You can’t judge a book by its cover. คุณไม่อาจตัดสินหนังสือจากหน้าปก
สำนวนเท่ๆ ที่มีความหมายเตือนสติว่าอย่าตัดสินสิ่งใดจากภายนอก เพราะการที่จะบอกว่าหนังสือจะดีหรือไม่ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเปลือกที่ห่อหุ้มคลุมเอาไว้เท่านั้น แต่ยังจะต้องพิจารณาถึงแก่นสารและเนื้อหาภายในด้วย แต่ไม่ว่าคุณจะสมาทานหรือใช้ชีวิตตามสำนวนนี้อย่างไร หากคุณเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ยังต้องอุปโภคบริโภคสินค้าหรือบริการต่างๆ ตามท้องตลาด บางครั้งคุณอาจไม่ต้องใช้เวลานานเพื่อพิสูจน์เนื้อแท้ของสินค้าหรือบริการ เพราะหนึ่งในหนทางสู่การมีชีวิตที่ดี คือการตัดสินสินค้าจากหน้าปกหรืออ่านฉลากที่แปะอยู่บนผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
หน้าที่และความสำคัญของ ‘ฉลากผลิตภัณฑ์’ ถูกออกแบบมาเพื่อแสดงข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ เช่น ข้อมูลทางโภชนาการทั้งอาหารหรือเครื่องดื่มโดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ข้อมูลปริมาณของสารอาหารแต่ละชนิดที่อยู่ในผลิตภัณฑ์
- ข้อมูลเชิงคุณค่าโดยบ่งชี้คุณค่าสารอาหารต่างๆ หรือข้อควรระวังทางโภชนาการที่มีผลต่อสุขภาพ
ฉะนั้นนัยของ ‘ฉลาก’ จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผลิตภัณฑ์อาหาร ฉลากเปรียบเสมือนหน้าต่างจุลทรรศน์ของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้มองเห็นข้อมูลโภชนาการของอาหารหรือเครื่องดื่ม ฉลากช่วยคัดกรองป้องกันและลดความเสี่ยงโรคที่เกิดจากการบริโภค
นอกจากนี้ฉลากยังทำให้เห็นวงจรของห่วงโซ่การผลิตอาหาร กล่าวคือ ผู้ผลิตอาหารใช้ฉลากเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลและโฆษณา และยังเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการแข่งขันทางการค้า รวมถึงหน่วยงานภาครัฐใช้ฉลากเป็นเครื่องมือในการติดตามและตรวจสอบคุณภาพอาหาร และการให้ข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases: NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็งต่างๆ เพราะบนฉลากอาหารจะระบุข้อมูลสารอาหารที่ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว (saturated fats) น้ำตาล โซเดียม และพลังงานที่ได้รับ
นอกจากผลกระทบทางสุขภาพแล้ว ความรุนแรงของโรคในกลุ่มนี้ ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในแง่ของภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาล โดยข้อมูลจากการประมาณการระหว่าง ปี 2554 – 2573 นั้น พบต้นทุนของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่ที่ 46.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นประมาณ 1,401 ล้านล้านบาท โดยจำนวนประชากรโลกกว่า 1 ใน 4 เสียชีวิตก่อนวัย 60 ปี ด้วยภาวะการเจ็บป่วยในโรคกลุ่มนี้
โปรดอ่านฉลากก่อนใช้งาน
แม้ยังไม่มีการยืนยันว่าฉลากผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพในการลดอัตราการเกิดของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้อย่างถาวร ทว่ามองในมิติของผู้บริโภคจะพบประโยชน์จากฉลากผลิตภัณฑ์โดยใช้เป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่ดีต่อสุขภาพได้ เพราะฉลากจะช่วยทำให้ทราบปริมาณหรือคุณค่าของสารอาหารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ ทราบแหล่งอ้างอิงคุณค่าทางโภชนาการสำหรับใช้เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ต่างยี่ห้อ
เช่นเดียวกันหากมองฉลากในมิติภาคประชาสังคม บนบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เครือข่ายผู้บริโภค กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย สื่อมวลชน รวมถึงองค์กรต่างๆ ฉลากผลิตภัณฑ์เป็นสารตั้งต้นในการทำงานเพื่อผลักดัน รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจปัญหาด้านสุขภาพ
นอกจากนี้ภาครัฐยังสามารถใช้ฉลากผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความตระหนักหรือกำหนดนโยบายต่างๆ ด้านสุขภาวะกับประชาชนได้อีกด้วย เช่น กําหนดลักษณะหรือตําแหน่งฉลากให้สังเกตเห็นได้ง่าย การผลักดันให้ฉลากครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์และทุกยี่ห้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งทําให้ผู้บริโภคสามารถนําข้อมูลมาเปรียบเทียบข้อมูลโภชนาการระหว่างยี่ห้อได้
สำรวจรูปแบบฉลากผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันการใช้งานฉลากผลิตภัณฑ์ มีด้วยกัน 3 รูปแบบ
- Mandatory เป็นฉลากที่รัฐกำหนดขึ้นและดูแลด้วยตัวเอง มีลักษณะเป็นการบังคับใช้ หากไม่ปฏิบัติจะมีบทลงโทษ
- Voluntary เป็นฉลากที่รัฐกำหนดขึ้นโดยร่วมกับภาคประชาสังคมหรือผู้ประกอบการ ไม่มีการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม แต่ใช้วิธีส่งเสริมหรือจูงใจให้เกิดการใช้ฉลาก
- Support เป็นฉลากที่ภาคประชาสังคมหรือผู้ประกอบการกำหนดขึ้น ไม่มีการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหากรัฐเห็นว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐก็จะให้การสนับสนุนส่งเสริมการใช้งานฉลากร่วม
เห็นได้ว่าฉลากผลิตภัณฑ์มีด้วยกันหลากหลายขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ ส่วนลักษณะบนฉลากผลิตภัณฑ์ถูกแบ่งตามจุดประสงค์การใช้งานได้อีก 3 ประเภท
ฉลากแบบไม่ชี้นำเชิงคุณค่า (Non-directive System)
ระบุข้อมูลปริมาณหรือร้อยละของสารอาหารต่างๆ โดยไม่มีการตัดสินหรือชี้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีผลดีต่อสุขภาพหรือไม่ เช่น
- Guideline Daily Amount (GDA): การแสดงข้อมูลปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม รวมถึงร้อยละของปริมาณสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
- Nutrition Facts Label: ฉลากแสดงข้อมูลปริมาณพลังงาน (แคลอรี) ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามินดี แคลเซียม เหล็ก โพแทสเซียม รวมทั้งข้อมูลปริมาณที่ควรได้รับใน 1 วัน ฉลากแบบประเภทนี้ถูกนำไปปรับใช้ โดยอาจปรับเปลี่ยนประเภทข้อมูลสารอาหารที่แสดงบนฉลากตามที่แต่ละประเภทเห็นสมควร รวมถึงประเทศไทยก็รับฉลากนี้มาพัฒนาอีกด้วย
ฉลากแบบกึ่งชี้นำเชิงคุณค่า (Semi-directive System)
ระบุเฉพาะข้อมูลของสารอาหารที่สำคัญ ควบคู่กับการแสดงระดับคุณค่าของสารอาหารเทียบเคียงกับปริมาณสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับ
- Traffic Light Labelling: ฉลากที่พัฒนาโดยกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร พร้อมกับการให้ข้อมูลปริมาณสารอาหาร เช่น ไขมัน ไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และเกลือ โดยใช้สีเป็นตัวบ่งบอกระดับปริมาณสารอาหารเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ โดยสีแดงแทนค่าระดับสูง สีเหลืองแทนค่าระดับกลาง และสีเขียวแทนค่าระดับต่ำ
ฉลากแบบชี้นำเชิงคุณค่า (Directive System)
ไม่เน้นให้ข้อมูลปริมาณหรือร้อยละของสารอาหารในผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการสรุปว่าผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางโภชนาการผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยแบ่งย่อยเป็น 2 แบบ
- แบบคำเตือน (Stop-sign Warnings) เช่น ระบุป้ายสัญลักษณ์และข้อความประเภทสารอาหารที่พบปริมาณสูง เพื่อเป็นการเตือนผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ เช่น น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว โซเดียม
- แบบแนะนำ เช่น Nordic Keyhole ฉลากที่พัฒนาโดยประเทศสวีเดนเป็นรูปรูกุญแจสีเขียวเพื่อรับรองประโยชน์ต่อสุขภาพ พิจารณาจากระดับไขมัน น้ำตาล และโซเดียมที่ต่ำ และระดับไฟเบอร์ที่สูง
วิวัฒนาการฉลากผลิตภัณฑ์ของไทย
ปัจจุบันสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการกํากับดูแลตรวจสอบการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย โดยประเทศไทยใช้ฉลากในรูปแบบ Guideline Daily Amounts (GDA) ที่แสดงให้เห็นค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ครอบคลุมอาหารและเครื่องดื่ม โดยอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการแบบ GDA ได้แก่
- อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วทอด หรืออบกรอบหรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส สาหร่ายทอดหรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอด หรืออบกรอบหรือปรุงรส
- ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกัน
- ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ หรือแครกเกอร์ หรือบิสกิต เวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก และพาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้
- อาหารกึ่งสําเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม ซองเครื่องปรุง ข้าวต้มและโจ๊กที่ปรุงแต่ง
- อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียวซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจําหน่าย
นอกจากนี้ในปี 2541 ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายในการใช้ฉลากโภชนาการทั้งแบบเต็มและแบบย่อ โดยฉลากโภชนาการแบบเต็มจะต้องแสดงข้อมูลสารอาหารครบทุกประเภทตามที่กําหนด ส่วนฉลากโภชนาการแบบย่อสามารถแสดงข้อมูลอาหารเฉพาะสารอาหารที่มีปริมาณมาก โดยสามารถละสารอาหารที่มีค่าเท่ากับศูนย์หรือมีปริมาณน้อยได้ รวมถึงประกาศใช้ฉลากข้อความ ‘บริโภคแต่น้อย และออกกําลังกายเพื่อสุขภาพ’ เพื่อเป็นการให้คําแนะนําแก่ผู้บริโภค โดยใช้ควบคู่กับฉลากโภชนาการ
โดยปัจจัยการพัฒนาฉลากผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย สะท้อนถึงกลยุทธ์ในการดูแลสุขภาพในการป้องกันภาวะการเกิดโรค NCDs รวมถึงพัฒนาเพื่อการค้าให้ตอบโจทย์กับความต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังต่างประเทศ ทำให้ไทยต้องมีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามหลักเกณฑ์ของประเทศต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอีกด้วย
อย่าเพิ่งซื้อ ถ้ายังไม่ได้อ่าน 4 จุดนี้ในฉลากโภชนาการ!
- ดูปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค เป็นปริมาณที่แนะนำให้ผู้บริโภครับประทานการกินต่อ 1 ครั้ง มักระบุเป็นกรัม แต่ก็มีการคำนวณปริมาณให้แบ่งกินได้ เช่น บริโภคทีละ ½ ซอง
- ดูจำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ เป็นจำนวนที่บอกว่าถ้ากินครั้งละหนึ่งหน่วยบริโภคจะแบ่งกินได้กี่ครั้ง
- ดูคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เช่น พลังงานทั้งหมดเท่าใด มีสารอาหารอะไรบ้าง แต่อย่าลืมคูณหน่วยบริโภคไปด้วย เช่น ขนมขบเคี้ยวมีพลังงานทั้งหมด 350 กิโลแคลอรี ถ้าขนม 1 ห่อมี 4 หน่วยบริโภค พลังงานทั้งหมดจะกลายเป็น 1,400 กิโลแคลอรี
- ดูร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนไขมัน คาร์โบไฮเดรต โซเดียม ในฉลากจะพิมพ์ด้วยตัวหนา วิธีคำนวณง่ายๆ ให้ดูที่จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่พิมพ์ต่อท้ายจำนวนกรัม ซึ่งหมายถึงร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน เช่น ปริมาณน้ำตาล ไม่ควรบริโภคเกิน 24 กรัม หรือเท่ากับ น้ำตาล 6 ช้อนชา
สนับสนุนโดย
มสช. ได้รับเงินสนับสนุนจาก CCS-NCD