S-A-L-T-S: ยุทธศาสตร์ลดเค็ม-ลดโรค

สถานการณ์ความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกกว่า 38 ล้านคนต่อปี เป็นวิกฤตการณ์ทางสุขภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ 4 โรคหลัก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง

โรค NCDs หรือ Non-Communicable Diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย

โรค NCDs เป็นปัจจัยที่สร้างความเสียหายด้านค่าใช้จ่ายสูงสุดให้แก่ภาครัฐ รัฐได้สูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเฉลี่ยคนละ 6,286 บาท หรือประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13 ของรายจ่ายทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลการศึกษาของ TDRI คาดว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมในสังคมสูงวัย อาจเพิ่มขึ้นถึง 1.4 – 1.8 ล้านล้านบาท

ปี 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนด 9 เป้าหมายการดำเนินงานเพื่อป้องกันควบคุมสถานการณ์โรคไม่ติดต่อในระดับโลก ภายในปี 2568

สำหรับประเทศไทย ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2557 ได้ให้การรับรองเป้าหมายการดำเนินงานทั้ง 9 ข้อ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ รวมถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี (2560-2564) เพื่อตอบสนองการดำเนินงานให้บรรลุตาม 9 เป้าหมายขององค์การอนามัยโลก โดยปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทย ทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง และรักษา เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ความชุกของการป่วย และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

การขับเคลื่อนเพื่อรณรงค์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ก่อนการมียุทธศาสตร์ชาติ โดยได้จัดตั้ง ‘เครือข่ายลดบริโภคเค็ม’ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายที่สำคัญ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมวิชาชีพต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานจากภาคส่วนต่างๆ การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม การวิจัย และการรณรงค์สื่อสารเตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินงาน

การขับเคลื่อนได้ปรับเอาเครื่องมือ SHAKE ของ WHO มาใช้เป็นกรอบการทำงาน รวมถึงจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยใช้แนวทางดำเนินงาน ‘SALTS’ ประกอบด้วย Surveillance, Awareness, Legislation and Environmental Reform, Technology and Innovation และ Scaling Up

สมัชชาสุขภาพครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 มีมติรับรองนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันเป็นสาเหตุการป่วย การเสียชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำ ‘ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568’ เพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568

‘SALTS’ ยุทธศาสตร์ลดเค็ม-ลดโรค

  • S (Stakeholder Network) การสร้าง พัฒนา และขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ
  • A (Awareness) การเพิ่มความรู้ความตระหนัก และเสริมทักษะให้ประชาชน ชุมชน ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ บุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และผู้กำหนดนโยบาย
  • L (Legislation and Environmental Reform) การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการผลิต ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงอาหารที่ปริมาณโซเดียมต่ำ
  • T (Technology and Innovation) การพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ และการนำสู่การปฏิบัติ
  • S (Surveillance, Monitoring and Evaluation) การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินผล เน้นตลอดกระบวนการ ผลผลิต และผลลัพธ์ เป้าหมาย

เพราะอาหารสัมพันธ์กับการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แนวทางการป้องกันจึงมีทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ดำเนินการควบคู่กันไป ประเทศไทยมีการใช้มาตรการภาษีความหวาน โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) มีมติเห็นชอบเสนอจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำผลไม้ โดยเริ่มทำการเก็บภาษีตามขั้นบันไดทุกๆ 2 ปี มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มสูตรน้ำตาลน้อยหรือน้ำตาล 0 เปอร์เซ็นต์ออกมามากขึ้นเพราะไม่ต้องจ่ายภาษีตัวนี้ ทั้งนี้อัตราการจัดเก็บภาษีช่วง 2 ปีแรก บังคับใช้วันที่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562 ในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ และน้ำพืชผัก หากมีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร หรือครึ่งลิตร ไม่เสียภาษี พอมาถึงช่วงที่ 2 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564 จะเพิ่มอัตราการเก็บภาษีต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตรมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัมยังคงเดิม แต่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 4 เท่าตัว ส่วนช่วงขั้นที่ 3 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566

และในอนาคตจะมีการใช้มาตรการภาษีกับผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและส่งเสริมสุขภาพประชาชน

ที่ผ่านมา ฝ่ายวิชาการและกรมสรรพสามิต ได้ทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำข้อเสนอให้เก็บภาษีเกลือโซเดียม ในสินค้าบางประเภทซึ่งมีเกลือโซเดียมสูง ได้แก่ บะหมี่ โจ๊ก ขนมขบเคี้ยว ปลาเส้น มันฝรั่งทอด สาหร่าย เป้าหมายเพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารสุขภาพในกลุ่มผู้บริโภค ให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้น และนำภาษีที่เก็บได้ส่งเป็นกองทุนดูแลสุขภาพ คาดว่าจะสามารถจัดทำข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และจะบังคับใช้ ขณะเดียวกันมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีก็มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฉลากที่บอกข้อมูลแก่ผู้บริโภค การให้ความรู้เรื่องอาหาร ทั้งสองมาตรการจะต้องทำควบคู่กัน

โลกในหนึ่งช้อนเกลือ ได้ดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย ที่ผ่านมาข้อเขียนในซีรีส์ชุดนี้พยายามนำเสนอมุมมองของบุคลากรที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพ เราได้รู้จักบทบาทหน้าที่ของ ‘นักกำหนดอาหาร’ โดย ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ซึ่งช่วยเปลี่ยนมุมมองเรื่องอาหารต่อการรักษาสุขภาพ

ขณะที่มุมมองของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี การจะใช้มาตรการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคม นอกจากมาตรการภาษีแล้ว แนวทางที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารและผลไม้ระดับโลก ก็คือการสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ

เราได้รู้จัก ‘เครือข่ายลดเค็ม’ หน่วยงานที่ทำงานรณรงค์อย่างแข็งขันผ่านมุมมองของ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้รณรงค์ให้ความรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของสังคม ไม่ว่าจะเป็น ‘โรงเรียนลดเค็ม’ ‘โรงพยาบาลลดเค็ม’ ‘ชุมชนลดเค็ม’ ไปจนถึงการผลักดันเชิงนโยบายที่สนับสนุนและป้องกันสุขภาพของพลเมืองต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs เครือข่ายลดเค็มได้นำแนวคิดการลดเค็ม อาหารเพื่อสุขภาพ เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค อย่าง Sodium Lesstaurant

มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่สำคัญอีกอย่างคือ ‘ฉลากผลิตภัณฑ์’ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อแสดงข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ เช่น ข้อมูลทางโภชนาการทั้งอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ข้อมูลปริมาณของสารอาหารแต่ละชนิดที่อยู่ในผลิตภัณฑ์
  2. ข้อมูลเชิงคุณค่าโดยบ่งชี้คุณค่าสารอาหารต่างๆ หรือข้อควรระวังทางโภชนาการที่มีผลต่อสุขภาพ

เราได้พูดคุยกับ ณัฐกร อุเทนสุต ในฐานะผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ถึงหลักการการใช้มาตรการภาษีกับความหวานและความเค็ม รวมถึงมุมมองส่วนตัวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และยังได้รับฟังมุมมองของ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในการใช้มาตรการเก็บภาษีความหวาน รวมถึงภาษีเกลือและโซเดียม

ทั้งหมดคือความพยายามนำเสนอมุมมองต่อเรื่องอาหาร การปรับพฤติกรรมการบริโภค มาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ที่จะนำมาใช้จัดการกับผลิตภัณฑ์อาหารที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs

สนับสนุนโดย

มสช. ได้รับเงินสนับสนุนจาก CCS-NCD

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า