เป็นเวลา 3 ปีแล้วนับจากการอพยพลี้ภัยครั้งล่าสุดของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่หนีภัยการสู้รบในประเทศเมียนมาร์เพื่อแสวงหาที่พักพิงที่ปลอดภัยในประเทศบังคลาเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2017 ความท้าทายในด้านต่างๆ ยังคงอยู่ และเกิดขึ้นใหม่ อย่างต่อเนื่อง
กลุ่มชาวโรฮิงญาคาดการณ์ว่ามีประชากรโรฮิงญามากถึง 3 ใน 4 อาศัยอยู่นอกประเทศเมียนมาร์ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาขึ้นทะเบียนอยู่กับ UNHCR และรัฐบาลบังคลาเทศมากกว่า 860,000 คน ในพื้นที่พักพิงผู้ลี้ภัยเมือง ค็อกซ์ บาซาร์ (Cox’s Bazar) บังคลาเทศ
ฝันร้ายของบังคลาเทศ
แม้บังคลาเทศมีค่ายผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติอยู่แล้วที่เมืองค็อกซ์ บาซาร์ ติดกับชายแดนเมียนมาร์ แต่นับจากเกิดเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017 ยอดผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ทะลักข้ามพรมแดนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ค่ายอพยพของสหประชาชาติเอาไม่อยู่
“ทนไม่ไหวแล้ว กับการต้องเลี้ยงดูผู้อพยพโรฮิงญา เพื่อแลกกับคำหรู ‘เพื่อมนุษยธรรม’ ตามที่ชาติมหาอำนาจยกมาอ้าง”
เชคห์ ฮาซีนา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งบังคลาเทศเคยระบายความอัดอั้นตันใจแบบสุดจะทน ขณะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly – UNGA) ครั้งที่ 74 ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2019
ที่ผ่านมา บังคลาเทศเป็นประเทศเดียวบนเวทีโลกที่ออกหน้ารับมือกับการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดปกติของโรฮิงญามาเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว มิใช่แค่ช่วงวิกฤติผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในปี 2017-2018 เท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อบังคลาเทศมากเช่นกัน เพราะต้องโยกทรัพยากรในภาคตะวันออกมาใช้ในการดูแลสนับสนุนค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ในปริมาณมหาศาล แม้ว่าจะมีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศและยูเอ็นเข้ามาบ้างก็ตาม แต่จำนวนชาวโรฮิงญามีเป็นเรือนแสน ยอดพุ่งขึ้นตลอดเวลา ไหนจะประชากรของบังคลาเทศเองอีก ซึ่งก็มีเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอยู่แล้ว
มิหนำซ้ำ ในมุมของบังคลาเทศเองยังวิตกว่า โรฮิงญาไม่ได้มาตัวเปล่า แต่มาพร้อมกับการสร้างปัญหาด้านความมั่นคงให้แก่บังคลาเทศ ทั้งการฆาตกรรม ฉกชิงวิ่งราว สังหารนักการเมืองท้องถิ่น ขบวนการลักลอบค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี ขนอาวุธเถื่อน และพร้อมยิงสู้กับตำรวจ
สำนักข่าวของบังคลาเทศรายงานว่าคดีอาญาเพิ่มขึ้นในค่ายลี้ภัยค็อกซ์ บาซาร์ ซึ่งเป็นค่ายลี้ภัยโรฮิงญาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตัวเลขสถิติฟ้องว่า ในปี 2017 มีคดีอาญาอย่างน้อย 76 คดี ปี 2018 อยู่ที่ 208 คดี ปี 2019 มี 263 คดี และในปี 2020 ช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมมี 178 คดี มีรายงานว่าเมื่อปี 2019 ได้วิสามัญฆาตกรรมชาวโรฮิงญาไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ราย เพราะโรฮิงญาหลายคนมีอาวุธและพร้อมยิงสู้กับตำรวจ
“ถึงตายก็ไม่มีวันกลับไป”
เหตุการณ์ที่ทำบังคลาเทศเริ่มหมดความอดทนกับสถานการณ์ดังกล่าว คือ เมื่อเดือนสิงหาคม 2019 ซึ่งเป็นเวลาที่บังคลาเทศจะต้องเริ่มส่งตัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับเมียนมาร์ ตามที่ทั้งสองประเทศได้ทำสัญญาใน MOU กันไว้เมื่อปี 2017 แต่การส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับล้มเหลว เพราะไม่มีใครยอมลงทะเบียนกลับเมียนมาร์เลยสักคน ทั้งๆ ที่เตรียมแผนไว้ว่าจะส่งกลับไปสักประมาณ 1,000-2,000 คน มีการเตรียมรถบัส รถบรรทุกไว้ขนชาวโรฮิงญาเรียบร้อย
แต่สุดท้ายทุกอย่างพัง ล้มเหลวไม่เป็นท่า ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก แต่ล้มเหลวเป็นหนที่สองแล้ว ชาวโรฮิงญาทั้งในโซเชียลมีเดีย ในค่ายผู้อพยพและชาวโรฮิงญาในต่างประเทศต่างไม่เห็นด้วยที่จะเดินทางกลับประเทศเมียนมาร์เพราะรัฐบาลเมียนมาร์ยังไม่ยอมรับเงื่อนไขในเรื่องหลักๆ เช่น สิทธิพลเมือง ความปลอดภัยในชีวิต เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาในค่ายค็อกซ์ บาซาร์ รวมตัวกันถือป้ายประท้วงการเดินทางกลับเมียนมาร์
หลังจากปฏิเสธการถูกส่งตัวกลับไปเมียนมาร์หลายต่อหลายครั้ง ทำให้เกิดกระแส “ถึงตายก็ไม่มีวันกลับไป” ในหมู่ชาวโรฮิงญา จากคำสัมภาษณ์ของชาวโรฮิงญาตามสื่อต่างๆ หลายคนรู้สึกว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากเขาออกมาจากรัฐยะไข่ แม้ว่าในค่ายลี้ภัย พวกเขาจะรู้สึกปลอดภัย แต่หลายคนยังคิดถึงบ้าน ไร่ สวน ชีวิตในรัฐยะไข่ หลายคนยังคงหวังว่าจะได้กลับบ้านและได้ทุกอย่างกลับคืนมา แต่ก็ไม่อาจทำใจกลับไปเผชิญกับความหวาดกลัว ตามคำบอกเล่าของพวกเขา ที่ทำให้ต้องดั้นด้นเดินเท้าตัดข้ามทุ่งนา แนวป่า ลุยแม่น้ำ หนีออกมา
บังคลาเทศจะไม่ทน
หลังจากค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์ บาซาร์เริ่มรองรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาไม่ไหว รัฐบาลบังคลาเทศได้มองหาพื้นที่ใหม่ ใกล้กับค่ายผู้ลี้ภัยเดิมจำนวน 2,000 เอเคอร์ หรือ 5,000 ไร่ เพื่อรองรับชาวโรฮิงญา 250,000 หลังคาเรือน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะใช้รองรับชาวโรฮิงญาที่ทะลักเข้ามาเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องหาสถานที่แห่งใหม่อีก
เชคห์ ฮาซีนา เคยพูดประชดแกมขู่ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ว่าหากรัฐบาลเมียนมาร์และนานาชาติยังเมินเฉย มอบความเงียบ และหันหลังให้บังคลาเทศอยู่ ปล่อยให้บังคลาเทศรับมือกับปัญหาโรฮิงญาอยู่ฝ่ายเดียวและไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาใดๆ ปล่อยปละให้เรื่องชะลอ คาราคาซังแบบนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ บังคลาเทศจะส่งโรฮิงญาไปอยู่บนเกาะบาซัน ชาร์ (Bhasan Char) ที่มีความหมายว่า floating island ชาวบังคลาเทศเรียกกันว่า เกาะชาร์ พิยาร์ (Char Phiyar) หรือชื่อเก่าว่า เธนการ์ ชาร์ (Thengar Char) ซึ่งเป็นเกาะปิดตายกลางทะเล ไม่เคยมีคนอยู่อาศัยมาก่อน
รัฐบาลบังคลาเทศเคยเสนอแผนจัดส่งชาวโรฮิงญาไปยังเกาะบาซัน ชาร์ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2015 หลังจากค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ เริ่มรองรับผู้คนไม่ไหว แต่แผนดังกล่าวถูกล้มเลิกเมื่อปี 2016 หลังผู้นำประชาคมชาวโรฮิงญาและองค์กรเพื่อมนุษยธรรมจากนานาชาติออกมาคัดค้านแผนการของบังคลาเทศที่จะส่งผู้อพยพไปยังเกาะใหม่กลางทะเล โดยให้เหตุผลว่าที่นั่นเป็นเกาะดินตะกอน เพิ่งโผล่พ้นทะเลขึ้นมาเมื่อปี 2006 ถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง และมนุษย์ยังไม่อาจตั้งถิ่นฐานอยู่ได้ แม้ว่ามีเสียงคัดค้านหนาหูจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่าเกาะนี้ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยเนื่องจากเป็นเกาะใหม่ เสี่ยงต่อน้ำท่วมทุกปี แต่บังคลาเทศก็อ้างว่าได้ยื่นข้อเสนอต่อเวทีโลกไปแล้ว 3 ครั้งถึงทางออกจากวิกฤติโรฮิงญา แต่ไม่มีใครสนใจข้อเรียกร้องของบังคลาเทศเลย
เชคห์ ฮาซีนา ต้องดิ้นรนเดินทางไปพบผู้นำประเทศมหาอำนาจระดับภูมิภาคต่างๆ ทั้งรัสเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และรวมถึงเหล่านักการทูตในสหประชาชาติ เพื่อขอร้องให้พวกเขาเหล่านั้นออกตัวก้าวเข้ามาให้การช่วยเหลือบังคลาเทศ ในการดูแลจัดการปัญหาโรฮิงญาบ้าง เช่น ช่วยกันกดดันและเรียกร้องให้เมียนมาร์รับชาวโรฮิงญากลับประเทศเสียบ้าง เนื่องจากทางบังคลาเทศเข้าสู่ระยะที่ไม่สามารถแบกรับภาระอันหนึกอึ้งไว้คนเดียวได้ไหวอีกต่อไป ด้วยงบประมาณมหาศาล และเงินจำนวนมากที่จำเป็นต้องใช้ในการโอบอุ้มชาวโรฮิงญาภายในค่ายค็อกซ์ บาซาร์ บังคลาเทศจึงต้องเดินหน้าทุ่มงบประมาณสร้างที่พักบนเกาะบาซัน ชาร์
“นี่ไม่ใช่เกาะ มันเป็นเมือง”
ตั้งแต่มีแผนโครงการที่อยู่อาศัยบนเกาะบาซัน ชาร์ กองทัพเรือบังคลาเทศเริ่มเข้ามาพัฒนาเกาะแห่งนี้ โดยพุ่งเป้าเป็นฐานทำภารกิจรักษาความปลอดภัยให้พ้นจากกลุ่มโจรสลัด
อาคารหลายชั้นสีขาว หลังคาสีแดง ผุดเรียงรายบนเกาะบาซัน ชาร์ ดูเหมือนเมืองสมัยใหม่ ซึ่งเป็นไปตามแผนโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในบาซัน ชาร์ โครงการนี้สามารถจะรองรับประชากรได้ถึงหนึ่งแสนคน บ้านถูกสร้างขึ้นเหนือพื้นดิน 4 ฟุตด้วยคอนกรีตบล็อก อาคารบ้านเรือนทั้งหมดมีแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมโอบล้อม ยาว 13 กม. ในแต่ละอาคารแบ่งซอยเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับ 16 ครอบครัว ซึ่งมีพื้นที่กว้างกว่าที่ยูเอ็นกำหนดไว้ คือ 37 ตารางฟุตต่อคน เมื่อเทียบกับสภาพที่คับแคบในค่ายลี้ภัยที่มีครอบครัว 6 ถึง 8 ครอบครัวอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แทบจะไม่ถึง 400 ตารางฟุต โครงการที่อยู่อาศัยบนเกาะบาซัน ชาร์ จึงดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก
ภายในโครงการยังมีสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กๆ ชาวโรฮิงญา มีสถานที่สำหรับละหมาด ฝังศพ นอกจากนี้ยังมีที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล เจ้าหน้าที่สหประชาชาติและองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ด้วย และที่สำคัญคือมีที่กำบังหลบภัยจากพายุไซโคลนที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะนี้พบว่าบนเกาะมีการสร้างถนนยาว 43 กม. มีไฟตามถนน ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ละกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยมีบ่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้เป็นแหล่งน้ำสำรอง
มีสถานีอนามัยชุมชน 4 แห่ง โรงพยาบาลขนาด 20 เตียง 2 แห่ง โรงเรียนอีก 2 แห่ง มัสยิด 3 แห่ง ตลาดและโกดังเก็บสะสมคลังอาหาร 4 แห่ง ไปจนถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 2 แห่งบนเกาะ ตลอดจนมีระบบกล้องวงจรปิด
บนเกาะบาซัน ชาร์ ยังมีบึงน้ำใหญ่ 2 แห่ง ที่ผ่านมาได้มีการปลูกต้นไม้จำนวนมากบนพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อเป็นแนวป้องกันทางธรรมชาติจากภัยพิบัติ รวมถึงพืชพรรณอย่าง มะพร้าว มะนาว และ Kewra เกาะบาซัน ชาร์ มีพื้นที่ประมาณ 13,000 เอเคอร์ มีส่วนพื้นที่ใช้สอยอยู่ที่ประมาณ 6,427 เอเคอร์ โดยเป็นพื้นที่โครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมด 1,702 เอเคอร์ เกาะแห่งนี้อยู่ห่างจาก Sandwip ออกไป 4.5 ไมล์ทะเล ใช้เวลาเดินทางโดยเรือเพียง 1 ชั่วโมง ห่างจากเกาะฮาตียา (Hatiya) ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในบังคลาเทศออกไป 13.2 ไมล์ทะเล ห่างจากโนคาลี (Noakhali) 21 ไมล์ทะเล และห่างจากพาเตนกา (Patenga) 28 ไมล์ทะเล
“นี่ไม่ใช่เกาะ มันเป็นเมือง ถ้าชาวโรฮิงญามาที่นี่ก็จะเป็นเมืองใหญ่ เรากำลังรอพวกเขา เพราะมันจะช่วยส่งเสริมการค้าขายของเรา” ริอาซ อัดดิน (Md Riaz Uddin) เจ้าของร้านขายของชำในบาซัน ชาร์ กล่าว ซึ่งตัวเขาเองพร้อมกับผู้ค้ารายย่อยอีกกว่าร้อยรายเดินทางมาที่เกาะแห่งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน
“ผมไม่อยากไปเกาะนั้น”
“ผมต้องหนีออกมาจากหมู่บ้านในยะไข่ หนีจากการสังหารโดยน้ำมือของชาวเมียนมาร์ ผมไม่อยากไปเกาะนั้น” อายูบูร์ เราะห์มัน (Ayubur Rahman) ผู้อพยพชาวโรฮิงญาวัย 26 ปี กล่าว
บาซัน ชาร์ เป็นเกาะที่อยู่ค่อนข้างไปทางริมนอกสุด ถือเป็นประตูทางออกสู่ทะเลสำหรับแม่น้ำเมกห์นา (Meghna) คู่กับเกาะฮาตียา ซึ่งเพิ่งผุดขึ้นมาจากน้ำทะเลได้เพียงไม่เกิน 20 กว่าปีก่อนหน้านี้เท่านั้น เกาะบาซัน ชาร์ ที่รัฐบาลบังคลาเทศจะส่งโรฮิงญามาอยู่นี้ แม้ในทางทฤษฎีแล้วรัฐบาลบังคลาเทศจะยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้เข้าอยู่อาศัยได้ทันที แต่ในทางปฏิบัติแล้วแทบไม่มีขีดความสามารถและความปลอดภัยเพียงพอที่จะรับแรงมรสุมและพายุไซโคลนที่มักเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งในแถบภูมิภาคนี้โดยไม่เกิดความเสียหายได้
ขนาดชาวประมง และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณเกาะใกล้ๆ อย่างเกาะฮาตียา เล่าว่า เกาะที่รัฐบาลกำลังจะส่งโรฮิงญามาอยู่นั้นเป็นเกาะที่ไม่สามารถให้คนมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยได้จริง เพราะในทุกๆ ปี เกาะนั้นจะถูกถล่มด้วยพายุมรสุมและไซโคลนอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงฤดูมรสุม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงตุลาคม เวลามีพายุพัดเข้ามาบริเวณปากอ่าวเบงกอล แน่นอนว่า เกาะที่เรียงรายอยู่ตามแนวนอกสุดของชายฝั่งอย่างเกาะบาซัน ชาร์ ที่จะเอาชาวโรฮิงญาไปอยู่นั้น จะเป็นด่านแรกๆ ที่ต้องรับแรงพายุไปแบบเต็มๆ เพราะตั้งขวางทางพายุที่พัดเข้าบังคลาเทศพอดี ถ้าดูตามเส้นทางของพายุส่วนใหญ่ที่พัดเข้าบังคลาเทศ จะพบว่า พัดมาจากบริเวณทางใต้ของอินเดีย แถบศรีลังกา แล้วเคลื่อนขึ้นมาสู่แถบทะเลทางตะวันออกของอินเดีย และพัดตรงเข้าสู่ปากอ่าวของบังคลาเทศ ตรงตำแหน่งของเกาะบาซัน ชาร์ พอดี
ในช่วงฤดูฝน ชาวประมงแถบนั้น แทบไม่มีใครกล้าล่องเรือ หรือย่างกรายเข้าไปใกล้เกาะนั้น เพราะในช่วงประมาณ 50 ปีก่อน เคยมีไซโคลนขนาดใหญ่พัดเข้าใส่อ่าวเบงกอลในโซนนั้นและบริเวณปากแม่น้ำเมกห์นา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น เสียชีวิตเป็นแสนๆ ราย
ผู้นำชุมชนโรฮิงญาได้ออกมาต่อต้านการย้ายถิ่น หลายคนที่เหน็ดเหนื่อยจากการเอาชีวิตรอด ก็ยังไม่พร้อมที่จะเดินทางต่อไปยังเกาะดังกล่าว เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่สหประชาชาติก็ออกมาเตือนว่าการบังคับย้ายถิ่นฐานจะทวีความซับซ้อนมากขึ้น
ประภาคารแห่งความหวัง
18 ตุลาคม 2020 ดร.อัค อับดุล โมเมน (Dr.AK Abdul Momen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบังคลาเทศ ยอมรับว่า มีการกดดันรัฐบาลบังคลาเทศ โดยองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ รวมถึง UNHCR เพื่อต่อต้านการย้ายถิ่นฐาน แม้ว่าชาวโรฮิงญาบางส่วนจะเต็มใจไปที่นั่น เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก และเชื่อว่าการไปอยู่ที่นั่นจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีกว่าในค่ายลี้ภัย ตัวแทนผู้นำชาวโรฮิงญาที่ได้ไปเยี่ยมชมโครงการที่อยู่ศัยบนเกาะบาซัน ชาร์ ก็พอใจกับโครงการฯ ที่ดูแล้วมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในค่ายลี้ภัยมาก ในขณะที่สหประชาชาติและหน่วยงานให้ความช่วยเหลือต่างก็เห็นว่าเกาะนี้โดดเดี่ยว ปิดตาย มีน้ำท่วมสูง และยังต้องเผชิญกับอันตรายจากพายุไซโคลนและกระแสน้ำพัด หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติย้ำว่าการย้ายถิ่นฐานของชาวโรฮิงญาต้องเป็นไปโดยสมัครใจ
ภาวะตึงเครียดในค่ายลี้ภัย โดยเฉพาะในค่ายค็อกซ์ บาซาร์ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในที่สุดแล้ว มีชาวโรฮิงญาตอบรับข้อเสนอของรัฐบาลบังคลาเทศในการส่งตัวไปอยู่ที่พักแห่งใหม่บนเกาะบาซัน ชาร์
ชาวโรฮิงญาหลายพันคนตัดสินใจจะขออพยพไปอยู่บนเกาะ เพราะที่ค่ายลี้ภัย ทางตะวันออกของบังคลาเทศและชายแดนเมียนมาร์นั้นเริ่มแออัด ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนอาหารและแหล่งพักพิงมากขึ้น และด้วยจากจำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นรายวัน จนทำให้ชาวโรฮิงญาเริ่มอยากจะลองเสี่ยงไปตายเอาดาบหน้าดู เพราะอย่างที่ทราบกันว่า มีไม่กี่ทางเลือกเท่านั้น หรือแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ
กอปรกับการที่รัฐบาลบังคลาเทศได้นำรูปถ่ายและวิดีโอโฆษณาการใช้ชีวิตบนเกาะใหม่มาโน้มน้าวชาวโรฮิงญา จนทำให้เริ่มมีคนตอบรับเพื่ออพยพย้ายถิ่นมากขึ้น ในปัจจุบันภาคท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ใกล้ๆ เขตค่ายผู้ลี้ภัยต่างต้องเจอปัญหาการแก่งแย่งทรัพยากร การแย่งงานกันทำ รวมไปถึงปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด และการไล่ยิงกันจนคนในพื้นที่เริ่มหวาดกลัว ในแง่นี้ สำหรับบังคลาเทศแล้ว การอพยพออกไปแม้เพียง 1 แสนคนก็จะช่วยลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้
ประภาคาร หอคอยสูง 90 เมตร ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างโดดเด่นบนเกาะบาซัน ชาร์ หรือเรียกว่า Beacon of Hope อาจจะกำลังเป็นสิ่งที่บ่งบอก ยืนยัน ถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลบังคลาเทศ ต่อการตั้งถิ่นฐานบนเกาะนี้ได้มากที่สุด แม้จะมีความหวาดกลัวจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
เพราะประภาคารเป็นผู้ดูแล ที่ต้องอยู่ข้างๆ ทะเลที่บ้าคลั่ง
โครงการที่อยู่อาศัยบนเกาะบาซัน ชาร์กำลังจะกลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของผู้อพยพชาวโรฮิงญา ในแง่หนึ่งก็ดูเหมือนกับเป็นการผลักไสให้ไปอยู่บนเกาะ เสมือนคุกกลางทะเล รอเผชิญกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากพายุ และเสี่ยงที่พื้นที่เกาะจะจมน้ำได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ความท้าทายของชาวโรฮิงญาฝ่ายเดียว แต่มันเป็นความท้าทายใหม่ของทางออกวิกฤติโรฮิงญาในประชาคมโลก ที่แต่เดิมมีเพียงแค่ประเด็นการพยายามผลักดัน ส่งกลับบ้านในรัฐยะไข่