“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์”
คำขวัญติดปากของบรรดาผู้รักชาติและกองทัพไทยอันมีมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการกระตุ้นความรักชาติรักแผ่นดินเกิดแล้วยังเป็นการสถาปนายุทธศาสตร์ของรัฐไทยในแบบ ‘ตั้งรับ’ ที่ต้องพร้อมรับมือกับภัยคุกคามของชาติอยู่เสมอ และด้วยเหตุนี้กองทัพไทยจึงจำเป็นต้องเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อรักษาดินแดนขวานทองต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยใหม่ได้เริ่มหันมาตั้งคำถามกับ ‘เขี้ยวเล็บ’ ของกองทัพว่า จริงๆ แล้วอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายพร้อมใช้งานมากน้อยเพียงใด มีความจำเป็นต้องจัดซื้อหรือไม่ โปร่งใสแค่ไหน ไปจนถึงข้อครหาเรื่อง ‘เงินทอน’ ที่ยากจะจับมือใครดมได้
การรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้กองทัพขึ้นมามีอำนาจกำหนดนโยบายประเทศในหลายด้านมากกว่าที่ควรจะเป็นตามระบอบประชาธิปไตยเสรี และปรากฏชัดเจนมากขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกองทัพที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด นอกจากการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากแล้ว ยังรวมถึงการจ่ายเงินเดือนกำลังพลที่มีอยู่มากมายมหาศาล ด้วยข้ออ้างเรื่องการเฝ้าระวังภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ และดูเหมือนว่าบางยุทโธปกรณ์จะถูกนำมาใช้ในการปราบปรามพลเรือนเพื่อความมั่นคงภายในประเทศ
บริบทของสังคมการเมืองสมัยใหม่ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่า กองทัพไทยได้มีโอกาสเคลื่อนพลออกจากกรมกองเพื่อปกป้องมาตุภูมิสักกี่ครั้งนอกเหนือไปจากการทำรัฐประหาร? ปืน กระสุน และลูกระเบิด ถูกใช้งานบ่อยครั้งแค่ไหนเมื่อเทียบกับความคุ้มค่าด้านราคาหลายล้านบาท? คำถามถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าของการใช้งานสิ่งเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่สังคมไทยเริ่มให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ค่านิยมโลกเริ่มมองหาความสงบ และหันมาใช้วิธีเจรจาระหว่างประเทศแทนการลั่นกระสุนหรือเคลื่อนรถถังเข้าหากัน
น้ำ-ฟ้า-ฝั่ง: นักช็อปแห่งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
กองทัพเรือ
ปี 2559 กองทัพเรือจัดซื้อระบบต่อต้านตอร์ปิโดแบบแคนโทวี (CANTO-V) ด้วยงบประมาณ 158,360,000 บาท จากกลุ่มบริษัท ดีซีเอ็นเอส (DCNS) ประเทศฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลในการรักษาความมั่นคงทางทะเล เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีเรือดำน้ำสำหรับใช้ในการสงคราม ความทันสมัยของเทคโนโลยีและระบบการป้องกันของ CANTO-V ที่ถือว่านำหน้าหลายประเทศในแถบใกล้เคียง ทำให้กองทัพเรือของไทยเป็นที่จับตามองอย่างยิ่ง
ถึงอย่างนั้นในปี 2560 คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยวงเงิน 13,500 ล้านบาท เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาจะพบว่าแผนการจัดหาเรือดำน้ำของไทยนั้นดำเนินมาตั้งแต่ปี 2558 และกระทรวงกลาโหมเองก็ได้อนุมัติความต้องการเรือดำน้ำในปีเดียวกันกับที่มีการจัดซื้อระบบต่อต้านตอร์ปิโดแบบแคนโทวี (ย้อนไทม์ไลน์ 5 ปี ซื้อเรือดำน้ำ “หยวนคลาส” 3 ลำ 3.6 หมื่นล้าน, ประชาชาติธุรกิจ) จึงน่าสังเกตว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนหรือไม่
นอกจากนี้ แผนการจัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที ยังพ่วงมาด้วยสัญญาผูกพันของการจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำอีก 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท โดยถูกบรรจุไว้ในงบประมาณปี 2563 ซึ่งแม้จะถูกชะลอการซื้อไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ แต่กองทัพเรือเองยังคงยืนยันในแผนการซื้อต่อไป ท่ามกลางกระแสซึ่งเป็นที่ถกเถียงเรื่องความเหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณและปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าประเทศ
กองทัพอากาศ
ปี 2564 กองทัพอากาศไทยเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกที่เซ็นสัญญาซื้อขายเครื่องบินจู่โจมขนาดเล็ก รุ่น Beechcraft AT-6 Wolverine จากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 8 ลำ (“กองทัพอากาศ” รับ ซื้อเครื่องบินโจมตีเบา 8 ลำ งบ 4.5 พันล้าน หลังสื่อนอกตีข่าว, กรุงเทพธุรกิจ) ในราคาประมาณ 4,675 ล้านบาท เพื่อใช้ทดแทนเครื่องบินรุ่น Aero Vodochody L-39 ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่า 25 ปี และปลดประจำการแล้ว เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจด้านการปราบปรามยาเสพติดและความมั่นคงแนวชายแดน ซึ่งจะมีการส่งมอบในปี 2567 ที่ฐานทัพอากาศ จังหวัดเชียงใหม่
ช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยถึงแผนจัดซื้อเครื่องบินรบใหม่ F-35 จาก บริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin Corporation) ประเทศสหรัฐอเมริกา (เปิดแผนซื้อเอฟ-35 เครื่องบินรบสหรัฐ! ‘ผบ.ทอ.’ ยันสมรรถนะดีเลิศ หวัง ปชช. เข้าใจ, เดลินิวส์) เพื่อนำมาทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่าที่ซ่อมบำรุงยากและล้าสมัย โดยราคาช่วงที่ออกตลาดครั้งแรกสูงถึงประมาณ 4,731 ล้านบาท แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลไกตลาดก็ทำให้ราคาของ F-35 ลดลงเหลือประมาณ 2,732 ล้านบาท ทำให้ ผบ.ทอ. เห็นถึงโอกาสที่ไทยจะได้ครอบครองเครื่องบินขับไล่ในราคาที่เอื้อมถึง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบงบประมาณของปี 2566 และการผูกพันงบประมาณที่เกิน 1,000 ล้านบาทของกองทัพอากาศและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ทดแทน F-16 ด้วยงบประมาณ 13,800 ล้านบาท (กองทัพอากาศ ยัน ครม.ไฟเขียว ทอ.เดินหน้าซื้อเครื่องบินขับไล่ ทดแทน F-16, มติชน) แม้จะยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าจะจัดซื้อ F-35 ด้วยหรือไม่ แต่ทาง พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษก ทอ. ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าทาง ผบ.ทอ. อยากได้ F-35 เพราะราคาที่ลดลงกว่าปกติมาก
กองทัพบก
ปี 2553 กองทัพบกแจงเหตุจำเป็นขออนุมัติจัดซื้ออุปกรณ์ควบคุมฝูงชน เพื่อใช้รับมือป้องกันเหตุรุนแรง (ทบ.แจงเหตุจัดซื้ออุปกรณ์คุมฝูงชน หวั่นซ้ำรอยเมษาเลือด, ผู้จัดการออนไลน์) สืบเนื่องจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 จำนวน 177 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาชุดป้องกันตนเอง ให้กับกองร้อยรักษาความสงบของกองทัพบก และเตรียมการรองรับเหตุการณ์ที่จะกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. กล่าวว่า อุปกรณ์ที่จัดหาเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์มาตรฐานตามหลักสากลที่ใช้ในการดูแลฝูงชนให้เกิดความปลอดภัย ขณะเดียวกันจะเป็นเครื่องมือป้องกันตนเองให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการออกไปปฏิบัติภารกิจนั้น กองทัพบกยังยึดถือจุดเดิมคือ เป็นการป้องกันไม่ให้มีการทำร้ายประชาชน และเป็นการรักษาสถานที่ราชการ รวมทั้งดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยปลอดภัย ไม่มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน
ต่อมาในปี 2554 กองทัพบกไทยเซ็นสัญญามูลค่า 7,200 ล้านบาท เพื่อซื้อรถถัง Oplot-T จำนวน 49 คัน พร้อมกับยานยนต์สนับสนุนจากรัฐบาลยูเครน ในสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก (รถถัง Oplot: 5 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับรถถังยูเครนที่ไทยสั่งซื้อ, BBC Thai)
รถถัง Oplot-T ที่กองทัพบกไทยสั่งซื้อ เป็นรถถังรุ่นส่งออกของรถถังยูเครน รุ่น Oplot-M โดยมีการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบ เช่น เครื่องมือวิทยุสื่อสาร และระบบปรับอากาศ แหล่งข่าวในกองทัพไทยบอกกับ บีบีซีไทย ว่า รถถังทั้งสองรุ่นจากยูเครนและจีน จัดเป็นรถถังเจเนอเรชั่น 4 ที่ต่างก็มีประสิทธิภาพสูง แม้ว่าจะยังไม่เคยถูกใช้งานในสนามรบจริง แต่มีการยืนยันว่า Oplot-M เป็นหนึ่งในรถถังรุ่นที่มีสมรรถภาพและความทนทานที่สุดในโลก
ต่อมาในปีงบประมาณ 2559 กองทัพบกมีแผนการจัดหารถถัง VT4 คือ จำนวน 28 คัน เป็นจำนวนเงิน 5,020 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 10 คัน และปีงบประมาณ 2561 จำนวน 10 คัน กองทัพบกมีแนวทางบรรจุรถถัง VT4 ไว้ให้เป็นยุทโธปกรณ์หลักของกองพลทหารม้าที่ 3 ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งประจำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพิจารณาจากสภาวะภัยคุกคาม สภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการใช้งาน และแผนการพัฒนาและเสริมสร้างหน่วยของกองทัพบก
นอกจากนี้ ในปี 2562 กองทัพบกเตรียมจัดหาเครื่องยิงลูกระเบิด M361 และ ATMM ขนาด 120 มม. ติดตั้งบนรถบรรทุก 4 ล้อ ซึ่งเป็นเครื่องยิงลูกระเบิดที่ทำการพัฒนาขึ้นในประเทศเอง (กองทัพบก เตรียมจัดหา M361 ATMM, thaiarmedforce.com)
เครื่องยิงลูกระเบิด M361 และ ATMM นี้เป็นผลงานการพัฒนาของศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม หรือ ศอว.ศอพท. โดยได้รับเทคโนโลยีเครื่องยิงลูกระเบิด Spear จาก บริษัท เอลบิท ซิสเต็มส์ (Elbit Systems) ประเทศอิสราเอล และติดตั้งบนรถบรรทุก TATA Motor ประเทศอินเดีย พร้อมระบบควบคุมและอำนวยการยิงอัตโนมัติ ระบบควบคุมและบังคับบัญชา ระบบค้นหาเป้าหมายสำหรับหมู่ตรวจการณ์หน้า และกล้องตรวจจับความร้อนด้วยแสงเลเซอร์
โดยกองทัพบกได้จัดหาเข้าประจำการแล้วคือ ระยะที่หนึ่ง ในปี 2562 จัดหาจำนวน 10 คัน เข้าประจำการที่ศูนย์การทหารราบ 1 ระบบ และกองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิดหนักในกรมทหารราบตามที่กำหนดอีก 9 ระบบ ส่วนระยะที่ 2 เป็นการจัดหาจำนวน 12 ระบบ และระยะที่ 3 ในปีงบประมาณ 2564 จัดหาอีก 12 ระบบ ทำให้รวมแล้วจะมีการจัดหาเข้าประจำการถึง 22 ระบบ
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่รัฐบาลจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดอีก 2 รุ่น คือ GT200 และ ALPHA6 ในปี 2548-2553 ซึ่งสุดท้ายก็ต้องสูญเปล่า และปัจจุบันยังไม่มีผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด
สงครามและโลกสมัยใหม่
หากไม่นับการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่โมฆะในเวลาต่อมา) การเคลื่อนพลใหญ่ครั้งล่าสุดในโลกการเมืองสมัยใหม่ของกองทัพไทยคือ การปะทะกับประเทศเวียดนามในปี 2523 และการปะทะกับประเทศลาวในปี 2530
ในกรณีพิพาทกับเวียดนามนั้นมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากผลพวงของการเมืองระหว่างประเทศในสมัยสงครามเย็น ทำให้เวียดนามในฐานะประเทศคอมมิวนิสต์มีปัญหาขัดแย้งกับประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกา ในการเข้าไปทำสงครามภายในเวียดนาม ความขัดแย้งในปี 2523 เริ่มต้นขึ้นเมื่อประเทศไทยเกิดการรัฐประหารในปี 2519 ทำให้ท่าทีที่พยายามสมานฉันท์กับเวียดนามต้องพังลงไป และนำมาสู่สงครามที่เรียกในอีกชื่อว่า ‘สงครามอินโดไชนา ครั้งที่ 2’ (Vietnam: A Country Study, 1989)
ในสงครามครั้งนั้นอาวุธและยุทโธปกรณ์ของไทยที่ถูกใช้งาน ได้แก่ เครื่องบินรบ A-37B Dragonfly รถยานเกราะ V-100 ซึ่งผลิตโดยสหรัฐ และยุทโธปกรณ์อีกเป็นจำนวนมากที่หลงเหลือมาจากสมัยอเมริกันเข้ามาฐานทัพ
สงครามครั้งต่อมาระหว่างไทยและลาว นับได้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการใช้กำลังทหารอย่างจริงจังในปี 2530 หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ ‘ยุทธการบ้านร่มเกล้า’ เนื่องจากปัญหากรณีพิพาทระหว่างดินแดนไทย-ลาว ที่มีปัญหากันมาตั้งแต่สมัยเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในพื้นที่เมื่อศตวรรษที่ 20 ในสมรภูมิครั้งนี้ไทยก็ยังคงใช้ยุทโธปกรณ์หลายอย่างจากสหรัฐ
หลังจากนั้นอีกหลายสิบปีจึงจะมีภารกิจทางการทหารอีกครั้งเป็นระยะเวลาสั้นๆ คือกรณีพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชา กรณีแย่งชิงพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารช่วงปี 2552 กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา กองทัพไทยได้มีโอกาสได้ใช้งานอาวุธ กำลังพล และงบประมาณจำนวนมหาศาลเพียง 3 ครั้งเท่านั้น และการรบทั้ง 3 ครั้งนั้นก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในแง่การเมืองหรือการทหารก็ตาม
จาก 2549 ถึง 2564: งบประมาณการทหารซึมบ่อทราย
งบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้จากรัฐบาลในแต่ละปีนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2549 ก่อนการรัฐประหารรัฐบาลชุด ทักษิณ ชินวัตร กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณเพียง 85,000 ล้านบาท (10 ปีงบฯ กลาโหม จาก 2549-2559 เพิ่มกว่า 100 เปอร์เซ็นต์, Thai PBS) แต่หลังการรัฐประหาร งบประมาณของกระทรวงกลาโหมในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 115,024 ล้านบาท และปี 2551 เพิ่มเป็น 143,519 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2559 กลาโหมได้งบประมาณไปถึง 207,718 ล้านบาท (แนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศไปสู่การพึ่งพาตนเอง, 2560)
งบประมาณปี 2564 พบว่า กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 จากกระทรวงทั้งหมด คิดเป็น 223,463.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.8 เปอร์เซ็นต์ของงบทั้งหมด (งบ 2564: รัฐบาลตั้งงบ 3.3 ล้านล้านบาท หั่นงบกลาโหม 3.71% เพิ่มงบส่วนราชการในพระองค์ 16.88%, BBC Thai) ซึ่งหมายความว่าภายในระยะเวลา 15 ปี จาก 2549 ที่เกิดการรัฐประหารและการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของกองทัพไทย งบประมาณสำหรับกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 138,463.7 ล้านบาท และการคำนวณงบประมาณรายจ่ายด้านการทหารทั่วโลกของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม (SIPRI) ประเทศไทยถูกระบุว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารสูงเป็นอันดับที่ 30 ของโลกในปี 2563 และใช้เวลาเพียง 1 ปี ในการกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับที่ 27 ในปี 2564 โดยคิดเป็น 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP ทั้งหมด (TRENDS IN WORLD MILITARY EXPENDITURE, 2020)
ไม่เพียงแต่ในระดับโลก ประเทศไทยยังติดอันดับ 3 ของการใช้จ่ายด้านงบประมาณทางการทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2564 อีกด้วย โดยตามหลังเพียงสิงคโปร์ (10,900 ล้านเหรียญสหรัฐ) และอินโดนีเซีย (9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ) เท่านั้น จนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารของภูมิภาคในปีเดียวกันเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.2 จากปีก่อนหน้า และเป็นภูมิภาคอันดับ 4 ของโลกที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณดังกล่าวมากที่สุด ตามหลังภูมิภาคแอฟริกาเหนือ (ร้อยละ 6.4) ยุโรปกลาง (ร้อยละ 6) และโอเชียเนีย (ร้อยละ 5.6) เพียงเท่านั้น
การเพิ่มขึ้นของงบประมาณและรายจ่ายด้านการทหารของกองทัพไทยถูกตั้งข้อสังเกตอย่างมากในเรื่องของความคุ้มค่าและค่าส่วนต่างจำนวนมหาศาล ดังในกระทู้ถามช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่สนับสนุนกองทัพ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ที่พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อเครื่องบิน G500 ของกองทัพบกไปสู่เครื่องบินลำเลียง C-295W ที่เคยซื้อแล้วในราคาที่ถูกกว่า แต่กลับซื้อในราคาเดียวกับ G500 ที่ 1,350 ล้านบาท และทำให้ส่วนต่างกว่า 100 ล้านบาทหายไป หรืออีกกรณีที่เปลี่ยนการ ‘ซื้อ’ เป็น ‘ซ่อม’ ของรถบรรทุกทางการทหาร ทำให้รถบรรทุกสภาพเก่าตั้งแต่สมัยสงครามเย็นจำนวน 259 คัน ต้องได้รับการซ่อมบำรุงถึง 518 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะไม่คุ้มค่าด้านการใช้จ่ายงบประมาณแล้ว ยังพบว่าถูกตั้งราคาซ่อมเครื่องยนต์เอาไว้ที่ 700,000 บาท จากราคากลางจริงๆ ที่ 300,000 บาทเพียงเท่านั้น
สุดท้ายรายจ่ายด้านการทหารที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีจึงอาจจะเป็นเพียงการหาทางใช้งบประมาณโดยไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าอยากให้เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากขาดความคุ้มค่าด้านการใช้จ่าย ขาดวิสัยทัศน์ด้านการใช้งานหรือการพึ่งพาศักยภาพการป้องกันประเทศของตนเองในอนาคต กลับกันนั้นยังแสดงให้เห็นแล้วว่า แม้กองทัพไทยจะไม่ค่อยได้จับอาวุธหรือยุทโธปกรณ์เหล่านี้ออกไปใช้งานมากนักในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงคราวต้องใช้งานก็ไม่สามารถทำให้เกิดความสำเร็จทางการทหารใดๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ได้ รวมไปถึงยังถูกครหาด้านความโปร่งใสของการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวตั้งแต่บนถนนจนถึงในรัฐสภาอีกด้วย
หากมองตลาดยุทธภัณฑ์โลกเป็นเหมือนตลาดค้าขายขนาดใหญ่ กองทัพไทยก็คงเปรียบเสมือนลูกค้าที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการจับจ่ายใช้สอย ถนัดเพียงแต่การ ‘ช็อป’ ด้วยเงินของผู้อื่น แต่ขาดความสามารถด้านการ ‘ใช้’ ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหากอนาคตแต่ละประเทศเปลี่ยนสนามรบจากการแข่งขันประหัตประหารกันไปสู่การแข่งจับจ่ายใช้สอย ถึงวันนั้นกองทัพไทยอาจจะพาประเทศไทยขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจด้านการใช้เงินได้สักวันหนึ่งก็เป็นได้
ที่มา
- ย้อนไทม์ไลน์ 5 ปี ซื้อเรือดำน้ำ “หยวนคลาส” 3 ลำ 3.6 หมื่นล้าน. (2563). ประชาชาติธุรกิจ, https://www.prachachat.net/politics/news-510549
- “กองทัพอากาศ” รับ ซื้อเครื่องบินโจมตีเบา 8 ลำ งบ 4.5 พันล้าน หลังสื่อนอกตีข่าว. (2564). กรุงเทพธุรกิจ, https://www.bangkokbiznews.com/politics/972487
- เปิดแผนซื้อเอฟ-35 เครื่องบินรบสหรัฐ! ‘ผบ.ทอ.’ ยันสมรรถนะดีเลิศ หวัง ปชช. เข้าใจ. (2564). เดลินิวส์, https://www.dailynews.co.th/news/622738/
- กองทัพอากาศ ยัน ครม.ไฟเขียว ทอ.เดินหน้าซื้อเครื่องบินขับไล่ ทดแทน F-16. (2565). มติชน, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3128419
- ทบ. แจงเหตุจัดซื้ออุปกรณ์คุมฝูงชน หวั่นซ้ำรอยเมษาเลือด. ผู้จัดการออนไลน์, https://mgronline.com/politics/detail/9530000001015
- รถถัง Oplot: 5 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับรถถังยูเครนที่ไทยสั่งซื้อ. BBC Thai, https://www.bbc.com/thai/thailand-43552888
- #กองทัพบก เตรียมจัดหา M361 ATMM, https://thaiarmedforce.com/2020/12/20/rtaf-buy-more-m361-atmm/
- Cima, R. J. & Library Of Congress. Federal Research Division. (1989). Vietnam: A Country Study. Washington, D.C.: Federal Research Division, Library of Congress: For sale by the Supt. of Docs., U.S. G.P.O. [Pdf] Retrieved from the Library of Congress, https://www.loc.gov/item/88600482/
- 10 ปีงบฯ กลาโหม จาก 2549-2559 เพิ่มกว่า 100 เปอร์เซ็นต์. (2559). Thai PBS, https://news.thaipbs.or.th/content/252635
- พลตรีสราวุธ รัชตะนาวิน. (2560). แนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศไปสู่การพึ่งพาตนเอง. งานวิจัย วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 59, http://www.dsdw2016.dsdw.go.th/doc_pr/ndc_2559-2560/PDF/wpa_8254/ALL.pdf
- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2564). งบ 2564: รัฐบาลตั้งงบ 3.3 ล้านล้านบาท หั่นงบกลาโหม 3.71% เพิ่มงบส่วนราชการในพระองค์ 16.88%. BBC Thai, https://www.bbc.com/thai/thailand-53108546
- Diego Lopes da Silva, Nan Tian and Alexandra Marksteiner. (2021). TRENDS IN WORLD MILITARY EXPENDITURE, 2020. SIPRI Fact Sheet. SIPRI, https://sipri.org/sites/default/files/2021-04/fs_2104_milex_0.pdf