แอคหลุม, finsta และ ‘กรุ๊ป’ แห่งความลับที่อาจไม่มีจริง

 

ไม่มีความรู้ว่า ‘แอคหลุม’ ที่กร่อนมาจากคำว่า ‘account’ จะเป็นเฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรมลับของวัยรุ่น ที่สร้างมาเพื่อคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่สาธารณะส่วนตัว ว่าเป็นเทรนด์เฉพาะในบางสังคมหรือบางหย่อมพื้นที่วัฒนธรรม

แต่ในบทความของ อะนา โฮมายูน (Ana Homayoun) นักเขียนและผู้สนใจประเด็นวัยรุ่นและการศึกษา ผู้ก่อตั้งสถาบันการให้คำปรึกษาเรื่องการศึกษา Green Ivy Educational Consulting ก็เขียนถึงพฤติกรรม หรือพิธีกรรม หรือวัฒนธรรมย่อย (โอ๊ย…จะเรียกอะไรดี ><”) ที่พบคล้ายกันนี้ในวัยรุ่นอเมริกาว่า

เด็กๆ ที่เธอทำงานด้วยกว่าสองทศวรรษ อธิบายว่า นอกจากพวกเขาจะมีแอคเคาท์ที่ใช้จริงในอินสตาแกรม อันเรียกว่า ‘rinsta’ (r-real / insta-instagram) ก็ยังมี ‘finsta’ หรือ friends-only ไม่ก็ ‘fake’ Instagram ด้วย #เป็นไงละ

โฮมายูนอธิบายฟังก์ชั่นของ ‘finsta’ ที่คล้ายกันกับความเข้าใจของ ‘แอคหลุม’ ว่า มันคือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้พลเมืองเน็ต ‘less edited, less filtered’ ต่างจาก ‘rinsta’ ที่เพื่อนในบัญชีนั้นเป็นคนทั่วไป ไม่สนิท และพวกเธอต้องออกแบบวิธีการเพื่อคีปลุค เพื่อไม่อยากให้คนที่ไม่สนิท เข้าถึงความนิสัยไม่ดีส่วนตัว

และอาจนับเป็นฟังก์ชั่นเดียวกับ ‘กรุ๊ปเฟซบุ๊คลับ’ (Private Facebook Group Chat) ที่สร้างขึ้นเพื่อต้องการรวบรวมคนที่ไว้ใจได้ อยากคุยในเรื่องเดียวกัน และมีข้อยึดถือที่เข้าใจตรงกันว่า ไม่อาจถือสาเอาความกับความ ‘กรุ๊ปลับ’ ได้

ดังข่าว… 10 นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดนถอนสิทธิ์การเป็นนักศึกษา

หลังคณะกรรมการบริการฮาร์วาร์ดตรวจพบกรุ๊ปเฟซบุ๊คลับที่ชื่อ Harvard memes for horny bourgeois teens ของนักศึกษาที่เพิ่งได้คำตอบรับเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นกรุ๊ปที่ใช้ส่ง meme หรือรูปภาพเชิงเสียดสีล้อเลียน โดยเฉพาะเรื่องเพศ เหยียดผิว รวมทั้งบทสนทนาในกรุ๊ปก็เป็นไปในทางยั่วยุให้เกิดการกระทำอนาจาร และเหตุผลที่โดนจับ (แม้จะเป็นกรุ๊ปลับ) ก็เพราะสมาชิกที่ถูกเชิญให้เข้ากรุ๊ปจำนวนหนึ่งได้แคปหน้าจอ แล้วแจ้งแก่คณะกรรมการบริหาร จนทำให้พวกเขาถูกตัดสิทธิ์การเข้าเรียน

ข้อถกเถียงทั้งในแวดวงนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รวมถึงผู้ติดตามข่าวนี้เป็นไปในเชิงตั้งคำถามต่อความเป็นส่วนตัว และสิทธิในการแสดงออก ดังที่นักศึกษาฟากหนึ่งเห็นด้วยกับคณะกรรมการมหาวิทยาลัยว่า การตัดสิทธิ์การเข้าเรียนเป็นบทลงโทษที่ถูกควรแล้ว แม้พวกเขาจะได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม

“ฉันเข้าใจอารมณ์ขันนะ แต่มันมีบางเรื่องที่เราไม่ควรทำเป็นล้อเล่นหรือพูดถึงมันในเชิงขำขันล้อเลียน” นักศึกษาผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งเปิดเผย

แต่เรื่องก็ไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด เพราะอีกฟากเห็นว่ามหาวิทยาลัยกระทำการเกินกว่าเหตุ ทั้งเพราะพวกเขาคุยกันใน ‘กรุ๊ปลับ’ กรุ๊ปที่ตั้งขึ้นเพื่อพูดเรื่องตลกขำขัน และนักศึกษาควรได้รับการปกป้องสิทธิในการแสดงความเห็น

ยอดไลค์ อิทธิพลรวมหมู่ และความกดดันแอบแฝงจากสังคม

คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งที่พอจะอธิบายว่าทำไมผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ มักยับยั้งชั่งใจและหยุดชะงักเพื่อพักพิจารณาความเหมาะสมองค์รวมไม่ได้ อาจมาจากการสั่งการของสมอง เมื่อได้ยอดไลค์ หรือการตอบรับอย่างรวดเร็วจากโซเชียลมีเดีย

งานวิจัย The Power of the Like in Adolescence โดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ทำการทดลองกับเด็กอายุ 13-18 ปีจำนวน 32 คน ออกแบบการทดลองทำแพลตฟอร์มโซเชียลตัวหนึ่งเพื่อโพสต์รูปภาพคล้ายๆ กับอินสตาแกรม ขอให้พวกเขาโพสต์รูปภาพของตัวเองลงสื่อนี้ จากนั้นให้เข้าห้องแล็บเพื่อดูรูปภาพกว่า 150 รูปในห้องนั้น ทั้งภาพน่าเบื่อๆ อย่างรูปผลไม้ รูปวิวทั่วๆ ไป และรูปภาพหมิ่นเหม่ในเชิงอันตราย เช่น ภาพคนถือปืน ภาพยั่วยวนทางเพศ จากนั้นนักวิจัยจะตรวจความเคลื่อนไหวของคลื่นและระบบประสาทในสมอง

ส่วนหนึ่งของงานวิจัย ผู้เข้าร่วมวิจัยซึ่งเป็นวัยรุ่นจะได้เห็น ‘ฟีดแบ็ค’ หรือ ‘ยอดไลค์’ ที่ตามมาหลังการโพสต์รูป และถึงแม้นักวิจัยจะยืนยันตั้งแต่ต้นว่า ยอดไลค์ที่เห็นเป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง แต่กระบวนการให้รางวัล (reward processing) ของสมอง วิจารณญาณและการตระหนักรู้ ก็ตื่นตัวราวถูกกระตุ้นกว่าปกติ และคล้ายกับตอนที่พวกเขาเห็นและรู้สึกต่อ ‘เงิน’ และ ‘เซ็กส์’

ประเด็นนี้หัวหน้าหัวหน้าทีมวิจัยอย่าง ลอเรน เชอร์แมน (Lauren Sherman) อธิบายว่า แม้วิจัยนี้จะทดสอบกับกลุ่มคนเล็กๆ แต่อาจฉายภาพใหญ่อย่างการกดดันทางสังคม ความกดดันจากกลุ่มเพื่อน (peer pressure, peer influence) และพัฒนาการด้านการรับรู้ทางสังคมในอนาคตของเด็กๆ ได้ และ ‘อาจ’ อธิบายได้ว่าทำไมพวกเขาจึงไม่เห็นว่ารูปที่ดูก้าวร้าวนั้นเป็นปัญหา

กลับไปที่ประเด็นปริมาณความลับที่ต้องการในกรุ๊ปแชทลับ

กระแสความต้องการพื้นที่ลับ ชัดเจนว่าเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกรุ๊ปลับ แอคหลุมหรือ ‘finsta’ แต่นวัตกรรมแบบนี้อาจเป็นการสร้างขึ้นของกลุ่มคนย่อยๆ จากปัจเจกและฟังก์ชั่นเสริมของแอพพลิเคชั่น

หากโฮมายูนอธิบายความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ของแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการจำกัดการเข้าถึง หรือความสอดส่องของพ่อแม่ผู้ปกครอง

ยกตัวอย่างแอพพลิเคชั่นอย่าง Calculator% และ Culculator+ ที่มีหน้าตาเป็นเครื่องคิดเลข แต่หน้าที่จริงคือแอพพลิเคชั่นซ่อนไฟล์รูป 18+ ไว้ และต้องให้สมาชิกกรอกรหัสลับเพื่อเข้าถึงข้อมูลได้ รวมทั้งแอพฯ อย่าง Vaulty แอพพลิเคชั่นซ่อนรูปและวิดีโอ และยังถ่ายภาพด้วยกล้องหน้าทันทีที่เข้ารหัสผิดหรือพบความเคลื่อนไหวยามมีคนพยายามแฮคเข้ามาในแอคเคาท์ส่วนตัวอีกด้วย

แต่พื้นที่แห่งความลับเท่าไหนที่ต้องการ?

เห็นได้ชัดว่านวัตกรรมหรือพิธีกรรมที่ออกแบบมาให้มนุษย์พ้นไปจากการถูกจับทันความคิดได้ ก็ยังถูกจับได้อยู่ดีและง่ายดายเพียงการ ‘แคปหน้าจอ’ ชัดเจนจากข่าวนักศึกษาฮาร์วาร์ด (และหน้าจอไลน์ของดาราที่มักหลุดออกมา) ที่ตกม้าตายเพียงเพราะเพื่อนที่ได้รับอนุญาตให้เข้ากรุ๊ป #แคปหน้าจอมาปล่อย

ดังที่โฮมายูนตั้งคำถามเอาไว้ว่า หรือความเข้าใจเรื่องความลับหรือพื้นที่ส่วนตัวในโลกออนไลน์ จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ (อันเปราะบาง) ของเพื่อนและผู้ใช้โซเชียลร่วมกันคนอื่นๆ อยู่ดี


อ้างอิงข้อมูลจาก: nytimes.com
commonsensemedia.org
thecrimson.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า