หนีภาษี มีตำรวจถือหุ้น: 66 ศพ ในเปลวไฟ ‘ซานติก้า’ ใบเสร็จคอร์รัปชันสถานบันเทิง

เหตุการณ์ไฟไหม้ที่ผับ Mountain B อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 15 ราย เจ็บอีกกว่า 40 ราย นำมาซึ่งการย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำของเหตุการณ์คล้ายคลึงกันอีกครั้ง นั่นคือโศกนาฏกรรม ‘ซานติก้าผับ’ ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว

เหตุอัคคีภัยไม่เพียงเปิดแผลเรื่องความปลอดภัยในสถานบันเทิงเท่านั้น แต่มันยังเผยให้เห็นเส้นทางคอร์รัปชันที่ถูกซ่อนไว้ก่อนการมาถึงของเปลวเพลิงด้วย

ค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ควรจะเป็นช่วงเวลาอันเปี่ยมสุขของนักท่องราตรี พวกเขาน่าจะได้เฉลิมฉลองส่งท้ายปีด้วยความสนุกสุดเหวี่ยง แต่หลังการเคาท์ดาวน์เพื่อเปลี่ยนศักราชได้ไม่ถึงชั่วโมง จำนวนนับถอยหลังกลับกลายเป็นจำนวนศพที่เพิ่มขึ้นแทน

59 คน สิ้นลมหายใจในเปลวเพลิง อีก 7 คน เสียชีวิตในภายหลัง และบาดเจ็บอีก 222 คน ในจำนวนเหล่านั้นมีถึง 45 คนที่อาการสาหัส

ซานติก้าผับเป็นสถานบันเทิงย่านเอกมัย เปิดทำการตั้งแต่ปี 2547 ที่นี่เคยถูกดำเนินคดีข้อหาเปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายสุราในเวลาห้ามจำหน่ายถึง 47 ครั้ง แต่หลังจาก พ.ต.อ. ‘ป.’ รองผู้บังคับการกองปราบปรามในขณะนั้นเข้าไปถือหุ้นบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ในปี 2549 ซานติก้าผับก็ไม่เคยถูกจับอีกเลย

บริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด คือผู้ถือหุ้นหลักของซานติก้า โดยกรรมการคนหนึ่งของบริษัทฯ เป็นเพียงคนขับรถของซานติก้า ส่วนเจ้าของตัวจริงกลับไม่มีชื่อเป็นกรรมการ ต่อประเด็นนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้เจ้าของตัวจริงต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อธุรกิจ

ซานติก้าเป็นอาคารเดี่ยวในพื้นที่ 500 ตารางเมตร สร้างอยู่ในพื้นที่ 4 ไร่ เป็นอาคารยกระดับ 3 ชั้น แบ่งเป็นชั้น 1 ชั้น 2 และชั้นใต้ดิน โดยมีประตู 4 จุด สำหรับบุคคลสำคัญ สำหรับออกไปสูบบุหรี่ และมี 2 ประตูซึ่งเป็นทางเข้าออกหลัก ผับหรูกลางเมืองรองรับคนได้ประมาณ 500 คน แต่ในคืนเกิดเหตุคาดกันว่ามีคนเข้าไปใช้บริการมากถึง 1,000 คน หลังการแสดงของนักดนตรีวงเบิร์น สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ถูกปล่อยขึ้นกลางเวที และนั่นเป็นเหมือนไม้ขีดที่เป็นจุดเริ่มต้นของทะเลเพลิง

ด้วยโครงสร้างของอาคารที่มีผนังโฟม สเปเชียลเอฟเฟ็กต์จึงทำให้วัสดุติดไฟ ก่อนที่เพลิงจะลุกไหม้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ประตูหนีไฟถูกล็อกไว้ก่อนหน้านี้ เพราะกลัวคนแอบเข้ามาในผับ ส่วนประตูทางออกหลักอีกจุดไม่ได้เปิดใช้งาน เหลือเพียงประตูด้านหน้าซึ่งกว้างเพียง 2.3 เมตร จุดเดียวเท่านั้นที่กลายเป็นความหวัง หลายคนยื้อแย่งเบียดเสียดเหยียบกันเพื่อหนีตายจากกองเพลิง แต่หลายคนเช่นกันที่ล้มลงตรงนั้นและไม่ลุกขึ้นมาอีกเลย จนกระทั่งโครงสร้างอาคารถล่มลงมา 

การตรวจสอบหลังเกิดเหตุพบว่า อาคารดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากอาคารพาณิชย์เพื่อการพักอาศัยเป็นสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีการตรวจสอบโครงสร้างว่าเหมาะสมกับการดำเนินการเป็นสถานบริการหรือไม่ ส่วนลายเซ็นของวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างก็มาจากการสร้างหลักฐานปลอม ซึ่งคาดกันว่าสำนักงานเขตทวีวัฒนามีส่วนรู้เห็น ทั้งยังไม่เคยตรวจสอบด้วยว่ามีอุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัยครบถ้วนเรียบร้อยดีหรือไม่

เท่านั้นยังไม่พอ ตามกฎหมายแล้วการเปิดสถานบริการในลักษณะนี้จะต้องจ่ายภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย แต่นับจากปี 2547-2551 ตลอดระยะเวลาที่เปิดบริการมา 5 ปี ปรากฏว่าซานติก้าไม่เคยจ่ายภาษีสรรพสามิตเลย ส่วนภาษีป้ายและภาษีโรงเรือน ซึ่งต้องชำระให้กับสำนักงานเขตทวีวัฒนา และภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากร ก็ปรากฏว่าไม่มีการจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

หลังเพลิงสงบ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ พบความผิด 3 ประการ คือ 1) มีการปล่อยให้ลงนามคำสั่งก่อสร้างสถานบันเทิงซานติก้าในปี 2546 2)การก่อสร้างผิดแบบ และ 3) ปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ตลอดจนการอนุญาตการใช้อาคารสถานที่ ผลคือผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนาทั้งคนก่อนหน้าและคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นถูกสั่งย้าย

ผู้เสียหาย 12 ราย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายและญาติ ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 รวมเป็นเงินกว่า 3.5 ล้านบาท เนื่องจากศาลเห็นว่า กทม. มีส่วนร่วมในการปล่อยปละละเลยการตรวจสอบสถานบันเทิง

ส่วนนายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ เจ้าของซานติก้าตัวจริง ถูกดำเนินคดีในข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา รวมทั้งนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โฟกัส ไลท์ ซาวน์ ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งรับผิดชอบทำสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ของคืนนั้น ถูกศาลสั่งจำคุก 3 ปีเช่นกัน และให้บริษัท โฟกัส ไลท์ฯ ชดใช้กรณีบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นเงิน 5,120,000 ล้านบาท

ส่วน พ.ต.อ. ‘ป.’ ซึ่งมีชื่อเป็น 1 ใน 31 ผู้ถือหุ้นบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด นั้นออกมาปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการนำชื่อไปใส่ไว้โดยพลการ 

ขณะที่ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ตำแหน่งขณะนั้น) ออกมากล่าวถึงกรณีที่ตำรวจระดับรอง ผบก. ถือหุ้นดังกล่าวว่า หากเข้าถือหุ้นธุรกิจเฉยๆ โดยไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมบริหารย่อมสามารถทำได้

“กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ได้รายงานข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการมาบ้างแล้ว ก็พบว่า พ.ต.อ. ‘ป.’ มีชื่อถือหุ้นบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ (2003) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2549 โดยถือหุ้นทั้งหมด 16 หุ้น หุ้นละ 5,000 บาท รวม 80,000 บาท อย่างไรก็ตาม การเข้าถือหุ้นธุรกิจเฉยๆ โดยไม่ได้เข้าไปร่วมบริหารสามารถทำได้ ส่วนการตั้งข้อสังเกตเรื่องไม่ใช้ยศนำหน้าในการลงชื่อถือหุ้นก็ต้องตรวจสอบเช่นกัน แต่ทั้งนี้การที่ตำรวจไม่ใช้ยศในการทำธุรกรรมใดๆ ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตำรวจจำนวนมากทำบัตรประชาชนด้วย ถ้าไม่ได้ไปทำเสียหายก็ไม่ผิด”

อ้างอิง

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า