การเมือง เสือไทย และจุดกำเนิดหนังบู๊ภูธร

ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน หนังไทยที่ผู้เขียนเติบโตมาด้วยนั้นมีอยู่ไม่กี่แนว แบ่งได้ชัดๆ คือ บู๊ ตลก รัก และผี ยิ่งสำหรับคนต่างจังหวัด นิยมดูหนังกลางแปลงมากกว่าเข้าโรง ด้วยความที่กลางแปลงมาให้ดูถึงบ้าน แถมทางภาคอีสานที่ผู้เขียนเติบโตมานั้น มีประเพณีการฉายหนัง ‘ยันสว่าง’ คือเริ่มฉายกันตั้งแต่ 6 โมงเย็นเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ไปสิ้นสุดเอาอีกทีก่อน 6 โมงเช้า หรือเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ระยะเวลามาราธอน 12 ชั่วโมง ฉายหนังกันห้าเรื่องต่อเนื่องสบายๆ

โปรแกรมหนังก็วนเวียนอยู่เพียงสามแนว ตัดแนวรักออกไปเพราะคนดูจะหลับเอา ยิ่งดึกยิ่งต้องบู๊ให้สะใจคนถึงตื่น ฉะนั้นฉายหนังกลางแปลงที่ใด หนังบู๊ต้องยืนพื้น

โดยเฉพาะหนังบู๊ไทยที่เรียกแฟนหนังต่างจังหวัดได้มากกว่าหนังต่างประเทศ

เสน่ห์คลาสสิกของหนังบู๊ไทยยุคนั้นอยู่ที่เรื่องราววนเวียนใกล้ตัวผู้ชมต่างจังหวัด พระเอกเป็นคนในท้องถิ่น หวนกลับมาบ้านเกิดหลังหายตัวไป 5-10 ปี กลับมาเพื่อทลายวงนักเลง ล้างแค้นให้พ่อ-แม่-คนรัก ฉากบู๊ก็ประเคนกันด้วยหมัด-เท้า ไปจนถึงปืน บรรดาตัวร้ายมักเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เจ้าพ่อสองแถว เจ้าของโรงไม้ ไปจนถึงนักการเมือง ถ้าย้อนกลับไปไกลอีกกว่านั้นราวๆ ยุคคุณพ่อคุณแม่ยังสาว ราวๆ พ.ศ. 2510-2520 ผู้ร้ายประจำยุคก็จะเพิ่มขบวนการคอมมิวนิสต์เข้ามาด้วย

ถ้าหนังพอมีตังค์หน่อยก็จะมีฉากระเบิดให้ได้ดูกัน จึงเป็นที่มาของคำพูดติดปากเรียกหนังแนวนี้ว่า ‘ระเบิดภูเขา เผากระท่อม’ เพราะหนังบู๊ไทยยุคนั้นส่วนใหญ่ มีงบพอทำฉากระเบิดภูเขา (ซึ่งมักเป็นภูเขาในแถบจังหวัดที่มีสัมปทานทำถ่านหิน เช่น สระบุรี หรือนครราชสีมา) และฉากเผากระท่อม ที่มุงด้วยจากหรือฟางง่ายๆ เผาเสียให้วอดวาย

ยุคนั้นหนังบู๊ไทยแบ่งกันชัดเจน ระหว่างหนังบู๊ภูธร ซึ่งหมายถึงหนังบู๊ที่เรื่องมักเกิดในต่างจังหวัด แดนเถื่อนในหนังส่วนใหญ่มักเป็นภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน-ภาคเหนือตอนล่าง และนานๆ ทีจะมีหนังบู๊ที่เรื่องเกิดในภาคใต้ให้ดูกัน หนังกลุ่มนี้ที่มีชื่อก็อาทิ ลูกผู้ชายชื่อไอ้แผน (2508) คมแฝก (2513) ชุมแพ (2519) มหาหิน (2520) เสือภูเขา (2522)

 

ส่วนหนังบู๊อีกประเภทคือ หนังบู๊อินเตอร์ หมายถึงหนังบู๊ที่มีเรื่องราวใหญ่โต เกี่ยวข้องพัวพันกับต่างชาติ ไม่ก็เอานักแสดงต่างชาติมาร่วมเล่น (ดาราฝรั่งไปจนถึงญี่ปุ่นและฮ่องกง) หรือมีการถ่ายทำในต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นฮ่องกง เพราะหนังไทยยุคนั้นต้องเอาฟิล์มไปล้างแล็บที่ฮ่องกงอยู่แล้ว เลยถือโอกาสถ่ายเพิ่มที่ฮ่องกงเสียเลย) หนังเด่นในกลุ่มนี้ได้แก่ เพชรตัดเพชร (2509) เล็บครุฑ ตอน ประกาศิตจางซูเหลียง (2511) ทอง (2516) แบ๊งค์ (2518) ตัดเหลี่ยมเพชร (2518)

แต่หนังกลุ่มที่ยืนระยะยาวนาน แล้วมีบทบาทถึงปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นรากแขนงหนึ่งของหนังไทย ก็คือหนังบู๊ภูธรนี่แหละครับ ที่เป็นประเด็นสำคัญของบทความชิ้นนี้

 

เสือ: คาวบอยไทย (2490-2500)

แรกเริ่มหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังไทยซบเซาไปในช่วงสงคราม พอกลับมาอีกที ก็มีปัญหาเรื่องเงินทุน ฟิล์มที่มีราคาแพง เศษฐกิจระส่ำระสายทั่วโลก ไม่มีใครกล้าลงทุนทำหนังออกมา จนกระทั่งหนังเรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย (2492) ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. ใช้วิธีพากย์เสียงสด แม้จะไม่ได้มาตรฐานโลกในช่วงเวลานั้นที่ถ่ายกัน 35 มม. แต่หนังกลับทำรายได้ถล่มทลายให้แก่ผู้สร้างคือ แท้ ประกาศวุฒิสาร และยังแจ้งเกิดพระเอกมาดเสือ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ อดีตพระเอกละครเวทีเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ที่โด่งดังมากในช่วงสงคราม

ตัวหนังเล่าถึงชีวิตของ กำนันไทย (สุรสิทธิ์) ที่ถูกผู้ร้ายฆ่าเมียแล้วป้ายสีให้ ซ้ำยังแอบอ้างชื่อออกปล้นชาวบ้านในนาม ‘เสือไทย’ จนกำนันไทยต้องหนีไปใช้ชีวิตตกระกำลำบาก ชื่อเสียงย่อยยับอับจนหนทางกู้คืน แกจึงเป็นโจรเพื่อปล้นโจร นำทรัพย์ที่เหล่าร้ายชิงไปกลับมาคืนชาวบ้าน เพื่อตามล่าล้างหาคนผิดที่ฆ่าเมียแกแล้วป้ายสีให้ได้รับแค้นอย่างสาสม

สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ผู้รับบทกำนันไทย ซึ่งต่อมากลายเป็นเสือไทย ได้กลายเป็นภาพจำของ ‘เสือ’ หรือ ‘คาวบอยไทย’ แบบเดียวกับที่ จอห์น เวย์น กลายเป็นภาพจำของคาวบอยฝรั่งในยุคไล่เลี่ยกัน (หลังสงครามจนตลอดยุค 50) มีการสร้างหนังบู๊ทำนองนี้ตามมามากมาย พร้อมทั้งออกแบบการแต่งกายให้คล้ายคาวบอยฝรั่ง สวมเชิ้ต ใส่กางเกงยีนส์ พกสายคาดปืนและใช้ปืนลูกโม่คู่มือ บางเรื่องถึงกับมีฉากดวลปืนระหว่างฝ่ายพระเอกและผู้ร้ายตามอย่างหนังฝรั่ง

สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ จากเรื่อง ‘รอยเสือ’
เกชา เปลี่ยนวิถี
มิตร ชัยบัญชา

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เรื่องราวของเหล่า ‘เสือ’ หรือ โจรชื่อดังในช่วงสงครามได้ถูกเล่าขานผ่านรูปแบบนิยายและเรื่องสั้นมากมาย โดยเฉพาะชุมโจรทางภาคกลางที่มีชื่อเสียงมากสุด มีเสือชื่อดังแห่งยุคอย่าง เสือย้อย เสือฝ้าย เสือใบ เสือดำ และ เสือมเหศวร กลายเป็นตัวละครคลาสสิกที่มีผู้นำมาเขียนเรื่องราวแต่งเติม จนสนุกเพลิดเพลินเกินกว่าความเป็นจริง บ้างถึงกับเปลี่ยนเสือร้ายตามหมายทางการ ให้กลายเป็นจอมโจรสุภาพบุรุษราวเดินออกจากหนังคาวบอยฝรั่ง

หนึ่งในนิยายเรื่องดังที่บอกความนิยมของตำนาน ‘เสือ’ ในยุคสมัยดังกล่าวได้ดีสุดคือ นิยายชุดเรื่อง เสือใบ ของ ป.อินทรปาลิต ได้รับความนิยมมากจนแต่งเรื่อง เสือดำ ตามมาอีก สิ่งที่น่าสนใจคือ ป.อินทรปาลิต ได้ให้พื้นเพของเสือร้ายทั้งสองพระเอก เป็น ‘ลูกผู้ดี’ ที่มีการศึกษาและฐานะสูงอยู่ก่อนแล้ว โดยเสือใบนั้นเดิมคือ เรวัตร วิชชุประภา ชายหนุ่มใหญ่วัยใกล้ 40 ปี ข้าราชการหนุ่มกระทรวงมหาดไทย จบจากอ๊อกซฟอร์ด ขณะที่เสือดำเดิมคือ ระพินทร์ ระวีวงศ์ อดีตข้าราชการหนุ่มกรมสรรพสามิต

พื้นเพข้างต้นต่างจากที่มาของเสือใบและเสือดำตัวจริง รวมทั้งเสือฝ้ายและเสืออื่นๆ ในยุคสมัยสงครามโลก ที่ส่วนใหญ่มาจากคนชั้นล่าง เป็นชาวนาชาวไร่ผู้เผชิญความอยุติธรรม กฎหมายไม่เหลียวแล หรือแม้แต่ต้องอยู่อย่างแร้นแค้นในภาวะสงครามที่บ้านเมืองไร้ขื่อแป จำต้องออกปล้นเพื่อหากิน จนสามารถสั่งสมอำนาจ สร้างชุมโจรเป็นก๊กๆ ของตนเองได้

ขณะที่คนดู/คนอ่าน บันเทิงเริงใจไปกับวีรกรรมอันน่าตื่นเต้นของบรรดา ‘เสือ’ ในยุคนี้ แต่อีกแง่หนึ่ง เมื่อคนเหล่านี้มีอำนาจมากกว่ากฎหมาย ยิ่งกระทำการถูกใจชาวบ้านมากเท่าไหร่ก็ยิ่งท้าทายกฎหมายมากเท่านั้น ฉากจบในหนังและนิยายของบรรดาเสือจึงไม่แคล้วต้องตัดสินใจหันหลังให้แก่วิถีเสือเข้ามอบตัวในท้ายสุด

เราจึงอาจกล่าวได้ว่า หนังบู๊ยุคหลังสงครามโลกนั้น สร้าง ‘เสือ’ หรือ ‘คาวบอยไทย’ ขึ้นมาภายใต้การผสมผสานระหว่างเรื่องเล่าพื้นบ้านของหัวหน้าชุมโจรต่างๆ ที่ขนานนามกันว่า ‘เสือ’ (ใช้เฉพาะหัวหน้าชุมโจรเท่านั้น พวกลูกน้องจะไม่ถูกเรียกว่าเสือ) กับการออกแบบเครื่องแต่งกายตามอย่างหนังคาวบอยฝรั่ง และเปลี่ยนพื้นเพให้สอดรับอุดมคติของสังคมยุคนั้น ที่ต้องการคนดีมาปราบคนพาล ท้าทายกฎหมายซึ่งเสื่อมความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน ถึงกระนั้นก็ยังมีเนื้อแท้ข้างในเป็นคนดีมีการศึกษา

ไอเดียเดียวที่ตำนานเรื่องเล่า-เรื่องแต่งและหนังไทยในยุคดังกล่าวพูดตรงกัน คือบรรดาพระเอกชาติ ‘เสือ’ เหล่านี้ ‘ถูกบังคับให้เป็นโจร’ ด้วยสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเป็นสำคัญ มากกว่าจะเกิดจากนิสัยโจรแท้ๆ เอง

บู๊ภูธร: ร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา (2500-2525)

หลังพุทธศักราช 2500 นับว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะการเกิดสงครามเวียดนาม นำมาสู่การเข้ามาตั้งฐานทัพอเมริกาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2505 ส่วนใหญ่ตั้งในภาคอีสาน ทำให้หลายจังหวัดอย่าง อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม และนครราชสีมา กลายเป็นจังหวัดที่มีความเจริญรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปี

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยังเกิดสงครามภายในที่เป็นการต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งเริ่มต้นในวันเสียงปืนแตกเมื่อ 7 สิงหาคม 2508 เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังรัฐบาลกับขบวนการคอมมิวนิสต์ (รัฐบาลในขณะนั้นใช้คำเรียกว่า ‘ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์’ หรือ ผกค.) ณ บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม โดยคอมมิวนิสต์ได้ประกาศยุทธศาสตร์การต่อสู้นับจากวันนั้นว่าเป็นการ “ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง”

ยุคสมัยนี้เช่นกันที่การอ่านนิยายบู๊เฟื่องฟูขึ้นมาก นิยายลูกผู้ชายหรือนิยายบู๊ภูธรได้รับความนิยมวงกว้าง กลุ่มผู้อ่านขาประจำตามติดในนิตยสาร บางกอก ที่ตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ มีเรื่องเด่น อาทิ ร้อยป่า, มหาหิน, ลูกขวาน, ชุมแพ, สมิงเจ้าท่า, ขุนกระทิง, ทุ่งลุยลาย, เสาร์ห้า ฯลฯ นักเขียนชื่อดังแห่งยุคบู๊นี้ได้แก่ อรชร, เพชร สถาบัน, ส.เนาวราช, อรวรรณ, ศักดิ์ สุริยา, เสนีย์ บุษปะเกศ, ประทีป โกมลภิส, พันธุ์ บางกอก, ดาเรศร์ ฯลฯ

ชนะ ศรีอุบล

นิยายของลูกผู้ชายเหล่านี้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังต่อเนื่อง ล้วนได้รับความนิยมล้นหลาม กวาดรายได้ในต่างจังหวัดมากกว่าในตัวเมืองกรุงเทพฯ เสียอีก นั่นเพราะหนังบู๊กลุ่มนี้ ที่รู้จักกันดีในนาม ‘หนังบู๊ภูธร’ เน้นเรื่องราวเกิดขึ้นในส่วนภูมิภาค ชื่อเรื่องก็หยิบเอาชื่ออำเภอต่างๆ ในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะทางภาคกลางและภาคอีสานมาตั้ง อาทิ ชุมแพ ก็มาจากชื่ออำเภอชุมแพ ในจังหวัดขอนแก่น เสือภูพาน ก็ตามชื่อเทือกเขาภูพานในแถบจังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์

และยุคนี้เอง เป็นที่มาของวลี ‘ระเบิดภูเขา เผากระท่อม’ เนื่องด้วยความนิยมในหนังบู๊พุ่งขึ้นสูงสุด มีผู้สร้างทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ นายทุนรายใหญ่จนถึงรายทาง ลงทุนสร้างหนังบู๊กันเป็นล่ำเป็นสัน สถานที่ถ่ายทำหลักหนีไม่พ้นแถบจังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา ด้วยเหตุผลว่าใกล้กรุงเทพฯ เดินทางไปมาได้สะดวก ที่สำคัญ มีภูเขาให้ระเบิดกันทุกวัน โดยเฉพาะสระบุรีที่ถูกขนานนามขำๆ ในหมู่คนทำหนังรุ่นก่อนว่าเป็น “ฮอลลีวูดเมืองไทย” ถึงขั้นคนในหมู่บ้านใกล้ๆ บริเวณนั้น มีอาชีพเสริมเป็นตัวประกอบหนังไทย อยู่ฝ่ายผู้ร้ายบ้างพระเอกบ้าง มีชุดเสื้อยีนส์กางเกงยีนส์พร้อมเข้าฉาก

หนังบู๊ไทยก็ปรับตัวตามสถานการณ์เช่นกัน จากการพูดถึง ‘เสือ’ และวีรกรรมในการปราบคนพาลอภิบาลคนดี ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่กังฉิน นายทุนท้องถิ่น หนังบู๊ไทยในช่วงหลังพุทธศักราช 2500 ก็เริ่มขยายตัวไปสู่การต่อสู้กับขบวนการที่ใหญ่โตระดับข้ามชาติ เป็นภาพแทนขบวนการคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น

บรรดาพระเอกที่เดิมเป็นเพียงชาวบ้านที่กลายมาเป็นโจรจึงค่อยๆ หายไป ถูกแทนที่ด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ไปจนถึงสายลับ ส่วนฝั่งผู้ร้ายก็พัฒนาจากนายทุนหน้าเลือด ข้าราชการท้องถิ่น มาสู่นักการเมืองระดับชาติ นายทุนข้ามชาติ จนถึง นายทุนฝรั่ง ทหารจีน ทหารเวียดนาม องค์กรร้ายจากตะวันตก หนังบู๊อินเตอร์ก็ถือกำเนิดในยุคนี้ด้วย

ส่วนหนังบู๊แนวเสือได้ค่อยๆ กลายมาเป็นหนังบู๊ภูธรในยุคนี้ ปรับจากพระเอกที่เป็นเสือร้ายปล้นทั่วๆ ไป มาสู่การเป็น ‘นักเลง’ คืนถิ่น ปราบคนพาลอภิบาลคนดี ด้วยวิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน ในแง่วิธีการและแนวคิด ยังคงมีลักษณะคล้ายเดิม คือพูดถึงการใช้อำนาจนอกระบบจัดการอิทธิพลนอกระบบด้วยวิธีเดียวกัน ยิงมายิงกลับ ฆ่าได้ฆ่า

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากคือ การหันมาใช้คำว่า ‘นักเลง’ แทน ‘เสือ’ เพราะสถานะของพระเอกหนังบู๊ยุคนี้ไม่ใช่โจรที่อยู่ขั้วตรงข้ามกฎหมายชัดเจนอีกแล้ว ตรงกันข้าม ‘นักเลง’ ในหนังบู๊ยุคนี้คือฉากหน้าให้พระเอกได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม ปราบคนพาลอภิบาลคนดีด้วยความรุนแรง แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน และสุดท้ายถึงเฉลยตัวเองว่า “ผมนาย… เป็นร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา”

วิธีการคลาสสิกนี้แก้ปัญหาจากที่คนดู/ผู้อ่าน จะชื่นชอบโจรมากกว่าตำรวจ ชื่นชมวิธีนอกกฎหมายมากกว่าเคารพกฎหมาย ให้กลายเป็นว่าวิธีการยังคงเดิม แต่กฎหมายสามารถปรับเปลี่ยนโอนอ่อนได้เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ คืนความยุติธรรมให้แก่สังคม ซ้ำวิธีการนี้ยังเหนือชั้นตรงที่สามารถสอดรับนโยบายของรัฐในการใช้ความรุนแรงปราบปรามการกระทำไม่สงบในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศได้ เพราะคนดูได้เห็นและรับรู้พฤติการณ์จำลองของรัฐ ผ่านเหล่าตัวเอกในคราบนักเลงที่แฝงตัวเข้ามายังเมืองเถื่อนต่างๆ

ภาพจำของพระเอกยุคนี้คือ สมบัติ เมทะนี ถึงขนาดที่เมื่อคนดูเห็นสมบัติปรากฏตัวบนจอเมื่อไหร่ จะอุ่นใจได้ทุกครั้งว่าเหล่าร้ายจะต้องสยบต่อฝีมือ (และฝีตีน) ของเขาอย่างแน่นอน และสมบัติก็ไม่เคยทำให้คนดูผิดหวังตลอดช่วงยุคทองของเขา โดยเฉพาะบท ‘นักเลง’ ใน ชุมแพ, คมแฝก, คมเคียว, นักเลงป่าสัก, เสือสี่แคว ฯลฯ ชนิดที่คำว่า ‘หนังสมบัติ’ สามารถอธิบายตัวเองได้ทันที คนดูจะได้พบกับเรื่องราวแบบไหน พระเอกมีนิสัยท่าทางอย่างไร เก่งกาจแค่ไหน ตลกยียวนอย่างไร

ผู้เขียนยังจำได้แม่นยำถึงฉากในเรื่อง เสือสี่แคว เมื่อสมบัติเผชิญเจ้าพ่อทั้งสี่แควคุมแม่น้ำสี่สายคือ ปิง วัง ยม น่าน สมบัติใช้มือขีดเส้นแม่น้ำทั้งสี่สายบนดิน แล้วลบด้วยตีน เพื่อท้าทายบรรดาเจ้าพ่อว่าข้านี่แหละจะครองที่แทน! หรือใน ชุมแพ ที่เปิดตัวอย่างคลาสสิกด้วยการลงจากรถแดง (รถบัสวิ่งข้ามจังหวัด) ลงมากินก๋วยเตี๋ยวข้างสถานีเพื่อพบว่ามีนักเลงเจ้าถิ่นรอกระทืบอยู่ จบฉากนี้ด้วยการที่นักเลงเจ้าถิ่นงอมพระรามด้วยเพลงเตะของสมบัติ

ภาพจำคลาสสิกของคนดูต่อหนังบู๊ภูธรในยุคนี้จึงเป็นภาพชายร่างใหญ่ หิ้วถุงทะเลลงจากรถ เรือ หรือรถไฟ อันหมายถึง ความยุติธรรม (ในรูปลักษณ์ของ สมบัติ เมทะนี) ได้มาเยือนแดนเถื่อน เพื่อล้างคนพาลอภิบาลคนดีแล้ว

สำหรับผู้ร้ายในหนังบู๊ยุคนี้ เราจะพบว่าล้วนเป็นผู้ร้ายที่มีอิทธิพลอย่างสูงในท้องถิ่น อาทิ นักการเมืองท้องถิ่น นายทุนโรงไม้-โรงสี ตลอดจนข้าราชการ แต่ถ้าในกลุ่มหนังบู๊ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับขบวนการคอมมิวนิสต์ เบื้องหลังของผู้ร้ายเหล่านี้มักจะผูกโยงข้องเกี่ยวกับความชั่วร้ายระดับชาติ เช่น เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรร้ายสากล ภาพจำคือฉากการประชุมที่บนโต๊ะเราจะเห็นนายทุนไทย ข้าราชการ ร่วมโต๊ะอยู่กับนายทุนฝรั่ง ไปจนถึงทหารจีน-เวียดนาม

ผู้ร้ายในยุคนี้จึงไม่ได้มีความผิดเพียงการทำผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีความผิดใหญ่หลวงอีกกระทงครอบเข้ามา นั่นคือความผิดฐานขายชาติ ความซับซ้อนของผู้ร้ายที่มากขึ้นนี้ สอดรับกับความซับซ้อนของตัวเอกที่มีสถานะเป็นพระเอกนอกคอก หรือเป็นพวก outlaw hero ไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กฎหมายปกติอีกต่อไป

‘เสือ’ ยุคนี้จึงกลายเป็น ‘นักเลง’ ที่มีชื่อและพื้นเพผูกพันกับท้องถิ่นเดิม แต่จำเป็นต้องจากไปรับราชการในเมืองกรุง ก่อนกลับมาล้างบางอิทธิพลเถื่อนที่บ้านเกิด โดยไม่มีใครรู้ว่าอดีตนักเลงบัดนี้ได้กลับใจกลายเป็นตำรวจไปแล้ว เช่น เพิก ชุมแพ พระเอกแห่งเรื่อง ชุมแพ หรืออย่างน้อยก็มีประวัติเคยรับราชการมาก่อน อย่าง กัลป์ เกรียงไกร พระเอกแห่งเรื่อง คมแฝก ที่เคยเป็นตำรวจ แต่ติดคุกเพราะถูกป้ายสีโดยคู่แค้นร่วมสำนักอาจารย์เดียวกัน

ความนิยมในหนังบู๊ภูธรยังพุ่งสูงถึงขั้นโด่งดังข้ามถึงประเทศเพื่อนบ้าน ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนโรงภาพยนตร์เก่าแห่งหนึ่งที่เมืองเชียงคาน จังหวัดเลย (ขออภัยที่ไม่แน่ใจว่าใช่ โรงหนัง ‘สุวรรณรามา’ หรือไม่) และมีโอกาสได้เห็นภาพถ่ายที่ทางเจ้าของโรง ถ่ายเก็บบรรยากาศการฉายภาพยนตร์เรื่อง ชุมแพ เอาไว้ว่ามีคนดูข้ามฝั่งโขงมาจากประเทศลาวเพื่อมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันจนโรงแตก

กล่าวได้ว่าหนังบู๊ภูธรที่ว่าเป็นหนังบู๊ต่างจังหวัด เอาสะใจคนบ้านนอกนั้น กลับเป็นหนังที่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนท้องถิ่นได้มากกว่า ขณะเดียวกันวิธีการอันแยบยลของผู้สร้างก็สามารถหาหนทางไม่ให้พฤติการณ์นอกกฎหมายของพระเอก ต้องพบจุดจบขัดใจคนดูประเภทถูกจับหรือถูกยิงตายเพื่อใช้กรรมตอนจบ แต่ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย

“ผมเป็นร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา” จึงเป็นวรรคทองที่สามารถอธิบายลักษณะพิเศษของสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ที่ต้องปรับตัวรับกับความรุนแรงรอบด้านทั้งศึกในและศึกนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำรุนแรงของรัฐไทยเอง ตลอดช่วงสงครามเวียดนาม และสงครามกับขบวนการคอมมิวนิสต์ได้เป็นอย่างดี

 

จบภาค 1

ติดตามต่อ ภาค 2: พระและวิชาอาคม ในหนังบู๊ภูธร

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า