำนาจถือเป็นกฎหมายด้วย นอกจากบ้านเมืองจะไม่สามารถพ้นวิกฤตการณ์ความขัดแย้งไปได้แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งชุดใหม่ขึ้นด้วย

IMG_9798sriprapa-re
ภาพ: ณัชปกร นามเมือง

สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ก็คือ พยายามบอกว่าการรณรงค์ ไม่ว่าจะโหวตเยส หรือโน หรือไม่โหวตเลย เป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่สมควรจะต้องทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีเรื่องแลกเปลี่ยนในสามประเด็น

หนึ่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มียุทธการที่เรียกว่า ยุทธการป้ายสีต่างๆ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

สอง รัฐธรรมนูญเป็นหลักการสูงสุดในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ซึ่งการกำหนดหน้าที่ของรัฐกับสิทธิของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจของรัฐ และการรับรองการมีส่วนร่วมของประชาชนในรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาจะเห็นความไม่ยั่งยืนของรัฐธรรมนูญ เพราะจะถูกขจัดไปด้วยการรัฐประหารทุกครั้ง

โดยหลักการยืนยันว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องมือปราบคนโกง

สาม มีความพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวในสังคมไทย โดยเฉพาะคนที่มีความเห็นแตกต่าง โดยที่คนเหล่านั้นจะมีความกลัวว่า จะถูกจับหรือถูกคุกคาม

ศรีประภายกตัวอย่างว่า หลังจากตนแจ้งสมาชิกครอบครัวว่าจะต้องมาพูดเรื่องประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ ก็เริ่มมีความกังวลเกิดขึ้นทันที ศรีประภามองว่า เป็นความกังวลของแทบจะทุกครอบครัวเวลามีคนในครอบครัวคิดจะทำอะไรบางอย่างที่เป็นการกระทำที่รัฐไม่ต้องการให้ทำ

รู้สึกว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่เอื้อที่จะทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หรือจะนำไปสู่การปฏิรูปใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งประชาธิปไตยและการปฏิรูปต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งขณะนี้เราไม่มีบรรยากาศแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายระหว่างประเทศเขียนไว้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใดๆ ก็ตาม การที่จะไม่ให้คนแสดงออกซึ่งความคิดความเห็นนั้นจะกระทำไม่ได้

“ปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ เรากำลังพูดถึงสิทธิในการแสดงออก กับเรื่องการจำกัดสิทธิ์ ทำไปทำมา กลายเป็นว่า เรากลับตาลปัตรกัน เราไม่พูดถึงสิทธิ์ แต่พูดถึงการจำกัดสิทธิ์เท่านั้น ซึ่งมันก็ไม่ใช่ภาวะที่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศ”

ทั้งนี้ การจำกัดสิทธิ์ในการแสดงออกสามารถทำได้ เพราะสิทธิมาพร้อมหน้าที่เสมอ สิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นก็จำกัดได้ แต่การจำกัดสิทธิ์เหล่านี้ตั้งอยู่บนฐานสองประการ

หนึ่ง หากว่าการแสดงออกนั้นกระทบต่อชื่อเสียงของผู้อื่น ทำไม่ได้ ซึ่งก็มีกฎหมายโดยเฉพาะอยู่แล้ว เป็นกฎหมายแพ่ง หรือกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาท ไม่สมควรจะต้องมาอยู่ใน พ.ร.บ. ประชามติ

สอง หากว่าการแสดงออกซึ่งความคิดความเห็นนั้น จะไปกระทบต่อสิ่งที่เรียกว่า ความมั่นคงแห่งชาติ ความสงบเรียบร้อย ต่อสุขภาพ หรือต่อศีลธรรมอันดีของสังคม ทั้งสี่เรื่องนี้ ศรีประภาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นฐานที่ถูกตีความกว้างขวางมาก คือขณะนี้ใครแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง กลายเป็นว่า คุณอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง

ศรีประภาแลกเปลี่ยนเรื่องรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตามกลไก UPR (Universal Periodic Review) ซึ่งเป็นการเสนอรายงานที่ประเทศสมาชิกทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต้องเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ทุกสี่ปี รอบที่สองที่ประเทศไทยไปเสนอ นำโดยปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ในการนำเสนอรายงาน UN จะดูรายงานอย่างน้อยสามฉบับ ฉบับที่เป็นทางการก็คือฉบับของรัฐบาล ฉบับที่สองของภาคประชาสังคม ฉบับที่สามเป็นฉบับที่ทางองค์กรของ UN รวบรวมขึ้นมา ทั้งสามฉบับจะเอาไปใช้ในการพิจารณา นอกจากนั้น ก็ยังมีความคิดเห็นจากประเทศอื่นๆ ที่เอามาเป็นข้อเสนอ

ข้อเสนอที่รัฐบาลไทยได้รับมาคือ 181+68 ทั้งนี้ คือคณะผู้แทนไทยรับมาทันที 181 ข้อ ส่วน 68 ข้อ คณะผู้แทนบอกว่า จะนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

“การที่เราได้รับคำแนะนำหรือคำวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้น แสดงว่าน่าจะมีปัญหาบางอย่างในประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกซึ่งความคิดความเห็น”

สำหรับความเห็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกโดยตรง มีด้วยกัน 12 ข้อ ส่วนที่ไทยนำกลับมาพิจารณาเพิ่มเติม 16 ข้อ แต่ยังมีอีกหลายข้อที่ใกล้เคียงกับการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น แปลว่า เฉพาะเรื่องนี้ ประเทศไทยได้รับข้อเสนอมากว่า 30 ข้อ

ศรีประภายกข้อเสนอที่รัฐไทยรับมาเลยทันที ไม่ต้องกลับมาพิจารณา “ประกันให้กรอบรัฐธรรมนูญมีความสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”

หรือสิ่งที่ทางการเกาหลีใต้เสนอแนะว่า สนับสนุนการถกแถลงของสาธารณะที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

สาธารณรัฐเชก เสนอว่า ประกันให้มีการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้สิทธิ์ รวมทั้งในบริบทของการยกร่างและรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และประกันให้มีการถกแถลงต่อกระบวนการประชามติและรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เปิดให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม

ข้อเสนอที่ศรีประภายกมาคือสิ่งที่ทางการไทยรับมาแล้ว ส่วนที่ยังไม่ได้บอกว่าจะรับหรือไม่รับ มี 16 ข้อ มีบางข้อที่เขียนไว้ค่อนข้างชัดเจน อาทิ ยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุสมผลของการใช้เสรีภาพพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 61 ของกฎหมายประชามติ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2557 เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคน สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งความพยายามในการออกรัฐธรรมนูญฉบับนี้

จากคำแนะนำต่างๆ ที่ได้รับ แสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกติดตามความเคลื่อนไหวสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดเวลา อีกข้อเสนอหนึ่งที่ประเทศไทยยังไม่ได้รับ คือการประกันไม่ให้มีข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะสำหรับสื่อมวลชน และนักสิทธิมนุษยชน

“คิดว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ในการแสดงออกซึ่งความคิดความเห็นของพวกเราเอง”

IMG_9810ekachai-re
ภาพ: ณัชปกร นามเมือง

ประชามติมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการใช้อำนาจรัฐของประชาชนทางตรง

เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มีสองประเด็นสำคัญที่ต้องการนำเสนอ

หนึ่ง ประชามติครั้งนี้มีความชัดเจนว่าถ้าผ่าน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ความไม่ชัดเจนจะเกิดขึ้นทันทีหากประชามติครั้งนี้ไม่ผ่าน

สอง หลักการพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของการใช้ประชามติคือ ต้องเป็นไปโดยเสรี หมายความว่า ต้องรณรงค์ได้โดยเสรี แสดงความเห็นได้โดยเสรี

ในปี 2552 ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ต่อมาในปีนี้ เราก็มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เอกชัยให้ข้อมูลว่า พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ มาตรา 61 เหมือนกันหมด ตั้งแต่วงเล็บหนึ่งถึงวงเล็บเจ็ด

แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกัน คือในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ปี 2552 ไม่มีมาตรา 61 วรรคสอง ดังที่ปรากฏในฉบับปี 2559 ว่า

ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ขณะที่โทษของทั้งสองฉบับระบุไว้ใกล้เคียงกัน คือจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท และอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกินห้าปี

“สิ่งสำคัญคือ เรามีกฎหมายพื้นฐานอยู่แล้ว เรามีกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญาอยู่แล้ว ท่านได้รับความเสียหาย ท่านใช้กฎหมายตามนั้นได้”

IMG_9836chanoknun-re
ภาพ: ณัชปกร นามเมือง

ถ้าจะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยจริงๆ การลงประชามติครั้งนี้ ไม่ได้นำไปถึงจุดนั้นเลย

เนื่องจากไม่ใช่เวทีที่พูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง ชนกนันท์ รวมทรัพย์ สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement: NDM) จึงกล่าวถึงเฉพาะที่มาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งไม่มีการยึดโยงกับประชาชน ยิ่งกว่านั้น พอร่างออกมา การวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นไปได้ยากลำบาก มีข้อจำกัดหลากหลายกับการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“ตรงนี้เป็นปัญหามาก เราอยู่ในกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ แล้วเรารณรงค์การโหวตโนมาตั้งแต่แรก ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ร่างฯแรกออกมาในเดือนมีนาคม เราได้ทำเอกสารแจกเป็นเอกสารสรุปร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการวิจารณ์ข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบกับของที่ กรธ. ทำออกมา ซึ่งเอกสารฉบับนี้ ไปแจกที่ไหน ก็จะโดนยึด ส่งไปต่างจังหวัดก็ถูกเผาทิ้ง”

ชนกนันท์มองว่า แค่การเผยแพร่ข้อมูลยังทำไม่ได้ แล้วจะให้คนเข้าถึงข้อมูลอย่างรอบด้านได้อย่างไร ก่อนหน้านี้ทราบมาว่า กรธ. จัดอบรมครู ก ครู ข ครูระดับจังหวัด ระดับอำเภอ แล้วได้ให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กรธ. เป็นคนร่างขึ้นมา

“ในทางกลับกัน อีกฝ่ายหนึ่ง อย่างพวกเราที่เห็นข้อบกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราไม่สามารถจะพูดได้ว่าเราไม่เห็นด้วย แล้วเราจะแจกหรือเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ ก็ทำไม่ได้ มันก็เป็นการไม่แฟร์”

อีกเรื่องที่ชนกนันท์เห็นคือ แทบไม่มีพื้นที่สำหรับการถกเถียงเรื่องนี้เลย

“เราไม่มีการให้มีการโต้เถียงกันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กลุ่มของพวกเราเคยท้าดีเบต กรธ. เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ สุดท้ายเขาไม่รับคำท้า เขาบอกว่าเราไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมืองของเขา ให้เราไปดีเบตกับนักการเมือง”

เธอเคยให้ฉายาร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติว่าเป็น ‘ร่างเก็บกด’ เนื่องจากการเคลื่อนไหวแทบทุกรูปแบบของกลุ่มนั้นถูกห้ามปราม ชนกนันท์มองว่า สถานการณ์แบบนี้ ทำให้คนที่เห็นต่างจะเก็บกดขึ้นเรื่อยๆ แล้วเวลาที่ปะทุออกมาจะส่งผลร้ายแรงมากกว่ากับทั้งสองฝ่าย จึงอยากให้สังคมมีท่าทีผ่อนคลายกว่านี้

“เราเชื่อว่าการที่คนเราได้พูด ได้คิดเห็น แบบที่มีเหตุผลแล้วโต้เถียงกัน มันทำให้ประเทศเรา สังคมเรา พัฒนาไปแบบมีเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ แล้วก็นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้มากกว่า”

 

DSC_0343-re
ภาพ: เมธาวี เด่นทรัพย์ไพบูลย์

ถ้าประชาชนรับโดยที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าใจเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่านั่นคือประชามติไม่มีความชอบธรรม

จากคำถามของผู้ฟังท่านหนึ่งในช่วงท้ายการสัมมนา ที่ถามว่า ไม่ว่าเสียงส่วนใหญ่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แล้วอนาคตประเทศไทยจะเป็นเช่นไร จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw เชื่อว่าเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญ ความเป็นไปได้ที่ทุกคนจะได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้วเข้าใจทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก

จอนมองว่า ความเข้าใจของประชาชนที่จะเลือกว่าจะรับหรือไม่รับนั้น อยู่ที่การฟังการถกเถียงระหว่างผู้เห็นด้วยกับผู้ไม่เห็นด้วย ต้องเกิดการถกเถียงกัน ถ้าไม่เกิดการถกเถียง ประชาชนย่อมไม่มีข้อมูลเพียงพอจะตัดสินใจว่าจะเลือกทางใดทางหนึ่ง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ มีคนเข้าไปในหมู่บ้านแล้วเสนอข้อมูลรัฐธรรมนูญแต่เพียงด้านเดียว ถ้าเกิดการรับแบบนั้น จอนถือว่า เป็นการรับโดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าใจจริงๆ นอกจากนั้น ประชาชนยังไม่มีโอกาสรู้ว่าถ้าไม่รับแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เขาเปรียบเทียบว่าเหมือนเป็นการมัดมือชกให้ประชาชนรับ จึงไม่สามารถถือได้ว่าเป็นประชามติที่เสรีและเป็นธรรม

“ถ้าประชาชนเข้าใจโดยถ่องแท้แล้ว ได้มีการเถียงกันเต็มที่ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แล้วประชาชนเสียงส่วนใหญ่บอกว่ารับ อันนี้ผมก็ต้องเคารพ แม้ผมอาจจะไม่เห็นด้วย ก็ต้องเคารพในมติของประชาชน

“แต่ถ้าหากว่า เป็นการรับโดยที่ไม่มีโอกาสรับรู้ทั้งสองด้าน ไม่มีการถกเถียงในสังคม โดยที่พยายามใช้กฎที่มีอยู่ มาตรา 61 วรรคสอง ยังอยู่ ประกาศ กกต. ที่มีข้อห้ามทั้งหลายยังอยู่ ผมคิดว่าอนาคตประเทศไทยค่อนข้างจะมืดมน”

 


DSC_0318-re

หลังจากเวทีเสวนาจบลง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) โครงการปริญญาโท สาขาวิชาการเมืองการปกครอง สำหรับนักบริหาร (MPE) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการและนักกิจกรรม ได้มีการอ่านแถลงการณ์เรื่อง ‘ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ’ ณ ลานปรีดี พนมยงค์

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า