หลังจากหลายจังหวัดทางฝั่งทะเลอันดามันถูกสึนามิซัดถล่มจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ให้ภาครัฐจัดตั้ง ‘ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ ขึ้นในปีถัดมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งเตือนประชาชนถึงภัยพิบัติที่กำลังจะมาเยือน
ข้อมูลด้านภัยพิบัติศาสตร์ (disaster science) บอกเราว่า ประเทศไทยปราศจากภูเขาไฟที่กำลังคุกรุ่น ค่อนข้างปลอดภัยจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หลายร้อยปีจะเกิดสึนามิสักครั้ง และไม่เคยมีอุกกาบาตขนาดยักษ์มาเยือน มีเพียงดินถล่มเป็นครั้งคราวและชายฝั่งถูกกัดเซาะในบางพื้นที่ แต่ดูเหมือนว่า ‘น้ำท่วม’ จะกลายเป็นภัยพิบัติที่พวกเราต้องเผชิญเป็นประจำทุกปี เหตุการณ์ล่าสุดคือน้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา
หากพิจารณาจาก ‘สิ่งที่ควรเป็น’ หลังจากมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พวกเราจะต้องได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ น้อยลง แต่เมื่อพิจารณาจาก ‘ความเป็นจริง’ กลับพบว่าการแจ้งเตือนภัยพิบัติมักล่าช้า ไม่ชัดเจน ไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือบางกรณีคือไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ แม้ภัยพิบัติจะมาถึงหน้าประตูบ้านแล้วก็ตาม!
คำถามมีอยู่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศไทย?
น้ำท่วมซ้ำซากแห่งที่ราบลุ่มภาคกลาง
เมื่อพูดถึง ‘มหาอุทกภัย’ หลายคนคงจะจดจำเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ได้เป็นอย่างดี หายนะครั้งนั้นเกิดจากการโคจรมาพบกันของปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) พายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) และการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของภาครัฐ ผลลัพธ์คือเกือบทุกจังหวัดถูกปกคลุมด้วยผืนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางบางแห่งที่จมอยู่ใต้น้ำนานกว่า 1 เดือน
สาเหตุของน้ำท่วมประเทศไทยสามารถจำแนกออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ น้ำฝน น้ำล้น น้ำหลาก และน้ำหนุน การรับมือกับน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับ ‘น้ำบนฟ้า’ และ ‘น้ำบนดิน’ เข้าด้วยกัน เรียกว่า อุทกอุตุนิยมวิทยา (hydrometeorology)
เมื่อพิจารณาข้อมูลทางธรณีวิทยา (geology) เราจะพบว่าภาคกลางมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ (river basin) ซึ่งอุดมไปด้วยธาตุอาหารจากตะกอนที่ถูกน้ำพัดพามา (alluvium) พูดง่ายๆ คือ ภาคกลางเป็น ‘พื้นที่รับน้ำ’ ที่ไหลหลากลงมาจากภาคเหนือ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ชาวสยามในอดีตนิยมสร้างบ้านใต้ถุนสูง ทำประมงน้ำจืด และเพาะปลูกพืชพรรณตามฤดูกาล
เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป การเติบโตทางเศรษฐกิจและผังเมืองที่ไร้การควบคุมได้เปลี่ยนที่ราบลุ่มแม่น้ำให้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว รวมถึงมีการบุกรุกเขตแดนของที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) เป็นจำนวนมาก เมื่อน้ำจากภาคเหนือไหลหลากลงมาด้านล่างและถูกชะลอไม่ให้ไหลเข้ากรุงเทพฯ กับปริมณฑล น้ำจึงไม่มีที่ไป นี่แหละครับ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาคกลางถูกน้ำท่วมบ่อย!
ความจริงแล้ว ผมเองก็เกิดและเติบโตมากับแม่น้ำป่าสักที่ไหลผ่านรอยต่อระหว่างอำเภอบ้านหมอกับอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลการสืบค้นข้อมูลน้ำท่วมย้อนหลังในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา พบว่า ความรุนแรงและความถี่ของน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่กรมชลประทานก่อสร้าง ‘ประตูระบายน้ำ’ บริเวณรอยต่อระหว่างคลองเริงรางกับแม่น้ำป่าสัก
หลายคนอาจรู้สึกแปลกใจและมีคำถามว่า เอ๊ะ ทำไมประตูระบายน้ำจึงทำให้น้ำท่วมรุนแรงขึ้น?
เรื่องราวเป็นแบบนี้ครับ ก่อนปี 2554 เมื่อน้ำจากภาคเหนือไหลลงมา ระดับน้ำในคลองเริงรางกับแม่น้ำป่าสักจะสูงขึ้นพร้อมกันอย่างช้าๆ ชาวบ้านจึงสังเกตเห็นได้ง่ายและยกข้าวของหนีน้ำได้ทัน ทำให้มีความเสียหายน้อย แต่หลังจากมีประตูระบายน้ำ การเปิด-ปิดบานประตูจะถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสังเกตระดับน้ำได้ เมื่อบานประตูถูกเปิดอย่างกะทันหันหรือปริแตกเพราะแรงดันน้ำ ระดับน้ำจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนกับน้ำท่วมฉับพลัน (flash flood) ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถยกข้าวของหนีน้ำได้ทัน ความเสียหายจึงมีมาก โดยเฉพาะการเกิดน้ำท่วมตอนกลางคืนที่ผู้คนหลับใหลจะสร้างความเสียหายมากกว่าตอนกลางวันที่ผู้คนลืมตาตื่น
ปัญหามีอยู่ว่า ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงวันนี้ ชาวบ้านไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลันที่ทันท่วงทีจากภาครัฐเลยสักครั้ง!
ภาคใต้กับน้ำท่วมกลางฤดูหนาว
อีกหนึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปี 2566 เกิดขึ้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สายฝนที่ตกกระหน่ำได้แปรเปลี่ยนเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกราก พัดพาบ้านเรือนและกลืนกินชีวิตของผู้คนจำนวนไม่น้อยให้ดับสูญไป
คำถามคือ การพยากรณ์ว่าฝนจะตกและน้ำจะท่วมที่ภาคใต้ ทำได้ยากขนาดนั้นเลยหรือ?
ทุกคนน่าจะทราบดีว่า ธรรมชาตินั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อน (complexity) และความโกลาหล (chaos) แต่ถ้าเราจดบันทึกข้อมูลลักษณะของปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างถูกต้อง รัดกุม และนานเพียงพอ เราจะพบว่าธรรมชาติมี ‘รูปแบบ’ ที่สามารถพยากรณ์อย่างคร่าวๆ ได้ เช่น ภูมิอากาศท้องถิ่น เส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุ ลักษณะหยาดน้ำฟ้า ปริมาณน้ำในแม่น้ำ หรือระดับน้ำทะเลหนุน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลัน การบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง และการบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก
เมื่อพิจารณาข้อมูลด้านภูมิอากาศวิทยา (climatology) เราจะพบว่าภาคใต้มีน้ำท่วมเกือบทุกปี แต่จะท่วมมากหรือน้อยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สาเหตุมาจากเมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ร่องมรสุม (monsoon trough) ซึ่งเกิดจากการเรียงตัวกันของหย่อมความกดอากาศต่ำ (low-pressure area) จะวางตัวพาดผ่านภาคใต้ตามทิศตะวันออก-ตะวันตก ส่งผลให้ท้องฟ้ามีเมฆมาก ฝนตกหนัก และอาจเกิดน้ำท่วมกับดินถล่ม
ใช่ครับ การพยากรณ์ว่าฝนจะตกและน้ำจะท่วมที่ภาคใต้ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ดูเหมือนว่ายิ่งชุมชนอยู่ห่างไกลจาก ‘ความเป็นเมือง’ มากเท่าไร ก็จะยิ่งถูกภาครัฐ ‘ทอดทิ้ง’ ให้เผชิญกับภัยพิบัติ โดยไร้การแจ้งเตือนมากเท่านั้น
การแจ้งเตือนภัยพิบัติที่ดีควรเป็นอย่างไร
“เราอาจไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดภัยพิบัติได้ แต่เราสามารถเตรียมรับมือเพื่อบรรเทาความรุนแรงก่อนที่ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นได้”
การบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วมมีมากมายหลายวิธี เช่น การให้ความรู้แก่ประชาชน การจัดฝึกซ้อมหนีภัย การติดตั้งสัญญาณเตือนภัย การส่งข้อความฉุกเฉินไปที่สมาร์ตโฟน การกำหนดระยะถอยร่นจากธารน้ำ การเช่าพื้นที่เกษตรกรรมมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่รับน้ำชั่วคราว การสร้างโครงข่ายอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก การปรับปรุงผังเมืองให้สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ และการพัฒนาแผนที่ภัยพิบัติ (hazard map) ที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ไปจนถึงตำบล
แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐกลับจงใจเลือกวิธีการที่บกพร่อง ล้าหลัง และใช้งบประมาณมากที่สุดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงไม่สื่อสารกับประชาชน การยินยอมให้คนบางกลุ่มรุกล้ำที่ราบน้ำท่วมถึง การสร้างสิ่งกีดขวางธารน้ำ หรือการขุดขยายธารน้ำจนดินริมตลิ่งพังทลาย ซึ่งการกระทำเหล่านี้ไม่เคยช่วยแก้ปัญหาเก่า แต่ยังก่อปัญหาใหม่ สะสมหมักหมมมาเนิ่นนานหลายสิบปี
วิธีการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีอยู่ก็เป็นปัญหาไม่แพ้กัน เพราะภาครัฐเลือกที่จะสื่อสารกับประชาชนผ่านเอกสาร เว็บไซต์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน ล่าช้า และเข้าถึงยาก
พูดกันตามตรง ชาวบ้านไม่ได้อยากรู้หรอกว่า ความเข้มฝนมีค่ากี่มิลลิเมตรต่อชั่วโมง อัตราการระบายน้ำมีค่ากี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือน้ำหนุนมีค่าสูงกี่เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่พวกเขาต้องการทราบว่า ฝนจะตกหนักไหม น้ำจะท่วมหรือเปล่า และควรเตรียมรับมืออย่างไร ภาครัฐจึงต้องเปลี่ยน ‘ภาษาราชการ’ ให้กลายเป็น ‘ภาษาชาวบ้าน’ ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเข้าใจง่าย
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ภาครัฐควรเปิดเผยข้อมูลดิบ (raw data) ต่อสาธารณชน เพื่อให้นักวิจัยภายนอกสามารถดาวน์โหลดข้อมูลดิบเหล่านั้นมาศึกษา วิเคราะห์ และประมวลผลด้วยตนเองได้อย่างอิสระ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแจ้งเตือนภัยพิบัติภาคประชาชน มิใช่ผูกขาดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลไว้เพียงฝ่ายเดียวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในฐานะนักวิชาการและประชาชนคนหนึ่งที่ประสบพบเจอน้ำท่วมเป็นกิจวัตร ผมคิดว่าการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศไทยอยู่ในภาวะหายใจรวยรินเต็มที โดยไม่มีสัญญาณว่าอาการจะดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย ซึ่งผมหวังว่าภาครัฐจะหันกลับมาใส่ใจการแจ้งเตือนภัยพิบัติและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างที่ควรจะเป็นภายในเร็ววัน โดยไม่จำเป็นต้องรอ ‘แรงกระเพื่อมครั้งใหญ่’ เหมือนกับสึนามิในอดีต
อ้างอิง:
- คณาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2543. ภูมิศาสตร์ประเทศไทย.
- ปกรณ์ สุวานิช. 2552. ธรณีพิบัติภัย: การเรียนรู้และจัดการ.
- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
- บันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554