วงศาวิทยาของอภิสิทธิ์ชนไทย (1)

อภิสิทธิ์ชนไทย หรือจะเรียกให้ร่วมสมัยว่า ‘VIP’ นับว่าสืบสานว่านเครือมานมนาน ถ้าเรียกจากภาษาซ้ายเสียหน่อยอาจจะใช้คำว่า ‘ศักดินา’ หรือ ‘อำมาตย์’ ‘เผด็จการ’ ‘อำนาจนิยม’ แต่ทั้งมวลกอปรขึ้นเป็น ‘อภิสิทธิ์ชน’ ในสังคมไทย ข้อเสนอของ ธงชัย วินิจจะกูล ในหนังสือ ปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี 2563 เรื่อง นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย ช่วยให้มองเห็นเสาค้ำบัลลังก์อภิสิทธิ์ชนไทยจากอีกมุม ธงชัยบุกเบิกการวิพากษ์ไปยังแก่นของการก่อร่างสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย ผ่านการศึกษาแนวคิดที่ถูกเรียกว่า ‘นิติรัฐ’ (The Rule of Law) ด้วยการใช้วิธีสืบสาแหรกตามสไตล์ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาที่ทั้งคมและลึกลงในใจกลางปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง จนกลั่นออกมาเป็นข้อสรุป 2 ข้อ คือ

  1. จริงๆ แล้วประเทศไทยไม่มีและไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่านิติรัฐตามความหมายที่ประเทศอารยะใช้กัน ที่ธงชัยเรียกว่า ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์’
  2. บ้านเมืองของเราใช้บรรทัดฐานใดในการอำนวยความยุติธรรม

ธงชัยเสนอว่ามันคือ ‘ราชนิติธรรม’

จะเข้าใจลักษณะอภิสิทธิ์ชน ต้องเห็นสาแหรกของคำอธิบายนิติรัฐ

การศึกษาในครั้งนี้ของธงชัย มิใช่การวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม สองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน ซึ่งมีอยู่อย่างดาษดื่นและประชาชนรู้ซึ้งถึงปรสิตตัวนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ธงชัยมุ่งศึกษาไปที่การเขียนประวัติศาสตร์กฎหมายไทยอย่างถึงราก ด้วยการวิพากษ์หลักฐานตามขนบของนักประวัติศาสตร์ และถกเถียงในเชิงทฤษฎีที่เผยให้เห็นการก่อรูปและความย้อนแย้งของวงการนิติศาสตร์ในบ้านเราอย่างน่าขัน และบางครั้งก็น่าเศร้า งานชิ้นนี้เปิดฉากด้วยการโจมตีไปยังมโนทัศน์พื้นฐานนิติศาสตร์ไทยจากปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบันว่าเป็นการปรับกฎหมายเดิมจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ทันสมัยภายใต้สภาวะกึ่งอาณานิคม ซึ่งปัญหาของระบบกฎหมายในเวลาต่อมา มักถูกนักนิติศาสตร์ไทยอ้างว่าระบบกฎหมายของไทยค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ โดยหาทางให้คนดีได้เป็นผู้บังคับใช้ ธงชัย เสนอว่า คำตอบเช่นนี้ไม่น่าพอใจ เนื่องจาก

  1. คำตอบนี้ไม่มีทางผิด
  2. คำตอบนี้ฟ้องว่าสถาบันทางการกฎหมายอ่อนแอ
  3. ความอยุติธรรมที่ดาษดื่นก็เพราะ ‘คนดี’

ส่วนคำอธิบายที่ถูกพัฒนามาขึ้นมาในภายหลัง ก็มักโทษการด้อยพัฒนาของระบบกฎหมาย โดยอธิบายว่าระบบกฎหมายอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่จะค่อยๆ ปรับปรุงต่อไปได้ ก่อนจะใช้พื้นที่จำนวนมากในบทปาฐกถาวิพากษ์สิ่งที่เรียกว่า ‘หลักนิติธรรม’ ซึ่งได้รับการอธิบายจากนักนิติศาสตร์ทุกสำนักว่ามีรากมาจากแนวคิด 2 กระแส คือ 1. นิติรัฐ (Rechtsstaat หรือ Legal State) และ 2. การปกครองของกฎหมาย (The Rule of Law) ธงชัยเห็นว่าสองกระแสความคิดนี้ได้ผสานเข้าหากันเมื่อกลางศตวรรษที่ 20 โดยผนวกเข้ากับแนวคิดสิทธิมนุษยชน (ภายหลังภัยวิบัติครั้งใหญ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) โดยเขาทิ้งคำถามหลักของการศึกษาในงานชิ้นนี้ คือ

ในเมื่อนิติศาสตร์และการปกครองของกฎหมายแบบบรรทัดฐาน (normative rule of law) ก่อตัวขึ้นในบริบทประวัติศาสตร์ของยุโรปตะวันตกแล้ว นิติศาสตร์และระบบกฎหมายของไทยนับแต่เปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ย่อมต่างออกไป เพราะก่อตัวในบริบททางประวัติศาสตร์ที่ต่างกันลิบลับ คำถามต่อมาคือ ลักษณะเฉพาะของนิติศาสตร์และระบบกฎหมายในประเทศไทยเป็นอย่างไร สามารถอธิบายได้หรือไม่ว่าคุณสมบัติที่ผิดแผกไปเหล่านั้น เป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์อย่างไร

บริบทของการก่อตัวของนิติศาสตร์และระบบกฎหมายของไทย

สิ่งที่เชื่อกันอย่างหนึ่งจนเป็นสรณะคือ คำอธิบายที่ว่าการเปลี่ยนผันสู่ระบบกฎหมายสมัยใหม่ในสยามเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผันสู่ยุคสมัยใหม่ของสังคมสยามอย่างทั่วด้านภายใต้อิทธิพลอาณานิคม (colonial modernity) ในช่วงทศวรรษ 1880 ถึง 1930 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยมีความต่างจากบริบททางประวัติศาสตร์ของระบบกฎหมายแบบบรรทัดฐาน (normative jurisprudence) โดยมีคำอธิบายอยู่ 6-7 แบบ เช่น ‘สังคมไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม’ ‘การปฏิรูประบบกฎหมายในสยามเกิดขึ้นภายใต้กำกับของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์’

ในส่วนนี้ธงชัยจึงเสนอว่า บริบทสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนผันสู่นิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และภาวะกึ่งอาณานิคม ซึ่งมีผลทำให้องค์ประกอบของนิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยต่างจากนิติศาสตร์แบบบรรทัดฐาน คำถามที่ตามมาคือ ด้วยบริบทดังกล่าวส่งผลต่อการเข้าใจจารีตที่เกี่ยวข้องต่อการเปลี่ยนผันสู่นิติศาสตร์สมัยใหม่อย่างไร หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญคือ กษัตริย์สยามก่อนสมัยใหม่เป็นองค์อธิปัตย์ (The Sovereign) ผู้บัญญัติกฎหมายหรือไม่ คำอธิบายที่เป็นที่นิยมกันในหมู่นักกฎหมายไทยคือ พระธรรมศาสตร์ของฮินดูครอบคลุมเรื่องต่างๆ กว้างขวางกว่ารัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เป็นบัญญัติกำหนดหน้าที่ทางศาสนาของบุคคลในวรรณะและสถานะต่างๆ เมื่อพุทธศาสนารับพระธรรมศาสตร์เข้ามาเป็นหลักจารีตกฎหมายของตน ก็ถูกปรับแปรให้เข้ากับพุทธและกับท้องถิ่น ในส่วนนี้ธงชัยใช้งานเขียนของปรมาจารย์กฎหมาย ที่นักนิติศาสตร์ไทยมักใช้กล่าวอ้างในหลายเรื่อง แต่กลับ ‘ดร็อป’ ความเห็นส่วนที่สำคัญนั่นคือการตีความเรื่องกษัตริย์ไทยในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นผู้บัญญัติกฎหมายหรือไม่

โรเบิร์ต แลงกาต์ (นักประวัติศาสตร์กฎหมายชาวฝรั่งเศส) คือปรมาจารย์คนนั้น หลักฐานจำนวนมากที่ธงชัยนำเสนอชี้ว่า ความเชื่อทางวิชาการที่ว่าในเมื่อมีพระธรรมศาสตร์ที่สูงส่งศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว กษัตริย์ไทยแต่ก่อนจึงไม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย อาจเป็นการเข้าใจผิด

คำถามต่อมา กษัตริย์สยามก่อนยุคสมัยใหม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมายอย่างสำคัญหรือไม่ ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีคนหยิบยกขึ้นมาอภิปรายเกินกว่าครึ่งศตวรรษ เพราะความเชื่อว่ากษัตริย์สมัยก่อนไม่มีอำนาจสมบูรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิเสธว่ากษัตริย์ไทยสมัยก่อนไม่ใช่เทวราช ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ไม่ใช่ absolute monarch อย่างฝรั่ง หลักฐานอย่างหนึ่งคือการพัฒนาของกฎหมายอยุธยา กฎหมายจำนวนมากที่สร้างขึ้นในสมัยนั้นมีความละเอียดและซับซ้อนมาก อาจกล่าวว่าอยู่ในกรอบของพระธรรมศาสตร์ แต่เห็นได้ชัดว่าสะท้อนการพัฒนามานานในสังคมของอยุธยาเอง มิใช่การแปลมาจากพระธรรมศาสตร์ซึ่งมาจากประสบการณ์ของสังคมอื่น

อีกส่วนที่สำคัญคือประวัติศาสตร์แบบฉบับหรือขนบ (conventional) มักจะอธิบายการปฏิรูปกฎหมายสู่สมัยใหม่ว่า เป็นเรื่องของการทำกฎหมายให้ทันสมัย (modernization) พล็อตอยู่ที่ว่า ด้วยสายตายาวไกลของชนชั้นนำสยามในยุคนั้น โดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 รัฐบาลสยามจึงจ้างชาวต่างชาติผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างกฎหมาย มาสร้างระบบประมวลกฎหมายขึ้น จนเสร็จเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกนั่นคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451/ค.ศ. 1908) ขณะที่บางคนเลยเถิดไปถึงกับเสนอว่า ร.ศ. 127 ไม่ใช่เรื่องพลิกโฉมแต่อย่างใด แต่เพราะกฎหมายเดิมดีได้มาตรฐานทัดเทียมสากลอยู่แล้ว

นิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยไม่ใช่การปกครองของกฎหมาย (The Rule of Law)

มาสู่การถกเถียงประเด็นที่ทั้งสำคัญและใช้กันจนเป็นแฟชั่นอย่างคำว่า ‘นิติรัฐ’ หรือ ‘นิติธรรม’ โดยธงชัยเสนอสมมุติฐานที่ท้าทายว่า นิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยไม่ใช่การปกครองของกฎหมาย (The Rule of Law) โดยตัวอย่างรูปธรรมของประวัติศาสตร์ต้นฉบับที่มักอธิบายกัน 4 เรื่อง คือ

  1. การปลดปล่อยทาสและไพร่และการเปลี่ยนระบบกฎหมายเป็นการทำให้ราษฎรทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลที่เสมอภาคกัน
  2. เป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของเอกชน
  3. การเริ่มต้นขึ้นของกระบวนการตุลาการและระบบกฎหมายที่ได้มาตรฐานสากล
  4. การปรับปรุงรัฐให้เป็นแบบทันสมัยเป็นส่วนสำคัญให้เริ่มมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครองอย่างชัดเจนเป็นระบบระเบียบ ในภาพรวมต้องถือว่าการปฏิรูปกฎหมายยุคใหม่เป็นพระปรีชาสามารถของกษัตริย์และชนชั้นนำไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างทันกาล ได้ทั้งรักษาเอกราชและปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก

ขณะที่นักนิติศาสตร์ไทยมักจะกล่าวว่า “ระบบกฎหมายใหม่ได้ละทิ้งลักษณะกฎหมายธรรมชาติแบบเดิมซึ่งใกล้ชิดสนิทกับธรรมะและความยุติธรรม อันต่างกับระบบกฎหมายใหม่ของสยาม ซึ่งถือว่ากฎหมายเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปไตยตามความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism) นี่เป็นความผิดพลาดของการปฏิรูป ทำให้กฎหมายกลายเป็นเพียงเครื่องมือของอำนาจรัฐในการปกครองกดขี่และจำกัดเสรีภาพของราษฎร” ต่อประเด็นนี้ธงชัยอธิบายว่า ดูเผินๆ จะเหมือนว่ากฎหมายสมัยใหม่เป็นคนละเรื่องกับกฎหมายที่อยู่บนฐานของพระธรรมศาสตร์ และเป็นกฎหมายที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองอย่างสิ้นเชิง แต่ในความเป็นจริง จารีตกฎหมายเดิมและขนบประเพณีเดิมในสังคมไทยเป็นปัจจัยด้านหนึ่งของการเปลี่ยนผันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการรับตัวแบบจากโลกตะวันตกต้องมีการปรับแปรไปตามที่รัฐและชนชั้นนำไทยเข้าใจและต้องการ

ดังแสดงออกในผลลัพธ์ของการปฏิรูปหลายกรณี เช่น ความ (ไม่) เสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เอง ก็ยังมีมาตราที่ให้อภิสิทธิ์มิใช่เพียงประมุขและรัชทายาท แต่ให้แก่พระราชวงศ์ชนชั้นเจ้าทั้งหมด แถมมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้บรมวงศานุวงศ์ไม่ต้องรับผิดเหมือนกับประชาชนชาวบ้านทั่วๆ ไป ขณะที่คำอธิบายจำพวก “ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้” หรือ “เป็นความบกพร่องของบางคนที่ยังไม่ดีพอ” ธงชัยพลิกกลับประเด็นดังกล่าวโดยเสนอว่าแท้จริงความไม่เสมอภาคในสังคมไทยเป็นเรื่องทั่วไป แถมพบได้เป็นปกติ

ต่อประเด็นการจัดตั้งกองทัพที่เปลี่ยนไพร่เป็นทหารและกฎหมายสมัยใหม่ที่ยอมรับสถานะปัจเจกบุคคล ย่อมเท่ากับทุกคนเสมอภาคกันแล้ว ธงชัยเห็นว่าเป็นตรรกะที่ง่ายเกินไป เพราะความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไม่เสมอภาคมิได้มีเพียงแค่ระหว่าง เจ้า-ไพร่ทาส ในระบบศักดินาแบบเก่า การเลิกไพร่ทาสจึงเป็นเพียงทำให้สถานะของบุคคลบางประเภท (ไพร่และทาส) ยุติลง แต่มิได้ทำให้เกิดความเสมอภาค

ผลอย่างหนึ่งของการปฏิรูปกฎหมายคือ อิทธิพลของสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism) เข้าครอบงำวงการกฎหมายของไทย คำถามคือ จริงหรือ?

ข้อถกเถียงเชื่อมโยงมาถึงอีกประเด็นคือ การรัฐประหารมักถูกอธิบายว่าได้รับการสนับสนุนการอธิบายจากสำนักกฎหมายบ้านเมืองที่ยืนบนหลักของการครองอำนาจจริงขององค์อธิปัตย์ กรณีนี้ธงชัยไม่สงสัยและเห็นด้วยเต็มที่ว่าเป็นฐานทางกฎหมายของระบอบเผด็จการและคณะรัฐประหาร และไม่ควรเป็นเหตุผลที่ตุลาการของไทยยอมรับมาใช้สนับสนุนการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นว่าตุลาการของไทยมีส่วนร่วมในการประกอบความผิดทำลายล้างรัฐธรรมนูญไปด้วย ธงชัยตั้งข้อสังสัยว่า หากความคิดทำนองนี้ไม่มีอยู่ในจารีตกฎหมายของไทยมาก่อนเลย ความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองจะเข้ามาลงหลักปักฐานแน่นแฟ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และกลับมีอิทธิพลต่อเนื่องมาตลอดนานกว่าศตวรรษแล้วได้อย่างไรกัน

การตอบปัญหาดังกล่าว ธงชัยหันไปพิจารณาจากมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีต่อมาจนถึงปัจจุบันนั่นคือ นิติศาสตร์และระบบกฎหมายของไทยสองกระแส ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์’ และ ‘ราชนิติธรรม’ ธงชัยยกหลักฐานเรื่องการปฏิรูปกฎหมายว่า อันที่จริงไม่เคยมีชิ้นใดกล่าวถึงความเสมอภาค เพราะนั่นหมายถึงเจ้าย่อมอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน ในแง่นี้การปฏิรูปกฎหมายสยามจึงหมายถึง การยกระดับปรับปรุงเทคนิคการปกครองอย่างสำคัญ ทำให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองของเจ้าด้วยกฎหมายนั่นเอง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า