เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ประชาชนคนไทยได้ทราบคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งกำหนดให้การสมรสมีได้เฉพาะชายและหญิงนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำตัดสินดังกล่าวเป็นที่โจษจัน หลายคนผิดคาดเพราะเดาว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะตัดสินในทางเป็นคุณต่อบุคคลเพศเดียวกันในเรื่องการสมรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหวังว่าศาลจะพิพากษาให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องให้การสมรสของบุคคลเพศเดียวกันเกิดขึ้นได้โดยคำตัดสินเอง
จากข้อมูลเท่าที่มี ณ ขณะนี้ คือ ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นเอกสารเผยแพร่ทางการของศาลเอง พบว่า ในส่วนผลการพิจารณาที่มีอยู่ 8 บรรทัดนั้น เนื้อความใน 4 บรรทัดสุดท้าย เป็นข้อยืนถึงทัศนะของศาลที่ไม่เห็นว่า ประเด็นที่เสนอมายังศาลดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
ต่อประเด็นนี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สาธารณชนไม่ได้เห็นเหตุผลหรือรายละเอียดในทัศนะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในมุมมองศาลรัฐธรรมนูญไทยนั้นเพราะอะไร เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาอันเนื่องมาจากการที่กฎหมายศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเผยแพร่คำวินิจฉัยตัวเต็มพร้อมกับการแจ้งหรือสื่อสารต่อสาธารณะเรื่องคำตัดสินของศาล ดังนั้น จึงทำให้ประชาชนรู้เพียงข้อความสั้นๆ จากเอกสารข่าวของศาล และต้องรอคอยการอ่านคำวินิจฉัยตัวเต็มในวันข้างหน้า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปกันต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากเพราะเป็นเรื่องสิทธิในการรับรู้ของประชาชน และมาตรฐานที่ดีในการออกคำวินิจฉัยเมื่อเทียบกับต่างประเทศหรือศาลปกครองของไทยเอง
คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่ชี้ขาดว่า กฎหมายการสมรสที่กำหนดให้มีได้เฉพาะชายและหญิงนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ยิ่งชวนให้สะดุดฉุกคิดยิ่งขึ้นอีก เมื่อเทียบกับทิศทางของคำพิพากษาศาลต่างประเทศเกี่ยวกับการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน เช่น ที่สหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดของที่นั่น ตัดสินเมื่อปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ว่า การที่กฎหมายยอมรับให้บุคคลต่างเพศเท่านั้นที่จะสมรสกันได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และส่งผลให้บุคคลเพศเดียวกันมีสิทธิสมรสกันทันที
หรือที่ไต้หวัน ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินเมื่อปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ว่า การที่กฎหมายทำให้บุคคลเพศเดียวกันสมรสกันไม่ได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และชี้ว่าเป็นเรื่องนโยบายทางกฎหมายของรัฐที่จะต้องออกกฎหมายรับรองภายในกรอบเวลา 2 ปี ซึ่งก็ปรากฏว่า ได้มีการออกกฎหมายรับรองสิทธิบุคคลเพศเดียวกันให้สมรสได้ทันเวลาที่ศาลกำหนด
หรือที่ออสเตรีย เมื่อปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ศาลรัฐธรรมนูญออสเตรียตัดสินว่า การที่ประมวลกฎหมายแพ่งออสเตรียรับรองให้บุคคลต่างเพศเท่านั้นสมรสกันได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลวินิจฉัยให้เพิกถอนคำว่า ‘ต่างเพศ’ ออกจากประมวลกฎหมายแพ่ง โดยให้คำว่า ‘ต่างเพศ’ ยังคงดำรงอยู่ถึงแค่วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) เท่านั้น เพื่อให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้สิทธิบุคคลเพศเดียวกันสมรสกันได้ หากรัฐสภาไม่สามารถทำได้ทัน อย่างไรเสีย การสมรสของบุคคลเพศเดียวกันก็จะเกิดขึ้นได้ทันที ณ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) เป็นต้นไป ด้วยผลของคำตัดสินที่ศาลกำหนดไว้
แม้ศาลรัฐธรรมนูญไทย จะไม่ได้ตัดสินไปในทิศทางเดียวกับประเทศดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่า สังคมย่อมต้องตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการตัดสินใจของตุลาการที่เลือกจะไปในทิศทางนั้นด้วยโลกทัศน์ของพวกเขาเอง แต่ท่อนท้ายของมติได้ระบุเป็นข้อสังเกตว่า “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป”
การที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ข้อสังเกตเช่นนั้น หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ตัดสินใจที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยตรง แต่ส่งไม้ต่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารดำเนินการแทน ตรงนี้นี่เองจึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่อไปคือ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้รับข้อสังเกตจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการต่อไป เพราะฉะนั้นการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย เพียงแต่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต้องเป็นผู้ดำเนินการและผลักดันเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จ ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า ความพยายามในการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในทางครอบครัวของบุคคลเพศเดียวกันในสังคมไทยมีมาอย่างยาวนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมรส หรือเป็นเรื่องคู่ชีวิต (ซึ่งสองเรื่องนี้มีสถานะไม่เท่ากันและมีความต่างกันในรายละเอียด) แต่ความสำเร็จยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย
เมื่อเรื่องทั้งหมดมาตกอยู่ที่ฝ่ายการเมืองในฐานะหมอตำแยทำคลอดกฎหมาย ประเด็นต่อไปมีอยู่ว่า แล้วกฎหมายจะสำเร็จเมื่อใด ข้อนี้ไม่มีผู้ใดทราบได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการออกกฎหมายไว้ในคำตัดสิน แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารน่าจะเห็นถึงความจำเป็นหรือหน้าที่ที่จะต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อย่างน้อยที่สุด ก็เพราะมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญจี้จุดชี้มา
ท้ายสุด ขอฝากความบางตอนจากคำพิพากษาศาลฉบับหนึ่ง ดังนี้
“…ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวใดจะลึกซึ้งมากกว่าการสมรส ซึ่งประกอบด้วยอุดมคติสูงสุดของความรัก ความซื่อสัตย์ การอุทิศตน การเสียสละ และการเป็นครอบครัว ในรูปของการสมรส คนสองคนจะกลายสถานะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่แต่ละคนเคยเป็นมา … การสมรสเป็นที่บรรจุซึ่งความรัก อันอาจยืนยงแม้หลังความตาย คงเป็นเรื่องเข้าใจผิดว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่เคารพแนวคิดเรื่องการสมรส คำร้องของพวกเขาเหล่านั้นแสดงถึงการเคารพแนวคิดดังกล่าว เคารพอย่างยิ่งในอันที่จะแสวงหาความอิ่มใจในตัวเขา และความหวังที่จะไม่ถูกตัดสินให้ชีวิตตกอยู่ในความอ้างว้าง ถูกกีดกันออกจากการเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดของอารยธรรม พวกเขาฟ้องร้องเรียกหาศักดิ์ศรีในความเท่าเทียมในสายตาของกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเช่นนั้นให้พวกเขาแล้ว”
แน่นอนว่า นั่นไม่ใช่ความบางตอนจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไทย แต่นั่นคือความบางตอนจากคำพิพากษาศาลสูงสุดอเมริกา ในคดี Obergefell v. Hodges (2015) ที่รับรองสิทธิในการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน
หวังว่า ความดังกล่าวจะเป็นที่รับรู้ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของไทย เพื่อพิจารณาในการออกกฎหมายต่อไป