สันติ แต้พานิช: หนัง ชีวิต ความคิด ไม่ต้องจัดแสง

โดยสังเขป ชื่อของ สันติ แต้พานิช เป็นที่ปรากฏจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เสือร้องไห้ เรียลลิตี้ฟิล์มตามติด 5 ชีวิต ออกฉายในปี 2005 ในยุคสมัยที่สารคดีมีที่อยู่ที่ยืนไม่มากนัก และเป็นจุดเริ่มต้นที่สันติบอกกับเราก่อนสนทนาว่า “ที่เราทำ ก็เพราะมันไม่มีคนทำเท่านั้นเอง”

ความสนใจสภาพสังคมและชีวิตของชนชั้นแรงงาน เป็นประเด็นที่สันติหยิบฉวยมาบอกเล่าบ่อยครั้ง ด้วยท่วงท่าเสียดสีและแสบสัน มีน้ำเสียงและลีลาเฉพาะตัว หากเปรียบเป็นรสชาติ เราอาจจะนึกถึงกาแฟดำที่ไม่ขมระคายลิ้นมากนัก และมีพื้นที่ให้ได้รื่นรมย์ไม่น้อย

สองชั่วโมงต่อจากนี้ จึงเป็นการสนทนาในอิริยาบถสบายๆ ไม่มีช่างภาพ ไม่มีการจัดแสงจัดไฟ มีเพียงเครื่องอัดเสียงหนึ่งตัว มีฉัน และมีเขา

เด็กชาย (อ) สันติ แต้พานิช

“เธอไม่ควรชื่อสันติเลย เธอควรชื่ออสันติ” คุณครูว่าเช่นนี้ ราวกับจนปัญญาที่จะกำราบความดื้อดึงของเขา ให้ถือพานก็แล้ว เป็นหัวหน้าห้องก็แล้ว มอบหมายความรับผิดชอบให้ก็แล้ว ทว่าเด็กชายสันติจะสงบเสงี่ยมดั่งชื่อก็หาไม่

“เอาเราไม่อยู่หรอก” สันติ แต้พานิช ณ ปัจจุบัน หัวเราะ “แต่ว่าวัยเด็กมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ พอโตมา เรากลายเป็นคนชอบความสงบ เรารักความสงบเหมือนชื่อนะ เออ… แม่เราตั้งชื่อเก่งว่ะ

“วัยเด็กลำบาก… ลำบากมาก พ่อตาย แม่ก็อุ้มลูกที่เพิ่งคลอดย้ายไปอยู่สุรินทร์ ดิ้นรน แม่ก็เลี้ยงลูกคนเดียว โตมาเราก็เหมือนเด็กอีสานคนหนึ่ง แต่เป็นประเภทที่ไม่มีความอบอุ่น แล้วก็ไม่มีเงิน เราเติบโตมาแบบนั้น ใช้สมุด ใช้เสื้อเก่า ใช้หนังสือเดิมของคนอื่นเขา ไม่มีของเล่นเลย แต่เราชอบวาดรูปนะ ตอนเด็กก็วาดรูป เป็นของเล่นเดียวที่มีอยู่” สันติเล่าเสียงเรียบ และเนิบช้า

“อีสานสมัยก่อน มันกันดารเนอะ เป็นจังหวัดไกลๆ ไม่เจริญ ก็ไม่เจริญจริงๆ ไฟฟ้า โรงหนังก็เล็กๆ แล้วก็เส้นทางระหว่างสุรินทร์กับกรุงเทพฯ มันเหมือนคนละโลกเลย เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว คำว่ากรุงเทพฯ สำหรับเรามันเหมือนดาวอังคาร ไปยังไงวะ ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้มาอยู่กรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป”

‘ห่างไกลความเจริญ’ เขานิยามชีวิตวัยเด็กเช่นนี้ ทว่าสันติในวันนี้บอกว่าเขาโชคดี ด้วยเพราะความลำบากมักสร้างมนุษย์ที่มีหัวใจแข็งแรง สันติก็เช่นกัน กระทั่งวันหนึ่ง เขาได้มาเยือนยังดาวอังคารที่ห่างไกลเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย ในเมืองที่ชื่อว่า กรุงเทพมหานคร

“ตามประสาเด็กต่างจังหวัด มากรุงเทพฯ ครั้งแรกเรากลัว กลัวตรงนั้นกลัวตรงนี้ หรือได้ยินข่าวว่าแถวพัฒน์พงศ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็กลัว สุดท้ายเราก็ไปถ่ายหนังที่พัฒน์พงศ์ วิธีเอาชนะความกลัวตอนนั้นคือ ‘กูจะไปเที่ยวมึงทุกคืนเลย’ หรือได้ยินข่าวว่าสนามหลวงอันตรายใช่ไหม กูไปเดินเลย จนสุดท้ายกูถ่ายหนังที่สนามหลวง

“เหมือนเราก็อยากรู้อยากเห็น เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนทำสารคดีนะ ต้องอยากรู้อยากเห็น อยากเสือกอะ ชอบเสือกเรื่องชาวบ้านเขา แล้วก็ชอบฟัง” เขาว่า

หนังสั้น…คืออะไรวะ

โดยพื้นฐาน สันติชมชอบศิลปะเป็นทุนเดิม ไม่ว่าดนตรี หนังสือ ภาพวาด เขาจึงเลือกเรียนคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กระทั่งวันหนึ่ง โปสเตอร์ที่มีใจความว่า ‘งานประกวดหนังสั้นไทยครั้งที่ 1’ สะดุดตาสันติ

“หนังสั้นแปลว่าไรวะ? อ๋อ น่าจะเป็นหนังที่ไม่ยาวมั้ง เดี๋ยวไปดูดีกว่า พอเข้าไปดูก็จะเป็นหนังเด็กธรรมศาสตร์ เด็กจุฬาฯ นั่นคือประกวดหนังสั้นไทยครั้งที่หนึ่งนะ ดูจบปุ๊บ… กูว่ากูทำได้ว่ะ แบบนี้กูทำได้แน่ๆ” (หัวเราะ)

สันติพกความตั้งใจในการทำหนังสั้นเรื่องแรก เดินเข้าร้านเช่าวิดีโอเพื่อหาหนังมาศึกษา กระทั่งบทหนังสั้นเรื่องแรกในชีวิตก็เสร็จสมบูรณ์ หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า กท2541

“เป็นเรื่องของคนขับรถแท็กซี่ ชื่อเรื่องเป็นป้ายทะเบียน แล้วก็ตั้งชื่อเป็นปีนั้นเลย 2541 บังคับให้เพื่อนรุ่นพี่มาเล่น เป็นแท็กซี่คนหนึ่งที่ขับรถตามกรุงเทพฯ แล้วก็รับผู้โดยสารขึ้นมาเรื่อยๆ สลับๆ กันไป ก็เอาเรื่องนี้แหละส่งประกวดเทศกาลบางกอกฟิล์ม ครั้งที่ 2 ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม

“จากนั้นหนัง กท2541 ถูกส่งไปฉายที่ฮ่องกง (Hong Kong International Film Festival) เฮ้ย! เราได้ไปฮ่องกงจากหนังเรื่องนี้เลยนะ หนังมันพาเราไปขนาดนี้เลยเหรอ เราได้ออกจากกรุงเทพฯ ไปฮ่องกงเลยนะเว้ย”

รสชาติของความสำเร็จก็ส่วนหนึ่ง ทว่าสิ่งสำคัญคือ เมื่อสันติได้แง้มประตูโลกภาพยนตร์เปิดออก เขาพบว่า ‘เฮ้ย กูเล่าเรื่องได้ กูชอบ’ นับแต่นั้น ชีวิตของเขาก็ได้คลุกคลีตีโมงอยู่กับกองถ่าย กับการทำหนัง กับโลกสารคดีเรื่อยมา

“เออเราชอบ เราเล่าเรื่องเป็นว่ะ เราแค่ถ่ายไม่เป็น ก็ให้เพื่อนถ่ายให้ ฝึกไปฝึกมา เราก็ทำได้นี่หว่า หนังเรื่องต่อมาของเราก็เริ่มใช้ชื่ออื่นบ้างแล้ว ลองดูว่าถ้าเป็นชื่ออื่นที่ไม่ใช่ สันติ แต้พานิช จะเป็นยังไง

“หนังเรื่องต่อมามีชื่อว่า รฟทบขส  เป็นเรื่องของคนรอรถไฟจะกลับบ้านแล้วก็ถูกหลอกไปทำร้าย สุดท้ายมาขึ้นรถทัวร์กลับบ้าน แล้วก็หลอกคนนั้นคนนี้อีกที เราใช้ชื่อกำกับว่า มดเอ็กซ์ ก็ได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เราก็ลองดูว่าแบบ ใช้ชื่ออื่นดูซิ อย่างเรื่องล่าสุดเราใช้ชื่อว่า สมแมว”

แล้วผู้คนจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นหนังของคุณ? – เราถามกลับ

“ไม่เป็นไร เราแค่อยากพิสูจน์กับตัวเองว่า เราทำได้จริงๆ ว่ะ แล้วก็… กูทำได้ นั่นแหละคือจุดเริ่มต้น” เขาว่า

เสือร้องไห้ (2005)

1 ปีเต็ม กับการตามติด 5 ชีวิต ที่แม้จะแตกต่างกันโดยอาชีพการงาน แต่พื้นฐานเป็นคนที่มีสายเลือดอีสานเช่นเดียวกัน ไล่เรียงมาตั้งแต่ พรศักดิ์ ส่องแสง นักร้องลูกทุ่งหมอลำชื่อดังเจ้าของฉายา ‘ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร’ เหลือเฟือ มกจ๊ก นักแสดงตลกหัวหน้าคณะเหลือเฟือ มกจ๊ก, ‘แมน หัวปลา’ พนักงานโบกรถลูกค้าเข้าสวนอาหารที่มีความฝันอยากเป็นนักแสดงตลก, ‘เนตร อินทรีเหล็ก’ (เอกพล สมบูรณ์) สตันท์แมนผู้รับบทเสี่ยงตาย และเคยร่วมงานกับ จา พนม มาแล้ว สุดท้ายคือ ‘อ้อย สิงห์นักขับ’ (รัตนกรณ์ สุทธิประภา) หญิงขับแท็กซี่ผู้มีความฝันอยากลองขับรถสิบแปดล้อสักครั้งในชีวิต

“ตอนนั้นมันไม่มีใครทำ (หัวเราะ) เราขี้เกียจทำสิ่งที่เขาทำแล้ว อย่างเรื่อง ตัวกู-ของกู ก็ไม่เห็นมีใครทำเลย เราก็ไปทำ ไปชวนคุยถึงรากของเขา ไม่ได้คุยถึงผลของความสำเร็จ ไม่ได้ไปเด็ดยอดคำคมความคิดมา แต่เอารากมาเลยว่า ก่อนที่เขาจะขึ้นไปเป็นคนแบบนี้ เขาเคยเจอเหตุการณ์อะไรบ้างที่ท้าทาย กว่าจะมาเป็นสุดยอดในสายงานของเขา เขาต้องใช้เวลานานแค่ไหน”

ฟุตเทจกว่า 300 ชั่วโมง ในระยะเวลาการถ่ายทำ 1 ปี จนกระทั่งออกมาเป็นหนังสารคดี เสือร้องไห้  ผลงานการตัดต่อของสันติ ทั้งที่ตอนนั้นสกิลการตัดต่อของเขานับว่าเป็นศูนย์ และใช้วิธีครูพักลักจำจนสำเร็จผล ด้วยเหตุผลที่ว่า

“จะไปให้คนอื่นตัดให้เราก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าเราถ่ายอะไรมาบ้าง เจอตัวละครไหนมา แล้วฟุตเทจมันตั้งสามร้อยชั่วโมง จริงๆ ก็ไม่ได้อยากตัดเองนะ แต่ว่าหาคนตัดให้ไม่ได้เลย สุดท้ายก็ต้องตัดเอง พอมองกลับไป กลายเป็นโชคดีที่ไม่มีใครรับตัดเรื่องนั้น พอเราต้องตัดหนังเองคนเดียว กลายเป็นว่ากูบรรลุเลย ตอนนี้ก็ตัดหนังเองทุกเรื่อง ตัวหย่งตัวอย่างกูตัดเองหมด จังวงจังหวะไม่สนผิดถูก ไม่มีทฤษฎีอะไรมาก รู้แค่ว่าเราจะเล่าเรื่องแบบนี้

“ผมมาพบเลยว่า จริงๆ แล้วสารคดี การตัดต่อคือส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะเราสามารถตัดให้มันเป็นแบบไหนก็ได้ การตัดต่อคือความสร้างสรรค์ที่สุดในกระบวนการทำหนังแล้ว ส่วนอื่นเป็นการแก้ปัญหา ประนีประนอมกับคน กับนักแสดง กับอะไรก็ตามแต่ แต่ช่วงตัดต่อเป็นช่วงที่เราอยู่ในห้องเงียบๆ คนเดียว กาแฟแก้วเดียว หรือดึกหน่อยก็เบียร์ขวดนึง ค่อยๆ นั่งว่าจบประโยคนี้แล้วต่อด้วยประโยคไหน เราจะ insert ภาพนี้ดีไหม ถ้าเอาเพลงนี้วางไปนะ น้ำตาไหลแน่เลย มันใช่แน่เลย ‘คิดถึงพี่หน่อยนะกลอยใจเจ้า’ (ร้องเพลง) โอ้โห ตายหมด ไม่มีใครไม่ตาย

“พี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง ก็เคยบอกนะว่า มันเหมือนการไปจ่ายตลาดมา มีเนื้อสัตว์ หมู ไก่ เห็ด แล้วก็เอามากองไว้ในห้องห้องหนึ่ง ต่อไปก็เป็นเรากับคนตัดต่อช่วยกันว่า เฮ้ย ทำอาหารอะไรดีวะ เพียงแต่ว่าพี่เป็นคนคนเดียวในห้องตัดนั้นเลย กูปรุงเองจากศูนย์ กูไม่รู้อะ กูนี่แหละ” เขาว่า

โลกที่ไร้อัตตาของ ‘กู’

“สารคดีมันคือการฟัง คนจะทำสารคดีได้ต้องฝึกวิชาการฟัง ฟังให้เป็น” เขาว่า

“ปกติแล้วเวลาอยู่ในบ้านหรือในพื้นที่ของเรา เราก็จะพูดแต่เรื่องของตัวเอง คิดแต่เรื่องของตัวเอง แต่สารคดีคือการที่เราออกไปรู้เรื่องคนอื่น และใช่ มันเป็นการพาเราออกไปอยู่โลกอื่น โลกคนอื่นเขา ไปดูว่าคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ นอกเหนือจากเราแล้ว เขาคิดอะไรอยู่ ดังนั้นเราต้องฟังให้เป็น

“คนทำสารคดีนี่คล้ายพระ ได้เจอคนหลากหลาย จะเอาแบบไหน เอาแบบเก่งๆ ศิลปะมากๆ เอาระดับครีเอทีฟ ระดับสายตาแบบตากล้อง หรือนักรำที่เก่งที่สุดในประเทศ หรือจะคนไร้บ้านเลย สารคดีก็พาเราไปได้” เขาว่า

“หลักการที่เราทำมา คือพยายามจะไม่เปลี่ยนคนที่ไปสัมภาษณ์ หมายถึงว่า เขาชอบนั่งเก้าอี้ตัวนี้ แม้ว่ามันจะมืด มองไม่ค่อยเห็นแสงก็ไม่เป็นไร เราจะไม่ไปเปลี่ยนเขาเลย ‘เถิบมาตรงนี้หน่อยครับ แสงจะได้เข้าหน้า’ เราไม่อยากทำแบบนั้น ชอบนั่งตรงไหนนั่งไปเลย จะสูบบุหรี่ก็สูบไปเลย ซึ่งก็รู้เลยว่า กูไปขอทุน สสส. ไม่ได้แน่ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่เป็นไร เราไม่เคยได้ทุนจากกระทรวงซักกระทรวงเลย เพราะตัวละครเราเดี๋ยวก็สูบบุหรี่ เดี๋ยวก็กินเบียร์ แต่เราไม่เปลี่ยนเขา ให้เขาอยู่ที่ที่เขาสบายตัวมากที่สุด”

ตัวอย่างง่ายๆ เช่นใน เสือร้องไห้ เกือบตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครของเขาอยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่ไม่เน้นแสง ไม่เน้นฉากสวย แต่เน้นให้เขาหรือเธอตรงหน้าอยู่ในอากัปกิริยาที่ปลอดภัยและสบายที่สุด

เสือร้องไห้ นี่ไม่ต้องคิดเรื่องเซ็ตเลย พรศักดิ์ ส่องเแสง อยู่โรงแรม น้ำก็ยังไม่ได้อาบ ซึ่งเราจะเอาแบบนี้ ซีนที่พรศักดิ์นอนสูบบุหรี่อยู่ตรงนี้ มันทำยากกว่านะ มันเป็นการตัดสินใจที่เราจะถ่ายเลย หรือเราจะรอให้เขาลุกไปอาบน้ำแต่งตัวเสร็จแล้วค่อยมานั่งโซฟาหนังตัวนี้ ตอนนั้นเราต้องเลือกว่า ถ่ายเลย สะกิดตากล้องให้ถ่ายเลย มันก็เกิดจากการตัดสินใจเลือกของเรา” เขาว่า

แน่นอนว่าสารคดีกับหนังฟิคชั่นย่อมแตกต่าง ทว่าในทัศนะของสันติ ความต่างที่ว่านั้นคืออะไร? เราถาม

“สารคดีมันเหมือนเราไปขอร้อง หนังเหมือนกับเราไปสั่ง อย่างการทำสารคดีก็คล้ายๆ กับธรรมะที่ไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างถ่ายตามเหตุตามปัจจัย แต่วิธีคิดของหนังคือ มันจะต้องเป็นไปอย่างที่กูคิด (หัวเราะ)

“ที่ว่าสารคดีก็เหมือนธรรมะ เพราะว่ามันสอนเราให้รอคอย สมมุติว่าเราอยู่ในบ้านกับเพื่อนๆ เรามีความสำคัญใช่ไหม? ลองเปลี่ยนไปอยู่ที่คาเฟ่ หรือหลังเวทีนักร้องสิ นั่งกันเป็นกะเหรี่ยงเลยมึง (หัวเราะ) เพราะนั่นเป็นอีกโลกนึงเลย เขาสนใจกันอีกแบบ คุยกันอีกภาษา อัตตาของเราจะหายไปหมดเลย

“หรือถ้าเข้าค่ายมวย สนามมวย เราไม่จำเป็นต้องมีตัวตนเลย เพราะเป็นเรื่องของเซียนมวยเขาคุยกัน เป็นเรื่องของเงินพนัน แม่งโคตรจะทำให้อัตตาสลายไปอย่างรวดเร็ว โคตรดีเลยไอ้ความรู้สึกแบบนั้น มันทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้สำคัญ เราไม่มีความสำคัญเหี้ยไรเลย” เขาว่า

‘ภาพยนตร์’ วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต

ทุกเรื่องเล่าที่เขายกมา ทำให้เห็นการเติบโตของเขา ผ่านการทำงาน ไม่ว่าจะบนแท็กซี่ หลังเวทีคอนเสิร์ต คาเฟ่ ค่ายมวย ไปจนถึงในกองหนังเกรดบี

“ส่วนใหญ่ในห้องเรียนจะไม่ค่อยทำให้เราโตนะ เพราะเราจะเห็นเพื่อน เห็นแต่ครู แต่ข้างนอกต่างหากที่พอออกไปโดนมาซักชุดหนึ่งก็เปลี่ยนละ เราจะเริ่มมองเห็นคนอื่นมากขึ้น จากปกติเราจะเห็นแต่ตัวเอง ได้ยินแต่เสียงความคิดของตัวเองว่า เราอยากได้อะไร ชอบไม่ชอบอะไร แต่ตอนนี้ในหัวของเรา ครึ่งหนึ่งจะเป็นการมองคนอื่น สอนให้เราเห็นชีวิตคนอื่นๆ ด้วย ไม่งั้นเราก็จะเห็นแต่ชีวิตตัวเอง เห็นแต่ตัวเอง”

มองไปในบรรยากาศของสังคม ในชีวิตของผู้คน เห็นภาพเป็นพล็อตหนังแบบไหน? เราถามเขาอีกครั้ง คราวนี้สันติไม่ได้ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา เขาบอกเพียงว่า

“เมืองไทยทำหนังสารคดีบางเรื่องไม่ได้ ใจเราอยากทำหลายเรื่องเลย แต่เงินทุนก็หายาก สอง ที่ฉายก็หายาก ก็ต้องฉายยูทูบอะไรไป เราก็เลย พูดถึงเรื่องเหล่านั้นแหละ แต่พูดในมุมที่ไม่หนัก ที่ไม่ขมมาก ถ้าเป็นกาแฟก็ไม่ได้ขมมาก ก็ยังพอที่จะมีความรื่นรมย์อยู่ในนั้น แต่ในความรื่นรมย์นั้นก็ยังเห็นชีวิตที่มันมีอีก… ผสมๆ อยู่นะ อะไรอย่างนี้ อย่าง ธรณีกรรแสง เราไปสัมภาษณ์คนที่อยู่ท้องถนน โฮมเลส คนที่อยู่ใต้ตึกใต้อะไร ถ้าเกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ จะทำยังไง เขาบอกว่า มีด้วยเหรอ อ๋อเหรอ แผ่นดินไหวเหรอ เราก็ชวนถามต่อว่า แผ่นดินไหวกับนักการเมืองไทยอะไรน่ากลัวกว่ากัน”

เขาตอบว่ายังไง?

“แผ่นดินไหวมันไหวครั้งเดียว มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่น่ากลัว แต่นักการเมืองเหี้ยๆ เนี่ย มันไหวทีชิบหายทั้งประเทศเลย โห เป็นประโยคที่แบบแม่ง…

“หรืออย่างตอนปี 2562 เราชวนตากล้องว่าเราทำไดอารี่ 2562 กันไหม บันทึกเหตุการณ์การเลือกตั้ง ทั้งตัวละคร นักการเมืองตลกๆ ชื่อตลกๆ ทุกคนเปลี่ยนชื่อเป็นทักษิณ วิธีการหาเสียง ป้ายหาเสียง หรืออะไรต่างๆ นานา หรือการที่มีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น ตอนนั้นก็ว่าจะบันทึกไว้ มีนายกฯ มีมาตรา 44 โห แค่บันทึกไว้ก็สนุกแล้วอะ ก็คิดจะทำ ตั้งโปรเจ็คต์ไว้เป็น ‘ไดอารี่ 2562’ สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ

“หนึ่งคือเราจะเจออะไรไหมวะ เขาคงไม่ยอมให้ออกเผยแพร่ ด้วยลักษณะการเล่าเรื่องแบบเรา ก้าวร้าว กวนตีน เสียดสี ยิ่งไปกันใหญ่เลย เขาคงไม่ยอม คงจะให้ทนายมาฟ้องกูแน่ๆ เลย เราไม่มีสิทธิเสรีภาพพอที่จะนำเสนอเรื่องราวแบบไหนก็ได้ พี่คงต้องไปโรงพักบ่อยๆ แค่คิดกูก็อะ กูเลิก พอ ไม่ทำ ชีวิตกูไม่สันติแล้ว (หัวเราะ) แค่นี้ก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากพอแล้ว” เล่าถึงตรงนี้ เขามีท่าทีครุ่นคิดถึงบางสิ่ง เราจึงไม่ได้เอ่ยถามสิ่งใดต่อ

เงียบกันไปสักพัก เขาจึงโพล่งขึ้นว่า…

“แต่เดี๋ยวทำเรื่องใหม่ เราก็อดไม่ได้ที่จะใส่อยู่ดีนะ เราเป็นคนโรคจิต เราเป็นคนแบบ ‘เดี๋ยวเถอะมึง เดี๋ยวมึง’ ซึ่งเราก็จะเปลี่ยนชื่อในการทำงานไปเรื่อย สมแมวบ้าง สมหมาบ้าง (หัวเราะ)”

เดี่ยวด้านใน

36 นาที คือความยาวของสารคดี เดี่ยวด้านใน บันทึกเรื่องราวของ อุดม แต้พานิช เดี่ยวไมโครโฟนชื่อดังของเมืองไทยผู้เป็นพี่ชายของเขา ที่มาที่ไปของสารคดีเรื่องนี้หาใช่อะไรซับซ้อน เขาบอกว่าเพียงว่า ‘ก็เพราะชีวิตพี่โน้ต มีประโยชน์กับคนที่ได้ดู’ เท่านั้น

“เราไม่ได้ทำเรื่องนี้ เพราะเขาเป็นอุดม แต่เราทำเพราะว่าคนนี้มีสิ่งดีๆ ที่น่าจะนำเสนอ เรามั่นใจว่าเป็นประโยชน์ น้องๆ ที่เรียนศิลปะหรือชอบความคิดสร้างสรรค์ มึงต้องดูการทำงานของพี่โน้ต มึงจะเติมอะไรต่อได้อีกหลายขั้นเลยนะ ทำไมไม่มีใครมาทำเลยวะ แล้วถ้าเราทำ เราจะเล่าในมุมที่เขาต้องแก้ปัญหา มุมของความกลัวที่ต้องไปปะทะกับมนุษย์มากมายขณะที่ยืนอยู่บนเวที

“แล้วแม่งเป็นมนุษย์ที่บัตรเข้าชมมีความคาดหวังสูงมาก (เสียงสูง) คนดูฟรีก็ไม่ได้คิดอะไร ก็เดินเข้ามานั่งดู แต่ว่าซื้อบัตรเนี่ย ความกดดันขนาดนั้นตรงนั้นน่ะ โห…มันขนาดไหน วงดนตรีดูง่ายไปเลยนะ ถ้าตอนที่คุณร้องไม่ได้ก็ยังมีกีตาร์ มีอย่างอื่นช่วย

“พี่ต้อม-เป็นเอก เคยบอกว่า ‘แต้ (ชื่อเรียกของสันติ) ทำหนังง่ายกว่าเยอะ ไปแก้ในห้องตัดก็ได้ รีชู้ต (reshoot) ก็ได้ มีคนช่วยคิดช่วยถ่าย นักแสดงเล่นไม่ดีก็ตัดต่อช่วย หนังยังไม่ซึ้งก็ใส่เพลงประกอบเข้าไปอีก แต่การยืนพูดคนเดียวเงียบๆ ในความเงียบทั้งหมดสองชั่วโมงสามชั่วโมงเนี่ย ลองสิ ลองสักสิบนาที ความยากของมันแบบ ยากมาก”

ไม่ใช่เพราะว่าเป็นพี่ชาย ไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนดัง สาระสำคัญของสารคดีเรื่องนี้ คือมนุษย์ที่ตั้งต้นจาก 0 จนถึง 12 ด้วยตนเอง สารคดีเรื่องนี้จึงว่าด้วยการเดินทางภายในของชายที่ชื่อว่า อุดม แต้พานิช ในฐานะศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ

“ถ้า เดี่ยวด้านนอก คือการพูดกับคน เดี่ยวด้านใน คือการที่พี่โน้ตได้พบเจอกับอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง แล้วจึงสร้างงานศิลปะ แต่ว่าคนไม่เคยรู้ว่าเขาสร้างงานศิลปะเยอะมาก แล้วเจ๋งด้วย ซึ่งมันน่าสนใจสำหรับเรา วิธีคิดของเขานั้นน่าสนใจมาก มันคืออิสระของการทำงานที่ไม่ได้ติดรูปแบบ ซึ่งพอเราเห็นคนทำงานสร้างสรรค์ เราจะเหมือนคนเตะบอลน่ะ ลงไปเตะด้วยกันก็รู้ว่า คนนี้เจ๋งว่ะ มีผลงาน มีวิธีคิด และยืนระยะมานาน เราสนใจคนแบบนี้ ถ้าความดังอย่างเดียวเราก็ไม่ทำ มันต้องมีอย่างอื่นประกอบด้วยเราถึงอยากทำสารคดี” เขาว่า

เนื้อกับหนัง

เนื้อกับหนัง สารคดีความยาว 1 ชั่วโมงที่บันทึกเบื้องหลังการทำงานและวิธีคิดอันแสนเฉพาะตัวของ ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง ผ่านเบื้องหลังหนัง Samui Song

“พี่ต้อมเป็นคนที่เราไหว้ได้อย่างสนิทใจเลย หายากมาก คนอายุขนาดนี้ แล้วมีจิตใจแบบนี้ แปลกมาก พี่ต้อมเป็นคนให้โอกาสคนเยอะ เราต้องการผู้ใหญ่อย่างนี้เยอะๆ เขาใจกว้าง มีฝีมือ ชัดเจน ความรู้เยอะ ตอนทำงานเราก็ต้องการรุ่นพี่อย่างนี้เวลาสร้างงาน เราอยากให้เขาเป็นคนพูดตรงไปตรงมากับเรา วิจารณ์ก็วิจารณ์ตรงๆ อะไรดีไม่ดี มันจำเป็นกับชีวิตมากนะ…ผู้ใหญ่แบบนี้”

เราแทบไม่ต้องถามต่อ ว่าเหตุใดเขาถึงเลือกเล่าเรื่องราวของผู้กำกับที่ชื่อว่า ต้อม-เป็นเอก เพราะโดยฝีไม้ลายมือแล้ว ผลงานของเขาเป็นที่ประจักษ์และจัดอยู่ในระดับ A list ของเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ นั่นเพียงพอแล้วมิใช่หรือ กับการบันทึกและถ่ายทอดสารคดีเรื่องนี้?

“อย่างถ้าเรื่อง เนื้อกับหนัง มันเป็นประเด็นการทำหนัง คนที่ชอบทำหนัง คนที่ชอบทำโปรดักชั่น การแสดง ก็จะเหมาะกับเรื่องนี้ แต่อย่าง ตัวกู-ของกู มันจะกว้างกว่าหน่อย เป็นการตัดสินใจว่าคุณเป็นคนยังไง การที่คุณจะเดินทางไปข้างหน้า คุณต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างในชีวิต ตัวกู-ของกู มันจะกว้างกว่าหน่อย คนดูน่าจะเป็นตั้งแต่เรียนปี 1 จนถึงจบมหาวิทยาลัยไปแล้วห้าปี หรือจบไปแล้วสิบปีก็ยังดูได้ อะไรอย่างนี้ แต่ เนื้อกับหนัง มันจะเป็นกลุ่มเฉพาะ ถ้าคนไม่ได้เรียนหนังหรือไม่เคยรู้จักกองถ่ายหนังก็อาจจะไม่ค่อยเก็ต ก็คนละประเภทนะ

“เราชอบศึกษาผู้ที่เป็นนักปฏิบัติ แต่ไม่อินกับนักพูดที่ไม่เคยสร้างงานอะไรเลย ซึ่งตอนนี้สังคมมีนักพูดเยอะมาก กูรู นักสอนเต็มไปหมดเลย หลายคนก็แทบจะไม่เคยมีผลงานเป็นชิ้นๆ เลยนะ เหมือนเกิดแล้วตรัสรู้เลยแต่ไม่เคยปฏิบัติอะไร แต่คนที่เราชอบมักเป็นคนที่ล้มเหลวผิดพลาดมา หนังพัง เจ๊ง แล้วก็ล้มอีก เราชอบคนที่ประสบสิ่งเหล่านี้มา เราเลยเชื่อ เราถึงเล่า เพราะมันเป็นประโยชน์” เขาย้ำ

การเดินทางไปในความฝันของปุถุชน

ไม่ใช่เพียงสถานที่ ไม่ใช่เพียงผู้คน ทว่าสารคดีได้นำพาสันติไปปะทะกับมนุษย์ผู้มีความฝัน ความอยาก ความพยายาม ภายใต้เงื่อนไขชีวิตที่ไม่เท่ากันของผู้คน คำถามคือ สันติออกเดินทางไปพบความฝันใดมาบ้าง?

“เรามักไปเจอความฝันของคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในเมืองหลวง เขาต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง เห็นความฝันของทุกคนว่ามีความต้องการคนละอย่าง ส่วนใหญ่ถ้าเป็นช่วงวัยหนุ่มก็จะเป็น เงิน ชื่อเสียง แต่เงินทองก็เกี่ยวพันกับความอยากทำให้ครอบครัวอยู่ดีกินดี อยากทำให้ครอบครัวภูมิใจด้วย ชื่อเสียงเงินทองสำหรับเขา ไม่ใช่แบบป๊อปสตาร์ แต่ขอแค่มีงานทำ กลับบ้านไปมีเงินซื้อทองให้แม่สักสองสลึง แค่นี้พอ ภูมิใจแล้ว

“อย่างความฝันของพรศักดิ์ ที่เขาก็ได้ครบแล้ว ตอนนี้อยากอยู่บ้านเฉยๆ มันเหมือนเป็นวงกลมเลยนะ ที่ต้องเริ่มต้นจากการออกจากบ้านไป เพื่อที่สุดท้าย เป้าหมายสูงสุดของคนที่ประสบความสำเร็จแล้วก็คือการได้กลับไปอยู่บ้านกับคนที่รัก กับครอบครัว

“แต่ถึงอย่างนั้น เราจะคิดอย่างนั้นไม่ได้หรอกถ้าเรายังไม่ออกไปลุยกับชีวิต มันก็เป็นตามจังหวะของมัน ไม่ผิดเลย ซึ่งสารคดีมันทำให้ได้ไปเห็นขนาดของความฝันของแต่ละคน แล้วก็ได้กลับมาเช็คตัวเองว่า แล้วเราล่ะ”

แล้วของคุณล่ะ? – เราถามสั้น แต่คราวนี้เขาใช้เวลาคิดพักใหญ่

“เออ เราไม่เคยคิด ไม่เคยมีเลย… ถ้าตอนเด็กๆ แม่งอยากมีบ้านว่ะ มาเรียนในกรุงเทพฯ เราอยากมีรถ อยากได้สิ่งของมากกว่า พูดจริงๆ นะ ไม่ได้มีความฝันแบบว่าอยากจะเป็น ไม่ได้คิดอยากเป็นผู้กำกับด้วยนะ แค่ชอบ ตอนทำเสือร้องไห้ ก็เพราะอยากรู้ว่าคนอื่นเขามีความฝันอะไรกัน ชอบที่จะไปฟังความฝันของเขา อยากรู้ชีวิตของเขา ตอนทำเรื่องแรก กท2541 เราชอบเล่าเรื่อง และเราเล่าเป็น เราก็ลองทำดู ไม่เคยคิดฝันเป็นผู้กำกับหรือไปเดินพรมแดง” เขานิ่งเงียบอีกรอบ คล้ายว่าเขา ณ ตอนนี้ กำลังเดินทางไปสำรวจตนเอง

“ตอนทำหนังสือเราก็ชอบ เรามีหนังสือตั้งหลายเล่ม ชอบทำหนังสือมากกว่าทำหนังอีก ชอบที่สุดแล้ว เป็นคนชอบเขียนหนังสือ แต่ถ่ายรูปก็มีความสุข ทำหนังสือ วาดรูป เราชอบอยู่กับแสงสีเสียงภาพ เราพบแล้ว โดยไม่เคยคิดเรื่องความฝันเลยนะ” เขาสรุปความ

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า