สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์: คุยเรื่องโลกศาสตร์ กับ ‘Extreme Weather’ ฝนห่าใหญ่ในสภาพอากาศสุดขั้ว

เมื่อเมฆครึ้มหนาแผ่ปกคลุมทั่วท้องฟ้า จินตนาการได้ว่าไม่นานนักฝนคงเทพรวดลงมาห่าใหญ่ พร้อมๆ กับมวลน้ำที่เอ่อล้นตามตรอกซอกซอยในเมืองหลวง ผู้คนทุลักทุเลไปกับการปกป้องบ้านเรือนจ้าละหวั่น รถราจอดกระจุกอารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่าน ถนนทุกสายกลายเป็นอัมพาต …มันเป็นเช่นนั้นมาหลายวัน มาอย่างไม่ให้สุ้มให้เสียง ทิ้งไว้เพียงความโกลาหลในเบื้องหลัง 

9-11 กันยายน 2565 คือ 3 วันแห่งความวิปริต ปริมาณน้ำฝนพุ่งถึง 100 มม. ต่อชั่วโมงต่อเนื่อง พอดิบพอดีกับน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยาที่ถูกระบายออกมาถึง 1,800-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ปริมาณน้ำฝน 100 มม. ต่อชั่วโมง อาจเกิดขึ้นได้จาก Extreme Weather หรือ สภาพอากาศสุดขั้ว เป็นปัจจัยหนึ่งของ Climate Crisis วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นห่าฝนที่ไม่ต่างอะไรกับการเล่นไฮโล นั่นคือ เราไม่รู้ว่าลูกเต๋าจะออกหน้าไหน คาดเดาไม่ได้ และรับมือยาก 

ลำพังเพียงน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ มองว่า กรุงเทพมหานครยังพอถูไถ ทว่าหากโชคไม่เข้าข้าง ดันพ่วงเจ้าฝนจาก  Extreme Weather มาด้วยนี่สิเรื่องใหญ่ 

WAY ถือโอกาสในวันเมฆครึ้ม ชวน ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์วิชาฟิสิกส์และโลกศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนทนาในห้วงเวลาปลายฝนต้นหนาว ถึงที่มาที่ไปของเจ้าฝนอันเกิดจาก Extreme Weather (สภาพอากาศสุดขั้ว) ทาบทับกับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย ไปจนถึงเรื่อง Climate Crisis ที่ ดร.สธน ใช้เวลากว่า 30 ปีในการศึกษา และมองหาทางออก (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กันยนยน 2565)

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

วิชาโลกศาสตร์คืออะไร และฟิสิกส์เกี่ยวข้องอย่างไรกับโลกศาสตร์

โลกศาสตร์ในความหมายหนึ่ง แปลง่ายๆ คือ วิทยาศาสตร์โลก หมายถึงวิชาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโลกและระบบของโลกทั้งหลาย เป็นสหวิชาที่ใช้ศาสตร์หลายอย่างรวมกัน เพราะโลกศาสตร์จะแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นพื้นดินและส่วนที่อยู่ใต้พื้นดิน (ธรณีภาค) ส่วนที่เป็นน้ำและระบบน้ำทั้งหมด (อุทกภาค)  ส่วนที่เป็นบรรยากาศ (อากาศภาค) ส่วนสุดท้ายคือเรื่องของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้อง (ชีวภาค)

โลกศาสตร์ จึงเป็นศาสตร์ที่ได้ใช้ความรู้ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยา แล้วบางครั้งยังรวมถึงรัฐศาสตร์ด้วย เพราะในเรื่องของกระบวนการที่เราเรียกว่า mitigation คือการชดเชย หรือบริหารจัดการชุมชนที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ รวมถึงเรื่องกฎหมายด้วยว่าเราจะดูแลชุมชนอย่างไร หรือจัดการกับความต้องการของประชาชนอย่างไร

ฝนเดือนกันยายนของทุกปีถือเป็นฤดูกาลตามธรรมชาติ แต่เหตุใดปีนี้จึงดูหนักหน่วงผิดปกติ

ผมไม่เรียกว่าผิดปกตินะ

ทีนี้ ตำแหน่งร่องฝนในบ้านเรานั้น เคลื่อนจากศูนย์สูตรหรือจากสิงคโปร์ขึ้นมาทางเหนือตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ คือวิ่งตามตำแหน่งของดวงอาทิตย์ แสงอาทิตย์ตกตั้งฉากเมื่อไหร่ สักพักหนึ่ง ร่องฝนจะตามมา เพราะฉะนั้นในบ้านเราจะมีจังหวะที่ร่องฝนเคลื่อนผ่านอยู่ 2 รอบ รอบแรกคือ หลังจากที่ตำแหน่งของแสงดวงอาทิตย์ตกตั้งฉาก ข้ามจากซีกโลกใต้มาซีกโลกเหนือตอนปลายเดือนมีนาคม ฉะนั้น ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ร่องฝนจะค่อยๆ เคลื่อนจากสิงคโปร์มาเข้าเขตประเทศไทยประมาณปลายๆ เดือนเมษายน แล้วจะผ่านกรุงเทพฯ ขึ้นไปทางภาคเหนือ กระทั่งเลยไปประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน

ทีนี้ ตำแหน่งร่องฝนในบ้านเรานั้น เคลื่อนจากศูนย์สูตรหรือจากสิงคโปร์ขึ้นมาทางเหนือตามดวงอาทิตย์ คือวิ่งตามตำแหน่งของดวงอาทิตย์ แสงอาทิตย์ตกตั้งฉากเมื่อไหร่ ร่องฝนจะตามมาในช่วงเวลาสักพักหนึ่ง เพราะฉะนั้นในบ้านเราจะมีจังหวะที่ร่องฝนเคลื่อนผ่านอยู่ 2 รอบ รอบแรกคือ ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ข้ามจากซีกโลกใต้มาซีกโลกเหนือตอนปลายเดือนมีนาคม ฉะนั้น ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ร่องฝนจะค่อยๆ เคลื่อนจากสิงคโปร์มาเข้าเขตประเทศไทยประมาณปลายๆ เดือนเมษายน แล้วจะผ่านกรุงเทพฯ ขึ้นไปทางภาคเหนือ กระทั่งเลยไปประเทศจีน ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 

หลังจากเดือนมิถุนายน คือดวงอาทิตย์เริ่มเคลื่อนที่กลับลงมาทางใต้ ร่องฝนก็จะวิ่งตามมา แล้วผ่านประเทศไทยอีกรอบหนึ่งในเดือนกันยายน ฉะนั้น ร่องฝนจะผ่านประเทศไทย 2 ครั้ง ใน 1 ปี รอบแรกคือพฤษภาคม รอบสองคือกันยายน

ผลกระทบคือ เวลาลมสองสายมาปะทะกัน มันจะลอยขึ้นแล้วเกิดก้อนเมฆอยู่สองฟากของแนวร่อง เป็นเมฆหนาสองข้าง ฝนที่ตกหนัก ลักษณะเด่นอันหนึ่งคือ ถ้าร่องฝนพาดผ่านตรงไหน มันจะมีฝนตกต่อเนื่อง อาจจะ 24 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น แต่ฝนจะมีหนักเบาเป็นช่วงๆ บางครั้งตกนาน 2-3 วันก็มี ส่วนในบ้านเรา ถ้ายังจำได้ เดือนพฤษภาคมฝนตกเยอะ พอเดือนมิถุนายน กรกฎาคม จะเริ่มซาลง เหลือฝนบ้างนิดหน่อย แล้วเดือนกันยายนก็จะเริ่มตกหนักอีกรอบหนึ่ง

ปัจจัยที่สอง-พายุ ของเราเรียกว่า ‘พายุหมุนเขตร้อน’ มาจากมหาสมุทรแปซิฟิก ราวช่วงเดือนตุลาคมจะพัดเข้าเขตประเทศไทย และช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม ก็จะมีพายุทางฝั่งอันดามัน แต่เวลามา เขาจะไม่เข้าภาคใต้ เขาจะเข้าภาคเหนือคือในลาวหรือเมียนมาตอนบน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อบ้านเราเหมือนกัน

สรุปคือ เดือนกันยายนเป็นเดือนที่ฝนตกเยอะ เพราะร่องฝนพัดผ่าน ข้อดีของฝนเดือนกันยายนคือ มันบอกให้เรารู้ว่าหน้าหนาวกำลังจะมาถึง หลังจากฝนตกหนักผ่านไป อากาศเย็นจะมาเยือน ถ้าเมื่อไหร่ร่องฝนขยับลงใต้บริเวณประจวบคีรีขันธ์ ก็จะเริ่มสลายตัวแล้ว หมายความว่าลมตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตอนนั้นกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเป็นฤดูหนาว อากาศจะเย็นลง เพราะฉะนั้นกันยายนจึงเป็นช่วงฝนสุดท้ายของปี นี่คือสภาพปกติ

หากเรามองหาความ ‘ผิดปกติ’ ในความปกติของสภาพอากาศปีนี้ เราจะเห็นอะไรบ้าง

มีคนทำสถิติเพื่อดูว่าเดือนกันยายนปีนี้มันมีปัญหาอะไร เขาพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีฝนตกหนักจนกระทั่งมีปริมาณน้ำฝนเกิน 100 มม. ต่อชั่วโมงอยู่ 10 กว่าครั้ง ในจำนวนนี้มี 6 ครั้ง เกิดในเดือนกันยายน 2565 นี้

เท่าที่ผมดูพบว่า ปริมาณน้ำฝน 100 มม. ต่อชั่วโมงนั้นมีอยู่ทุกปี แต่ช่วงต้นเดือนกันยายนปีนี้มันตกหนักที่กรุงเทพฯ พอดี มันมีความพิเศษคือ ก่อนวันที่ 9 กันยายน ร่องฝนยังอยู่แถวๆ เชียงใหม่ แต่พอตอนเช้าอีกวันกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว มันวิ่งผ่านครึ่งประเทศในเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมง เพราะลมตะวันออกเฉียงเหนือมีความแรงแล้วดันร่องฝนลงมาพอดี ค้างอยู่ที่กรุงเทพฯ 3 วัน ทำให้ช่วง 3 วัน (9-11 กันยายน 2565) เกิดฝนตกต่อเนื่อง แล้วมีปริมาณน้ำฝน 100 มม. ต่อชั่วโมง ต่อเนื่อง 3 วัน

พอวันที่ 15-18 กันยายน 2565 ร่องฝนถอยกลับขึ้นเหนือเชียงใหม่ เพราะลมตะวันออกเฉียงเหนืออ่อนลง ต้องรอจนกว่าระลอกถัดไปคืออากาศทางตอนเหนือมันเย็นมากกว่า ก็จะดันลงมาอีกที ร่องฝนถึงจะขยับตัว และจากวันที่ 21 กันยายน ลมตะวันออกเฉียงเหนือจะค่อยๆ แรงขึ้น แล้วร่องฝนก็จะถูกผลักลงไปทางใต้มากขึ้น ในที่สุดก็จะลงใต้ไปแล้วไม่กลับขึ้นมาพาดผ่านประเทศไทยอีก 

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

เพราะฉะนั้น ปริมาณน้ำฝน 100 มม. ต่อชั่วโมง เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น นี่คือลักษณะหนึ่งที่เขาเรียกว่า Extreme Weather หรือ สภาพอากาศสุดขั้ว สิ่งนี้เกี่ยวพันกับภาวะโลกร้อน เพราะภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ทำให้อากาศอุ้มน้ำได้เยอะ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดพายุหรือฝนตกหนักจะเยอะกว่าช่วง 10 ปีที่แล้ว ที่อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า นี่ยังไม่นับปัจจัยอื่นๆ นะครับ

เพราะฉะนั้น เราจะอธิบายฝนตกหนักถึง 100 มม. ต่อชั่วโมง ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่อง 3 วันในกรุงเทพฯ ด้วย Extreme Weather สภาวะนี้มันเหมือนเราทอยลูกเต๋า หมายความว่า คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เรารู้แน่ว่า ความถี่ที่จะเกิดฝนแบบนี้มีเพิ่มมากขึ้น ปีนี้เราอาจจะโชคร้ายที่เกิดขึ้น 3 วันติดกัน แต่ปีหน้าอาจจะไม่เกิดเลยก็ได้ หรือปีถัดไปอาจจะเกิดแค่ครั้งสองครั้ง แต่โดยรวมมันเกิดถี่ขึ้น

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

สถานการณ์ฝนเดือนกันยายนปีนี้ที่ตกหนักต่อเนื่องในกรุงเทพฯ มีความพิเศษอย่างไร

มันพิเศษตรงที่ว่า หนึ่ง-ปริมาณน้ำฝน 100 มม. ต่อชั่วโมง ติดกัน 3 วัน สอง-มันเกิดขึ้นในวันที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดพอดี และสาม-เกิดขึ้นในจังหวะที่เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นด้วย

การที่น้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับน้ำ 3 อย่าง คือน้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน ถ้ามาแค่น้ำเหนือและน้ำหนุน ระบบของกรุงเทพฯ ยังพอรับได้ แต่ถ้าน้ำฝนมา ปัญหาคือเราต้องสูบน้ำออก ถามว่าทำไมต้องสูบน้ำออก น้ำไม่ไหลลงไปเองเหรอ ไม่ครับ เพราะระดับความสูงของน้ำต่างกัน เช่น แถวสมุทรปราการ อยู่ที่ 50 เซนติเมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกิน 2 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง นนทบุรีอยู่ที่ประมาณ 2 เมตรกว่าๆ แต่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพราะฉะนั้นคนที่บอกว่ากรุงเทพฯ จะจมทะเลใน 10 ปีข้างหน้า ผมก็จะเถียงว่า ตอนนี้มันจมอยู่แล้ว 

ถ้าเราไปที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว คนสมุทรปราการเขาจะรู้ว่าต้องออกจากบ้านกี่โมง เพราะถ้าเขาออกมาผิดเวลา น้ำจะท่วมถนน รถไปไม่ได้ เขาต้องรอให้น้ำลงก่อนถึงจะออกจากบ้านได้ แต่ตอนหลังเราใช้วิธีสร้างเขื่อนกั้น น้ำจึงไม่ทะลักเข้ามา ตอนนี้คุณลองนั่งรถไปที่ท่าสี่พระยาสิ เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลย เพราะระหว่างที่เรายืนอยู่บนบก กับข้ามไปยืนที่โป๊ะเทียบเรือเพื่อรอขึ้นเรือ คุณจะยืนอยู่สูงกว่าถนนเมตรกว่าๆ นี่แหละคือกรุงเทพฯ 

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน คือน้ำทะเลหนุนสูง แล้วก่อนหน้านั้นเขื่อนเจ้าพระยาปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นจาก 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘น้ำเหนือลง น้ำทะเลหนุน’ แล้ววันที่ 9-11 กันยายนที่ผ่านมาเกิดฝนตก แล้วดันเป็นฝนตกหนัก 100 มม. ต่อชั่วโมงด้วย พอน้ำทะเลหนุนสูง เราจึงไม่สามารถสูบน้ำออกจากคลองได้ คันกั้นน้ำช่วยกันน้ำเหนือกับน้ำหนุนจริง แต่ก็เป็นอุปสรรคในการเอาน้ำฝนออกจากกรุงเทพฯ อีกทั้งท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อระบายน้ำ จริงๆ แล้วมันมีไว้เพื่อสำรองน้ำ คือเอาน้ำออกจากผิวถนนลงไปเก็บในท่อให้มันเต็มแล้วสูบออก ถ้าเราเปิดประตูน้ำติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำบางปะกง หรือแม่น้ำป่าสักฯ ตรงปากคลองรังสิตฝั่งนครนายก น้ำไหลเข้ากรุงเทพฯ แน่นอน เพราะระดับน้ำด้านนอกสูงกว่าทั้งหมด วิธีเดียวคือต้องสูบออก 

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

แต่เมื่อวันที่ 11 กันยายน สิ่งที่เกิดขึ้นคือระดับน้ำด้านนอกสูง ฝนตก น้ำในคลองเต็ม แต่สูบออกไม่ได้เพราะน้ำข้างนอกสูง หากสูบออกไปอีกก็จะไปท่วมพื้นที่ข้างนอก ฝั่งนครนายกเขาก็ไม่ยอม เพราะจะไปท่วมบ้านเรือนราษฎรแถวนั้น ฝั่งฉะเชิงเทราก็สูบออกไปไม่ได้ น้ำจึงค้างอยู่ กทม. จัดการได้อย่างเดียวคือสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านทางพระโขนง กับปทุมธานี ซึ่งถ้าเราดึงน้ำจากฝั่งประเวศไปพระโขนงอย่างที่อาจารย์ชัชชาติว่า มันต้องดึงตั้ง 20 กิโลเมตร มันไกล น้ำจึงลดไม่เร็ว สังเกตไหมว่าหลังจากวันที่ 11 กันยายน ฝนหยุดสองวัน น้ำแห้งสนิท นั่นเพราะหากเราเหลือแค่สองน้ำ คือน้ำเหนือกับน้ำหนุน เราจัดการได้ แต่ถ้าน้ำฝนมาด้วย เราจัดการไม่ได้

ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์ชัชชาติทำคือไปคุยกับผู้ว่าฯ ปทุมธานี เพื่อหาทางจัดการปัญหา เพราะว่าบิ๊กแจ๊ส (พล.ต.ท.คํารณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี) จัดการไม่ได้ ต้องอาศัยผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารส่วนกลาง และมีอำนาจสูงกว่านายกเทศมนตรี 

อาจารย์ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจริง แต่ตำแหน่งเท่ากับนายกเทศมนตรีกรุงเทพฯ บิ๊กแจ๊สเป็นนายก อบจ.ปทุมธานี แต่บิ๊กแจ๊สสั่งกรมชลประทานไม่ได้ เพราะเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น คนที่จะสั่งกรมชลประทานได้คือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเขามีวาจาสิทธิ์ที่จะสั่งได้หมด 

สรุปคือ ฝนเดือนกันยายนปีนี้เกิดจาก Extreme Weather ถามว่ามันจะเกิดขึ้นอีกไหม ตอบไม่ได้ครับ เพราะมันคือการสุ่ม จะเกิดมากน้อยแค่ไหนเราไม่รู้ แต่มันเกิดแน่ๆ แล้วถ้าเรามองในช่วง 10 ปีข้างหน้า โอกาสที่เราจะเจอฝนจาก Extreme Weather จะมีบ่อยครั้งขึ้น แต่ถ้าหากเราเตรียมตัวดี ก็มีทางที่จะฝ่าฟันไปได้ 

เราต้องเตรียมตัวอย่างไรจึงจะพอฟันฝ่า Extreme Weather ที่คาดเดายากไปได้ 

ในภาพใหญ่ประเทศไทย เราต้องหาทางบริหารจัดการน้ำให้ดี โครงการบริหารจัดการน้ำของเราหยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 ผมไม่ได้โทษใครนะ แต่มันชะงักตั้งแต่ช่วงนั้น มีโครงการเกิดขึ้นมากมายนะ แต่ไม่ได้แก้โครงสร้างพื้นฐานเลย 

โครงสร้างคูคลองในประเทศไทยจะเน้นคูคลองเพื่อการเกษตร แม่น้ำเจ้าพระยาลงมาจากนครสวรรค์ แยกเข้าแม่น้ำน้อยไปคลองเขตบางบาลฝั่งแม่น้ำป่าสัก เข้าคลองรังสิต เป็นการแตกสาขาเพื่อเลี้ยงทุ่งรังสิต คำถามคือ ปัจจุบันทุ่งรังสิตเปลี่ยนจากทุ่งนาเป็นบ้านจัดสรรหมดแล้ว แต่คลองรังสิตกลับไม่ได้ถูกออกแบบใหม่เพื่อเอาน้ำออก เพราะเดิมมันถูกออกแบบให้เอาน้ำเข้า เหมือนกับคลองประเวศ หรือฝั่งพระโขนงที่ถูกออกแบบให้เอาน้ำเข้าเช่นเดียวกัน มันจึงต้องรอให้ระดับน้ำข้างในสูงพอสมควรแล้วถึงจะสูบออกทางฉะเชิงเทรา

ถ้าเราดูผังน้ำของประเทศไทย มันถูกออกแบบให้น้ำจากตอนเหนือแผ่ออกเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรให้ได้มากที่สุด แล้วมารวบตรงอำเภอบางไทรเพื่อที่จะให้น้ำไหลออกทะเล แต่ถ้าปีไหนน้ำมาก ก็ไม่ต่างอะไรกับการแผ่น้ำไปให้ท่วมมากที่สุด นี่คือปัญหาของปี 2554 คือน้ำมาเยอะ ทำให้น้ำไม่ได้มาตามคลอง แต่มาตามทุ่ง น้ำแผ่มาเต็มไปหมดจนท่วม ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้ประตูระบายน้ำทำหน้าที่ได้ดีมากขึ้น

อย่างที่ผมบอก ตั้งแต่ปี 2557 เรามีแผนบริหารจัดการน้ำก็จริง แต่เราไม่มีการแก้โครงสร้าง เพราะโครงสร้างนี้เป็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2554 ไม่เคยเปลี่ยนเลย เราต้องขยายการไหลของน้ำออกทางประตูระบายน้ำให้ได้อย่างรวดเร็ว วิธีที่ดีที่สุดคือต้องขยายประตูระบายน้ำมโนรมย์ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังระบายน้ำสูงสุดอยู่ที่ 210 เมตรต่อวินาที แต่เขื่อนเจ้าพระยามีกำลังสูงสุดอยู่ที่ 2,690 เมตรต่อวินาที แปลว่าประตูระบายน้ำมโนรมย์มีกำลังน้อยกว่า 10 เท่า 

แสดงว่าสถานการณ์ของฝนปีนี้ ไม่หนักเท่าเหตุการณ์ปี 2554?

ไม่หนักเท่าปี 2554 ครับ 

ปี 2554 มันท่วมเพราะคันกั้นน้ำแถวๆ บางกรวยแตก น้ำก็เลยท่วมฝั่งธนบุรี ที่หนักที่สุดคือคลองรังสิต น้ำนอกคันกันน้ำสูงเกือบ 3 เมตร แต่น้ำด้านในสูง 1 เมตร ประตูน้ำรับน้ำหนักไม่ไหว เพราะถ้าน้ำต่างกัน 1 เมตร น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถ้าสูงต่างกัน 3 เมตร ก็จะรับน้ำหนักเกือบ 5 ตัน ประตูน้ำรับไม่ไหว พอประตูน้ำรังสิตแตก น้ำก็ทะลักท่วมเข้ามาทางดอนเมือง นั่นคือปัญหาในปี 2554

ถามว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมมองอย่างนี้นะว่า กทม. ควรจะมีระบบกักเก็บน้ำ อย่างเขตประเวศมีบึงหนองบอนเป็นตัวรับน้ำ ปกติแล้วน้ำจาก กทม. จะไปบึงหนองบอนเพื่อรอเวลาให้น้ำข้างนอกลดต่ำลง แล้วจึงจะสูบน้ำที่บึงหนองบอนออก กทม. จึงควรจะมีระบบกักเก็บน้ำแบบบึงหนองบอนให้มากขึ้น โดยเฉพาะตามถนนสายสำคัญๆ 

ผมยกตัวอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยมีปัญหาน้ำท่วมตามถนนเวลาฝนตกเยอะๆ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะเขาทำถนนใหม่ แล้วตรงใต้ถนนประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นท่อระบายน้ำ ซึ่งไม่ได้เอาไว้ระบายน้ำหรอก แต่เอาไว้ให้น้ำลงไปอยู่ในนั้นตอนฝนตก เมื่อถึงเวลาก็จะสูบออก แต่กระบวนการนี้ใช้งบประมาณมหาศาลเหมือนกัน 

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

ด้วยสถานการณ์แบบนี้ กทม. สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อรับมือปัญหาที่เกิดขึ้น

นโยบายเส้นเลือดฝอยของอาจารย์ชัชชาติโอเคเลย แต่เส้นเลือดฝอยมันไม่สามารถจะไปเชื่อมแม่น้ำได้โดยตรง เพราะระดับน้ำข้างนอกสูง ดังนั้น เส้นเลือกฝอยควรจะเชื่อมเข้าไปหาแหล่งเก็บน้ำ แล้วค่อยสูบออก คราวนี้ทำอย่างไรเราจึงจะทยอยสร้างแหล่งเก็บน้ำไว้ในแต่ละพื้นที่เยอะๆ ได้ ถ้าถามว่าเรายังขาดพื้นที่แบบนี้เยอะไหม ก็เยอะนะ เพราะมีแต่คนคิดแต่จะถมที่ หากคิดจะสร้างสวนสาธารณะก็ควรจะเป็นลักษณะบึงหนองบอน ค่อยๆ ลงทุนสร้างไปเรื่อยๆ แล้วเชื่อมต่อแหล่งเก็บน้ำเข้ากับเส้นเลือดใหญ่

ประเด็นสำคัญคือ กทม. มีส่วนที่ติดแม่น้ำแค่บางส่วน พื้นที่รอบนอกไม่ได้ติดกับแม่น้ำ อย่างประเวศหรือลาดกระบังแถบนอกไม่ได้ติดกับแม่น้ำ การจะเอาน้ำออกจะต้องพึ่งพื้นที่อื่น เช่น คลองประเวศต้องพึ่งฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่นอกเขต กทม. มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของ กทม. ปัญหาหนักคือทางที่ออกคลองประเวศเป็นประตูน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งเขาก็ไม่ยอมเปิดประตูน้ำหรือสูบออก เพราะมันไปกระทบพื้นที่การเกษตรข้างนอก 

อีกตัวอย่างคือปัญหาหลักที่เกิดขึ้นที่ปทุมธานีคือ เมื่อปทุมธานีอยากจะสูบน้ำออก แต่ประตูน้ำที่สูบน้ำไปที่เจ้าพระยาเป็นของกรมชลประทาน มีเครื่องสูบน้ำ 20 ตัว แต่เสียไป 10 แล้วไม่ซ่อม มันจึงระบายน้ำออกจากปทุมฯ ไม่ได้ พอระบายน้ำไม่ได้ น้ำจากกรุงเทพฯ ก็ออกไม่ได้ ฉะนั้นการบริหารจัดการจึงต้องร่วมมือกัน บิ๊กแจ๊สถึงได้ควันออกหูไง เพราะเขารู้ว่าเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง มันเสียตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วเขาก็ขอให้ซ่อมแล้ว แต่ไม่ซ่อม

เพราะฉะนั้น ประเด็นหลักของกรุงเทพฯ ถ้าจะไปรื้อท่อระบายน้ำต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการที่จะแก้น้ำท่วม งบไม่พอ นั่นคือปัญหาใหญ่ข้อหนึ่ง คุณจะไปแก้ท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ คุณแก้ไม่ได้ เพราะใช้งบมหาศาล

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

เรื่องการแก้โครงสร้างบริหารจัดการน้ำใหม่ เคยมีหน่วยงานใดชงเรื่องนี้ขึ้นมาไหม

เคยครับ สมัยท้ายรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ มีการเจรจาจะขุดแม่น้ำเจ้าพระยาสายสอง ขุดแยกไปแม่น้ำแม่กลอง ผ่านไปทางราชบุรี เป้าหมายคือ ในฤดูน้ำหลากจะระบายน้ำผ่านเส้นนั้นเพื่อช่วยระบายออกก่อน หรือถ้าช่วงไหนน้ำน้อยก็สามารถผันน้ำผ่านแม่กลองกลับเข้ามาได้โดยการใช้ประตูระบายน้ำสองด้าน (ประตูระบายน้ำมโนรมย์และประตูระบายน้ำมะขามเฒ่าอู่ทอง) สูบเข้ามาได้ 

แต่ว่าไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์​ เพราะตอนนั้นคนเพิ่งเจอน้ำท่วมปี 2554 คนยังตกใจกับน้ำท่วมอยู่มาก เขากลัวว่าจะเอาน้ำไปท่วมบ้านเขา แปลว่าแนวคิดการปรับโครงสร้างมันเคยอยู่ในแผนมาก่อน แต่ชะงักไป

เริ่มมีการพูดถึงการย้ายเมืองหลวง อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร 

เห็นด้วย แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลของการย้ายหนีน้ำท่วม ข้อเสนอบางอันก็รับไม่ได้นะ เช่น ทำเขื่อนกั้นปิดปากอ่าว ก.ไก่ จากเพชรบุรียันสัตหีบ ปัญหาคือถ้าทำเขื่อนตรงนั้นปั๊บ ระบบนิเวศน้ำในบริเวณ อ่าว ก.ไก่ มันจะพัง เพราะน้ำจืดจะระบายออกทะเลลำบากขึ้น คุณภาพน้ำภายในจะเสีย แล้วจะพังทั้งระบบ ถึงจะทำเป็นประตูน้ำแบบเปิด-ปิดก็ตาม ผมคิดว่าระบบที่ทำอยู่คือทำเขื่อนเหนือดิน โอเคแล้ว ทำเฉพาะเมืองไป 

ผมมองว่าตอนนี้กรุงเทพฯ หนาแน่นเกินไป ทุกๆ เช้าคนจะวิ่งจากขอบเมืองเข้ามาในตัวเมืองเป็นระลอกคลื่น ทำไมเราไม่เอาส่วนราชการออกไปไว้ข้างนอก แล้วทำรถไฟฟ้าออกไปตรงนั้น คนไปติดต่อราชการก็นั่งรถไฟฟ้าไปได้ ไปต่อรถวงแหวนแล้วเข้าหน่วยราชการที่ตัวเองต้องการติดต่อ คนไปทำงานก็เอารถออกไปได้ คุณสร้างที่จอดรถไว้ 

ดังนั้นผมมองว่าควรขยับส่วนราชการ ขยับธนาคารทั้งหลาย เอาส่วนที่คนเยอะไปอยู่ในที่ห่างหน่อย ส่วนข้าราชการถ้าไปไกลหน่อย คุณก็ทำสวัสดิการที่พักให้เขา โจทย์คือทำอย่างไรคุณจะกลับทิศรถได้ แทนที่ตอนเช้าทุกคนจะต้องวิ่งจากข้างนอกเข้ามาในเมือง จากที่กว้างเข้าหาที่แคบ ให้กลายเป็นวิ่งจากข้างในออกไปข้างนอก เพื่อให้กระจายออก ตรงกลางคุณจะทำสวนสาธารณะหรือทำอะไรก็ทำไป แต่ย้ายส่วนข้าราชการออกไปให้ได้มากที่สุด แล้วเอาพื้นที่เหล่านั้นมาทำแหล่งกักเก็บน้ำ ปัญหาน้ำท่วมก็จะเบาลง 

กลับมาที่เรื่อง Extreme Weather ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของ Climate Change อยากให้ขยายความถึงสาเหตุ ผลกระทบ และกลไกการเกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

คาร์บอนไดออกไซด์มันมีคุณสมบัติพิเศษคือ มันสามารถดูดกลืนรังสีอินฟาเรดที่ออกจากโลกแล้วแผ่กลับลงมา มันคือก๊าซหลักชนิดหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้โลกอุ่น ทำให้เราอยู่ได้ ถ้าโลกเราไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิจะติดลบประมาณ 30 องศา ซึ่งเราอยู่ไม่ได้

ทีนี้ สมดุลตรงนี้มันเปลี่ยนไป แต่เดิมคาร์บอนไดออกไซด์ถูกเก็บไว้ใต้ดินในรูปของเชื้อเพลิงฟอสซิลมาหลายพันล้านปีก่อน เมื่อมาสู่ยุคไดโนเสาร์มันก็ถูกสะสมไว้ในถ่านหิน ในรูปของน้ำมัน ปัญหาคือหลังศตวรรษที่ 18 เราเริ่มใช้รถยนต์ เอาน้ำมันมากลั่นแล้วเอามาเผา ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยสู่อากาศ ต้นไม้ซึ่งเป็นตัวซับคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลง ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ค้างในบรรยากาศเยอะ นี่คือความรู้พื้นฐาน

รายงานครั้งแรกของ Climate Change คือปี 1989 เราพบการเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วมากของคาร์บอนไดออกไซด์ มันส่งผลกระทบให้พลังงานที่โลกสะสมไว้จากแสงอาทิตย์ออกไปสู่อวกาศได้น้อยลง ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของบรรยากาศสูงขึ้น นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์ยังมีตัวอื่นๆ ด้วย อย่างมีเทน (Methane) ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) สิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกับจำนวนประชากร หากเราดูกราฟของคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ จะพบว่าจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน ทำให้ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยในช่วงประมาณปี 2000 มันสูงขึ้นมาประมาณ 0.5 องศา ส่วนตอนนี้เขาบอกว่าประมาณเกือบๆ 1 องศา ถ้าเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 

ผลกระทบเกิดขึ้นตามมาหลายเรื่อง ยกตัวอย่าง ฝน Extreme Weather ที่เราเจอในเดือนกันยายนนี้ ความชื้นในอากาศสูงขึ้น อากาศยิ่งร้อน ยิ่งเก็บความชื้นได้มากขึ้น เวลาเกิดฝนมันก็รุนแรงขึ้น โอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักบ่อยครั้งขึ้น ทางมหาสมุทรแอตแลนติกมีจำนวนพายุและความแรงของพายุเพิ่มขึ้น ส่วนในแถบบ้านเราคือมหาสมุทรแปซิฟิก ก็มีรายงานเหมือนกันว่า จำนวนพายุเพิ่มขึ้นทั่วทั้งพื้นที่แปซิฟิก และมีความรุนแรงสูงขึ้น 

พายุจะมีความรุนแรงอยู่ 5 ระดับ ซูเปอร์ไต้ฝุ่นถือเป็นความรุนแรงระดับ 5 ความเร็วลมประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในอดีตเราไม่ค่อยเจอซูเปอร์ไต้ฝุ่นในแปซิฟิกเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันเราเริ่มเจอบ่อยขึ้นปีละ 1-2 ลูก เป็นประจำ เริ่มจากไม่ค่อยเจอ มาเป็น 2-3 ปีเจอครั้ง กลายเป็นเจอเกือบทุกปีในปัจจุบัน 

อย่างที่ญี่ปุ่นเจอตอนนี้ กำลังจะเข้าเกณฑ์ซูเปอร์ไต้ฝุ่นแล้ว ก่อนหน้านี้มีรายงานที่เชื่อถือไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่ตอนนี้เริ่มมีรายงานที่เชื่อถือได้มากขึ้นว่ามีพายุเพิ่มขึ้นจริง แต่มันจะเกิดขึ้นแถวฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนด้านล่างอย่างประเทศไทย หรือจีน พายุมันลดลง เพราะว่าการที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่นจะเกิดขึ้นได้ ปัจจัยคืออุณหภูมิน้ำต้องพอเหมาะ บ้านเราน้ำค่อนข้างร้อนเลยทำให้เกิดพายุน้อยลง จริงๆ แล้ว 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนพายุที่เข้ามาโดยเฉลี่ยลดลง เคยมี 4-5 ลูก ตอนนี้เหลือประมาณ 2 ลูกต่อปี 

ผลกระทบอีกอย่างคือ วันที่อากาศร้อนเกินกว่า 35 องศาเซลเซียสจะมีมากขึ้น กลางคืนที่มีอุณหภูมิมากกว่า 25 องศาเซลเซียสจะมีมากขึ้น ในทางตรงข้าม วันที่มีอากาศเย็นจะลดลง เมื่ออากาศร้อนขึ้น น้ำขยายตัว ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น มีหลายคนที่พูดถึงกรีนแลนด์ พูดถึงยอดภูเขาไฟฟูจิ พูดถึงยอดเขาคิลิมันจาโร ซึ่งเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ถ่ายภาพของคิลิมันจาโรพบว่ายังมีหิมะ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว หรือหิมาลัยเองในบางช่วง ธารน้ำแข็งก็ลดลง

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

ตรงนี้มีข้อควรระวังนิดหนึ่ง คือบางครั้งมันใส่สีตีไข่กันเกินความเป็นจริง อย่างหิมาลัยก็เคยมีคนท้วงว่า ภาพที่ถ่ายธารน้ำแข็งละลายมันถ่ายอยู่มุมเดียว อีกมุมที่ธารน้ำแข็งเพิ่มกลับไม่ถ่าย หรือกรีนแลนด์เองก็ตาม ตอนที่ถ่ายภาพ เขาไปถ่ายแค่ตอนละลาย แต่หน้าหนาวที่หิมะไปสะสมตัว คุณก็ไม่ถ่าย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันก็มีประเด็นการเมืองเข้ามาเยอะ แต่โอเค ผลกระทบนี้มันเกิดขึ้นจริง 

มีข้อสรุปหนึ่งบอกว่า โอกาสที่ผลกระทบจะเกิดในศตวรรษที่ 21 แน่นอนคือ จำนวนวันที่อากาศร้อนจะสูงขึ้น คลื่นความร้อน (heat wave) จะเกิดบ่อยครั้งขึ้น ฝนตกหนักขึ้น พื้นที่แห้งแล้งมากขึ้น พายุรุนแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ประเมินจากเมื่อปีประมาณ 2003 น้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 0.3 มิลลิเมตรต่อปี หมายความว่า ใน 100 ปี ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 3 เซนต์ ตัวเลขนี้สำหรับพื้นที่ทั่วไปอาจไม่เยอะ แต่สำหรับพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ มันเยอะ ตอนนี้สมุทรปราการอยู่ที่ 50 เซนติเมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถ้า 100 ปีข้างหน้ามันขึ้นมาอีก 3 เซนติเมตร เมื่อไหร่ที่คุณอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง แปลว่าคุณอยู่ใต้น้ำโดยสมบูรณ์​

นั่นคือคำตอบว่า ทำไมการย้ายเมืองหลวงเป็นตัวเลือกที่ดี นั่นเพราะมันสามารถแก้ไขหลายปัญหาได้พร้อมกัน แต่การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่การพูดว่าพรุ่งนี้ย้ายกันเถอะ ประชาชนไปไม่ทันนะ คุณต้องวางแผนระยะยาวว่า ถ้าคุณจะย้ายสถานที่ราชการใหม่ คุณต้องมีพื้นที่ให้ข้าราชการ มีอะไรต่อมิอะไรให้เขาเพื่อชักจูงให้เขาย้ายออกจากการทำงานในกรุงเทพฯ​ ต้องมีการวางโครงสร้างอะไรอีกมากมาย มันคือแผนระยะยาว 

ฟังอย่างนี้แล้ว Climate Crisis ใกล้ตัวเรามาก ตัวอย่างง่ายๆ คือฝนเดือนกันยายนที่กระทบคนกว่า 10 ล้านในเมืองหลวง คำถามคือ อาจารย์มองว่าการตื่นตัวของคนอยู่ในระดับไหน

ผมเป็นคนที่โดนยกตัวอย่างว่า เป็นคนที่แอนตี้ Climate Crisis (หัวเราะ) แล้วผมพูดว่า สถานการณ์ในเมืองไทยจะเข้าสู่รูปแบบ Climate Change Crazy (CCC) แล้วมีคนเอาคำพูดผมไปอ้างอิงลงเปเปอร์เลยนะ บอกว่าผมพูดว่า Climate Change Crazy แปลว่าผมไม่เชื่อในเรื่องของ Climate Change 

ประเด็นคือผมไม่ใช่ไม่เชื่อ ผมศึกษาเรื่องนี้มา 30 ปี ผมเชื่อ แต่ผมหมายความว่า การที่คุณส่งเสริมให้ใช้กระเป๋าผ้า แต่คุณเอาใส่ไว้ในถุงพลาสติก การผลิตถุงพลาสติกมันปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คุณซื้อกระเป๋าผ้าแล้วคุณรู้สึกว่า เฮ้ย ฉันช่วยโลกแล้ว ฉันรักโลก แต่คุณไม่รู้ว่าสิ่งที่คุณทำมันส่งผลกระทบอย่างไร เทียบกับการที่คุณเอาถุงพลาสติกเก็บเอามาใช้ใหม่ มันยังได้ผลมากกว่า คำว่า crazy ของผมไม่ใช่ไม่เชื่อ แต่มันคือภาวะที่คนตื่นตัวจนไม่ลืมหูลืมตา

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

อาจารย์มองระดับความวิกฤตของ Climate Crisis อย่างไร

มันวิกฤตนะ แต่ผมมีความเชื่อหนึ่งคือ life will find the way คือสมดุลมันเปลี่ยน เราอาจมีชีวิตในอนาคตที่ลำบากลำบนมากกว่าปัจจุบัน แต่เราอยู่ได้ แต่ถ้าเราช่วยกันมากกว่านี้ เราอาจจะชะลออาการนั้นออกไปได้

ถามว่าทำไมผมเชื่ออย่างนี้ ผมต้องยกเทียบกับเรื่องรูรั่วโอโซน (ozone hole) เมื่อปี 1980 เขาพบว่า โอโซนที่ปกป้องรังสีอัลตราไวโอเลตในขั้วโลกใต้มันหายไป เรื่องใหญ่มากเลย ทุกคนตกใจ เพราะขั้วโลกใต้คือแหล่งอาหาร ถ้ารังสีอัลตราไวโอเลตไปถึงขั้วโลกใต้ถึงพื้นน้ำ แพลงตอนในน้ำจะหายไป พูดง่ายๆ คือปลาทะเลจะหายไปเยอะมาก เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ 

ตอนนั้นเขาตรวจเจอว่า ปัญหาหลักคือสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CFC (Chlorofluorocarbon) สมัยก่อนมันจะอยู่ในแก๊สที่เขาใช้อัดกระป๋อง หรือเครื่องปรับอากาศ ถัดมาจึงมีข้อตกลงมอนทรีออล (Montreal Protocol) สั่งแบนการผลิตสารชนิดนี้ทั้งหมดเลย ทุกประเทศหยุด และมีเวลา 10 ปีในการกำจัดสารตัวนี้ให้หมดไป ประเทศไทยใช้ช่วงปี 1990 ผมก็ต้องเอารถไปเปลี่ยนน้ำยาแอร์จากรุ่นที่มี CFC เป็นรุ่นที่ไม่มี CFC มันใช้เวลาเป็น 10 ปีเลยนะ เพราะว่ามีการลักลอบใช้ ของมันราคาถูก กว่าจะเก็บหมดก็ใช้เวลา 

แต่จากปี 1980 ถึงปัจจุบัน 40 กว่าปีแล้ว รูรั่วโอโซนยังไม่ลดลง เพิ่งมีสัญญาณของการหยุดการขยายตัวเมื่อ 1-2 ปีมานี้เอง แล้วปริมาณสาร CFC ที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านั้นจนถึงปัจจุบันเพิ่งลดลงมาอยู่ในระดับก่อนหน้าเกิดรูรั่วโอโซนในปีนี้เอง หมายความว่าใช้เวลาเกือบ 50 ปี กว่าที่เราจะชะลอมันได้ อย่าว่าแต่จะกลับไปสู่สภาพปกติเลย 

ทุกคนเอาโมเดลนี้มาใช้กับคาร์บอนไดออกไซด์ ทำความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ให้ทุกประเทศลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ล่าสุดประเทศเราสัญญาไว้ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เหมือน CFC ครับ เพราะสาร CFC เราสามารถหาสิ่งอื่นมาใช้แทนได้ แต่คาร์บอนไดออกไซด์คือ เพียงแค่สตาร์ตรถ เปิดพัดลม เปิดไฟ มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา แค่หายใจออกก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว คาร์บอนไดออกไซด์มันไม่ได้ปล่อยที่เรานะ แต่มันปล่อยที่โรงไฟฟ้า ตราบใดที่เรายังใช้โรงไฟฟ้าที่ใช้การสันดาป แปลว่าเรายังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ตลอดเวลา

เราแก้ตรงนี้ไม่ได้เพราะอะไร ทางเลือกที่จะได้พลังงานไฟฟ้าที่มากพอในการชดเชยความต้องการพลังงานของประชาชนคือนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่มีใครอยากได้นิวเคลียร์ (หัวเราะ) โครงสร้างพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทย 90 เปอร์เซ็นต์มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะฉะนั้น คาร์บอนไดออกไซด์มันอยู่ทุกอิริยาบถที่เราทำ คุณทำได้ไหมล่ะหากวันหนึ่งบอกว่า พรุ่งนี้รถยนต์ทุกคันต้องหยุดวิ่ง ทุกคนไปทำงานด้วยการขี่จักรยาน ไม่มีการใช้ไฟในเวลากลางคืน มันทำไม่ได้

ถ้าเอาเฉพาะเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เราพอมีวิธีปรับตัวอย่างไร หรือมีเทคโนโลยีใหม่ในการรับมือไหม

มันมีไหม (นิ่งคิด)

วิธีที่ถูกต้องสำหรับคนทั่วไป คือการใช้พลังงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าคุณมีหลอดไฟที่เป็นหลอดขั้ว 30 วัตต์ เปลี่ยนเป็นหลอด LED ไหม พยายามลดขยะ เพราะขยะที่มีอยู่มันปล่อยมีเทน ควรใช้ซ้ำ เน้นรีไซเคิลให้มากที่สุด เพราะระหว่างพลาสติกเก่า พลาสติกใหม่ ผ้า สองอย่างหลังมันส่งผลกระทบเยอะ คุณต้องไปตัดต้นไม้ คุณต้องไปขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นมาเพิ่ม หรือการใช้แก๊สโซฮอล์ หรือ ไบโอดีเซล ก็ช่วยได้นะ แต่ถ้าคุณจะไปใช้รถไฟฟ้า แล้วคุณภูมิใจว่าช่วยโลก คำถามคือ คุณชาร์จไฟจากไหน จากบ้านใช่ไหม แล้วไฟบ้านมาจากไหน ก็คือโรงไฟฟ้า แล้วโรงไฟฟ้าใช้อะไร ใช้ก๊าซธรรมชาติ ใช้น้ำมัน ยังไม่นับเรื่องปัญหาขยะจากแบตเตอรี่อีก ประเด็นของผมคือ บางครั้งมันทำให้ crazy เกินไป แต่ต้องช่วยกันลด ละ เลิก แล้วก็เอากลับมาใช้ใหม่

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

แล้วในระดับรัฐล่ะ ควรมีวิธีรับมืออย่างไรได้บ้าง

ใช่ ระดับรัฐจะทำได้เยอะกว่า ซึ่งบางเรื่องเขาก็ทำแล้ว เช่น คาร์บอนเครดิต ไทยเรายังมีคาร์บอนเครดิตที่เป็นบวกอยู่ คือประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก คาร์บอนเครดิตน้อย เขาก็ให้โอกาสประเทศเหล่านั้นมาลงทุนในประเทศที่ต้องการใช้พลังงานโดยที่มีคาร์บอนเครดิตเป็นบวก เหมือนกับมาซื้อคาร์บอนเครดิตจากเรา 

แต่มันคือดาบสองคม อย่างเราตอนนี้ยังผลิตคาร์บอนไดออกไซด์น้อย บางประเทศเขาปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ เขาก็มาลงทุนสร้างโรงงานในบ้านเรา ชดเชยโดยการเอาคาร์บอนเครดิตไปหักลบกับของเขา เขาก็จะมีแต้มเสียน้อยลง ขณะที่เราได้การลงทุน แล้วเราก็ส่งเสริมการเป็นโรงงานสีเขียว หมายถึงการให้โรงงานปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ขณะเดียวกันก็ทำกิจกรรมที่จะสร้างตัวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้น

บางคนก็บอกว่า WIN-WIN ทั้งสองฝ่าย แต่บางคนบอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ หากฉันเป็นประเทศใหญ่ๆ ฉันก็ใช้วิธีเอาเงินซื้อสิ เช่นว่า บ้านคุณคาร์บอนเครดิตเป็นบวกอยู่ใช่ไหม อ่ะ เอาเงินไปพันล้าน แล้วเอาคาร์บอนเครดิตมา

จริงๆ รัฐสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้จากการทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น เปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานจากน้ำมันหรือถ่านหิน ตอนนี้โลกมีเทคโนโลยีถ่านหินใหม่ๆ มีประเภทที่เอาถ่านหินกลับมาใช้ซ้ำ มีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่มลภาวะน้อย หรืออีกวิธีคือใช้พลังงานนิวเคลียร์ ถ้าใช้นิวเคลียร์ได้ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ของเราจะลดลงมหาศาล 

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์

นิวเคลียร์ เป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าชนิดเดียวที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ข้อเสียของมันคือรังสี คนเลยกลัวเหตุการณ์อย่างเช่นที่ฟุกุชิมะ หรือที่เชอร์โนบิล คนกลัวอย่างนั้น รวมถึงคนไทยไม่ไว้ใจคนไทย เรามีคำพูดว่า ถ้าฝรั่งทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราเชื่อ แต่ถ้าคนไทยทำ มันต้องระเบิดแน่เลย 

ปัจจุบัน วิทยาการของเราในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างฟุกุชิมะหรือเชอร์โนบิล มีครับ ต้องบอกว่าเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะคือความโชคร้าย เพราะโดนเแผ่นดินไหว ส่วนเชอร์โนบิลคือความผิดพลาดของคน หรืออุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เกาะทรีไมล์ สหรัฐ ก็เป็นความผิดพลาดที่คนไม่รู้ทันระบบ แต่ปัจจุบันเรารู้ทันแล้ว 

ใน 30 ปีข้างหน้า คนที่คุมเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะเป็นคนที่คุมโลก เพราะปัจจุบัน แทบมองไม่เห็นทางเลือกอื่น หลายคนบอกว่าทำไมไม่ดูพลังงานลม แสงแดด หรือพลังงานอื่นๆ ที่มาทดแทน ใช่ครับ แต่มันไม่เยอะ มันไม่สามารถสนองความต้องการของประชากรได้เร็ว ถ้ามองประเทศที่มั่นคงทางด้านนี้อย่างอเมริกา เขาใช้นิวเคลียร์ เยอรมนีก็ดูเหมือนว่ามีสมัยหนึ่งที่ยกเลิกการใช้นิวเคลียร์ แต่ตอนนี้ก็เริ่มจะกลับมาใช้แล้ว

สุดท้ายแล้ว นอกจากฝนตก น้ำท่วม และพายุ เราต้องเจอภัยพิบัติอะไรอีกบ้าง ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

เอาแค่ใกล้ตัวก่อนนะ 3 เดือนหน้าข้างเลย ตอนนี้เราอยู่ในช่วงปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพน้ำเย็นเข้ามาในมหาสมุทรแปซิฟิก ผลกระทบต่อประเทศไทยคือ ถ้ามันเกิดในหน้าแล้ง จะทำให้อากาศเย็นและชื้นกว่าปกติ 

ลูกศิษย์ผมทำวิจัยไว้ พบว่า เอลนีโญ (El Niño) กับลานีญา (La Niña) ไม่ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยอย่างเด่นชัดนักในช่วงฤดูฝน แต่มันส่งผลชัดเจนในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มีนาคม เราพบว่าปีนี้เป็นปีลานีญา อยู่ที่ -0.5 แปลว่า ปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยจะสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย เพราะฉะนั้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จะมีฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าลานีญาแรงกว่านี้ สัก -1.5 ภาคใต้ของเราจะฝนตกหนักเพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์เลย 

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องความร้อน เราเจอแต่ปัญหาด้านลานีญา ซึ่งถือว่าเป็นโชคดี เพราะถ้าเป็นกรณีร้อน หรือเอลนีโญ หน้าแล้งจะมีน้ำน้อย แล้วร้อนกว่าปกติ มันจะแห้ง สรุปคือเตือนง่ายๆ 3 เดือนข้างหน้า ฝนตกมากขึ้น 10-15 เปอร์เซ็นต์ และเราอาจเจอหน้าหนาวที่ฝนตกด้วย อันนี้ต้องเตรียมตัวไว้ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่อาจเกิดฝนหนักจนมีโคลนถล่มได้ 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

ศิริโชค เลิศยะโส
อดีตกองบรรณาธิการ National Geographic Thai มีผลงานกว่า 20 เรื่องทั้งรูปแบบงานเขียนและภาพถ่าย ปัจุบันเป็นช่างภาพสารคดีอิสระ สนใจงานเชิงสังคม-มานุษยวิทยา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า