รัฐบาลไทยระส่ำ เมื่อสหรัฐส่ง ‘โรเบิร์ต โกเดค’ ทูตสายเหยี่ยวเข้าประจำการ

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 บทบาทของเอกอัครราชทูตจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาประจำการในไทยก็กลายเป็นที่จับตามองของบรรดานายพลและผู้มีอำนาจในรัฐบาลไทยมาตลอด ทั้งคริสตี้ เคนนีย์ (Kristie Kenney) และกลิน ที เดวีส์ (Glyn T. Davies) เพราะภาครัฐเชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกปากร้าย ชอบเข้าไปมีปากมีเสียงกับเรื่องกิจการภายในของประเทศอื่น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศโลกที่ 3 ทัศนคติเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ จากนักข่าว IO หรืออินฟลูเอนเซอร์แนวอนุรักษนิยมที่มักมองอเมริกาเป็นปีศาจร้าย โดยละเลยข้อเท็จจริงในอดีตที่อเมริกาคือมิตรแท้ คอยช่วยปกป้องไทยเราไม่ให้ล้มเป็นโดมิโน่จากภัยคอมมิวนิสต์และจีนแดงในช่วงสงครามเย็น

โรเบิร์ต โกเดค (Robert Godec)

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นที่ยืนยันกันแล้วว่า โรเบิร์ต โกเดค (Robert Godec) จะมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตคนใหม่ประจำสถานทูตอเมริกาในไทย กิตติศัพท์ของทูตคนดังกล่าวนี้เป็นที่เลื่องลือมานานจากผลงานในอดีตซึ่งเคยประจำการอยู่ประเทศแถบแอฟริกาอย่างตูนิเซียและเคนย่า ซึ่งคนในพื้นที่มักจะได้เห็นทูตโกเดคแสดงความคิดเห็นวิจารณ์การเมืองในประเทศที่ตนเองดูแลอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในประเด็นประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ถ้าหากทูตโกเดคคนนี้ยังคงตั้งมั่นที่จะใช้แนวทางเดิมในการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อเมริกาเหมือนกับที่ตนเองเคยทำในประเทศก่อนๆ คนไทยคงจะได้เห็นทูตโกเดคเปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนจ่อไมค์ขอความเห็นเรื่องความไม่ชอบมาพากลทางการเมืองหลายๆ ประเด็นที่เกิดขึ้น จนอาจกลายเป็น ‘เสี้ยนทิ่มแทงตูด’ (pain in the ass) ของผู้มีอำนาจ ตามสำนวนที่ฝรั่งชอบใช้กันได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวนี้จะไม่ใช่สิ่งพึงกังวล หากรัฐบาลไทยมีไหวพริบในการต่อรอง และความเข้าใจเกมการเมืองระหว่างประเทศมากเพียงพอ เพราะอย่างที่หลายคนทราบกันดีถึงคำแถลงเกี่ยวกับนโยบายของโรเบิร์ต โกเดค ต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ใจความสำคัญหลักๆ ที่โกเดคให้ความสนใจมีอยู่เพียงไม่กี่ประเด็น คือ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมืองในไทย ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมา และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอเมริกา-จีนในภูมิภาคเอเชียที่คุกรุ่นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ณ จุดนี้ ในเมื่อรัฐบาลไทยรู้ตัวแน่นอนแล้วว่า 2 ประเด็นแรก (สิทธิมนุษยชน และปัญหาในเมียนมา) คงจะยอมไหลไปตามเกมของอเมริกาไม่ได้ สิ่งที่ควรจะนำขึ้นมาใช้เป็นแต้มต่อบนโต๊ะเจรจาขณะนี้จึงไม่พ้นประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์อเมริกา-จีน เพราะเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจระดับยุทธศาสตร์ความมั่นคงกรอบใหญ่ของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน โดยทั้งสองพรรคต่างก็เห็นตรงกันว่าปัจจุบันจีนกลายเป็นภัยคุกคามและคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ที่พยายามจะแย่งชิงสถานะความเป็นผู้นำโลก (unipolar moment) ไปจากอเมริกา พร้อมๆ กับการทำลายระเบียบโลกแบบเสรีนิยม (liberal world order) ในฐานะสถาปัตยกรรมที่อเมริกาเคยสร้างไว้

การที่รัฐบาลไทยจะเล่นเกมกับทูตโกเดคให้ได้เรื่องได้ความนั้น ประเด็นข้างต้นนี้ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดลอยไป ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา และความสัมพันธ์อเมริกา-จีน จึงต้องถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระพูดคุยกับทูตโกเดคอย่างตรงไปตรงมา แล้วชี้ให้โกเดคเห็นว่าแม้ 2 ประเด็นแรกไทยจะไม่สามารถโอนอ่อนผ่อนปรนไปตามคำเรียกร้องของอเมริกาได้ แต่ในช่วงที่โกเดคประจำการอยู่นี้ ไทยอาจจะยอมตีตัวออกห่างจีน แล้วเปลี่ยนมาเอนเอียงหาอเมริกาในบางมิติให้มากขึ้นได้ ผ่านการแสดงจุดยืนทางด้านนโยบายและเกมการเมืองรูปแบบต่างๆ อาทิ การชะลอโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนในพื้นที่ภาคอีสาน หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าแก่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากบริษัทอเมริกามากกว่าบริษัทจีน เป็นต้น

หลักการสำคัญ คือ ไทยจะต้องโน้มน้าวให้อเมริกาเชื่อว่า ไทยเป็นหมากตัวสำคัญในภูมิภาคที่ทั้งอเมริกาและจีนจะขาดออกไปจากกระดานของตนเองไม่ได้ แล้วปล่อยให้โกเดคพิจารณาชั่งน้ำหนักเองระหว่างเรื่องจีน กับสิทธิมนุษยชน และการกดดันเมียนมา ประเด็นไหนเป็นประเด็นเร่งด่วนและสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่ออเมริกามากกว่ากันในระยะยาว 

ทั้งนี้ หากยังกังวลเรื่องของความเป็นไปได้ที่โกเดคจะยอมให้ไทยต่อรองได้หรือไม่นั้น ต้องย้อนกลับไปพิจารณาเอาจากรูปแบบการทำงานของโกเดค และการบริหารจัดการความสัมพันธ์ทางการทูตในอดีตเมื่อครั้งประจำการอยู่ที่ตูนิเชียช่วงปลายทศวรรษ 2000 ประเทศดังกล่าวก็มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย (democratization) ตามประสากลุ่มประเทศเผด็จการในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) แต่อเมริกาก็ยังยอมโอนอ่อนผ่อนปรนแก่ตูนิเชีย เนื่องด้วยตูนิเชียมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่ออเมริกาในภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย

เมื่อนำทั้งสองกรณีมาเปรียบเทียบกันแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นในไทยยังถือว่ามีความเลวร้ายน้อยกว่าประเทศดังกล่าวมาก นอกจากนี้ทูตโกเดค และประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) แห่งอเมริกา คงจะตระหนักดีว่าปัจจุบันสภาพการณ์และภูมิทัศน์ทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิคกำลังอยู่ในช่วงไม่สู้ดี และเต็มไปด้วยร่องรอยของจีนที่ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ (Wang Yi) เดินทางเยือนหลายประเทศในกลุ่มดังกล่าวเพื่อขยายเครือข่ายพันธมิตร ประเทศเพื่อนบ้านของไทยส่วนใหญ่ก็ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนและมีแนวโน้มจะตีตัวออกห่างจากอเมริกาทั้งสิ้น โดยเฉพาะกลุ่ม ASEAN ภาคพื้นทวีปอย่างเมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งได้มีการเปิดช่องทางให้จีนเข้าไปตั้งฐานทัพเรือในเรียมเมื่อไม่นานมานี้

รัฐบาลอเมริกาเองก็น่าจะทราบความเคลื่อนไหวเหล่านี้ดี มิเช่นนั้นคงไม่ทุ่มเงินลงทุนปริมาณมหาศาลถึง 9,000 ล้านบาท มาสร้างสถานกงสุลแห่งใหม่ในเชียงใหม่ บนพื้นที่เกือบ 20 ไร่ ในปี 2022 นี้ อีกทั้งยังประกาศจะจ้างงานคนเชียงใหม่เกือบ 500 คนด้วย และถึงแม้ว่าข้อกล่าวหาเรื่องสถานกักเก็บอาวุธลับที่สื่อไทยบางส่วนพยายามโจมตีป้ายสีอเมริกาจะเป็นประเด็นไร้สาระ แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าการสร้างสถานกงสุลแห่งใหม่ครั้งนี้ มีนัยสำคัญถึงสถานการณ์การขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปดังที่กล่าวไปข้างต้น หากรัฐบาลไทยสามารถนำประเด็นที่อเมริกากังวลเหล่านี้มาใช้เป็นข้อต่อรองทางการทูตได้ จะสามารถช่วยประวิงเวลาและรักษาสถานภาพเดิม (status quo) ของรัฐบาลปัจจุบันในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน และความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาไปได้อีกพักใหญ่ๆ เพราะถึงแม้โกเดคจะเป็นนักการทูตสายเหยี่ยว แต่ก็ยังเป็นคนประเภทที่สามารถ ‘คุยได้’

ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลจะต้องไม่สร้างประเด็นให้อีกฝ่ายสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือกดดันเพิ่มด้วย

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า