วันที่ 11 เมษายน 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 ที่อาศัยอำนาจตาม ม.44 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลือจำนวนรายละ 13,622 ล้านบาท และเปิดโอกาสให้คืนใบอนุญาตได้ และคลื่นที่ได้คืนมานั้นจะถูกนำไปประมูลเพื่อพัฒนาเป็นระบบ 5G ในอนาคต
มาตรการนี้เรียกกันในเบื้องต้นว่าเป็น ‘การใช้ ม.44’ อุ้มทีวีดิจิทัล
นอกจากทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการโทรคมนาคมยังได้รับการ ‘ลดแลกแจกแถม’ เพราะมีการเปิดโอกาสให้ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จาก กสทช. ที่ไม่สามารถชำระหนี้ค่าประมูลได้ตามกำหนด ขอแบ่งชำระเงินประมูลได้ แถมด้วยคลื่น 700 MHz ที่ให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินที่ยังไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 900 MHz มาประมูลได้ ด้วยเหตุผลว่า เป็นการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาระบบการสื่อสารไปสู่ 5G ซึ่งต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศได้รับผลประโชน์มากที่สุด
แต่ผลที่ได้คือ ผู้ประกอบการทีวีสามารถคืนช่องได้โดยได้รับเงินชดเชย ส่วนผู้ประกอบการมือถือได้สิทธิการยืดชำระหนี้ แถมด้วยคลื่น 700 MHz
โดยภาพรวมแล้ว ดูเหมือนผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ผู้ประกอบการซึ่งล้วนเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า การใช้ ม.44 ครั้งนี้เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาลหรือไม่ โดยมีคำถามทิ้งท้ายว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประชาชนได้อะไร
งานเสวนา ‘ม.44 รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร’ จัดขึ้นเพื่อทำความรู้จักกับ ม.44 ฉบับนี้ ทำให้เห็นโครงสร้างของระบบมายาคติ 5G ระบบนิติรัฐที่ถูกทำลาย ความสัมพันธ์ของทุนกับรัฐ และผลประโยชน์ที่ไม่ตกถึงประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI), นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. , ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
รัฐเอื้อทุน และตัวละครทั้งสี่ ‘ลุง เฮีย เสี่ย เรา’
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) เกริ่นถึงภาพคร่าวๆ ของการใช้ ม.44 ครั้งนี้ว่า มีตัวละครอยู่ 4 ตัว ‘ลุง เฮีย เสี่ย เรา’ โดยขยายออกมาเป็น ‘ลุงสั่งเฮียอุ้มเสี่ยด้วยเงินของเรา’
“ลุง เฮีย เสี่ย เรา มีนิทานอยู่ 5 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ ทีวีดิจิทัลถูก disrupt ธุรกิจล้มละลาย เพราะฉะนั้นต้องเข้าไปอุ้ม เรื่องที่ 2 ถ้าประเทศไทยไม่ให้บริการ 5G จะเกิดความเสียหายมากมาย 2 เรื่องนี้ผสมกัน เกิดเป็นนิทานเรื่องที่ 3 เพราะฉะนั้นดีเลย วิน-วิน เอาคลื่นทีวีดิจิทัลมาทำบริการ 5G แล้วก็ได้โอกาสในเวลาเดียวกัน เอาเงินที่ได้จากการจัดสรรบริการ 5G มาอุ้มทีวีดิจิทัล และเพื่อที่จะจูงให้ผู้ประกอบการ 4G ทั้ง 3 รายปัจจุบันมาทำ 5G ก็เลยต้องยืดหนี้บริการ 4G ซึ่ง 3 รายนี้ติดกับรัฐอยู่ และเพื่อจะทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ก็ต้องใช้ดาบกายสิทธิ์อย่าง ม.44 นี่คือนิทานที่ผูกโยงกัน ที่ผมเรียกว่านิทานเพราะว่า มันไม่เป็นความจริง”
คำอธิบายเรื่องแรกคือ ทีวีดิจิทัลล้มละลายจนรัฐต้องให้ความช่วยเหลือ เป็นเรื่องจริงที่ว่าทีวีดิจิทัลจำนวนมากประสบภาวะขาดทุน แต่รัฐพึงมีหน้าที่ต้องเข้าไปอุ้มหรือไม่ นี่คือส่วนที่ ดร.สมเกียรติบอกว่าเป็น ‘นิทาน’ เมื่อธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ได้ ก็ต้องวิ่งเต้นเพื่อเข้าไปให้รัฐช่วย ‘อุ้ม’ ที่สำคัญการอุ้มครั้งนี้ ไม่ใช่อุ้มประชาชน นักข่าว นักวิชาชีพที่เป็นคนงาน แต่เป็นการอุ้ม ‘เสี่ย’ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งมีทุนขนาดกลาง และทุนหลายพันล้าน
“สิ่งที่รัฐสมควรจะทำตอนนี้คือ การปล่อยให้ทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต โดยไม่เอาผิดค่าปรับอะไร ไม่ใช่การมาชดเชย เอาเงินเขาคืน แล้วก็พานไปอุ้มอะไรอีกเยอะแยะ สิ่งที่รัฐควรจะช่วยในสภาวะที่โลกผันผวน แปรเปลี่ยน เกิดการปั่นป่วนทางเทคโนโลยี คนจะมีโอกาสตกงานอีกเยอะ คือช่วยให้คนหางานใหม่ได้ สร้างทักษะใหม่ได้ ไม่ใช่การไปอุ้มเสี่ย นี่คือนิทานเรื่องที่หนึ่ง ซึ่งเป็นนิทานที่น่ารักน่าเอ็นดูที่สุดแล้ว”
เรื่องที่ 2 ประเทศไทยต้องเร่งให้บริการ 5G มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหาย ด้วยข้ออ้างกรณีเมื่อครั้งการที่ไทยได้ใช้ 3G ช้า ทำให้สูญเสียโอกาส ดร.สมเกียรติบอกว่า หากย้อนไปดูจะพบว่า เพราะมี ‘เจ้าพ่อ-เจ้าแม่’ ขอ 3G มาทำเป็นรายเดียวก่อน ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ประการสำคัญคือ ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ทำ 5G ประเทศที่เปิดบริการ 5G ในเชิงพาณิชย์นั้นมีประมาณ 5-6 ประเทศ หรือไม่ก็อยู่ในขั้นตอนทดลองใช้
“ที่สำคัญคือยังไม่มีบริการอะไรที่ 5G ทำได้แล้ว 4G ทำไม่ได้ 4G ทำได้นะครับกับ 5G อาจจะสู้ไม่ได้แค่ความเร็วความหน่วง แต่บริการที่มนุษย์เราใช้เป็นปกติ 4G นั้นทำได้ และที่สำคัญ กสทช. ยังไม่ได้วางโรดแมป 5G เพราะพูดถึงการวางคลื่น 5G ที่ย่าน 500-700 MHz เท่านั้น ไม่ได้ไปแตะเรื่องอื่นเลย เพราะฉะนั้นไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะเร่งทำบริการ 5G และลองนึกดูนะครับ ว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคม 3 รายที่มี 4G อยู่แล้ว เขายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเอาคลื่น 5G เลย จะมาพยายามแจก 5G กัน มันจึงเป็นนิทานที่ไม่สมเหตุสมผลกันเสียเลย”
นิทานเรื่องถัดมาคือ ต้องเอาเงินจากการจัดสรรคลื่น 5G มาช่วยอุ้มทีวีดิจิทัล เพราะกติกาของรัฐและ กสทช. จะชดเชยทั้งผู้ที่ยกเลิกการให้บริการไปและผู้ที่ยังให้บริการต่อ ต้องใช้เงินประมาณ 3,100 ล้านบาท โดยมีเหตุผลว่า หากไม่ได้เงินจากการจัดสรร 5G จะไม่สามารถอุ้มทีวีดิจิทัลได้ ทั้งที่ความเป็นจริงคือ ถ้าไม่ยืดระยะการผ่อนชำระหนี้ 4G รัฐจะมีรายได้เข้ามามหาศาล เพียงพอสำหรับอุ้มทีวีดิจิทัล
“สำคัญที่เป็นตลกร้าย เป็นนิทานที่ไม่มีความจริง คือคลื่น 700 MHz ที่บอกว่าจะย้ายไปทำคลื่น 5G ต้องมีการย้ายที่ตั้งของคลื่น ทำให้แต่ละช่องต้องย้ายกันไป แล้วก็จะมีการชดเชยในการย้าย จริงๆ แล้วคลื่นที่จะย้ายไปนั้นมันว่างอยู่ ไม่มีคนใช้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปชดเชย เปรียบได้กับการเวนคืน เพราะจะต้องย้ายบ้านคนนี้ไปอยู่ตรงนั้น แต่พื้นที่สารพัดประโยชน์มันเป็นพื้นที่ว่างอยู่แล้ว ตรงนี้ก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์อีกประการหนึ่ง”
ประการต่อมา ต้องยืดหนี้ 4G เพื่อจูงใจให้คนมาประมูล 5G ดร.สมเกียรติชวนย้อนเวลาไปก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามของผู้ประกอบการวิ่งเต้นให้รัฐยืดหนี้ 4G แต่ไม่สำเร็จ จึงเกิดนิทานเรื่องใหม่ที่ว่า คือเอา 5G มาผสม รวมทั้งยืดหนี้ 4G
“ด้วยตรรกะที่ผิดพลาดเหล่านี้ จึงทำให้มีความพยายามที่จะบอกว่า ถ้าจะอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องจัดสรรคลื่น 5G ยืดหนี้ 4G ต้องออกคำสั่งตามม.44 มันจึงมีที่มาที่ไปที่ไม่สมเหตุสมผล”
ความไม่สมเหตุสมผลนี้ ดร.สมเกียรติอธิบายว่าทำให้เกิดความเสียหาย 8 ประการ คือ
- อย่างแรกคือ กสทช. พูดว่า จะต้องใช้เงินไปอุ้มทีวีดิจิทัลประมาณ 31,000 ล้านบาท โดยเข้าไปอุ้ม 7 ช่องที่จะขอเลิกให้บริการ 3,000 ล้านบาท 15 ช่องที่ยังประกอบการต่อไปก็จะมีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมอนุญาตประมาณ 9,700 ล้านบาท และก็ไปสนับสนุนค่าโครงข่าย หรือที่เรียกว่า MUX (Multiplexer) อีกประมาณ 19,000 ล้านบาท ซึ่งป็นก้อนใหญ่ที่สุด แล้วผู้ได้รับประโยชน์คือ ช่อง 5 ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายที่ใหญ่ที่สุด
- ความเสียหายทางการเงินจากการเลื่อนกำหนดชำระหนี้จากการประมูล 4G ของผู้ประกอบการ 3 รายโดยไม่คิดดอกเบี้ย
- ความเสียหายต่อผู้บริโภค เพราะตลาด 5G จะไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขัน และยังคงถูกผูกขาดจากผู้ให้บริการ 3 รายเช่นเดิม
- กติกาโทรคมนาคมของไทยจะไร้ประสิทธิภาพ จากที่ข้ามผ่านระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตให้มีเงื่อนไขการแข่งขันเสรี ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม โดยมีทั้งผู้ที่ได้ 5G และยังไม่ได้ 5G มีผู้ที่อยู่ในตลาดและไม่อยู่ในตลาด การออกกฎกติกาจะบิดเบี้ยวและซ้ำรอยกับเมื่อครั้ง 3G
- ความเสียหายทางนิติรัฐ เพราะหลักการของการทำธุรกิจในระบบตลาดเสรี รัฐไม่ควรเข้าไปแบกรับ ธุรกิจต้องแบกรับความเสี่ยงตัวเอง ธุรกิจได้กำไรเข้าตัวเอง ขาดทุนก็ต้องดูแลตัวเอง ยกเว้นแต่รัฐเข้าไปทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยง จึงต้องเข้าไปแบกรับ ซึ่งก็จะทำลายความสำคัญของตลาดเสรีไป
- หลักการความเสี่ยงเกินปกติของผู้ประกอบการที่มีเส้นสายทางการเมือง ตัวอย่างนี้จะทำให้เกิดกรณี ‘เอามาก่อน แล้วไปตายเอาดาบหน้า’ ย้อนกลับไปที่การประมูลคลื่น 4G จะเห็นว่ามีบางค่ายประมูลมาก่อน ได้เท่าไหนเท่ากัน สักพักก็มาขอกับภาครัฐ ทำให้เห็นว่ารัฐไม่ได้เป็นเสาที่ตั้งตรง แต่เป็นเสาที่โยกได้ ถ้ามีอิทธิพลมากพอ
- รัฐทำตัวเป็น ‘คุณพ่อรู้ดี’ แทรกแซงตลาด เช่น วันนี้เอกชนยังไม่สมควรทำ 5G แต่จะให้ทำ โดยที่รัฐเองก็ยังไม่พร้อม ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะตลาดที่มีการแข่งขันน้อยราย มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการฉ้อฉลขึ้น
- การใช้ ม.44 ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจในทางกฎหมายได้ และจังหวะการออกมาหลังการเลือกตั้ง ทำให้ตรวจสอบยาก
“ส่วนหนึ่งก็คือ นิทานแต่ละเรื่องที่แต่งมานั้นไม่ฉลาด ไม่สนุกสนาน ไม่ประเทืองสติปัญญาเลย แต่ต้องยอมรับว่าคนที่คิดเรื่องนี้ของภาครัฐ ถ้าจะเก่ง ก็เก่งในเชิงการเมือง แจกเงินให้กับผู้ประกอบการทีวี ทำให้ทีวีเงียบเสียงในเรื่องนี้ แจกในช่วงก่อนสงกรานต์ขณะที่ผู้คนกำลังออกไปพักผ่อน แจกช่วงหลังเลือกตั้ง ซึ่งจะเอามาโจมตีช่วงเลือกตั้งไม่ได้ แจกช่วงก่อนเลือกรัฐบาลใหม่ ซึ่งพรรคการเมืองจำนวนมากอยากเข้าไปร่วมรัฐบาล ก็จะไม่มาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเรื่องนี้ได้
“นี่คือความเสียหาย 8 ประการที่เกิดจาก ‘ลุงสั่งเฮียไปอุ้มเสี่ยโดยใช้เงินเรา’ ”
เวนคืนคลื่นทีวีดิจิทัลสู่คลื่นมือถือ 5G เพื่อใคร อะไรคือความจำเป็น
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อธิบายรายละเอียดเชิงเทคนิคที่จะนำคลื่นทีวีบางส่วน คือย่าน 700 MHz มาประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมไม่ใช้ทำโทรคมนาคมตั้งแต่ต้น
“GSMA ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระดับโลก เพิ่งบอกผมว่า 700 MHz อังกฤษประมูลสำหรับ 4G นะครับ แต่เขาให้เงื่อนไขว่า ถ้ามี 5G มา ก็สามารถใช้ 5G ได้ ดังนั้นหลายประเทศทั่วโลกที่ประมูลคลื่น 700 MHz นี่สำหรับ 4G ไม่ใช่ 5G นะครับ”
ส่วนความแตกต่างของคลื่นทีวีกับคลื่นโทรศัพท์มือถือคือ โทรศัพท์มือถือจะใช้เป็นคลื่นบล็อกใครบล็อกมัน แย่งกันไม่ได้ แต่คลื่นทีวีดิจิทัลมีลักษณะเป็นการผสมผสานการใช้งาน
“ยกตัวอย่าง 510-790 MHz รวมทั้งหมด 280 MHz กสทช. วางแผนโครงข่ายไว้สำหรับ 6 MUX 48 ช่องรายการ ตอนนี้มีแค่ 20 กว่าช่องรายการ ต้องทำความเข้าใจนะครับว่า เวลาเอาคลื่นนี้มาแบ่ง มันแบ่งแยกระหว่างช่องรายการกับช่องความถี่ ความถี่ละ 8 MHz มีประมาณ 35 ช่องความถี่ ช่องความถี่หนึ่งออกอากาศได้ 12 ช่อง SD คิดไปคิดมาอย่างที่บอกมันสามารถรองรับช่องได้เกือบ 50 ช่องแน่นอน
“ดังนั้น ในทางเทคนิค ทีวีดิจิทัลยังออกอากาศได้คุณภาพเดิม ช่วงเวลาเดิม แต่มีการตีความว่าได้รับผลกระทบ นำมาซึ่งการยกเลิกค่างวด 2 งวดสุดท้าย”
การนำย่านความถี่ 700 MHz มาทำ 5G ทำให้ผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองสูง ทั้งที่มีหนี้กับรัฐมหาศาล แต่กลับเป็นลูกหนี้ที่มีอำนาจต่อรอง เพราะข้อเท็จจริงคือ 700 MHz ในหลายประเทศเอาคลื่น 4G เพื่อเตรียมรองรับ 5G
นพ.ประวิทย์สรุปว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ คลื่นทีวีดิจิทัลที่ได้คืนมาสามารถใช้เป็นประโยชน์ต่อโทรคมนาคมได้ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ เพราะต่อให้ไม่มี ม.44 ก็มีแผนจะเปลี่ยนคลื่นนี้อยู่แล้ว อย่างช้าคือปี 2564
“สุดท้ายก็ในส่วนของ ม.44 พูดเรื่องโทรคมนาคมนิดเดียว บอกว่า คนประมูลคลื่นต้องจ่ายตามเดิม ถ้าจ่ายไม่ได้ ให้มาขอผ่อน ขอผ่อนเสร็จก็บอกให้บวก 700 MHz ไปด้วย เท่ากับผูกไว้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่เงื่อนไขคือไม่สามารถจ่ายได้ ใครพิสูจน์ว่าไม่สามารถจ่ายได้
บางโอเปอเรเตอร์มีเงินปันผล 6,000 ล้านบาทต่อปี บางโอเปอเรเตอร์เตรียมกู้แบงก์ไว้แล้ว ไม่มี ม.44 ปีหน้าเตรียมจ่าย แต่พอมี ม.44 บอกว่า อุ๊ย…จ่ายไม่ได้ ธุรกิจมันเป็นอย่างนั้นเลยเหรอ แล้วใครในประเทศนี้เป็นคนพิสูจน์ว่าเขาไม่มีความสามารถในการจ่าย มีฝ่ายตรวจสอบสถานะการเงินไหม แล้วถ้าบอกว่าจ่ายไม่ได้ ทำไมหุ้นมันขึ้นทุกวัน ทำไมนักลงทุนถึงไปลงทุนให้หุ้นที่ไม่มีปัญญาจ่ายให้รัฐ
สื่อโทรทัศน์ไทยใต้ร่มเงาอำนาจนิยม
24 มิถุนายน 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศเป็นวันโทรทัศน์ไทย กล่าวได้ว่า โทรทัศน์เกิดขึ้นในยุคทหารเรืองอำนาจ ส่งผลให้วัฒนธรรมของสื่อโทรทัศน์อยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยมมาเกือบตลอดจนทุกวันนี้
สื่อโทรทัศน์ไทยมีบทบาทคู่กับการเมืองมาตลอด สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. เล่าว่า จุดเปลี่ยนสำคัญคือหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 มีกระแสการเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง ให้มีองค์กรอิสระเข้ากำกับดูแลสื่อ เพราะจากปี 2534 ทีวีมีภาพของการถูกโฆษณาชวนเชื่อ และไม่มีเสรีภาพ เป็นที่มาขององค์กรอิสระและทีวีเสรี
“ตอนนี้ก็อยากเปรียบเทียบเหตุการณ์ปัจจุบันกับเหตุการณ์ในยุคนั้นของไอทีวีกับทีวีดิจิทัล เนื่องจากค่อนข้างคล้ายกัน เรามีความหวังหลังการปฏิรูปการเมือง คุณอานันท์ ปันยารชุน ให้มีสถานีเสรี ไอทีวี โดยให้เอกชนมาประมูล สุดท้ายจังหวะไม่ดีเหมือนกัน เพราะว่าเรามาประมูลก่อนปี 2540 แล้วปี 2540 ก็เกิดวิกฤติภาวะต้มยำกุ้ง สื่อทีวีก็บอกไม่ไหวแล้ว
“เหมือนกับตอน กสทช. ช่วงประมูลทีวีดิจิทัล ประมูลไปได้ไม่กี่เดือนก็เกิดรัฐประหาร แล้วก็ถูกปิดสถานีไปช่วงหนึ่ง แล้วเปิดมาก็เจอข้อจำกัดมากมาย จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์มันก็จะคล้ายๆ กันอยู่”
ต่อมา ชินคอเปอเรชั่น ได้เข้ามาถือหุ้นไอทีวีช่วงใกล้การเลือกตั้ง สื่อจึงถูกมองว่าการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้ามาถือหุ้นอาจเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งได้ ตามมาด้วยเสียงวิจารณ์ว่า ‘ระบอบทักษิณ’ เข้ามายึดไอทีวี และแก้สัญญาสัมปทานโทรคมนาคม
สุภิญญามองว่า สื่อและโทรคมนาคมจนถึงยุคนี้ยังอยู่ในระบบของอำนาจนิยมอุปถัมภ์และทุนนิยมเหมือนกัน แต่ความแตกต่างคือกฎหมายและหลักนิติธรรม เพราะไอทีวีถูกศาลปกครองยกเลิกเงื่อนไขการแก้สัญญาสัมปทาน ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการปกติ เป็นไปตามหลักยุติธรรม มีการคานดุลอำนาจ เทียบกับปัจจุบัน หากพบว่าเกิดปัญหาจริง กสทช. สามารถออกกลไกที่เป็นไปตามหลักการเพื่อช่วยเหลือเอกชนในระบบปกติ โดยไม่ต้องใช้ ม.44
“ในยุคนี้ พอใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหา เราก็ไม่รู้ว่า ถ้ามีความผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ หลักสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ มันอาจจะท้าทายและทำลายหลักนิติธรรมของกระบวนการหรือเปล่า เราอุตส่าห์ออกแบบให้มีองค์กรอิสระ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายการเมืองจนกว่าจะมาเป็น กสทช. กว่าจะมาปฏิรูปอะไรกัน ตรงนี้มันก็ไปย้อนระบอบเดิม มันตรวจสอบไม่ได้ ทุกคนก็ไม่ต้องรับผิดชอบ”
การนำเอาคลื่นความถี่โทรทัศน์มาใช่ในการโทรคมนาคม เช่น ในสหรัฐ เนื่องจากคนดูทีวีน้อยลง หันไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น จึงเริ่มมีการเวนคืนคลื่นทีวีเพื่อไปใช้ทำโทรคมนาคม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและเพิ่มประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ เมื่อเอาคลื่นเดิมกลับมาก็นำไปประมูลเพื่อให้ได้มูลค่าสูงขึ้น นำเงินที่ได้นี้ไปชดเชยให้ผู้ประกอบการทีวีเดิม นี่คือหลักที่ คสช. พยายามนำมาใช้
“ในความเป็นจริงแล้วมันขัดกัน ก็คือ reverse auction เราไปเวนคืนคลื่น คลื่นก็ต้องคืนมาทั้งหมด หมายความว่าคุณไม่สามารถทำช่องทีวีได้ต่อไป แต่ตอนนี้คือเวนคืนยังไง ยังทำได้ต่อ แล้วก็ได้อภิสิทธิ์รับเงินอีก จะมีความต่างนิดหนึ่งก็คือ คนที่จะคืนจะไม่ทำต่อ จะได้ชดเชยไปส่วนหนึ่ง แต่คนที่จะทำต่อ ก็ไม่ต้องจ่ายที่เหลือ”
ส่วนคลื่นที่จะนำไปประมูล 5G ไม่ใช่คลื่นทั้งหมดที่ทีวีดิจิทัลใช้อยู่ เพราะ กสทช. เตรียมคลื่นไว้สำหรับช่องทีวีกว่า 48 ช่องคลื่นความถี่ โดยแบ่งเป็นทีวีธุรกิจ 24 ช่อง ทีวีสาระ 12 ช่อง ทีวีชุมชน 12 ช่อง และสามารถแยกย่อยออกไปได้อีกใน 48 ช่องในสถานีย่อยๆ ทั่วประเทศ และส่วนที่อยู่ใน 500-700 MHz ยังมีคลื่นว่างอยู่ เพราะยังไม่ได้ถูกจัดสรรให้ทีวีชุมชนและสาธารณะ
“ถ้าเอาจริงๆ ก็ไม่ได้กระทบคลื่นมากหรอก เพราะถ้ากระทบจริง ช่องต้องโวยแน่นอน เพราะว่าการที่จะเอาคลื่นเดินไปประมูล นั่นแปลว่า ช่องนั้นจะดูไม่ได้ จอดับ ต้องจูนกันใหม่ คนที่เสียหายคือช่อง ซึ่งเขาไม่ยอมหรอก ตอนที่มีการคุยกัน ดิฉันก็สงสัยว่าทำไมช่องไม่โวยวายเลยว่ามันจะกระทบคนดู”
แต่หาก กสทช. จะเยียวยาช่องทีวีดิจิทัล สุภิญญามองว่า ทำได้ แต่ควรทำอย่างตรงไปตรงมา โดยใช้เงินจากกองทุน กสทช. และควรมีรายงานรองรับ อ้างอิงถึงที่มาที่ไปของตัวเลข คำนวณให้ชัดเจน และต้องดูว่าเป็นผลกระทบจากการคืนคลื่นจริงหรือเปล่า
การเยียวยากควรยืนอยู่บนฐานว่ารัฐไปกระทำให้เขาเสียหายยังไง ต้องคืนเขาเท่าไหร่ ต้องคำนวณมา มีหลักวิชาการถูกต้อง แล้วก็สร้างทีมเข้าไปในเงื่อนไขการเยียวยาเหล่านั้นว่าผู้บริโภคจะได้อะไร
ทุกวันนี้ ทีวีดิจิทัลอยู่ในมือทุน และส่วนหนึ่งเป็นทุนการเมือง เป็นทุนของผู้สนับสนุนพรรคการเมือง แม้จะไม่ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวเหมือนในยุค ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ยึดโยงว่ามีสัมพันธภาพระหว่างสื่อและพรรคการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อผู้บริโภค เพราะทุนที่ใกล้ชิดการเมือง มีแนวโน้มจะทำให้สื่อขาดอิสรภาพและไม่ได้ทำหน้าที่สะท้อนเสียงของสาธารณะได้อย่างแท้จริง
“อันนี้คือสิ่งที่ส่วนตัวเศร้าที่สุด เพราะว่าทำงานมา 2 ทศวรรษเพื่อจะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปกฎหมาย ตั้งแต่ดิฉันยังเป็นนิสิตจบใหม่ มาเป็น กสทช. จนเลิกเป็นแล้ว มันก็ยังสะท้อนว่าเรายังปฏิรูปจากระบบเดิมไม่ได้มากนัก และมันก็จะยิ่งยากขึ้น และยอมรับว่าเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหานี้ด้วย
“พูดแล้วก็ขำ เศร้าๆ ยุคนี้เราต้องฝากให้ สส. มาตรวจสอบองค์กรอิสระนะคะ เพราะจริงๆ แล้วเราออกแบบองค์กรอิสระมาเพื่อคานดุลกับการเมือง เพราะ สส. มายุ่งกับการเลือก กสทช. เราเลยไม่อยากให้การเมืองมาแทรกแซง แต่ยุคนี้เราต้องฝาก สส. ช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ และช่วยทบทวนในเรื่องของการประมูลคลื่นความถี่ใหม่อีกรอบจากนี้ไปว่าเราควรจะตั้งหลักกันตรงไหน”
ทุน อำนาจรัฐ การเมือง การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ถึงมือประชาชน
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ไม่ตกใจเกี่ยวกับใช้ ม.44 เพื่ออุ้มธุรกิจทีวีดิจิทัล เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยต้องย้อนไปยังปี 2540 นั่นคือครั้งแรกที่บอกว่าโทรคมนาคมเป็น ‘ทรัพยากรธรรมชาติ’ ต้องถูกเอามาจัดสรร ทำให้เกิด กสช. (คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ) และ กทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก่อนจะถูกยุบรวมในปี 2553 ให้กลายเป็น กสทช.
“ถ้าไปดูในปี 2553 เดือนกันยายน มีการตั้งใจประมูล 1 ครั้งคือ ประมูล 3G และสูตรครั้งนั้นเป็นสูตรที่โหดมาก และเป็นสูตรที่จะทำให้เกิดขับเคลื่อน ถ้ามีผู้ประกอบการมาประมูล 4 เจ้า ให้ออกใบประกอบการ 3 ใบ แล้วทราบไหมครับว่าศาลปกครองล้มการประมูลไม่กี่วันก่อนเริ่มการประมูล อยู่ๆ วันหนึ่ง ก่อนจะประมูลไม่กี่วัน ก็มีฟ้าผ่ามา ยกเลิกการประมูล ทำให้การประมูล 3G ช้าไป 2 ปีเพราะเหตุการณ์นี้”
หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม True เข้าไปซื้อกิจการ Hutch ทำให้ผู้ประกอบการจาก 4 เหลือ 3 ราย ทำให้ทรูออกสตาร์ท 3G ก่อนเจ้าอื่น ได้เปรียบในการแข่งขันเร็วกว่า ทำให้เกิด กสทช. ขึ้นในปี 2553 แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช. ในปี 2554 มีการจัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. ได้รับการแต่งตั้งจาก สว. ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญ 2550
“ถามว่าประเด็นนี้สำคัญอย่างไร คลื่นความถี่ทั้งหมดนอกจากจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลแล้วยังมีประโยชน์ทางการเมืองด้วย เพราะนี่คือช่องทางที่จะสร้าง propaganda หรือช่องทางที่สร้างวาระทางการเมืองของตัวเองได้ ดังนั้นการที่จะเปิดเสรีหรือเอาคลื่นความถี่มาจัดสรรอย่างเป็นธรรมให้มีการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมจึงเป็นไปได้ยากมาก”
ธนาธรเล่าย้อนว่า ปี 2555 เกิดแผนแม่บทการจัดสรรคลื่นความถี่ คือการดึงกลับมาทั้งหมดเพื่อจัดสรรกันใหม่ ประมูลกันใหม่ โดยคลื่นวิทยุ FM AM ขณะนั้นเป็นของกองทัพ 198 ช่อง กรมประชาสัมพันธ์ 145 ช่อง อสมท. 62 ช่อง กรมตำรวจ 44 ช่อง โทรทัศน์ ช่อง 3 ของ อสมท ช่อง 5 และ 7 กองทัพบก รวมทั้งหมดแล้วนับว่าเป็นผลประโยชน์มหาศาลมาก ทั้งตัวเงิน อำนาจทางการเมือง และวาระทางการเมืองต่างๆ ที่นำเสนอผ่านสื่อเหล่านี้
หลังจากนั้น 5 ปี 2560 คือกำหนดแรกที่ต้องคืนคลื่นวิทยุ แต่มีการใช้ ม.44 คือคำสั่ง 76/2559 ชะลอการเรียกคืนคลื่นวิทยุตามแผนแม่บท ถือเป็นครั้งแรกที่การจัดการคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรมถูกแทรกแซงด้วย ม.44
“สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือ มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ในการจัดสรรบริการคลื่นความถี่โทรคมนาคมวิทยุโทรทัศน์ มันมีการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะกลุ่มทุนบางกลุ่มเป็นการเฉพาะเจาะจง”
ข้อสังเกตประการสำคัญคือ การใช้ ม.44 ทำโดยไม่มีฝ่ายค้านในสภา ไม่มีการอภิปราย ถัดมาคือ เป็นการใช้ ม.44 หลังเลือกตั้ง และทำในระหว่างการมีรัฐบาลรักษาการ ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะไม่สามารถออกนโยบายที่มีผลผูกพันไปถึงรัฐบาลหน้าได้ขนาดนี้
“อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ ซึ่งมันทำลายระบบทางการเมืองที่เราสร้างมาไว้เละเทะไปหมดเลย เพราะรัฐบาลรักษาการสามารถทำอะไรต่างๆ เหล่านี้ได้ และผมว่ากรณีนี้เป็นกรณีศึกษาที่จะทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มอำนาจทางการเมือง”
อำนาจทางการเมืองที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรว่าจะตกไปอยู่ในมือใคร ถ้ามีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ทรัพยากรจะถูกกระจายอย่างทั่วถึง แต่อำนาจรัฐที่ผูกพันกับทุนใหญ่จะทำให้ผลประโยชน์ท้ายที่สุดตกอยู่ในมือกลุ่มทุน
ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ ป่าไม้ สายน้ำ ที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอะไร คนที่มีอำนาจในการจัดสรรคืออำนาจทางการเมือง อำนาจทางการเมืองจะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ควรจะตกอยู่ในมือใคร เมื่อไหร่ อย่างไร
“แล้วที่เรามาเถียงกันแทบเป็นแทบตายว่า ประเทศไทยจะเอาเงินที่ไหนมาดูแลคนแก่ จะเอาเงินที่ไหนมาสร้างโรงพยาบาล พี่ตูนต้องวิ่งรอบประเทศไทยอีกกี่รอบถึงจะสร้างโรงพยาบาลที่ดีได้ ก็มานั่งเถียงกันเรื่องนี้ แต่พื้นฐานที่เป็นอุปสรรคในการเกลี่ยทรัพยากรให้เท่ากันมันไม่ได้ถูกจัดการเลยคือ ความสัมพันธ์ระหว่างทุนใหญ่กับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน
“เรามีทรัพยากรเพียงพอที่สร้างสรรค์สังคมที่ดี ไม่ใช่เอาทรัพยากรมากองไว้ที่กลุ่มทุนเดียว”
ข้อสังเกตสุดท้าย อุตสาหกรรมที่อิงอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การต่อรองกับทหารสามารถทำได้ง่าย สวนทางกัน การต่อรองกับนักการเมืองจะต้องมีการตรวจสอบ ผ่านสภา
“อุตสาหกรรมไหนที่มีนายทุนที่ใกล้ชิดกับอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะมีลักษณะแบบนี้ อุตสาหกรรมไหนที่กลุ่มทุนพวกนี้ไม่ได้อยู่ มันจะเปิดเสรี นี่เป็นข้อสังเกตง่ายๆ เวลาอยากรู้ว่าอุตสาหกรรมไหนในประเทศเป็นอย่างไร ต้องไปดูที่ผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนั้นว่ากลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับอำนาจกลุ่มนี้หรือเปล่า ถ้าเป็นกลุ่มทุนนั้นใกล้ชิดกับอำนาจกลุ่มนี้อุตสาหกรรมมันจะปิด แต่ถ้าเป็นกลุ่มทุนที่อยู่ไกล เป็นกลุ่มทุนชายขอบ อุตสาหกรรมนั้นจะเปิดเสรี
“ถ้าเราอยากได้ความเป็นธรรม ถ้าเราอยากได้การพัฒนาประเทศที่ดี ทรัพยากรจะต้องถูกจัดสรรได้ดีกว่านี้ เรียนรู้จากกรณีนี้ แล้วเอาทรัพยากรตรงนี้ที่ควรจะกลับเข้ารัฐไทย เอามาใช้เพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ดีกว่าครับ เรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะสร้างสังคมที่ดีกว่านี้ในประเทศไทย”
เมื่อรัฐให้ทุนได้ ผู้บริโภคอย่างเรา ‘ได้’ หรือ ‘เสีย’
จากหัวข้อวงเสวนา ‘ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล: รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร’ กลายเป็นคำถามที่สำคัญ เรามองเห็นตัวละครต่างๆ ทั้งรัฐและทุน ในฐานะผู้รับผลกระทบ ผู้บริโภคอย่างเรา ได้อะไร และเสียอะไร
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ที่ปรึกษามูลธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “เหมือนเป็นคำถามนะคะ แต่คิดว่าน่าจะเป็นคำบอกเล่ามากกว่า อารมณ์ประมาณว่า ‘ประชาชนได้อะไร!’ แล้วก็ยักไหล่หนึ่งที เพราะมีแต่เสียล้วนๆ”
เริ่มต้นที่ประเด็นเลื่อนการชำระหนี้ 4G โดยไม่คิดดอกเบี้ย ผลประโยชน์ที่ผู้ให้บริการได้คือ True 8,800 ล้าน, AIS 8,400 ล้าน, DTAC 2,600 ล้าน
“ถ้ามาดูหลังจากที่มีการประมูล 5G จริง True จะจ่ายแค่ค่าการประมูลแค่ 2,200 ล้าน AIS จ่ายแค่ 2,600 ล้าน ส่วน DTAC จะจ่ายจริงที่ 8,400 ล้าน นี่คือเงินงบประมาณที่เราเสียไป เราสามารถสร้างรัฐสวัสดิการเกือบดีเท่าสแกนดิเนเวียได้ ถ้าไม่มีการอุ้มกลุ่มทุนขนาดใหญ่ขนาดนี้นะคะ”
ประเด็นถัดมาคือโทรทัศน์ กรรณิการ์ย้ำว่า เดิมทีคลื่นนี้ไม่ใช่คลื่นว่าง เพราะเคยจะถูกทำให้เป็นทีวีประชาชน แต่กลับเอาไปทำ 5G ทั้งที่เดิมมีในแผนแม่บทอยู่แล้ว
“ที่สำคัญที่สุดในการออก ม.44 ในครั้งนี้ อ.สมเกียรติบอกว่าเป็นนิทาน ‘ลุงสั่งเฮียอุ้มเสี่ยด้วยเงินเรา’ ใช่ไหมคะ แต่ความจริงแล้วดิฉันอยากจะปรับนิดหน่อย ‘เฮียกับเสี่ยสมคบกันใช้ลุง ซึ่งลุงอาจจะได้เล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ให้ไปอุ้มเสี่ยโดยใช้เงินเรา แต่หมาเฝ้าบ้านเราโดนมอมยา’ เพราะเป็นอะไรรู้ไหมคะ เพราะว่าดูแล้ว ไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเลย”
เดิมที ช่วงผู้ประกอบการทีวีประสบปัญหา ต้องตัดรายการมีคุณภาพทิ้ง แล้วนำโฆษณาเข้ามาเพื่อหารายได้ ซึ่งรวมถึงโฆษณาที่ผิดกฎหมาย โดยไม่มีมาตรการใดๆ มาคุ้มครองผู้บริโภค
“ในช่วงที่ทีวีกำลังจะตาย โดน disruptive เราพบว่าทีวีจำนวนมาก ไม่มีช่องรายการที่มีคุณภาพมากเพียงพอ ทีวีจำนวนมากขายของ งานวิจัยของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคพบว่า ทีวีมีโฆษณาขายสินค้าที่เป็นสินค้าอาหารเสริมที่ผิดกฎหมาย โฆษณาแบบผิดกฎหมาย แล้วบางครั้งในรายการข่าวยังมีโฆษณาแทรก พอเราพูดเรื่องนี้ ทีวีควรจะปรับตัว เขาก็บอกว่า มันทำอะไรไม่ได้ เพราะถ้าไม่เอาโฆษณาพวกนี้มันก็จะลำบาก ก็ทำให้เราต้องทนฟัง
แต่ว่าพอคุณได้รับการช่วยเหลือขนาดนี้ มันดีลที่ 2 แล้ว แถมเงินให้ด้วยนะ คุณก็ยังไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภค รายการข่าวที่ข่าวเชิงสาระ ที่เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่มีการพูดถึง ต่อไปเราก็จะเจอแต่ข่าวอาชญากรรม ข่าวดราม่าต่างๆ ที่เรียกว่าเสพง่าย ลงทุนน้อยในการผลิต หรือไม่ก็เป็นข่าวที่มาจากประเด็นออนไลน์ต่างๆ
สำหรับ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ การใช้ ม.44 เข้ามาอุ้มทีวีดิจิทัล จะส่งผลผลกระทบกับประชาชน และกลายเป็นการเอื้อกลุ่มทุนโดยตรง อาการหมาเฝ้าบ้าน ‘โดนมอมยา’ คือ ผู้ประกอบการบางรายเป็นผู้ผลิตสื่อตัวจริงระดับกลางที่ขายหุ้นให้ทุนใหญ่เข้ามา ทุนกลุ่มนี้อิทธิพลมากถึงขั้นปั่นทิศทางไปทางไหนก็ได้
“ที่น่าตกใจมากกว่า เพราะว่าเรามีโลกออนไลน์ อยู่ๆ ก็จะมีประเภทที่เหมือนรายงานข่าว หรือเป็นคอลัมน์ก็ไม่อาจจำแนกแจกแจงได้ ไม่มีคนเขียน แต่มีความคิดเห็น พอไปดูอีกเจ้าหนึ่ง แล้วลองเสิร์ชดู จะมีอีก 2-3 เจ้าที่เหมือนกัน ที่น่าตกใจที่มันไม่ใช่สื่อออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีที่มาที่ไป แต่สื่อหลักก็ไปเล่นกับเขาด้วย จนตั้งคำถามว่า แล้วมันมาจากที่เดียวกันได้ยังไง”
กับ ม.44 ฉบับที่ 4/2562 กรรณิการร์บอกว่า ยังไม่ใช่ฉบับสุดท้าย ถ้าลองค้นหาดูในอินเทอร์เน็ตจะพบข่าวที่คล้ายคลึงกัน 4-5 ข่าว “เร่งปลดล็อคสรรหา กสทช. บอร์ดเกียร์ว่าง สำนักงานแบกภาระล้น” โดยไม่อ้างอิงถึงผู้ให้ข่าว หรือ “สำนักงานเลขาฯ กสทช. พวกบอร์ดไม่ทำมาหากิน วันๆ ได้แต่นั่งเฉยๆ เนื่องจากมี ม.44 ก่อนหน้านี้ แล้วก็ยังมามีปัญหาอีก ฉะนั้นพวกนี้ก็จะอยู่ได้นานไป ควรปลดล็อค ม.44 เพื่อให้ กสทช. เหล่านี้หมดหน้าที่ไป” จากนั้นก็เป็นการพูดถึงคุณสมบัติ กสทช. ที่จะได้มา เช่น ไม่ควรจำเป็นต้องเว้นวรรค ถ้าคุณมาจากผู้ประกอบการมาก่อน”
เดิมในกฎหมาย หากเป็นผู้ประกอบการ ต้องเว้นวรรค 1 ปี ต่อไปนี้จะไม่ต้องมีการเว้นวรรค โดย ม.44 ฉบับสุดท้ายมีเจตนาออกมาเพื่อล้าง ม.44 เดิม และฉบับนี้จะมีเรื่องคุณสมบัติ กสทช. แทรกด้วย
“ดิฉันถามว่า คนเป็นสื่อมวลชน คนเป็นประชาชนควรจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เรายอมไหมกับเรื่องเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นอีก คือเท่านี้ก็เต็มที่แล้ว ตอนนี้ก็ให้ผู้ประกอบการเข้ามาอย่างเต็มภาคภูมิ”
“ดิฉันทำงานอยู่ในกลุ่มที่ติดตามเรื่องสิทธิบัตรยา เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ ตอนที่คุณประยุทธ์ประกาศในรายการว่าจะออก ม.44 เพื่อปล่อยคำขอสิทธิบัตรที่มันค้างมาเป็นหมื่นฉบับ อับอายขายหน้าประเทศไทย ดิฉันเรียก ม.44 ฉบับนั้นว่า มาตรา 44 ปล่อยผีสิทธิบัตร ถ้าออกมา ยาในประเทศไทยจะถูกผูกขาดแพงขึ้น”
สุดท้ายคือการตั้งคำถามกับตัวสื่อเองถึงหน้าที่ที่มีต่อประชาชนและสังคม ว่าจะมีส่วนช่วยผลักดันวาระต่างๆ หรือเลือกจะอยู่นิ่ง เพราะแท้จริงแล้ว สื่อคือองค์กรที่ยังมีอิทธิพลในการสื่อสารประเด็นต่างๆ ให้สาธารณชนได้รับรู้ความจริง
“ช่วงนั้นเราออกมาพูดกับสื่อ ออกมาทำแคมเปญ ถึงแม้กำลังเราจะน้อยมาก แต่สื่อมวลชนให้การตอบรับดีมาก เขียนคำอธิบาย 2 ปีกว่ามาแล้ว เราสามารถยัน ม.44 ฉบับนั้นได้ นั่นหมายความว่าอำนาจของสื่อมวลชนนั้นยังมีอยู่ สื่อมีผลต่อสังคม แต่ทำไมคุณไม่ทำอะไร ฉะนั้น ม.44 ฉบับสุดท้ายจะเป็นตัวพิสูจน์ว่า สื่อมวลชนไทยยังมีอยู่หรือไม่ หรือว่าตายไปหมดแล้วจากบ้านเมืองนี้”