ประเด็นการลดดอกเบี้ย กลายมาเป็นสังเวียนชกทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บนหน้าข่าวอย่างต่อเนื่อง แน่นอน การลดดอกเบี้ยสามารถช่วยแบกรับภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งก็มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์เข้ามารองรับ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม ประเทศไทย (Fair Finance Thailand) มองว่า การลดดอกเบี้ยช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินของลูกหนี้ได้บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วการสร้างรายได้ให้โตทันรายจ่าย และการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ดี คือ ทางออกที่จะช่วยลูกหนี้ให้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน คนไทยจำนวนมากต้องการสินเชื่อเพื่อต่อชีวิต ทั้งผู้มีรายได้น้อยและผู้มีอาชีพอิสระ แต่กลับถูกกีดกันออกจาก ‘สินเชื่อในระบบ’ การจะได้สินเชื่อเป็นไปได้อย่างยากเข็ญ จนต้องหันไปพึ่ง ‘หนี้นอกระบบ’ ก่อให้เกิดหนี้สินล้นพ้นตัวตามมา ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน คือโจทย์ใหญ่ที่จะนำไปสู่การปลดล็อกทลายกำแพงการให้สินเชื่อแบบเดิม
สฤณีได้เสนอคำแนะนำลูกหนี้ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสดใสว่า เป็นโอกาสอันดีที่หลายๆ คนจะได้ศึกษามาตรการ ปรับโครงสร้างหนี้ของตนเอง ก่อนที่หนี้สินจะกลายเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ หนี้อันเกิดจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ไม่เป็นธรรม เช่น หนี้เกษตรกรที่เกิดจากการปลูกพืชตามนโยบายรัฐ ก็ควรที่จะถูกยกเลิกด้วยเช่นกัน

ระบบการเงินสำหรับการปล่อยสินเชื่อในประเทศไทยมีลักษณะอย่างไรบ้าง
ระบบการเงินของเรามีหลายแบบ หลักๆ มี 3 รูปแบบคือ ‘เจ้าหนี้ในระบบ’ นั่นคือ ธนาคาร สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และมี ‘เจ้าหนี้กึ่งในระบบ’ เช่น กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ออมทรัพย์ เหล่านี้ก็อยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมาย แตกต่างกับเจ้าหนี้ในระบบที่มีธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับและมีข้อมูลลูกหนี้ในเครดิตบูโร และเรายังมีเจ้าหนี้ที่เหลืออีกอย่างหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า ‘เจ้าหนี้นอกระบบ’ มีหลายแบบมาก ทั้งเจ้าหนี้ทุนหนาที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘หมวกกันน็อก’ เพราะว่าขี่มอเตอร์ไซค์มาทวงหนี้ แล้วเดี๋ยวนี้ก็มีการปล่อยเงินกู้ออนไลน์แล้ว ส่วนญาติพี่น้องที่ให้ยืมก็ถือเป็นเจ้าหนี้นอกระบบเช่นกัน หรือแม้แต่กลุ่มออมทรัพย์ชาวบ้าน วงแชร์ ทั้งหมดนี้ถือว่าอยู่นอกระบบ ไม่มีกฎหมายมากำกับดูแลให้ดำเนินกิจการอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
การเข้าถึงสินเชื่อของคนไทยตอนนี้อยู่ในระดับเต็มประสิทธิภาพ คนที่อยากจะได้สินเชื่อตามระดับความเสี่ยงของตนเองตอนนี้ยังสามารถพัฒนาไปได้อีกเยอะ จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า คนไทยประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ มีบัญชีเงินฝาก แต่เชื่อหรือไม่ คนไทยที่สามารถเข้าถึงเข้าถึงสินเชื่อได้มีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งตัวเลขแตกต่างกันค่อนข้างมาก
กลุ่มผู้มีรายได้น้อย คือกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ ทำไมพวกเขาจึงเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้ยากเข็ญนัก
ถามว่าทำไมผู้มีรายได้น้อยหรือผู้มีความเสี่ยงสูงเข้าไม่ถึงการเงินระบบ คำตอบอาจจะมีหลายมิติด้วยกัน เหตุผลที่ 1 อันเป็นผลมาจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้ธนาคารต้องเคร่งครัดในการปล่อยสินเชื่อ ประเมินความเสี่ยงอย่างรัดกุม ดูความสามารถในการชำระหนี้สิน ซึ่งเป็นทัศนคติแบบอนุรักษนิยมในการปล่อยสินเชื่อ
เหตุผลที่ 2 คือ รูปแบบหรือเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ เราคุ้นเคยว่าการยื่นเอกสารเพื่อขอสินเชื่อต้องมีสลิปเงินเดือน เพื่อเป็นหลักประกันว่า คุณมีอาชีพมั่นคง มีรายได้มั่นคง อย่างมนุษย์เงินเดือนก็จะเข้าเงื่อนไขนี้ง่ายกว่า เพราะมีเอกสารชัดเจน อาจจะมีบัญชีเงินฝากหรือหลักทรัพย์อื่นๆ ไปคํ้าประกันในการขอสินเชื่อด้วย ซึ่งธนาคารหรือสถาบันทางการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าประเภทนี้ได้ไม่ยาก
ในทางตรงกันข้าม หากกลุ่มลูกค้าคือ ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มอาชีพอิสระ (freelance) พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือ SME รายย่อยต่างๆ เขาก็อาจไม่อยู่ในเงื่อนไขการพิจารณา เพราะไม่มีเอกสารทางการเงิน ธนาคารจึงไม่ทราบว่าพวกเขามีแหล่งรายได้มั่นคงหรือไม่ มีกำลังหรือความสามารถในการชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการปล่อยสินเชื่อ
พอจะมีวิธีแก้ไขหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มอาชีพอิสระ หรือกลุ่ม SME บ้างหรือไม่
ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ได้ ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น อย่างกลุ่มค้าขายออนไลน์ สามารถนำยอดขายของตนเองในระบบซื้อขายตามแพลตฟอร์มต่างๆ ไปให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินประเมินความสามารถในการชำระหนี้ได้ ในภาษาการเงินเรียกว่า ‘ข้อมูลทางเลือก’ (alternative data) ที่ไม่ใช่ข้อมูลอย่างในอดีตที่ผ่านมา แต่ข้อมูลทางเลือกนี้เป็นประโยชน์ในการสร้างโปรไฟล์ผู้ขอสินเชื่อและประเมินความสามารถของผู้ขอสินเชื่อได้ หากมีการส่งเสริมในเชิงนโยบายมากขึ้น ทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก มีการให้ความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูล ก็จะเป็นประโยชน์ในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้มีอาชีพอิสระได้มากขึ้น
อีกในมุมมองหนึ่ง ในฐานะเจ้าหนี้ ธนาคารพาณิชย์อาจมองว่า ทำไมเราจะต้องไปเสาะแสวงคนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาเป็นลูกค้า หรือลูกค้าบางกลุ่มนั้นมีสถาบันการเงินของรัฐให้บริการอยู่แล้วในราคาที่ถูกกว่า ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่คุ้มที่จะลงไปแข่งขันด้วย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่คือ เกษตรกร พันธกิจของธนาคารก็ตั้งขึ้นมาเพื่อเกษตรกรโดยเฉพาะ
อัตราดอกเบี้ย มีผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากน้อยเพียงใด
การกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงในสังคม เพียงแต่ว่าเรามองจากมุมไหน ถ้ามองจากมุมลูกหนี้ การกำหนดดอกเบี้ย 18 เปอร์เซ็นต์ หรือ 26 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มันสูงเกินไป ควรจะลดลงมา แต่หากมองในมุมเจ้าหนี้แล้ว สำหรับลูกหนี้บางกลุ่มประเด็นสำคัญคือความสามารถในการชำระหนี้ แน่นอนว่าลูกหนี้มีหลายแบบ ถ้าธนาคารมั่นใจว่าลูกหนี้คนไหนมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ เขาก็มีความยินดีที่จะลดดอกเบี้ยให้ เพราะมีความเสี่ยงตํ่ากว่าลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่มั่นคง ดังนั้น ความเสี่ยงคือ spectrum
ในความเป็นจริงอีกส่วนหนึ่ง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยก็เป็นการกีดกันคนบางกลุ่ม ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ด้วยเพดานดอกเบี้ยเช่นนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ก็มองว่า ถ้าคิดดอกเบี้ยสูงสุดเท่านี้ ก็อาจจะไม่คุ้มต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้หลายคนพากันไปพึ่งสินเชื่อนอกระบบซึ่งดอกเบี้ยก็อาจจะสูงกว่า 100-200 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
หากไม่มีเพดานดอกเบี้ยจะทำให้การปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้นหรือไม่
สมมติว่าถ้าไม่มีเพดานดอกเบี้ย ก็เป็นไปได้ที่ธนาคารอาจจะให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มอาชีพอิสระ แต่อาจจะคิดดอกเบี้ยสูงไปถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ก็ได้
ดังนั้น ในมุมหนึ่งเพดานดอกเบี้ยอาจจะเป็นการกีดกันการเข้าถึงการเงินในระบบด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอกว่า ในสังคมไทยจำเป็นที่จะต้องมีเพดานดอกเบี้ยไว้ เพราะสถาบันการเงินอาจฮั้วกัน ไม่ได้แข่งขันกันตามที่ควรจะเป็น ไม่ได้ประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้จริงๆ
ขณะเดียวกัน เพดานดอกเบี้ยจะเป็นตัวคุ้มครองลูกหนี้ให้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม แต่ในมุมมองของ Fair Finance Thailand เรามองว่า เพดานดอกเบี้ยควรจะถูกยกเลิกเสีย หากเกิดความกังวลว่าลูกหนี้จะถูกเอารัดเอาเปรียบ เกิดการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ของเจ้าหนี้ ทำให้คิดดอกเบี้ยสูงมาก เราอาจจะพิจารณากลไกอื่น เช่น ในสหรัฐมีกฎหมายต่อต้านอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น แต่โดยรวมเราควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยกลไกตลาดในที่นี้หมายความว่าจะต้องมีการแข่งขันอย่างจริงจังระหว่างผู้ให้บริการรายต่างๆ
เราจึงเสนอว่า แบงก์ชาติควรเปิดเสรีให้มีคู่แข่งเข้ามาในตลาดสินเชื่อมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน อย่างข้อมูลทางเลือก เป็นต้น เพื่อเอื้อให้ผู้เล่นรายเล็กสามารถเข้ามาปล่อยสินเชื่อได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้คือการส่งเสริมบริการทางการเงินขยายไปยังผู้ที่ไม่สามารถเข้าสู่สินเชื่อในระบบได้
ข้อเสนอตรงนี้ หากหลายฝ่ายยังคงมีความกังวลอยู่ ทาง Fair Finance Thailand จึงมองว่า สามารถควบคุมกำกับดูแลในภาพรวมผ่านมาตรการสินเชื่อที่เป็นธรรมได้ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็มีแนวทางการพิจารณาหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ในการกำกับดูแลมารยาทการปล่อยสินเชื่อที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น ทำอย่างไรให้ธนาคารสื่อสารได้อย่างชัดเจนในเรื่องของเงื่อนไขและหนี้สินต่างๆ การประเมินความเสี่ยงลูกหนี้ ไม่อนุมัติการก่อหนี้ที่ลูกหนี้อาจอยู่ในภาวะเกินกำลังจ่าย รวมไปถึงการทวงหนี้ด้วย
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม แม้ว่าธนาคารอาจจะบ่นว่าเคร่งครัดเกินไป ทำไม่ได้จริง แต่มาตรการเหล่านี้คือ การสร้างมาตรฐานของเจ้าหนี้ในทุกแบบ
เมื่อนายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการลดดอกเบี้ย แต่ทำไม ธปท. จึงไม่เห็นด้วย
คุณเศรษฐาพูดเรื่องดอกเบี้ยบ่อย ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ แนวคิดว่าด้วยดอกเบี้ยมีหลายหลาก ส่วนตัวเห็นว่ามันมีเหตุผลทุกฝ่าย แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ดอกเบี้ยค่อยๆ ขยับขึ้น มันจะมีเหตุผลมารองรับงเสมอ เช่น การเงินไหลออก ผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและการลงทุน มันจึงมีส่วนในการเพิ่มภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) แต่การที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยมันเป็นดอกเบี้ยนโยบาย แบงก์ต่างๆ จึงค่อยๆ ปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม
ถ้าเราดูกำไรธนาคารเทียบกับทุนของเขา มันอาจไม่ได้ดูเป็นผลตอบแทนที่สูงอะไร เพราะฐานทุนเขาเยอะมาก กำไรนั้นส่วนหนึ่งก็ได้อานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้น พอผ่านไปหลายเดือนก็เข้าใจว่า คนก็จะเรียกร้องให้ธนาคารลดดอกเบี้ย หากแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็จะจูงใจให้ธนาคารลดดอกเบี้ยตาม ภาระดอกเบี้ยก็จะน้อยลง ซึ่งเป็นการมองในมุมของการเงิน ไม่ได้มองในมุมของเศรษฐศาสตร์มหภาค
การลดดอกเบี้ยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินคนไทยได้จริงหรือไม่
สมมติว่าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย (นโยบาย) มันจะช่วยแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวมองว่า มันก็ย่อมได้ แต่ไม่ได้แบ่งเบาภาระเยอะขนาดนั้น เพราะสินเชื่อหลายส่วนเป็นสินเชื่อคงที่ ปัญหาจริงๆ มันคือ กลุ่มลูกหนี้ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร เพราะรายได้ของพวกเขาไม่พอรายจ่าย และมีปัญหาซ้อนทับเข้าไปอีกคือ เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ เลยต้องไปพึ่งนอกระบบ ถ้าเป็นปัญหาแนวนี้ การลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะการลดดอกเบี้ยไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น แบงก์ก็มองว่าได้อยากปล่อยให้อยู่แล้ว เพราะมีความเสี่ยงสูง และการลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ทำให้เขามีรายได้มากขึ้น
พอจะมีทางออกอื่นหรือไม่ นอกเหนือไปจากการลดดอกเบี้ย
ถ้าเราจะคาดหวังให้ภาระดอกเบี้ยหรือหนี้สินลดลง จะไปเพ่งเล็งเรียกร้องให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีอีกหลายเรื่องที่ควรทำและทำได้ แน่นอน การฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มดีกว่านี้ คนไทยมีรายได้มากขึ้น ยังไงก็มีกำลังจ่ายหนี้ได้มากขึ้นแน่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
มันมีทางออกอื่นๆ ในการแก้ไขภาระดอกเบี้ยหรือหนี้สินอื่น เช่น อย่างที่คุณสุรพล โอภาสเถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เคยเสนอให้แบงก์ชาติลดเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ต้องอุ้มสถาบันการเงินสมัยต้มยำกุ้ง จาก 40 กว่าสตางค์ เหลือ 20 สตางค์ต่อ 1 บาท ส่วนต่างตรงนี้สามารถเอาไปลดดอกเบี้ยให้กับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงในระบบได้ คือเจาะจงกลุ่มเป้าหมายไปเลย ไม่ใช่ลดดอกเบี้ยแบบเหวี่ยงแห ซึ่งที่จริงบางทีแบงก์ก็ไปลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ชั้นดีด้วยนะ เพียงเพื่อจะดึงดูดให้เป็นลูกหนี้กันต่อไป
ถ้าเรามองไปที่ปลายนํ้าเลยคือ กระบวนการทางศาล ถ้าแนวโน้มหนี้สินมากขึ้น อาจจะมีคนถูกยึดบ้าน ยึดรถ เรื่องไปถึงชั้นศาลแล้ว ทาง Fair Finance Thailand เสนอให้มีการเปิดช่องฟื้นฟูหนี้สิน ทำอย่างไรให้ลูกหนี้มีชีวิตใหม่ได้ รอดจากวิกฤตตรงนี้ไปได้ สุดท้ายมันต้องแก้ที่ mindset ไม่อยากให้มองว่า ใครที่เจอปัญหาล้มละลาย หนี้สินล้นพ้นตัว เพราะว่าขี้เกียจหรือโง่ เพราะเหตุผลของพวกเขามันหลากหลาย อย่างช่วงโควิด คุณจะเก่งไม่เก่งมันก็กระทบไปทั้งหมด

หลายเดือนมานี้มีการรายงานตัวเลขหนี้เสีย หนี้รอเสีย ที่เพิ่มขึ้น และการยึดสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการทิ้งหนี้ เพราะไม่มีความสามารถในการจ่ายคืน ตรงนี้จะแก้ไขกันอย่างไร
พอลูกหนี้เกิดปัญหาแบบนี้ การปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีประสิทธิภาพคือต้องยึดเอาลูกหนี้เป็นศูนย์กลาง หมายความว่า ให้ลูกหนี้เอาสัญญาทั้งหมดมากาง มี 20 สัญญา ก็เอามากางให้หมด เพื่อให้เห็นภาพรวมของหนี้สิน แล้วพิจารณาว่าจะเริ่มปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร จากตรงไหน คุณมีรายได้เท่าไร อะไรควรผ่อนก่อนและหลัง ตรงนี้อาจจะยืดหนี้ ตรงนี้อาจจะต้องตัดหนี้ แต่ในความเป็นจริงเราไม่มีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพเท่าไร จนกลายเป็นภาระของลูกหนี้เอง พอเขาเริ่มจ่ายไม่ได้แล้วเขาก็จะหลงทางได้
หลังโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามออกมาตรการต่างๆ ออกมา เช่น การรวมหนี้ เพื่อปรับโครงสร้างในครั้งเดียว เป็นต้น การปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก (preemptive debt restructuring) คือ ธนาคารไม่ต้องรอให้หนี้นั้นเป็นหนี้เสียก่อน คุณจะต้องประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ตลอดเวลา เมื่อพบว่าลูกหนี้เริ่มมีความเสี่ยงเเล้ว ให้รีบเสนอเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ทันที ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสียก่อน
จากงานวิจัยทั่วโลกพบว่า การเรียนรู้ทักษะการบริหารจัดการหนี้สินในจุดที่ดีที่สุดคือ ตอนที่ลูกค้ามาขอสินเชื่อก็ควรมีกลไกอะไรในการให้ข้อมูลความรู้เขาตรงนั้นเลย ทำให้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการขอสินเชื่อไปเลย
อย่างไรก็ตาม Fair Finance Thailand เคยทำการสำรวจในช่วงโควิด-19 พบว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาสามารถช่วยลูกหนี้ได้จริง แต่ลูกหนี้ไม่ได้มีอำนาจต่อรองทัดเทียมกับเจ้าหนี้อยู่ดี เพราะไม่มีอะไรมาการันตีว่า แผนของเจ้าหนี้ที่เสนอมานั้นจะเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกหนี้ เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงองค์รวมของลูกหนี้แต่ละคนได้ถึงขนาดนั้น ดังนั้น เราควรเพิ่มโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อที่จะตามไปแก้ปัญหาจนสุดทาง อย่างที่เราเสนอคือ การยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ (voluntary backruptcy) เปิดทางให้มีกระบวนการยื่นแผนฟื้นฟูหนี้สิน หรือในทางนิติบุคคลคือการฟื้นฟูกิจการ ให้ลูกหนี้ทำแผนเสนอเจ้าหนี้ ลูกหนี้มีเวลาได้หายใจ มีโอกาสในการจัดการปัญหาหนี้สิน อย่างน้อยก็ชำระหนี้สินได้บางส่วน
สุดท้ายนี้ ในสภาวะที่เศรษฐกิจชักหน้าไม่ถึงหลัง คุณสฤณีมีข้อแนะนำสำหรับลูกหนี้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่มันดูแล้วไม่ค่อยสดใส การลงทุนที่ต้องใช้เงินจำนวนมากอาจจะต้องทบทวนก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ แม้ว่าการก่อหนี้บางอย่างจะทำให้เราได้สินค้านั้นมา แต่อย่าลืมว่า หนี้คือภาระผูกพัน ถ้ามันจะผูกพันเราไปในระยะยาวอย่างหนี้บ้าน ก็ควรจะต้องทบทวนดีๆ ส่วนตัวคิดว่า หลายคนก็คงคิดตรึกตรองตรงนี้แล้ว อาจเปลี่ยนเป็นการเช่าไปก่อน เป็นความพยายามในการจัดการหรือลดความเสี่ยงในการก่อหนี้สิน
สำหรับคนที่เป็นหนี้สินอยู่แล้ว อาจต้องมาจัดลำดับไล่เลียงความสำคัญของหนี้ ว่าอะไรคือหนี้ที่มีความจำเป็น อะไรคือหนี้ที่ไม่จำเป็น หนี้ส่วนไหนบ้างที่เราสามารถแปลงหรือรวมหนี้ได้
ในช่วงเวลาเช่นนี้ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับลูกหนี้เองที่จะได้ลองไปศึกษาหาข้อมูลมาตรการ ทางเลือก ปรับโครงสร้างหนี้ หรือติดตามประกาศใหม่ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย หาข้อเสนอหรือเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่เราจะเป็นหนี้เสีย
ในฐานะนักการเงิน อยากแนะนำว่า เราทุกคนควรที่จะทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทำบัญชีหนี้สิน ถ้าใครยังไม่เคยทำก็อยากให้เอาหนี้ทุกก้อนมากางดูเลย ไล่ย้อนดูว่าหนี้สินที่กู้ยืมมามันเป็นไปตามจุดประสงค์ของเราไหม ความสามารถของเราในการชำระหนี้เป็นอย่างไรต่อรายได้ของตนเอง ประมาณการว่าหากรายได้ลดลง เราจะยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่หรือไม่ รวมไปถึงการสำรองฉุกเฉิน
อีกข้อหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้สินคือ การแก้ไขและยกเลิกเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม อย่างในกรณีของหนี้ครู หรือหนี้บางก้อนอาจเกิดจากความไม่เป็นธรรมจากนโยบายรัฐเอง อย่างหนี้สินเกษตรกรที่เกิดจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล เช่น นโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดนี้ แต่ขายไม่ได้ ก็ควรจะมีการยกเลิกหนี้ เพราะไม่ยุติธรรมกับเกษตรกรตั้งแต่ต้น
ส่วนการออมนั้นก็สำคัญไม่น้อย ควรมีเงินเก็บที่พอประมาณต่อการดำเนินชีวิตในยามฉุกเฉิน เช่น เมื่อรายได้ลดลง ภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ เงินเก็บนี้ก็จะสามารถช่วยให้รอดพ้นไปได้ โดยไม่ต้องไปก่อหนี้เพิ่ม
ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือในการลดภาระหนี้สินหรือการเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้เท่านี้คงไม่น่าจะพอ ต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถในการออมเงิน จูงใจให้มีการออมเงินในระยะยาว เรื่องนี้สำคัญอย่างมาก เพราะไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราควรสร้างแรงจูงใจให้คนออมมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคต ซึ่งรัฐอาจจะต้องเข้ามามีส่วนในการส่งเสริมตรงนี้ให้คนเห็นภาพมากขึ้นด้วย