มวลชนจัดตั้งในทศวรรษ 2560

การปรากฏตัวของมวลชนฝ่ายกษัตริย์นิยม (royalist) เพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนในเร็วๆ นี้ เป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่ใช่น้อย โดยในขณะนี้มีปรากฏตัว 4 กลุ่ม คือ ศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศอปส.) กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ กลุ่มเยาวชนช่วยชาติ และกลุ่มไทยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็อาจเป็นคนในเครือข่ายเดียวกันก็ได้

ทั้งนี้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มอาชีวะเหล่านี้อาจจะยังไม่ใช่ ‘ตัวจริง’ แต่เชื่อว่าถ้ามีเวลาอีกสัก 6 เดือน “กอ.รมน. ก็น่าจะจัดตั้งฝ่ายต่อต้านทัน ถ้าจัดตั้งได้เมื่อไรนะคุณเอ้ย…”1

สิ่งที่บทความชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นก็คือ กองทัพ และ กอ.รมน. (ซึ่งก็คือกลไกการเมืองของกองทัพ) ได้ฟื้นฟูและขยายการจัดตั้งมวลชนของตนขนานใหญ่มานานหลายปีแล้ว และแม้ว่าพลังของอุดมการณ์กษัตริย์จะไม่เข้มแข็งและดูชอบธรรมเท่ายุค 6 ตุลา 2519 แต่ก็ยังเป็นพลังที่น่ากลัวอยู่ดี

กลุ่มศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศอปส.) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การจัดตั้งมวลชนหลัง 6 ตุลาฯ

การฟื้นฟู-ขยายฐานมวลชนกษัตริย์นิยมในยุคปัจจุบันเป็นปฏิกิริยาเพื่อรับมือกับการขึ้นมาของขบวนการคนเสื้อแดงหลังรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และถูกเร่งเครื่องมากขึ้นหลังรัฐประหาร 2553 แต่ปฏิบัติการจัดตั้งมวลชนหลังรัฐประหาร 2549 นี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่พัฒนาต่อเนื่องมาจากโครงสร้างที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์ ฉะนั้น เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ก่อนพอสังเขป

ผู้เขียนเคยเขียนอธิบายไว้ในบทความ มรดกของพลเอกเปรม: การขยายมวลชนจัดตั้งของรัฐ2 เพื่อชี้ให้เห็นว่าการหายไปของมวลชนฝ่ายขวาหลัง 6 ตุลา 2519 ทำให้ผู้คนมักเข้าใจว่าชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ยุตินโยบายจัดตั้งมวลชนไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 6 ตุลาฯ กลายเป็นเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ของมวลชนฝ่ายขวา กลายเป็นประวัติศาสตร์อัปลักษณ์ที่พวกเขาไม่กล้ายอมรับว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ชนชั้นนำอนุรักษนิยมไม่เคยละทิ้งนโยบายจัดตั้งมวลชนเลย รัฐบาลหลัง 6 ตุลาฯ ของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ตุลาคม 2520 – มีนาคม 2523) และต่อมา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (มีนาคม 2523 – สิงหาคม 2531) ได้พยายามจัดระบบมวลชนจัดตั้งของรัฐที่มีมากกว่า 30 กลุ่ม ทั้งที่เป็นกลุ่มในสังกัดของหน่วยงานรัฐอย่างเป็นทางการและกลุ่มเฉพาะกิจ มีกฎหมายรองรับชัดเจน เพราะกลุ่มเหล่านี้ซ้ำซ้อน มักแข่งขันแย่งชิงงบประมาณกันเอง สิ้นเปลืองงบ ไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีการยุบรวมสารพัดกลุ่มมาไว้ภายใต้องค์กรใหม่ ‘ไทยอาสาป้องกันชาติ’ หรือ ทสปช. ที่ขึ้นตรงกับ กอ.รมน. โดยตรง กลุ่มอื่นๆ ที่ยังคงไว้และอยู่มาถึงปัจจุบัน ได้แก่ ลูกเสือชาวบ้าน อาสาสมัครรักษาดินแดน อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และกองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ

การยุบรวมทำให้การควบคุมสั่งการทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรวจสอบเช็คยอดได้จริง ประการสำคัญ สามารถจัดสรรงบประมาณรายปีเพื่อหล่อเลี้ยงกลุ่มเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องชอบธรรม

ในบทความเดียวกัน ผู้เขียนยังได้ชี้ว่าเรามักเข้าใจผิดกันมานานว่าคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และคำสั่งที่ 65/2525 โดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนโยบายที่ทำให้รัฐไทยสามารถเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ปัจจัยหลักที่ทำให้ พคท. พ่ายแพ้ คือปัจจัยความขัดแย้งระหว่างจีน โซเวียต และเวียดนาม และความขัดแย้งภายใน พคท. ประการสำคัญ หากอ่านคำสั่งทั้งสองอย่างละเอียด จะพบว่ารัฐบาลพลเอกเปรมกำลังขยายอำนาจหน้าที่ของกองทัพและ กอ.รมน. ออกไปสู่ปริมณฑลทางการเมืองอย่างกว้างขวาง เนื้อหาหลักของคำสั่งทั้งสองคือการมอบภารกิจให้ กอ.รมน. จัดตั้งมวลชนกลุ่มต่างๆ ในนามของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังคำสั่ง 65/2525 ที่ระบุว่าจะต้อง ‘สร้างองค์กรนำที่มีเอกภาพ โดยมีข้าราชการและประชาชนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นแกนนำ’ ‘ต้องจัดให้มีการอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่สื่อมวลชน’ ‘ใช้องค์กรนำที่จัดตั้งขึ้นไปสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น’ ฯลฯ กลุ่มเป้าหมายของการจัดตั้ง ได้แก่ ข้าราชการ นักธุรกิจ ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร นักเรียน นิสิต นักศึกษา และสื่อมวลชน

อย่างไรก็ดี นับแต่กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา เมื่อรัฐไทยมีความมั่นคง ปราศจากศัตรูที่น่ากลัว กิจกรรมของกลุ่มเหล่านี้ก็มุ่งไปที่การผลิตซ้ำอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเป็นหลัก พวกเขามักปรากฏตัวในกิจกรรมตามประเพณี แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ อีกทั้งสมาชิกก็มีอายุขัยมากขึ้น หน่วยงานรัฐก็ไม่มีเหตุผลต้องขยายมวลชนให้ใหญ่โต การดำรงอยู่ของพวกเขาจึงไม่เป็นที่สนใจของสื่อและสาธารณชน

ปฏิกิริยาต่อคนเสื้อแดง

ปัจจุบัน กอ.รมน. ได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการ ‘เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และความสงบเรียบร้อยของสังคม’ จึงได้กำหนดให้มีการฟื้นฟูกิจกรรมของ ทสปช. โดยให้มีการฝึกทบทวนสมาชิกเก่าและจัดตั้งสมาชิกใหม่เพิ่มเติม เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนทางราชการในการต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เป็นมวลชนหลักในเรื่อง ‘การปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์’ มียอดสมาชิกที่อยู่ในความควบคุมกำกับดูแลของ กอ.รมน. จำนวนทั้งสิ้น 233,161 คน โดยมีรายละเอียดความเป็นมา หลักสูตรการฝึกอบรม ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

ทั้งนี้ได้รับคำแนะนำจาก พลเอกณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับมวลชน ทสปช. และมวลชนอื่นๆ รวมทั้งให้นำพลังมวลชนเข้าร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสิ่งแวดล้อมต่างๆ อีกด้วย สำหรับในปี 2556 มีแผนการฝึกอบรม ทสปช. เพิ่มเติมอีกจำนวน 3,150 คน

จึงเรียนมาเพื่อขอได้โปรดนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต่อไปด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง3

ข้อความข้างต้นปรากฏในจดหมายที่ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. ที่มีถึงราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำไทยให้ความสำคัญกับการจัดตั้งมวลชนอย่างมาก

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังระบุว่า กอ.รมน. ได้ฝึกจัดตั้งมวลชนกลุ่มอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก และพยายามบูรณาการ ทสปช. ร่วมกับมวลชนกลุ่มอื่นๆ พลเอกประยุทธ์ยังได้ตอกย้ำว่างานมวลชนต้อง “ให้ความสำคัญในเรื่องการปกป้อง และเทิดทูนสถาบันฯ” เป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับแรก ส่วนเรื่องอื่นให้เป็นความเร่งด่วนในลำดับถัดไป4

หลังรัฐประหาร 2549 การก่อตัวขึ้นของขบวนการเสื้อแดงได้สร้างปัญหาให้กับการผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำอนุรักษนิยมอย่างมาก พวกเขากลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการขจัดกลุ่มการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การพยายามขยายฐานมวลชนกษัตริย์นิยมจึงเป็นหนึ่งในสารพัดวิธีที่ถูกนำมาใช้

หลังรัฐประหาร 2557 กิจกรรมของมวลชนเหล่านี้ขยายตัวอย่างมาก เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค และ Youtube ของ กอ.รมน. ระดับประเทศ ระดับภาค และจังหวัด และของมวลชนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงผลงานการจัดตั้งและอบรมมวลชนสารพัดกลุ่มอย่างคึกคัก ทั้งที่เป็นมวลชนถาวร เช่น อาสาสมัครรักษาดินแดน ไทยอาสาป้องกันชาติ กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มชั่วคราวที่ไม่ถาวร เช่น กลุ่มนักธุรกิจเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ กลุ่มศาสนาต่างๆ กลุ่มบิ๊กไบค์ใจรักแผ่นดิน และยังมีโครงการสารพัดที่ตั้งหน้าตั้งตาอบรมนักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน นักธุรกิจท้องถิ่น และประชาชนในชุมชนต่างจังหวัด เช่น เครือข่ายตาสับปะรด เครือข่ายข่าวภาคประชาชน สายข่าวความมั่นคง 007 เยาวชนรู้รักสามัคคี รด.ไซเบอร์ ฯลฯ เพียง google ด้วยชื่อกลุ่มเหล่านี้ หรือด้วยชื่อ กอ.รมน. ระดับต่างๆ ก็จะพบกิจกรรมของพวกเขานับร้อยรายการ

กรณีนักพูดของ กอ.รมน. ‘เบสต์’ หรือ นางสาวอรพิมพ์ รักษาผล เจ้าของประโยคเด็ด “เกิดอีก 10 ชาติ ก็ไม่เจอมหาราชที่ชื่อภูมิพล” ที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศเมื่อปี 2559 ที่แสดงความกังขาว่าทำไมคนอีสานไม่รักในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ก็เกิดขึ้นในบริบทนี้ คือเป็นการอบรมนักเรียน 3,000 กว่าคน ที่เกณฑ์มาจาก 5 จังหวัดในภาคอีสานโดย กอ.รมน.

เนื้อหาการอบรมก็มุ่งสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ คุณูปการของบุรพกษัตริย์ เศรษฐกิจพอเพียง ความถูกต้องเหมาะสมของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ปัญหาของประชาธิปไตยแบบตะวันตก ปัญหาของนักการเมือง ฝึกอบรมให้มวลชนคอยเป็นหูเป็นตา สอดส่องความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อชาติ เป็นต้น

มวลชนจัดตั้งของ กอ.รมน. มีจำนวนเท่าไรแน่ เป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ชัดเจน เพราะคนจำนวนมากไม่ใช่สมาชิกประจำขององค์กรถาวร พวกเขาถูกเกณฑ์โดยโรงเรียน กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ให้เข้ามาอบรม ให้ครบตามจำนวนที่ กอ.รมน. หรือกระทรวงมหาดไทยกำหนด อย่างไรก็ดี ข้อความที่ยกมาข้างต้นระบุว่า ในปี 2555 เฉพาะ ทสปช. องค์กรเดียวมีสมาชิกทั่วประเทศ 233,161 คน และในกลางปี 2559 กอ.รมน. แถลงว่าจะนำมวลชนกลุ่มต่างๆ ของตนกว่า 500,000 คน มาช่วยรณรงค์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ5 ฉะนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องมีคนไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน ที่ผ่านการอบรมของ กอ.รมน.

มีพลังเพียงใด

ความน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็คือ การที่อุดมการณ์ของรัฐสามารถทำให้คนธรรมดาตกอยู่ในสภาวะคลุ้มคลั่งเกลียดชังนิสิตนักศึกษาเสียจนพวกเขาถูกแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือสังหารโหดของรัฐ ความสำเร็จในการสร้างความเกลียดชังระดับนี้ รวมทั้งความชอบธรรมที่จะกวาดล้างนักศึกษาเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือทำให้นักศึกษาเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์ภายใต้พระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้ว่าในปัจจุบันมีคนไม่น้อยเชื่อว่าชนชั้นนำไทยได้สูญเสียพลังทางอุดมการณ์ไปแล้ว พลังของอุดมการณ์กษัตริย์นิยมในปัจจุบัน ไม่ได้เข้มแข็งเทียบเท่ากับในช่วงทศวรรษ 2510-2550 คำอธิบายนี้อาจใช้อธิบายได้กับคนรุ่นใหม่ แต่เราควรเข้าใจว่าอุดมการณ์นี้ถูกฝังอยู่ในสำนึกของคนไทยเป็นเวลายาวนาน เป็นอุดมการณ์ที่มีทั้งด้านของความรัก ความกลัวที่จะถูกลงโทษ และความเกลียดชังคนที่คิดต่าง รากที่ฝังลึกเช่นนี้ย่อมไม่เลือนหายไปในเวลาอันรวดเร็ว

กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ในช่วงปี พ.ศ. 2519

ในกรณี 6 ตุลาฯ ช่วงเวลาของการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านขบวนการนักศึกษาจนนำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น กินเวลาราว 2 ปีเท่านั้น คือ เริ่มปลายปี 2517 หรือต้นปี 2518 แต่ก่อนหน้านี้ รัฐไทยได้รณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 จนทำให้คอมมิวนิสต์คือสิ่งชั่วร้ายที่ฝังอยู่ในสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป เมื่อสถานการณ์เรียกร้อง กลไกรัฐทั้งหลายก็สามารถหยิบสำนึกนี้ขึ้นมาปั่นได้อย่างรวดเร็ว

ประการสำคัญ ในสภาพที่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมอยู่ในภาวะหน้ามืด พยายามเอาชนะทางการเมืองด้วยวิธีการอะไรก็ได้นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา โดยไม่สนใจว่าตนกำลังละเมิดหลักการสารพัด ไม่สนใจว่าจะชอบธรรมหรือไม่ หากพวกเขาจะระดมมวลชนของตนเพื่อต่อต้านคนรุ่นใหม่อีกครั้ง เขาก็คงไม่สนใจนักว่าความรู้สึกของประชาชนจะหนุนหรือค้านแค่ไหนอย่างไร เขาอาจไม่สนใจว่าจะมีความชอบธรรมในระดับเดียวกับในปี 2519 หรือไม่

มวลชนจัดตั้งส่วนใหญ่ในทศวรรษ 2560 อาจไม่ได้เชื่อในสิ่งพวกเขา ‘ถูกอบรม’ มา แต่ในการสร้างฐานมวลชน รัฐไทยไม่ได้ใช้อุดมการณ์อย่างเดียวเพื่อผูกมัดคนไว้กับตน แต่พวกเขาอัดฉีดสิ่งจูงใจมากมายให้กับมวลชนจัดตั้ง มีตั้งแต่การขึ้นเงินเดือนประจำและเบี้ยเลี้ยง (สำหรับบางองค์กรที่สมาชิกได้เงินเดือน เช่น อส. ทสปช. อสม.) ขยายสิทธิการรักษาพยาบาล ให้เงินสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชน ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิก บัตรคนจน จ่ายเงินชดเชยให้อดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเกือบหนึ่งหมื่นคนที่มีมูลค่าหลายพันล้าน ไปจนถึงโอกาสในการสร้างเครือข่ายเส้นสายกับผู้มีอำนาจ ฯลฯ

นอกจากนี้ ในการนำมวลชนจัดตั้งมาชนกับมวลชนที่ต่อต้านรัฐ รัฐไม่จำเป็นต้องขนพวกเขามาทั้งหมด ถ้ารัฐระดมแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของคนในเครือข่ายจัดตั้ง ก็นับว่าเกินพอแล้ว อย่าลืมว่ามวลชนฝ่ายขวาในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ ที่สนามหลวง น่าจะมีอยู่ราว 2,000-3,000 คนเท่านั้น และคนเหล่านี้รู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมจะทำหูหนวกตาบอดกับการใช้ความรุนแรงของพวกเขา

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ กลไกจัดตั้งมวลชนที่แต่เดิมมีคนเสื้อแดงและกลุ่มการเมืองของทักษิณเป็นเป้าหมายหลัก กำลังผนวกรวมเอานักเรียนนิสิตนักศึกษาและพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล/ก้าวหน้า ในฐานะศัตรูของรัฐ และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า มวลชนฝ่ายรัฐจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะพวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกที่พัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นนั่นเอง

เชิงอรรถ
  1. “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”: นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ “ขยับเพดาน”, BBC News ไทย. 11 สิงหาคม 2563 https://www.bbc.com/thai/thailand-53739725
  2. พวงทอง ภวัครพันธุ์, “มรดกของพลเอกเปรม: การขยายมวลชนจัดตั้งของรัฐ”, The 101 world. 4 มิถุนายน 2562. https://www.the101.world/heritage-of-prem-tinsulanonda/.
  3. สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ไทยอาสาป้องกันชาติ. 2555, หน้า 1-2.
  4. เพิ่งอ้าง. หน้า 8-9.
  5. “กอ.รมน.เตรียมระดมมวลชนหนุนแจงร่าง รธน.”, โพสต์ทูเดย์. 7 พฤษภาคม 2559. http://www.posttoday.com/politic/430568

Author

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้ประสานงาน 'ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53' (ศปช.) อันเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่ง จุดมุ่งหมายของ ศปช. คือจัดทำรายงานค้นหาความจริงเกี่ยวกับล้อมปราบในปี 53 ซึ่งถือเป็นการทำงานคู่ขนานและตรวจสอบการทำงานของ คอป. ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งดังกล่าว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า