แม่น้ำคือบุคคล: การคืนอำนาจให้ชนพื้นเมือง

ประสบการณ์จากบางกลอย

คนกะเหรี่ยงที่บางกลอย แก่งกระจาน กลับมาเป็นที่สนใจของสาธาณชนอีกครั้งในเดือนมกราคม 2564 เมื่อมีรายงานข่าวว่าคนกลุ่มนี้ราวหนึ่งร้อยคนได้อพยพกลับขึ้นไปอยู่ที่ ‘บางกลอยบน’ หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า ‘ใจแผ่นดิน’ เนื่องจากประสบกับความอดอยากในที่ดินที่รัฐจัดให้อยู่ใหม่ หลังจากนั้นก็มีนักกิจกรรมนำแผ่นผ้าที่มีข้อความว่า ‘#SAVEบางกลอย’ และ ‘ชาติพันธุ์ก็คือคน’ ไปติดบนบริเวณรั้วอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อแสดงการสนับสนุนคนกะเหรี่ยงที่เดินเท้ากลับไปสู่ ‘ใจแผ่นดิน’ ทำให้นักกิจกรรมสองคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปสถานีตำรวจเพื่อเปรียบเทียบปรับ

หลังจากนั้น ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ คนกะเหรี่ยงจากบ้านบางกลอยกลุ่มหนึ่งและสมาชิกเครือข่ายภาคี #saveบางกลอย ได้รวมตัวชุมนุมกันบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิต่อชาวบ้านบางกลอย และให้มีมาตรการคุ้มครองชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่เดินทางกลับไปที่บ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษในผืนป่าแก่งกระจาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้าเจรจากับผู้ชุมนุมและรับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง ทั้งรับปากว่าจะไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่มาชุมนุม และจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาของคนกะเหรี่ยงบางกลอย

ที่ผ่านมา มีนักวิชาการ นักกิจกรรม NGOs และผู้ที่สนใจในเรื่องนี้จำนวนไม่น้อย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงเห็นอกเห็นใจคนกะเหรี่ยงบางกลอย ต่อชีวิตที่ยากลำบากและการดิ้นรนต่อสู้ของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อพวกเขา กรณีที่ชัดเจนมากคือรายงานข่าวที่ว่าในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้พิจารณาคดีที่ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ รวม 6 คน ได้เข้ารื้อถอน เผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่นๆ ของนายโคอิ หรือ คออี้ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และของชาวบ้านอีกหลายราย ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 ที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 และมีมติให้ออกจากราชการ[1]

ข้อเขียนในที่นี้ของผมต้องการเสนอว่า อาจเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาที่คนกะเหรี่ยงบางกลอยกำลังประสบ และในเรื่องความขัดแย้งกับรัฐไทยที่ต้องการเข้ามามีอำนาจอย่างเต็มที่ในพื้นที่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน หากเราให้ความสนใจและทำความเข้าใจถึงวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างรัฐบาลกับชนพื้นเมือง ในเรื่องการควบคุมพื้นที่ ทรัพยากร สิทธิและอำนาจในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และที่สำคัญอย่างยิ่ง การยอมรับและรับรองสถานภาพของชนพื้นเมืองอย่างจริงจังด้วยการใช้กฎหมาย

ความอุดมสมบูรณ์ที่ต้องแย่งชิง

ปัญหาที่คนกะเหรี่ยงบางกลอยต้องประสบมานานกว่าสองทศวรรษคงไม่ยุติลงในเร็ววัน และแน่นอน คงไม่เป็นไปตามความต้องการของคนกะเหรี่ยง เพราะสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับคนกะเหรี่ยงวางอยู่บนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจาน ทำให้รัฐบาลไทยพยายามอย่างเต็มที่ในการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้ UNESCO พิจารณาเพื่อประกาศเป็นมรดกโลก และได้ผลักดันให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินการให้สำเร็จ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเห็นและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนกะเหรี่ยงบางกลอยจะไม่ได้เป็นไปในทางบวกหรือเห็นอกเห็นใจพวกเขา 

ทว่าความพยายามของ ทส. ดูจะไม่ง่ายหรือราบรื่นนัก เนื่องจากมีผู้คัดค้านกรณีที่ประเทศไทยยังแจกแจงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนในพื้นที่ป่าแก่งกระจานได้ไม่กระจ่าง ทำให้คณะทำงาน 6 ประเทศ จากกรรมการรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก 21 มีมติไม่รับรองการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยยื่นเรื่องเข้าสู่การพิจารณา และ “ให้ไทยทำเอกสารเพิ่มเติมและส่งกลับเข้าสู่การพิจารณาใหม่ในปีต่อไปหรือภายใน 3 ปี” โดย “ระบุให้ประเทศไทยทำข้อมูลเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ 1. ให้ดำเนินการเรื่องขอบเขตระหว่างไทยและพม่าให้ชัดเจน 2. ให้ทำข้อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องขอบเขตพื้นที่ที่ลดลงว่ายังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดระเบียบข้อที่ 10 ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติที่ว่าด้วยเรื่องทางหลากหลายชีวภาพ 3. ให้ทำข้อห่วงกังวลเรื่องชุมชนในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการฯ เป็นห่วงประเด็นสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่”[2]

แต่ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยกระทำต่อคนกะเหรี่ยงในพื้นที่คงไม่ยุติลง ด้วยเหตุที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้พวกเขาออกจากพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นเสมือนบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาเอง ดังที่นักวิชาการบางคนได้แสดงความคิดเห็นว่า คนกะเหรี่ยงกลุ่มนี้เป็นชนพื้นเมืองของดินแดนแห่งนี้ และได้อาศัยอยู่ในพื้นป่าแก่งกระจานมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ[3] และมีรายงานของผู้สื่อข่าวที่ยืนยันว่า “‘บางกลอยบน’ ไม่ใช่พื้นที่ใหม่ ไม่ใช่การไปถางป่าเพื่อสร้างหมู่บ้านใหม่ เพราะแท้จริงแล้ว ที่นั่นคือ ‘บ้านเดิม’ ของชาวกะเหรี่ยงบางส่วนที่ลงมาอยู่ ‘บางกลอยล่าง’” เนื่องจาก “มีหลักฐานของกรมการปกครองที่ระบุชัดเจนว่า ‘บ้านบางกลอยบน’ เดิมทีเป็นบ้าน ‘หมู่ที่ 7’ อยู่ในเขตตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี”[4]

นอกจากนี้ มีรายงานของสื่อมวลชนที่สะท้อนถึงความยากลำบากในการดำรงชีวิตในที่ที่รัฐจัดสรรให้ ผ่านคำสัมภาษณ์ของคนกะเหรี่ยงผู้หนึ่ง ว่า

“สมัยอยู่บางกลอยบน (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าใจแผ่นดิน) เป็นป่าดิบ น้ำดี ดินดี อุดมสมบูรณ์มาก เราทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าว พริก เผือก มัน หมาก ขนุน มะม่วง ทุเรียน หิวก็จับปลาในแม่น้ำ แทบไม่ต้องใช้เงินเพราะมีกินตลอดทั้งปี ปลูกกระท่อมเล็กๆ อยู่อย่างอิสระ แต่หลังถูกบังคับให้ย้ายมาอยู่บางกลอยล่าง วิถีชีวิตพวกเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ แถมยังเป็นดินลูกรัง แข็งจนปลูกอะไรแทบไม่ขึ้น น้ำก็ขาดแคลน ทำให้ชาวบ้านปลูกข้าวไม่ได้ ไม่มีข้าวกิน ทุกวันนี้ต้องซื้อข้าวสารกินถังละ 240 บาท”[5]

ความอุดมสมบูรณ์ของ ‘ใจแผ่นดิน’

แม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามช่วยคลี่คลายปัญหาและความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและคนกะเหรี่ยง เช่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดการเสวนา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นและมุมมองของผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ และจากประสบการณ์ของคนกะเหรี่ยงบางกลอยที่ถูกผลกระทบจากปัญหา ด้วยความหวังในการแสวงหาทางออกและข้อเสนอในการแก้ปัญหานี้[6] แต่ก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จนัก

ตรงกันข้าม ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและคนกะเหรี่ยงกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น มีรายงานข่าวด้วยว่าในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 คณะทำงานที่ตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหากรณีบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ได้ออกตรวจสอบพื้นที่จากทางอากาศ และได้ใช้ภาพถ่ายที่บันทึกไว้ ระบุว่ามีการบุกรุกป่าในบริเวณบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังระบุว่ามีการล่าสัตว์ป่า เก้ง เลียงผา ซึ่งเจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดได้ พบหลักฐานซากสัตว์ ดินประสิว และลูกตะกั่วเป็นจำนวนมาก[7]

ในเวลาต่อมา มีผู้สื่อข่าวรายงานว่า “นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษา P-Move หนึ่งในคณะทำงานแก้ปัญหาบางกลอย (ภาค ปชช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า กระทรวงทรัพย์ฯ ขีดเส้นตาย 18.00 น. วันนี้ [22 ก.พ.] ต้องไม่มีชาวบ้านอยู่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน” โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นยานพาหนะในการลำเลียงคนกะเหรี่ยงจากบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ลงมาที่หน่วย กจ.10 บ้านบางกลอยล่าง จำนวน “ราว 10-12 คน มีเด็ก ผู้หญิงรวมอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ให้ชาวบ้านที่ลงมาเซ็นเอกสาร ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นคำให้การ เพราะใช้คำว่า ‘ผู้ต้องหา’ แต่ชาวบ้านอ่านหนังสือไม่ออก และไม่มีล่าม คณะทำงานของเราพยายามขอดูเอกสาร แต่ได้รับการปฏิเสธ”[8]

แต่สื่อออนไลน์อีกแหล่งหนึ่งรายงานข่าวที่มีเนื้อหาต่างกัน โดยระบุเพียงว่า “ขณะนี้มีชาวบ้านลงมาแล้วประมาณ 10-12 คน มีทั้งผู้หญิงและเด็กเล็ก ไม่ทราบจำนวนแน่ชัดเนื่องจากถูกกันไม่ให้เข้าไปใกล้ … ที่น่ากังวลคือ มีความพยายามจากชุดสนธิกำลังให้ชาวบ้านเซ็นเอกสาร ซึ่งทางทีมคณะทำงานฯ พยายามขอดูเอกสาร แต่ไม่ได้รับอนุญาต คาดว่าจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีหรือไม่? หากตรวจสอบชัดเจนแล้วจะแจ้งให้ทราบ … ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ถูกควบคุมตัวลงมาแล้ว ชี้แจงว่าเอกสารที่เจ้าหน้าที่ให้เซ็นนั้นตนอ่านไม่ออก ไม่มีล่ามช่วยแปลภาษา แต่ได้มีการอ่านให้ชาวบ้านฟัง เป็นการสอบถามข้อมูลเรื่องที่ดินทำกิน”[9]

ชีวิตกับลำน้ำ: เรียนรู้จากนิวซีแลนด์

ครั้งแรกที่ดูสารคดีเกี่ยวกับบ้านบางกลอยที่ถ่ายทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมไม่ได้เห็นแค่ภาพที่สะท้อนถึงชีวิตที่เรียบง่ายของคนกะเหรี่ยงบางกลอย การทำมาหากินกับธรรมชาติ ประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจของคนกลุ่มนี้เท่านั้น ยังเห็นถึงความเขียวขจีของป่าแก่งกระจานที่อุดมสมบูรณ์ ภาพแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลคดเคี้ยวไปตามผืนป่า และชีวิตของผู้คนที่อาศัยลำน้ำนี้ในการดำรงชีวิต[10]

ชีวิตของคนกะเหรี่ยงบางกลอยกับแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งนอกจากมีนัยสำคัญยิ่งต่อสังคม-การเมือง และความสัมพันธ์ของผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศนั้นแล้ว ยังเป็นประสบการณ์และแบบอย่างที่ผู้คนในสังคมอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทย ควรที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และพยายามทำตาม

หลังจากที่ชาวเมารี ชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ เผ่าที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำวังกานูอิที่อยู่บนเกาะเหนือของประเทศ ได้ต่อสู้เรียกร้องมานานกว่า 140 ปี ในเดือนมีนาคม 2017 รัฐสภาของนิวซีแลนด์ได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ ยอมรับความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างแม่น้ำวังกานูอิ (Whanganui River) กับชาวเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิ (Whanganui Iwi) กฎหมายฉบับนี้เรียกว่า ‘Te Awa Tupua’ ซึ่งหมายถึง ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ (Whanganui River Claims Settlement) รับรองสถานภาพการเป็นบุคคลทางกฎหมาย (legal personality) ของแม่น้ำวังกานูอิ 

บุคคลทางกฎหมายของแม่น้ำสายนี้ หมายถึง การเป็นเอนติตี้ (entity) ที่มีสิทธิและความรับผิดชอบเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป (person) อีกทั้งยังเป็นความสัมพันธ์ทางบรรพบุรุษที่เฉพาะระหว่างชาวเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิกับแม่น้ำสายนี้ เพราะคนอิวิที่ดำรงชีวิตอยู่ตามแม่น้ำมิได้อาศัยแม่น้ำเป็นแหล่งอาหารเท่านั้น หากยังมีความผูกพันเชิงจิตวิญญาณที่ลึกล้ำ (deep spiritual connection) กับแม่น้ำอีกด้วย[11]

ในมุมมองของชาวเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิ ซึ่งเล่าว่าพวกเขาดำรงชีวิตอยู่กับแม่น้ำวังกานูอิมานานกว่า 700 ปี ลำน้ำสายนี้เปรียบเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเขา ที่สำคัญคือมันเป็น ‘awa tupua’ หรือ ‘แม่น้ำแห่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์’[12] – คุณค่าทางจิตวิญญาณที่คนผิวขาวหรือคนนอกกลุ่มอื่นๆ อาจไม่เข้าใจ (?)

ความเป็นมาของกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์ กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษ 1880 ถึง 1920 รัฐบาลนิวซีแลนด์ในสมัยนั้น ซึ่งยังอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์อังกฤษ ได้จัดบริการเดินเรือกลไฟตามลำน้ำและขุดแร่จากก้นแม่น้ำ โดยมิได้ปรึกษาหารือกับคนอิวิ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ ทำให้การหาปลาไหลและปลาชนิดอื่นๆ เสียหาย และลดคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของแม่น้ำ 

ชาวเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิจึงรวมตัวกันร้องเรียนไปยังรัฐสภานิวซีแลนด์ และได้ต่อสู้มาจนในที่สุดรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายฉบับนี้ออกใช้ รับรองว่า ‘Te Awa Tupua’ ซึ่งประกอบด้วยแม่น้ำวังกานูอิ ตั้งแต่เทือกเขาไปจดทะเล และองค์ประกอบทางกายภาพและเมตาฟิสิกส์ (physical and metaphysical elements) [องค์ประกอบทางเมตาฟิสิกส์มีนัยที่ไปไกลกว่า/เหนือกว่าด้านกายภาพ ซึ่งอาจตีความว่าคือด้านจิตวิญญาณนั่นเอง – นิติ] ทั้งหมดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มิอาจแยกออกจากกันได้ (an indivisible and living whole) โดยมีการแต่งตั้งตัวแทนสองคน หนึ่งคนจากรัฐบาล อีกคนหนึ่งจากเผ่าวังกานูอิอิวิ ทั้งสองเป็น ‘Te Pou Tupua’ หรือผู้พิทักษ์คุ้มครอง เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนและปกป้องผลประโยชน์ของแม่น้ำสายนี้ และได้ระบุให้เงินจำนวน 80 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ เป็นการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของรัฐบาลในสมัยนั้น จำนวน 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย และ 30 ล้านดอลลาร์เป็น ‘contestable fund’ ที่จะใช้เพื่อรื้อฟื้นสภาพของแม่น้ำ[13]

อันที่จริง ในนิวซีแลนด์การรับรองว่าแม่น้ำวังกานูอิมีสถานะของการเป็นบุคคลทางกฎหมายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะสถานภาพของลำน้ำสายนี้จะถูกใช้เป็นต้นแบบเพื่อใช้กับสถานที่อื่นๆ เช่น คาดกันว่าในอนาคตอันใกล้ พื้นที่ราว 820 ตารางไมล์ ที่เป็นป่าไม้ ทะเลสาบ และแม่น้ำในบริเวณที่เคยเรียกกันว่าอุทยานแห่งชาติ ‘Te Urewera’ จะถูกประกาศให้มีสถานะของการเป็นบุคคลทางกฎหมาย และเทือกเขา ‘Taranaki’ ก็จะเป็นที่ต่อไป[14]

ที่น่าสนใจคือ มีรายงานว่านอกจากแม่น้ำวังกานูอิแล้ว ศาลสูงในรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ประเทศอินเดีย ได้ประกาศให้แม่น้ำคงคาและยมุนา มีสถานภาพของการเป็นบุคคลทางกฎหมาย มีสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคล ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบสนองกับความจำเป็นที่ต้องลดมลภาวะในแม่น้ำทั้งสอง ซึ่งในศาสนาฮินดู เชื่อกันว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์[15]

คืนอำนาจให้ชนพื้นเมือง

‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ เป็นกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ อีกทั้งยังมีความแหวกแนวในการเสนอวิธีคิดใหม่ มุมมองใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นหลักที่ระบุว่า แม่น้ำวังกานูอิมีฐานะเทียบเท่าสิ่งมีชีวิต และสถานภาพของการเป็นบุคคลทางกฎหมาย จนอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของกฎหมายประเภทนี้

Aikaterini Argyrou และ Harry Hummels นักวิชาการด้านการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ร่วมกันเขียนบทความที่อภิปรายถึงลักษณะพิเศษของ ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ ข้อบังคับบางประการและผลที่อาจเกิดขึ้นที่นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชน (community entrepreneurship) ที่อยู่รอบๆ แม่น้ำวังกานูอิ ซึ่งภายใต้อำนาจของกฎหมายฉบับนี้จะมีสิทธิเช่นเดียวกับบุคคลหนึ่งที่สามารถใช้สิทธิของตนในกระบวนการพิจารณาในชั้นศาลได้ โดยผ่านผู้พิทักษ์คุ้มครองที่แต่งตั้งขึ้น (มีสองคน ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) และไม่อาจแยกลำน้ำสายนี้ออกจากคนเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิ เพราะทั้งสองมีปฏิสัมพันธ์อันลึกซึ้ง/ยาวนานเชิงกายภาพ ศาสนา (จิตวิญญาณ) และประวัติศาสตร์[16]

Pūtiki pā (หมู่บ้าน Pūtiki) ริมแม่น้ำวังกานูอิ ปี 1850

ผมจะขอข้าม/ไม่กล่าวถึงรายละเอียดบางประการของบทความที่ว่านี้ ซึ่งดูจะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ผมต้องการอภิปรายในที่นี้ เช่น ประเด็นข้อถกเถียงเชิงนิติศาสตร์ในเรื่องสถานะของการเป็นบุคคลทางกฎหมาย การเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครอง และเรื่องธรรมชาติและมนุษย์ ซึ่งค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน รวมทั้งในส่วนท้ายที่อภิปรายประเด็นเรื่องแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมและชุมชน และการประยุกต์แนวคิดในการวิเคราะห์/ตีความกฎหมายฉบับนี้ แต่ผมจะเน้นกล่าวเฉพาะประเด็นที่สัมพันธ์กับสิทธิและผลประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้ที่จะเกิดขึ้นต่อแม่น้ำวังกานูอิและคนเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิ เช่น ในมาตรา 12 และ 13 ของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งระบุไว้ว่าองค์ประกอบทางกายภาพและเมตาฟิสิกส์ ระบบนิเวศของแม่น้ำและชุมชน เป็นหนึ่งเดียวกัน มิอาจแยกออกจากกัน มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน นั่นคือคำนึงถึงสุขภาพและความผาสุก (health and well-being) ของสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจของแม่น้ำและผู้คนที่พึ่งพิงลำน้ำสายนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำและผู้คนนี้ถูกระบุไว้ในกฎหมายว่าเป็น ‘คุณค่าแท้จริง’ (intrinsic values) ที่กำหนดให้ความผูกพันระหว่างทั้งสอง และให้คนเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิต้องมีความรับผิดชอบในการปกป้องผลประโยชน์ของแม่น้ำ และผลประโยชน์ของคนรุ่นต่อๆ ไป

มาตรา 20 ระบุถึงหน้าที่ของผู้พิทักษ์คุ้มครองทั้งสองไว้ว่า

  1. ต้องกระทำและพูดในนามของแม่น้ำ
  2. ต้องสนับสนุนการรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของแม่น้ำและคุณค่าต่างๆ ในฐานะที่เป็นเอนติตี้ที่มิอาจแยกออกจากกันได้ และในสถานะของการเป็นบุคคลทางกฎหมาย
  3. ต้องส่งเสริมและปกป้องสุขภาพและความผาสุกด้านสภาวะแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของแม่น้ำ
  4. ต้องดำเนินการที่จำเป็นทุกประการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว และเพื่อให้แม่น้ำปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์

และมีข้อสังเกตว่าประชากรเมารีที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำวังกานูอิ มีอัตราการว่าจ้างงานน้อย และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการจ้างงานที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรที่ไม่ใช่คนเมารี[17]

ที่น่าสนใจและแฝงด้วยนัยสำคัญคือ ตามจารีตดั้งเดิมของชาวเมารี มีความเชื่อเรื่อง ‘ไคทิอากิ’ (kaitiaki) ซึ่งหมายถึงผู้พิทักษ์คุ้มครอง อาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้อง คุ้มครอง ดูแลรักษา หรืออนุรักษ์สิ่งต่างๆ หรือธรรมชาติไว้ ชาวเมารีเชื่อว่าเทพแห่งธรรมชาติ ผู้สร้างและคุ้มครองสรรพสิ่ง เป็นไคทิอากิที่แท้จริง สำหรับชาวเมารีเผ่าวังกานูอิอิวิ ทุกคนในเผ่าคือไคทิอากิ ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาแม่น้ำวังกานูอิให้มีความสมดุลตามธรรมชาติ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงสอดคล้องกับความเชื่อของคนเมารีในเรื่องที่ว่า รัฐและคนเมารีมีความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพและความผาสุกของสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจของแม่น้ำและชุมชนที่พึ่งพิงลำน้ำสายนี้ ซึ่งอาจแยกออกได้ ดังนี้

ประการแรก หน้าที่ในการดูแล/รักษาสุขภาพและความผาสุกด้านสภาวะแวดล้อม ทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ โดยเป็นความรับผิดชอบของคนเมารีทุกคน รวมทั้งผู้พิทักษ์คุ้มครองทั้งสองคน ด้วยเหตุนี้ การกระทำทุกอย่าง เช่น การจับปลา การเก็บ/หาอาหาร จะต้องทำโดยคำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อม และการจัดการและการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่ยั่งยืน

ประการที่สอง หน้าที่ในการดูแล/รักษาสุขภาพและความผาสุกทางสังคมของชุมชน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคนเมารีทุกคน โดยตระหนักว่าการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำและสภาวะแวดล้อมต้องเป็นการกระทำที่มุ่งอนุรักษ์และให้ความเคารพต่อชาวเมารี ด้วยเหตุผลที่ว่าแม่น้ำวังกานูอิมิอาจแยกออกจากชุมชนเมารี และคุณค่าทางสังคม ความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ของพวกเขา

ประการที่สาม หน้าที่ในการดูแล/รักษาสุขภาพและความผาสุกทางวัฒนธรรมของชุมชน เป็นความรับผิดชอบของคนเมารีทุกคนและผู้พิทักษ์คุ้มครองทั้งสอง ในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของแม่น้ำวังกานูอิ ซึ่งรวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น พิธีเฉลิมฉลอง ประเพณี สันทนาการ การศึกษา กีฬา และกิจกรรมเชิงประเพณีที่สัมพันธ์กับสุขภาพทางจิตวิญญาณและกายภาพของคนเมารี เช่น การจับปลา การอาบน้ำ การชำระล้างและการล้างบาปของศาสนาคริสต์ (baptizing)

ประการสุดท้าย หน้าที่ในการดูแล/รักษาสุขภาพและความผาสุกทางเศรษฐกิจของชุมชน เป็นความรับผิดชอบของคนเมารีทุกคนและผู้พิทักษ์คุ้มครองทั้งสองที่จะต้องใส่ใจต่อการใช้ประโยชน์ของแม่น้ำวังกานูอิและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของชุมชนเมารีทั้งหลายที่อยู่รอบแม่น้ำ

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดให้ผู้พิทักษ์คุ้มครองแม่น้ำทั้งสองคนมีอำนาจในการทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อแม่น้ำและชุมชนโดยรอบ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความผาสุกทางเศรษฐกิจที่ผู้พิทักษ์คุ้มครองทั้งสองจัดทำขึ้น จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของหลักการ คุณค่า มรดก และจารีตทางวัฒนธรรมของเมารี ต้องมีการจัดตั้ง กำหนดกระบวนการ ยุทธวิธีในการตัดสินใจ และคณะที่ปรึกษาขึ้นระหว่างชุมชนเมารีทั้งหลาย ผู้พิทักษ์คุ้มครอง องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง และตัวแทนจากภาคธุรกิจ ทั้งหมดนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าภารกิจที่ยากลำบากนี้จำเป็นต้องพึ่งพิงความรู้ท้องถิ่นเข้าช่วย อุปสรรคอีกประการหนึ่งของพิทักษ์คุ้มครองทั้งสองคือ การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ในขณะเดียวกันก็ต้องอนุรักษ์คุณประโยชน์เหล่านี้ให้ไปสู่คนรุ่นต่อไปในอนาคตอีกด้วย ซึ่งอาจเรียนรู้ได้จากวัฒนธรรมเมารีในเรื่องการอนุรักษ์แม่น้ำและชุมชน[18]

การให้อำนาจชนพื้นเมือง: ความคิดใหม่ที่เราต้องเรียนรู้

นิวซีแลนด์ แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็มีความก้าวหน้าในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ การเปิดโอกาสทางการเมือง และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ และระหว่างชนชาติพันธุ์กับรัฐบาล กฎหมาย ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ เป็นตัวอย่างอันดีที่สะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ของประเทศนี้

แน่นอน คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นได้เพราะการต่อสู้/เรียกร้องอันยาวนานของชาวเมารี แต่เราก็ต้องเข้าใจว่ากลไกและระบบการเมืองของนิวซีแลนด์เปิดโอกาสและเกื้อหนุนให้การเรียกร้องของคนพื้นเมืองและชนกลุ่มอื่นเป็นไปได้ ดังเช่นกรณีการเกิดขึ้นของกฎหมาย ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ ก็ด้วยการสนับสนุนขององค์กรที่เรียกว่า ‘ไวแทงงิไทรบูนอล’ (Waitangi Tribunal) ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลได้ออก ‘กฎหมายสนธิสัญญาไวแทงงิ 1975’ (Treaty of Waitangi Act 1975)[19] เพื่อทำหน้าที่ในการสอบสวน/ตัดสินกรณีพิพาทเรื่องที่ดินและเหตุพิพาทอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างชาวเมารีกับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดที่ไม่เป็นไปตาม ‘สนธิสัญญาไวแทงงิ’ ในปี 1840 อันเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลนิวซีแลนด์ในสมัยนั้นกับชาวเมารี ดังนั้น คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการออกกฎหมาย ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ เกิดขึ้นได้เพราะอำนาจทางกฎหมายของ ‘กฎหมายสนธิสัญญาไวแทงงิ 1975’ และเป็นการยืนยันว่ากลไกและระบบกฎหมาย-การเมืองของนิวซีแลนด์เปิดโอกาสและสนับสนุนการเรียกร้องของชนพื้นเมือง

การที่นิวซีแลนด์มีกลไกและระบบกฎหมาย-การเมืองที่เปิดโอกาสให้ชนกลุ่มต่างๆ เรียกร้องสิทธิและอำนาจได้ก็เพราะรัฐบาลในประเทศเล็กๆ แห่งนี้ ‘เอาคนเป็นตัวตั้ง’ นั่นคือ เน้นความผาสุกของประชากร ลดความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อการสร้างสมานฉันท์ในสังคม การให้อำนาจชาวเมารี และชนกลุ่มอื่นๆ ในการเรียกร้อง มีส่วนในการตัดสินใจและการเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ (เช่น การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำวังกานูอิที่กล่าวถึงในที่นี้) นอกจากเป็นการรับรองสิทธิที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลมิได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือใช้อำนาจเพียงฝ่ายเดียว แต่ยอมรับ รับฟัง และรับรองอำนาจของประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่เสมอ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกฎหมาย ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ นี่เอง

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแต่ได้เปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติ และมุมมองของคนนิวซีแลนด์ (และของผู้คนในที่อื่นๆ) ต่อ ‘ผู้อื่น’ ที่แตกต่างจากเราเท่านั้น หากยังทำให้เราต้องตรวจสอบตัวเองในประเด็นเรื่องสิทธิและอำนาจของคนอื่น และเรื่องการอยู่ร่วมกันกับชนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเราอย่างเข้าอกเข้าใจกัน อย่างเท่าเทียมกัน มีการแบ่งปันกัน และมีความสงบสันติ

ภาพพาโนรามาของแม่น้ำวังกานูอิ มองจาก War Memorial Tower บน Durie Hill

เท่าที่ผมทราบ ความเชื่อของคนกะเหรี่ยงบางกลอยและชาวเมารีมีความคล้ายคลึงในเรื่องการให้ความเคารพต่อธรรมชาติและสรรพสิ่งที่อยู่แวดล้อม ชาวเมารีผูกพันกับแม่น้ำวังกานูอิทั้งด้านกายภาพและจิตวิญญาณ เชื่อว่าแม่น้ำสายนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มากกว่าแค่แหล่งอาหาร และต้องดูแล/รักษาการใช้ประโยชน์ให้ยั่งยืนต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน คนกะเหรี่ยงก็ให้เคารพต่อแม่น้ำ ป่าเขา และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อยู่แวดล้อมพวกเขา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีภูตผีที่อาศัยอยู่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเคารพยำเกรง แม่น้ำ/ป่าเขาจึงไม่เพียงช่วยหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเท่านั้น แต่ยังเป็นที่พึ่งพิงด้านจิตวิญญาณอีกด้วย เช่นเดียวกับชาวเมารี คนกะเหรี่ยงก็มีความเชื่อในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและทรัพยากรต่างๆ อย่างยั่งยืน สืบไปจนถึงคนรุ่นลูกหลาน

แต่ปัญหาของคนกะเหรี่ยงบางกลอยคงมิใช่เรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร ทำลายหรือไม่ทำลายธรรมชาติ หรือข้อกล่าวหาอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ตั้งขึ้นกับพวกเขา หากเป็นเรื่องความขัดแย้งกับรัฐไทย ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลมิได้มีความพยายามในการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งมากนัก ตรงกันข้าม กลับดูเป็นฝ่ายที่ใช้อำนาจในการบังคับ ควบคุม หรือแม้แต่ผลักดันคนกะเหรี่ยงให้ออกจากบ้านเรือนของตน ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลมุ่งหมายที่จะให้แก่งกระจาน ผืนป่าอันงดงามและอุดมสมบูรณ์ ถูกยกฐานะด้วยการประกาศให้เป็นมรดกโลก แต่คำถามก็คือการกระทำเช่นนี้คุ้มค่ากับความเสียหาย ทุกข์ยาก เจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับประชากรของประเทศอย่างคนกะเหรี่ยงบางกลอยหรือ?

อีกทั้งยังมีคำถามว่าความขัดแย้งนี้เกี่ยวข้องหรือไม่กับ ‘โครงการไทยไดมอนด์ซิตี้ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี’ ดังที่มีรายงานข่าวว่า “จะเป็นศูนย์รวมของแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์การประชุม ศูนย์การวิจัย ศูนย์สุขภาพและกีฬา ศูนย์การศึกษา ศูนย์การถ่ายทำภาพยนตร์ ศูนย์สมุนไพรไทยและนานาชาติ ศูนย์แสดงสินค้าและแฟชั่นโชว์ รวมถึงการเป็นเมืองที่อยู่อาศัย … อาณาจักรแห่งนี้จะเป็นศูนย์นิคมอุตสาหกรรมด้านการบริการและการท่องเที่ยวแห่งแรกของไทยที่ให้บริการท่องเที่ยว พร้อมที่ประกอบอาชีพ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาครัฐ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไอทีเอที” ใช้เนื้อที่กว่า 35,000 ไร่ ภายใต้การลงทุนของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”[20] ผมพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ แต่ก็ยังหาไม่ได้มากนัก และก็ไม่มีคำตอบว่าความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันคนกะเหรี่ยงให้ออกจากพื้นที่ เกี่ยวข้องกับโครงการอันใหญ่โต/ไพศาลนี้หรือไม่ เพียงใด?!

ไม่ว่าคำตอบคืออะไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนในสายตาของผมคือ รัฐบาลไทย ‘เอารัฐเป็นตัวตั้ง’ นั่นคือ เน้นผลประโยชน์และการดำรงไว้ซึ่งอำนาจของรัฐมากกว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามโฆษณาถึงความพยายามในการสร้างความผาสุกของประชาชน ความสงบสุขและสันติ ความปรองดองในสังคมไทย มากมายเพียงใดก็ตาม ทว่า ความจริงที่ปรากฏดูจะตรงกันข้ามกับการกระทำของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง

เชิงอรรถ

[1] Matichon Online. 25 กุมภาพันธ์ 2564. “บอร์ด ปปท. ชี้มูล ‘ชัยวัฒน์’ ให้ออกจากราชการ ส่งต้นสังกัดดำเนินคดีอาญา-วินัย คดีเผาบ้าน ‘ปู่คออี้’”. https://www.matichon.co.th/politics/news_2596789> และ ไทยโพสต์. 25 กุมภาพันธ์ 2564. “ป.ป.ท. ชี้มูลเอาผิด ‘ชัยวัฒน์’ อดีตหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน ให้ออกจากราชการ ปมเผาบ้านปู่คออี้ ผิด ม.157”. https://www.thaipost.net/main/detail/94251

[2] ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. 8 กรกฎาคม 2562. “สรุปเหตุผลที่ “ป่าแก่งกระจาน” ยังไปไม่ถึง “มรดกโลก””. https://www.prachachat.net/general/news-347271

[3] ดูรายละเอียดใน Khaosod Online. 16 ธันวาคม 2562. “นักประวัติศาสตร์ชี้ “บางกลอย-ใจแผ่นดิน” มีมาแต่อยุธยา เส้นทางเชื่อมสองคาบสมุทร”. https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3196956

[4] สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา. Jan 26, 2021. “บันทึกลับจาก ‘บางกลอย’ ปฐมบทการต่อสู้ของ ‘กะเหรี่ยงแก่งกระจาน’”. The 101 World. https://www.the101.world/bang-kloi/?fbclid=IwAR0IdZJPEDNbrZ6p1eSnqgdW8nKng6-jdmamI_tnNDxyJjNjNPWRcTXtVQ0

[5] อินทรชัย พาณิชกุล. 25 ธันวาคม 2559. “วิบากกรรมซ้ำซากของ “กะเหรี่ยงบางกลอย””. PostToday. https://www.posttoday.com/social/local/472152

[6] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. Jan 21, 2021. “จากกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์”. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=LHKw0LcVYys และ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. Jan 21, 2021. “2 ทศวรรษปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย ถึงแนวทางแก้ปัญหาชาติพันธุ์”. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=IE8Q1-_HxbY

[7] Matichon Online. 21 กุมภาพันธ์ 2564. ““วราวุธ” เผย ทีม ก.ทส. แก้ปัญหาบ้านบางกลอย ขึ้น ฮ. ดูพื้นที่ป่าแก่งกระจาน-ใจแผ่นดิน พบ ป่าถูกเผาเพิ่ม”. https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2589632> และ Nation 22. 21 กุมภาพันธ์ 2564. ““วราวุธ” ฉุน บางกลอยบน-ใจแผ่นดินถูกเผากว่า 100 ไร่”. https://www.nationtv.tv/main/content/378816537?fbclid=IwAR1ioNCth_CjNkVavosEwAxnODNnxVYf_-gJBLpYHgbwnF5n1Kh4Jc73UTg

[8] Matichon Online. 22 กุมภาพันธ์ 2564. “เปิดไทม์ไลน์ กวาดกลุ่มชาติพันธุ์พ้น ‘ใจแผ่นดิน’ พีมูฟเผย จนท. คุมตัวชาวบ้าน จี้เซ็นเอกสาร”. https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2591577

[9] ประชาไท. Feb 22, 2021. “จนท. เริ่มนำชาวกะเหรี่ยงที่กลับ ‘ใจแผ่นดิน’ ลงมา ภาค ปชช. หวั่นรุนแรงซ้ำเหตุปี 54 ชี้ขัด MOU”. https://prachatai.com/journal/2021/02/91819>

[10] โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๕๘. Aug 17, 2018. “สารคดีบ้านโป่งลึก-บ้านบางกลอย”. https://www.youtube.com/watch?v=pEqo6Ulw200

[11] New Zealand Parliament. Mar 28, 2017. “Innovative bill protects Whanganui River with legal personhood”. https://www.parliament.nz/en/get-involved/features/innovative-bill-protects-whanganui-river-with-legal-personhood/ ในเว็บไซต์ของรัฐสภานิวซีแลนด์ยังระบุด้วยว่าตามกฎหมายของนิวซีแลนด์ มีเอนติตี้อื่นๆ ที่มีสถานะของการเป็นบุคคลทางกฎหมาย เช่น บริษัท ทรัสต์ (trusts) และสมาคม (ผมสันนิษฐานว่าหากเปรียบเทียบกับการนิยามในกฎหมายไทย คำว่า “เอนติตี้” อาจแปลว่า “นิติบุคคล” ก็ได้)

[12] Kennedy Warne. “A Voice of Nature”. National Geographic. https://www.nationalgeographic.com/culture/2019/04/maori-river-in-new-zealand-is-a-legal-person/

[13] New Zealand Parliament. “Innovative bill protects Whanganui River with legal personhood”.

[14] Warne. “A Voice of Nature”. National Geographic.

[15] Erin O’Donnell, Julia Talbot-Jones. March 24, 2017. “3 Rivers Just Became Legal ‘Persons’”. LiveScience. https://www.livescience.com/58398-3-rivers-just-became-legal-persons.html ผู้เขียนทั้งสองคนนี้ได้โพสต์ข้อความที่มีสาระคล้ายคลึงกันใน Erin O’Donnell, Julia Talbot-Jones. March 24, 2017. “Three rivers are now legally people – but that’s just the start of looking after them”. The Conversation. https://theconversation.com/three-rivers-are-now-legally-people-but-thats-just-the-start-of-looking-after-them-74983

[16] Aikaterini Argyrou & Harry Hummels. Nov. 6–7 (2019). “Legal personality and economic livelihood of the Whanganui River: a call for community entrepreneurship”. Water International. Vol. 44. pp. 752.

[17] Ibid., pp. 753-754.

[18] Ibid., pp. 761-763.

[19] ดูรายละเอียดขององค์กรนี้ใน Waitangi Tribunal. https://www.waitangitribunal.govt.nz/

[20] ฐานเศรษฐกิจ. 28 Sep, 2017. “ที่นี่ไม่มีความลับ: เปิดโปรเจ็กต์ยักษ์ ‘เจ้าสัวเจริญ’. https://www.thansettakij.com/content/headline/213502 และดูวิดีโอโฆษณาโครงการนี้ใน Nop อรรณพ. Nov 9, 2015. “โครงการ ไทยไดมอนด์ซิตี้ แก่งกระจาน จังหวัด เพชรบุรี”. YouTube. https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=mNN-RaM-uAY&fbclid=IwAR0YQXHBnzgfR7NyttvTVQjBZBr5oDHwxe_PMXP1c_MlzovGlXF4uPD2-Tk

ขอขอบคุณภาพประกอบ ‘บางกลอย’ จาก สำนักข่าวชายขอบ

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า