การต่อสู้เรียกร้องโดยชาวพื้นเมืองแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้ไขความทรงจำของผู้คนในประวัติศาสตร์สู่ความถูกต้อง ความภูมิใจของชนเผ่าพื้นเมือง และเรียกคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในกรณีเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับ ‘การสังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี’ (Wounded Knee Massacre) ที่ได้ดำเนินมายาวนาน หลังจากหลายสิบปีแห่งการต่อสู้ บัดนี้ ความพยายามอย่างไม่ลดละดังกล่าวส่อแววว่าอาจมีหนทางเป็นไปได้ในที่สุด
วุฒิสมาชิกสหรัฐประกาศเสนอร่างกฎหมายเรียกคืนเหรียญอิสริยาภรณ์กล้าหาญ (Medals of Honor) ที่มอบให้ทหารหลังจากการสังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี
เมื่อวันพุธ 27 พฤศจิกายน สัปดาห์ที่ผ่านมา วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต เอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) และ เจฟฟ์ เมิร์คลีย์ (Jeff Merkley) ออกมาประกาศสนับสนุนร่างกฎหมายที่จะเรียกคืนเหรียญอิสริยาภรณ์เกียรติยศจากทหารกองทัพบกสหรัฐที่ได้ลงมือสังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี ฆ่าฟันชาวอินเดียนพื้นเมืองที่ไม่ได้ถืออาวุธไปนับร้อยคน ตั้งแต่ปี 1890
วุฒิสมาชิกวอร์เรนจากรัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นนักการเมืองหญิงคนหนึ่งที่ประกาศจะรณรงค์เพื่อเป็นตัวแทนพรรคในสังเวียนเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งถัดไปในปี 2020
ร่างรัฐบัญญัติการเรียกคืนเหรียญอิสริยาภรณ์สำหรับ ‘ความกล้าหาญ’ ที่เคยมอบแก่ทหาร 20 นาย ในกรณีสังหารหมู่ครั้งนั้น เริ่มแรกได้รับการแนะนำขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งรวมทั้ง สส.เด็บ ฮาแลนด์ (Deb Haaland – เดโมแครต, นิวเม็กซิโก) ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดา สส.หญิงอเมริกันพื้นเมืองอเมริกันคนแรก กับ สส.เดนนี เฮ็ค (Denny Heck) แห่งรัฐวอชิงตัน ซึ่งร่างกฎหมายนั้นยังไม่ได้ผ่านเข้าสู่กระบวนการลงมติ
“การกระทำอย่างน่าสยดสยองที่เกิดการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก หลายร้อยคนที่วูนเด็ดนี สมควรถูกสาปแช่งและน่าได้รับการกล่าวโทษ ไม่ใช่เป็นการเชิดชูและเฉลิมฉลองด้วยการมอบเหรียญกล้าหาญ” วุฒิสมาชิกวอร์เรนกล่าว
“รัฐบัญญัติลบคราบมลทิน (Remove the Stain Act) ฉบับนี้จะเป็นการยอมรับเหตุการณ์อันน่าอับอายอย่างสุดซึ้งครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และนั่นคือสาเหตุที่ดิฉันเข้าร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานแห่งสภาผู้แทนราษฎรในความพยายามครั้งนี้เพื่อเสริมหนุนความยุติธรรมและก้าวสู่การแก้ไขความผิดต่อชนพื้นเมือง”
สส.ฮาแลนด์ กล่าวในแถลงการณ์ว่าการกระทำดังกล่าว “เป็นมากกว่าเพียงแค่การยกเลิกการมอบเหรียญอิสริยาภรณ์เกียรติยศแก่ทหารที่ประจำการในกรมทหารม้าที่ 7 ของสหรัฐ และการสังหารหมู่ผู้หญิงและเด็กชาวลาโกตาที่ไม่ได้ถืออาวุธ (ในปี 1890) – แต่ยังมุ่งจะทำให้ผู้คนตระหนักถึงประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ ที่เคยมีการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอเมริกันอินเดียน”
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยอ้างถึงกรณีวูนเด็ดนี ขณะที่กล่าวล้อเลียนการอ้างสิทธิของวุฒิสมาชิกวอร์เรนว่าตัวเธอเองก็มีเชื้อสายชนพื้นเมืองอเมริกัน เขาเรียกเธอว่า ‘โพคาฮอนตัส’ (Pocahontas) ที่กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่
ประกาศของวุฒิสมาชิกทั้งสองเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ หนึ่งวันก่อนวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ซึ่งวันหยุดทำการของรัฐบาลเพื่อระลึกถึงผลผลิตอาหารหลังฤดูเก็บเกี่ยวเมื่อปี 1621 มื้อที่ชาวอเมริกันพื้นเมืองและผู้แสวงบุญแบ่งปันกัน ระยะหลังมานี้วันขอบคุณพระเจ้าในสหรัฐอเมริกาได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น เมื่อผู้คนหลายฝ่ายกล่าวว่ามันสะท้อนถึงผลกระทบร้ายแรงจากการตั้งถิ่นฐานของคนผิวขาวในดินแดนของชนพื้นเมืองอเมริกัน
ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมาชาวอเมริกันอินเดียนแห่งพื้นที่นิวอิงแลนด์ได้จัดงานวันชาติแห่งการไว้ทุกข์ของพวกตนในวันขอบคุณพระเจ้าเพื่อระลึกถึง ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนพื้นเมืองหลายล้านคน และการขโมยดินแดนดั้งเดิม’
มีการจัดงานรำลึก ‘วันแห่งการไว้ทุกข์’ ที่ พลีมัธ, แมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นสถานที่แรกของการตั้งถิ่นฐานโดยผู้คนที่อพยพจากยุโรป
หนังสือพิมพ์ Washington Post บรรยายถึงกรณีวูนเด็ดนีว่า “เป็นหนึ่งในการกระทำที่น่าอับอายและนองเลือดอย่างหนักหนาที่สุดของการใช้ความรุนแรงต่อชาวพื้นเมืองในประวัติศาสตร์อเมริกัน” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 29 ธันวาคม 1890
หัวหน้าบิ๊กฟุต (Chief Big Foot) ซึ่งกำลังนำพาพวกลูกเผ่า กลุ่มมินนีคอนจู ลาโกตา (ชาวเผ่าซู – Sioux) ที่กำลังอดอยากและหวาดกลัวการไล่ล่าของกองทหารออกแสวงหาแหล่งหลบภัยในเขตรัฐเซาธ์ดาโกตา เมื่อหน่วยทหารสหรัฐหยุดยั้งชาวเผ่าไว้ กลุ่มดังกล่าวยอมจำนนและถูกกวาดต้อนไปสู่บริเวณลำธารวูนเด็ดนี (Wounded Knee Creek) “โดยชาวเผ่าถูกโอบล้อมด้วยกองทหาร 470 นาย พร้อมกับปืนกลขนาดใหญ่ที่น่าเกรงขาม” Washington Post เขียน
แม้ว่ารายละเอียดที่แท้จริงของการสังหารหมู่ไม่ได้รับการพิสูจน์ให้ปรากฏถ่องแท้ แต่เชื่อว่าเกิดการกระทบกระทั่งขึ้นขณะทหารกำลังพยายามปลดอาวุธบรรดาชาวเผ่าของหัวหน้าบิ๊กฟุต เป็นไปได้ว่ากระสุนปืนนัดหนึ่งลั่นขึ้นทำให้กองทหารม้าอเมริกันเริ่มเปิดฉากระดมยิง ก่อผลให้ชนพื้นเมืองอินเดียนถูกสังหารไประหว่าง 150 ถึง 400 ราย นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องกันว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก
ต่อมาทหาร 20 นายแห่งกรมทหารม้าที่ 7 ที่มีส่วนร่วมในกรณีที่ทางการเรียกว่า ‘สมรภูมิวูนเด็ดนี’ แต่หลายฝ่ายเรียกว่า ‘การสังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี’ ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ชั้นสูง (Medal of Honor) ซึ่งตอนนั้นกองทัพอธิบายว่าเป็น “เหรียญระดับสูงสุดของประเทศสำหรับความกล้าหาญในการสู้รบที่เราสามารถมอบให้กับสมาชิกของกองทัพ”
Washington Post แจ้งว่า เหรียญจำนวนมากได้ถูกมอบให้เป็นรางวัลสำหรับ ‘วีรกรรมห้าวหาญ’ และ ‘ความกล้าหาญ’ แม้ว่าจะมีรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเกี่ยวข้องกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นไปในเชิงวีรบุรุษ
ผู้บังคับบัญชาระดับสูงนายหนึ่งแห่งกองทัพบก พลตรีเนลสัน ไมล์ส (Maj. Gen. Nelson A. Miles) เคยเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ผมไม่เคยได้ยินเรื่องการสังหารหมู่แห่งใดที่โหดร้ายและเลือดเย็นมากไปกว่าที่วูนเด็ดนี”
Washington Post ระบุว่า ตามจดหมายที่อ้างถึงโดยพลตรีไมล์ส อธิบายถึงสภาพพวกผู้ที่ตกเป็นเหยื่อว่า “มีพวกผู้หญิงที่แบกลูกตัวน้อยอยู่บนแผ่นหลัง กับเด็กเล็กๆ ซึ่งถูกสังหารโดยพวกผู้ชายที่ลงมือฆ่าพวกเขาอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งเปลวไฟจากดินปืนที่ปากกระบอกแผดเผาเนื้อหนังและเสื้อผ้า และปรากฏเด็กทารกมีรอยกระสุนห้ารูผ่านร่างยับเยิน”
ขณะที่การมอบเหรียญกล้าหาญเป็นไปอย่างหละหลวมและผ่อนปรนกันเองอย่างมากอยู่แล้วในศตวรรษที่ 19 นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนผู้รับเหรียญใน ‘กรณีวูนเด็ดนี’ อยู่ในอัตราที่สูงล้ำแบบค่อนข้างผิดปกติ ตัวอย่างคือในสมรภูมิแห่งแอนตีตัม (Antietam) ซึ่งเป็นการสู้รบดุเดือดเลือดพล่านครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1862 ได้รับกล่าวขวัญว่าเป็น ‘วันนองเลือดขนาดหนักสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา’ ยังมีผู้ได้รับเหรียญกล้าหาญเพียง 20 รายเช่นกัน
ผู้สืบเชื้อสายชนพื้นเมืองอเมริกันได้พยายามผลักดันให้มีการเพิกถอนเหรียญตราที่มอบให้แก่ทหารที่เกี่ยวข้องกับ ‘กรณีวูนเด็ดนี’ มาโดยตลอดเป็นเวลาหลายสิบปีนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1997 สภาแห่งชาติของชาวอเมริกันอินเดียนได้มีมติเห็นพ้องเพื่อความพยายามขอให้ถอดถอนเหรียญกล้าหาญเหล่านั้น
สภาคองเกรสออกคำขอโทษอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1990 โดยระบุว่า “ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งในนามของสหรัฐอเมริกาต่อลูกหลานของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ผู้รอดชีวิต และชุมชนชนเผ่าของคนเหล่านั้น” แต่รายงานของสำนักข่าว AP ระบุว่า ร่างกฎหมายที่เสนอต่อสภาคองเกรสไม่ได้กล่าวถึงการชดใช้ในรูปแบบใด
สภาคองเกรสเคยเพิกถอนเหรียญอิสริยาภรณ์เกียรติยศนี้มาแล้วถึง 900 รายการ นับตั้งแต่ปี 1916
ร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สส. จำนวนหนึ่ง รวมทั้งกลุ่มสมาคมและหน่วยของชนชาวพื้นเมืองอเมริกัน รวมทั้งสมาคมของทหารผ่านศึกจำนวนหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก: theguardian.com nytimes.com newsweek.com |