ณัฐวุฒิ เผ่าทวี: ทำไมเราจึงไม่เชื่อความจริงของอีกฝั่ง มุมมองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม 

กฎของนิวตันบอกไว้ว่า Action = Reaction

ในโมงยามที่อุณหภูมิทางการเมืองในประเทศร้อนระอุและกำลังตกอยู่ในสภาวะของการเปลี่ยนผ่าน แรงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในสถาบันครอบครัวทำให้เราเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เด็กๆ ต่างออกมาแชร์เรื่องราวการถูกตำหนิ ถูกขู่ตัดค่าเทอมค่าขนม ถูกด่าทอจากพ่อแม่ ไล่ออกจากบ้าน เพียงเพราะพวกเขาตัดสินใจไปร่วมขบวนม็อบและมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากพ่อแม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับพวกเขาในวัยที่จำเป็นต้องพึ่งพาครอบครัวอยู่

ถ้ายึดหลักกฎที่นิวตันบอกไว้ ทำไมการเห็นต่างในครอบครัวจึงกลายเป็นปฏิกิริยาที่ร้ายแรงถึงเพียงนี้

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิจัย Behavioral Science แห่ง Warwick Business School ประเทศอังกฤษ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เศรษฐศาสตร์ความสุข เห็นว่าสถานการณ์ในประเทศตอนนี้ คนสองกลุ่มใหญ่ๆ กำลังโต้เถียงกันด้วยข้อมูลคนละชุด 

และถึงแม้จะมั่นใจว่าข้อมูลที่เราถือไว้ ถูกต้อง ตรวจสอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พอเอาไปเสนอให้อีกฝ่ายหนึ่ง แทนที่่เขาจะเชื่อและเห็นตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยิ่งจะย้ำให้เขาเชื่อแบบเดิมมากยิ่งขึ้น

เพราะอะไร? 

“นั่นเพราะมนุษย์เรามีความ sensitive ในเรื่องของ identity ของตัวเอง” 

ณัฐวุฒิบอกว่า ตัวแปรสำคัญคือ อารมณ์ 

อารมณ์คือปัจจัยสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์โดยไม่มีข้อยกเว้น ด้วยเหตุนี้เองมันจึงมีผลโดยตรงกับข้อมูลที่แต่ละฝ่ายพยายามนำเสนอ 

เมื่ออีกฝั่งยื่นชุดข้อมูลมาให้ โดยอัตโนมัติสมองจะเกิดภาวะการขัดแย้งภายในของตัวเอง เกิดเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ ตามมาด้วยอารมณ์ ท้ายที่สุดส่งผลเป็น action หรือการกระทำต่างๆ เช่น พยายามหาข้อมูลอีกด้านเพื่อมาคัดง้าง หรือพยายามหาข้อมูลเพื่อยืนยันและทำให้ตัวเองรู้สึกดียิ่งขึ้น

ฉะนั้น ณ เวลานี้ สิ่งที่ณัฐวุฒิอยากอธิบายมากที่สุด อย่างน้อยก็ชวนให้คิดตามและทำความเข้าใจต่อพฤติกรรมของมนุษย์ท่ามกลางความขัดแย้ง

งานวิจัยบอกกับเราว่า เวลาที่เราเสนอ fact หรือข้อมูลอะไรสักอย่างหนึ่งให้ทั้งกลุ่มคนที่คิดเหมือนกันกับเราและคนที่คิดแตกต่างกับเรา เรามักจะเชื่อว่า fact ที่เป็นความจริงและถูกต้องในความคิดของเรานั้นจะช่วยเปลี่ยนใจคนที่คิดแตกต่างจากเราให้มาเห็นด้วยกันกับเราได้ 

“แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น สิ่งที่เรามักจะพบก็คือ fact ที่เรานำเสนอไปทำให้คนที่คิดเหมือนกันกับเรายิ่งคิดเหมือนกันกับเรามากขึ้น แต่แทนที่คนที่คิดเห็นแตกต่างกันกับเราจะหันมาคิดเหมือนกันกับเรา fact ที่เรานำเสนอไปกลับทำให้พวกเขายิ่งมีความรู้สึกต่อต้านเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่าแทน 

“เพราะฉะนั้นเวลาที่มนุษย์เราเสนอ fact ของตัวเอง เพราะเราเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ใช่และถูกต้อง ถ้าจุดประสงค์ของเราคือการทำให้เพื่อนที่คิดเหมือนกับเรายิ่งคิดเหมือนกันกับเรามากขึ้นล่ะก็ โอเค มันประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเรากำลังจะพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนที่คิดต่างจากเรา หรือหา common ground หรือทำความเข้าใจพื้นฐานกับฝ่ายที่คิดตรงข้ามกัน มันแทบจะใช้ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการเลย เพราะ fact ที่เราเสนอไปมักจะไปปลุกอารมณ์ต่อต้านของอีกฝ่ายจนทำให้เขาไปหา fact อื่นที่เป็นความจริงในสายตาของเขามารองรับความเชื่อที่เขามีตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว”

ยังไงก็ไม่เชื่อ แล้วเหลือพื้นที่ให้อยู่ด้วยกันได้ไหม 

ถ้าย้อนกลับมาดูความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครอบครัว ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจ

เพราะนั่นคือ การชนกันของสองระบบคิด ณัฐวุฒิจึงชวนให้มองหาพื้นที่ตรงกลาง เพื่อดึงความต่างของสองฝั่งมาเชื่อมกัน 

การที่เราไม่ยอมรับ fact ของอีกฝ่ายนั้นมันเป็นเพราะว่า fact นั้นๆ มักจะตกอยู่ในขอบเขตของ region of rejection หรือพื้นที่ของการปฏิเสธของเรา สมมุติผมเชียร์อาร์เซนอล แต่เพื่อนสนิทเชียร์ลิเวอร์พูล เราอยู่คนละขั้ว ดังนั้นเมื่อเราเสนออะไรออกไปที่เราเห็นว่ามันใช่ มันถูกต้อง อีกฝ่ายที่คิดต่างจากเราเขาก็มักจะ reject (ปฏิเสธ) ข้อมูลทุกอย่างที่เราให้เขา เพราะมันไปขัดแย้งต่อความเชื่อและตัวตนของเขา ยกตัวอย่างเช่น กองหน้าของอาร์เซนอลเลี้ยงลูกเข้าไปในจุดโทษแล้วเจอผู้เล่นลิเวอร์พูลทำฟาวล์แล้วเราบอกกับเพื่อนเราว่า เฮ้ย นั่นมันฟาวล์ ต้องยิงจุดโทษ โอกาสที่เพื่อนเราจะมองเหตุการณ์เดียวกัน มุมเดียวกัน แต่มีความเชื่อที่แตกต่างกันและบอกกับเราว่า นั่นมันไม่ฟาวล์เลย ก็จะมีอยู่ค่อนข้างเยอะ เพราะในกรณีนี้การที่คนที่เชียร์ลิเวอร์พูลจะไปยอมรับ fact ที่ขัดแย้งกับ identity ของเขานั้นมันเป็นอะไรที่ขัดต่ออารมณ์และทำได้ยากมาก

ในเชิงของพฤติกรรมศาสตร์จึงมีการทำวิจัยเพื่อศึกษาว่าจุดสมดุลของ region of rejection มันอยู่ตรงไหน เพราะที่สุดแล้วสิ่งนี้จะพาให้เราไปพบกับ zone of acceptance หรือพื้นที่ที่เราสามารถยอมรับกันได้ 

ณัฐวุฒิ ขยายความให้เห็นภาพของ zone of acceptance มากขึ้น ด้วยการเปรียบเทียบกับสนามฟุตบอล

พื้นที่ตรงนี้เหมือนกองกลางของสนามฟุตบอลที่เรามักจะเห็นผู้เล่นของทั้งสองฝ่ายมาเจอกันมากที่สุด หากอธิบายเป็นพฤติกรรมก็เหมือนถามว่าเย็นนี้จะกินอะไรดี ถ้าการกินเป็นอะไรที่เราไม่ได้แคร์อะไรกับมันมาก มันไม่ได้ขึ้นตรงกับ identity ของเรา ต่างฝ่ายก็อาจจะตอบว่ากินอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น zone of acceptance ในการเลือกว่าจะกินอะไรดีก็จะมีพื้นที่ที่กว้างขวาง และไม่ว่าใครจะเสนอหรือส่งข้อมูลอะไรไปอีกฝ่ายก็มักจะเปิดกว้างและยินดีจะตอบรับในกรณีที่เขาไม่ได้แคร์ว่าจะกินอะไรจริงๆ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ identity ของเรา หรือเป็นสิ่งที่เราแคร์มากๆ zone of acceptance ของเราเมื่อเทียบกันกับ region of rejection ก็จะเล็กกว่ากันมาก และโอกาสที่คนอื่นจะเสนออะไรมาแล้วตกนอกกรอบของ zone of acceptance ก็จะน้อยลงตามๆ กันไป

ในเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ ความพยายามในการหา zone of acceptance  มักจะถูกนำมาใช้ในกระบวนการเจรจาและพูดคุยของกลุ่มคนที่มีความเชื่อไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าข้อมูลใดๆ ก็ตามจะดูไม่เป็นความจริงสำหรับเรา แต่เราจำเป็นที่จะต้องยอมรับว่าสำหรับอีกฝ่ายมันเป็นความจริงในสายตาของเขาและเป็นสิ่งที่เขาเชื่อมานานแล้ว ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยใน fact ที่เขาเชื่อก็ตาม

เริ่มต้นบนโต๊ะกินข้าว

สถานการณ์ตอนนี้ ณัฐวุฒิไม่ได้มองว่าฝ่ายไหนผิดหรือถูก เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้หาจุดตกลงกันได้ 

“วันนี้สิ่งที่ลูกๆ หลานๆ บอกกับผู้ใหญ่มันอยู่นอกเหนือ zone of acceptance และมันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา ดังนั้นเมื่อเราต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตชั่วพริบตา มันจึงไปสั่นคลอนและทำให้ฝ่ายตรงข้ามรับไม่ได้”

ณัฐวุฒิยกตัวอย่าง หากสถานการณ์นี้ไปเกิดในประเทศอื่นๆ หรือในสังคมที่ไม่ได้มี hierarchy หรือลำดับชนชั้น อย่างประเทศไทย เราอาจจะหาจุดร่วมกันได้ง่ายขึ้น 

“ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เรามีคือสังคมที่เต็มไปด้วย seniority หรือระบบอาวุโส ในครอบครัวลูกต้องฟังพ่อแม่ ลูกห้ามเถียง มีระบบอำนาจสั่งจากบนลงล่าง ดังนั้นถ้าจะให้เด็กๆ รอพ่อแม่มาเข้าใจตัวเองก็คงต้องใช้เวลานาน นี่จึงเป็นที่มาของสถานการณ์ที่ว่าทำไมเราเห็นว่าเยาวชนหรือเด็กๆ ออกมาพูดถึงความต้องการของตัวเอง” 

ดังนั้นสิ่งที่จะทำต่อไปได้คือการที่ลูกเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่าสิ่งที่พ่อแม่เชื่อเป็นสิ่งที่ถูกต้องในสายตาของเขาก่อน หลังจากนั้นเราก็จะเริ่มต้นในการพยายามทำให้พ่อแม่เริ่มยอมรับว่าสิ่งที่ลูกเชื่อคือเรื่องที่ถูกต้องในสายตาของลูกเช่นกัน

“การที่ลูกเริ่มประเด็นโดยการถามพ่อแม่ถึงความรู้สึกของเขา ประสบการณ์ของเขา และรับฟังเขาจริงๆ จะเป็นการเปิดโอกาสทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าลูกเริ่มอยากจะเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่เชื่อ นำไปสู่การแชร์ประสบการณ์ ความรู้สึก ความคิดว่า ทำไมพ่อแม่ถึงรู้สึกไม่ดีเมื่อลูกอยากไปม็อบ เขาเป็นห่วงหรือเปล่า หรือพ่อแม่คิดอะไรก็บอกความต้องการออกไป เมื่อไหร่ก็ตามที่ต่างฝ่ายต่างเริ่มต้นเข้าใจมุมมองหรือ point of view ของกันและกันแล้ว ตามธรรมชาติเราจะค่อยๆ เริ่มหาวิธีตรงกลางไปเอง”

ณัฐวุฒิ ให้ตัวอย่างการหา zone of acceptance ไว้ว่าสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้ด้วยการหยิบหัวใจและความรู้สึกของอีกฝ่ายมาใส่ใจเรา

“มันเป็นเรื่องยากมากนะ ที่อยู่ๆ จะไปพูดให้พ่อแม่หรืออีกฝ่ายที่คิดต่างกับเรามี empathy ซึ่งกันและกัน หากเราลองหยิบยกประเด็นหรือประสบการณ์อื่นๆ อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เรากำลังเถียงกันอยู่ แต่ยกประสบการณ์ที่บ่งบอกอารมณ์ ความเจ็บปวด และความรู้สึกอื่นๆ ที่มีร่วมกัน เพื่อบอกให้พ่อแม่รู้ว่านี่ไงสิ่งที่ลูกกำลังเจออยู่อาจจะเป็นวิธีที่ทำให้เราเข้าใจกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ลูกๆ อาจจะถามพ่อแม่ว่า ทั้งสองท่านเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้ต้องรู้สึกว่าถูกสังคมรังแก หรือรู้สึกว่าชีวิตมันไม่แฟร์ไหม ถ้าเคย ในตอนนั้นพวกเขารู้สึกยังไงกันบ้าง หลังจากนั้นลูกๆ ก็อาจจะบอกกับพ่อแม่ว่า นั่นคือความรู้สึกของพวกเราที่เรากำลังรู้สึกอยู่ในตอนนี้ เป็นต้น”

อีกวิธีหนึ่งก็คือการขอในสิ่งที่อยู่ใน zone of acceptance ของพ่อแม่ก่อน หรือการขอน้อยๆ อย่าเพิ่งขออะไรที่ใหญ่โตที่ตกอยู่ใน region of rejection ก่อน เพราะถ้าเขาโอเคและยอมรับกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราขอไปได้ โอกาสที่เขาจะเริ่มขยาย zone of acceptance ของเขาในอนาคตให้มันใหญ่ขึ้นก็จะมีเยอะมากขึ้น ในกรณีนี้การเปลี่ยนใจใครสักคนคือ less is more

ซึ่งวิธีการนี้ประยุกต์ได้กับทุกบริบท ไม่เพียงแต่ในครอบครัวเท่านั้น

นั่นเป็นเพราะพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา ล้วนมีสาเหตุเกิดจากความต้องการอะไรบางอย่าง ทุกพฤติกรรมต้องการการตอบสนอง และเพื่อนำไปสู่การตอบสนองจึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ดี 

“ในเชิงพฤติกรรมไม่ได้มองว่าการคิดเห็นต่างทางการเมืองต่างจากการเห็นต่างทางศาสนา วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งการเชียร์ฟุตบอลคนละทีม เพราะมันมีพื้นฐานที่คล้ายกัน นั่นคือ อารมณ์ เพียงแต่การเชียร์บอลคนละทีม เราไม่ได้คิดถึงมันทุกวัน มันไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับเราเหมือนเรื่องการเมืองที่เบื้องหลังมันคือชีวิต”

ดังนั้นสำหรับการเห็นต่างในครอบครัว พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดลูก ลูกก็เช่นกัน เราต่างต้องยอมรับว่าในบ้านหลังนี้เกิดความคิดที่ไม่ตรงกันได้ เพราะประสบการณ์และ identity ของแต่ละฝ่ายนั้นไม่เหมือนกัน ฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญและจะทำให้บ้านยังคงเป็นบ้านคือการที่พ่อแม่และลูกเป็นตัวของตัวเอง ซื่อตรงต่อความรู้สึก และเข้าใจความรู้สึกอีกฝ่ายอยู่เสมอ 

เพราะเราไม่อาจห้ามโลกาภิวัตน์หรือเทคโนโลยี ตอนนี้โลกเปิดแล้ว ไม่วันนี้ก็วันหน้าเรื่องการเมืองจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อสนทนาบนโต๊ะกินข้าว ไม่ว่าจะในครอบครัวหรือในออฟฟิศ

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า