ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ฝันที่ไม่ค่อยเป็นจริง

บุคคลในชีวิตสมรสแห่งโลกสมัยใหม่จำนวนมากยังมีวันประสบพบพานกับการหันหน้าออกจากกันแล้วแยกทางกันเดินไปได้ ประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญอย่างหนึ่งในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา คือการที่หลายประเทศต้องเผชิญกับแรงต้านจากกลุ่มชนภายในขอบเขตรัฐหลักที่แสดงความปรารถนาอยากมีส่วนปกครองตนเองมากขึ้น หรือเลยเถิดไปถึงขั้นพยายามดิ้นรนแยกถิ่นฐานของตนออกจากอำนาจรัฐเดิม แล้วประกาศอิสรภาพเป็นรัฐเอกราชแห่งใหม่

ธรรมชาติของแนวคิดแห่งอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน (Separatism) ในหลายแห่งหนมักเป็นไปตามครรลองที่ว่า เมื่อกลุ่มผู้คนในส่วนภูมิภาคแห่งใดแห่งหนึ่งของรัฐรวมรู้สึกเหินห่างจากรัฐบาลกลางของตน พลเมืองแห่งท้องถิ่นเหล่านั้นมักพยายามแสวงหาวิถีทางทางการเมืองหรือเรียกร้องสิทธิและเสียงเพื่อดูแลปกครองพื้นถิ่นด้วยตนเองมากขึ้น

กลุ่มคนดังกล่าวอาจเป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับประชากรของรัฐโดยรวม มีอัตลักษณ์ทางภาษาที่แตกต่างไปจากส่วนกลาง ยึดถือวัฒนธรรมและศาสนาต่างจากภูมิภาคส่วนอื่นของรัฐผู้ปกครอง และกลุ่มคนลักษณะนี้มักมีถิ่นฐานอยู่ในผืนดินแดนต่อเนื่องกันในทางภูมิศาสตร์ พวกที่มีแนวคิดดังกล่าวมักรู้สึกห่างเหินเสมือนถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลส่วนกลาง และเข้าใจว่าตนไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ในดินแดนที่ประสบปัญหาความยากจนและด้อยพัฒนา ความรู้สึกมักเป็นไปในทำนองว่า รัฐส่วนกลางไม่ค่อยเอาใจใส่ทุ่มเทต่อการยกระดับรายได้ การสร้างงาน และการลงทุนด้านต่างๆ ทั้งทางสาธารณะและทางธุรกิจ ในพื้นที่ของตน

ส่วนเขตแดนหรือแคว้นที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากร มีโอกาสด้านการงาน อุตสาหกรรมและการลงทุนจำนวนมาก มีสถานะอยู่ในระดับพัฒนาการก้าวหน้าแล้ว มักมีความคิดว่า รัฐบาลกลางเก็บภาษีจากพื้นที่ของตนไปในลักษณะขูดรีดเพื่อนำไปเฉลี่ยใช้จ่ายให้ครอบคลุมภูมิภาคอื่นโดยรวมมากเกินไป ส่วนที่รัฐส่งกลับมาลงทุนในพื้นที่นั้นจึงมีเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบเท่ากับสัดส่วนที่ตนจ่ายให้แก่ส่วนกลาง

แผนที่แสดงความต้องการแบ่งแยกดินแดนเป็นประเทศใหม่ของยุโรป

ในหลายแห่งหนของโลก กลุ่มผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนมักดำเนินการตามแนวคิดอิงเอกลักษณ์ทางการเมือง ซึ่งผนวกรวมเอาพลังของกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มศาสนิกเดียวกันเข้าผสมผสานเข้าไว้ โดยอาศัยกิจกรรมทางการเมืองและแนวทฤษฎีที่ก่อกำเนิดขึ้นจากประสบการณ์ร่วมกันของสมาชิกในกลุ่มสังคมผู้ได้รับความอยุติธรรมบางประการคล้ายกัน

กลุ่มดังกล่าวเชื่อว่า ความพยายามผสมผสานพลเมืองแห่งท้องถิ่นให้ใช้ชีวิตสอดคล้องกับกับวิถีของกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่าในส่วนกลาง จะยิ่งเป็นการสยบยอมให้เอกลักษณ์ของตนด้อยสถานะและคุณค่าลง รวมถึงขีดความสามารถของพลเมืองในการกำหนดเจตนารมณ์มุ่งมั่นแห่งชีวิตพวกตนด้วย

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แทบทุกหนแห่งปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองมักมีความสำคัญในการก่อกำเนิดแนวคิดและการก่อร่างสร้างขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่แข็งแกร่งขึ้นมา เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวโดยอาศัยประเด็นอัตลักษณ์ที่มีความทะเยอทะยานและกล้าสุ่มเสี่ยงน้อยกว่า

ในโลกยุคใหม่ที่มีการเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว กระแส ‘โลกาภิวัตน์’ คือแรงกระตุ้นอีกประการหนึ่งสำหรับความต้องการแยกดินแดน ปรากฏการณ์ที่นานาชาติผนึกพลังประสานใกล้ชิดกันทั้งในด้านสังคม ธุรกิจการค้า การพัฒนา เช่นนี้ มีส่วนทำให้ปัจเจกบุคคลรู้สึกได้ว่า ความเป็นตัวตนของเขาถูกดูดกลืนให้เลือนหายไปท่ามกลางกระแสเชี่ยวจัด บุคคลเหล่านี้ โดยเฉพาะในบางถิ่นแดนที่อ่อนไหว จึงหันไปแสวงหา ‘สังกัด’ อันแท้จริงของตนที่คิดว่าถูกควร นั่นคือดินแดนขนาดเล็กกว่า แต่เป็นอิสระเต็มตัว และยินดีปรีดากับความรู้สึก ‘ท้องถิ่นนิยม’ ร่วมกับพวกพ้องอัตลักษณ์เดียวกันมากเสียยิ่งกว่ากระแสโลกาภิวัตน์ที่ครอบคลุมประเทศ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า บางครั้งมันก็ช่วยไม่ได้ที่รัฐส่วนกลางของบางประเทศนั่นเองได้ประกอบสร้างสิ่งล้มเหลวหลายประการกระทบกระเทือนต่อผู้คนในพื้นที่อ่อนไหวเช่นนั้น อาจเป็นความผิดพลาดทางการปกครอง การไม่เกื้อหนุนเศรษฐกิจ การตอบโต้ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ที่รุนแรงนอกลู่ทางเกินไป และจงใจไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้หนุนส่งความคิดห่างเหินและอยากแยกตัวของผู้คนท้องถิ่น

ด้วยเหตุปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว ทำให้แนวคิดและขบวนการต่อสู้เพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดนหลายแห่งออกเป็นประเทศอิสระก่อกำเนิดขึ้นและดำรงอยู่ทั่วโลกตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มาจนถึงยุคปัจจุบัน มีทั้งพวกที่ใช้พลังทางด้านการเมืองและด้วยความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธ ไปจนถึงการก่อการร้าย

จนกระทั่งบัดนี้ นักวิเคราะห์ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า ความเคลื่อนไหวตามลักษณะของอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนน่าจะส่งผลต่อประชาคมโลกโดยทั่วไปในทางดีขึ้นหรือเลวลง

พลังรวมศูนย์แห่งพื้นถิ่นแนวทางนี้ย่อมฟังดูเข้าท่าไม่น้อย เมื่อคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยทั่วไปเช่น การปกครองตนเอง การตัดสินใจโดยชุมชน การกระจายอำนาจ และรัฐบาลแห่งดินแดนท้องถิ่นที่มีความเอาใจใส่และรับผิดชอบต่อพลเมืองได้มากและใกล้ชิดกว่าเดิม

แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วยการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งแล้ว ส่วนใหญ่จะพบว่า การแตกสลายของรัฐกลางลงเป็นหย่อมๆ จะก่อปัญหาทางการบริหารจัดการให่แก่ประชาคมโลกทั้งหมดอย่างมากมายเกินกว่าจะรับมือไหว

บรรดานักอุดมการณ์ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนมักเสนอภาพอนาคตให้ผู้คนจดจำในห้วงฝันคนึงว่า การประกาศ ‘เอกราช’ เป็นสิ่งเลิศประเสริฐยิ่ง ซึ่งจะสามารถต้านทาน ‘กระแสโลกาภิวัตน์’ ได้ทันทีที่ทำสำเร็จ มี ‘ผู้นำประเทศ’ คนใหม่ รัฐสภา ทหารสวนสนาม โบกธงผืนใหม่ ร้องเพลงชาติใหม่ แล้วก็จะได้ครอบครองหนึ่งที่นั่งในองค์การประชาชาติทันที ท่ามกลางประชาคมนานาชาติที่ส่งเสียงเอาใจช่วย

แต่ว่าน่าเสียดายที่ตามความเป็นจริงสิ่งดังกล่าวทั้งหมดเป็นเพียง ‘ภาพลวง’ เท่านั้น

กระแสโลกาภิวัตน์นั้นมีความสำคัญตรงที่มันถูกขับเคลื่อนโดยกองทุนระหว่างประเทศขนาดมหาศาล รวมทั้งการเคลื่อนไหวด้านแรงงานและเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต การเงินโลก และกระทำการผ่านเครือข่ายทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพสูง บางส่วนสามารถมองเห็นได้ชัด แต่หลายส่วนไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าท้องถิ่นใดประสบความเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน บรรษัทข้ามชาติจะยังคงดำรงอยู่ในระดับโลกโดยตลอด และนอกจากนั้นก็ยังมีพวกมาเฟีย กลุ่มค้ายาเสพติดข้ามชาติ องค์การอาชญากรรม ผู้ร้าย จอมโกง ผู้ก่อการร้าย ฯลฯ ผสมโรงแทรกอยู่กับสิ่งเหล่านี้

 

ถ้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งหมดในโลกนี้ประสบความสำเร็จ โลกของเราก็จะแปลงสภาพจากปัจจุบัน จากที่เคยมีอยู่ประมาณกว่า 200 ประเทศ ไปเป็นโลกที่มีถึง 1,000 ประเทศ และหากทั้งหมดมีที่นั่งเสมอภาคกันในสหประชาชาติ ใครจะสามารถจินตนาการได้ว่าเป็นการยากง่ายสักแค่ไหนกว่าจะลงมือตัดสินใจอะไรได้สำเร็จในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มีสมาชิกระดับ 1,000 รัฐ

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดด้านความสมดุลของอำนาจอีกด้วย 1,000 ประเทศขนาดเล็ก ๆ กับรัฐบาลท้องถิ่นของตน ย่อมต้องมาหาทางแข่งขันเพื่อรับผลประโยชน์จากกลุ่มบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ที่ไม่ได้ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์เฉพาะจำนวนประมาณโหลหนึ่งเท่านั้น สภาพนี้น่าจะเป็นความลำบากของกลุ่มประเทศเล็กและด้อยพลัง นอกจากนั้นดินแดนเหล่านี้ยังจะกลายเป็น ‘เหมืองทองคำ’ อันล้ำค่าสำหรับองค์การอาชญากรรม นักก่อการร้ายสากล ผู้หลบเลี่ยงภาษี และอาชญากรสารพัดสารพันรูปแบบ ที่พยายามหาทางหลบเลี่ยงจากเขตแดนอำนาจศาลของประเทศหนึ่งไปยังอีกเขตหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

นักสังคมวิทยา แดเนียล เบล (Daniel Bell) เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า

รัฐชาติมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับปัญหาเล็กๆ และกลับเล็กเกินไปสำหรับปัญหาใหญ่

คำพูดของเขาเป็นเสมือนคำทำนาย แต่ก็ถูกต้องทั้งสองด้าน รัฐบาลแห่งชาติไม่สามารถรับมือกับการระบาดของโรคร้ายระดับหายนะ ภาวะโลกร้อน การก่อการร้ายระหว่างประเทศ การเงินที่ไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมอย่างเป็นระบบ เหล่านี้ได้เลย เว้นเสียแต่ว่าจะลงมือทำหน้าที่ร่วมกันด้วยเสียงเอกฉันท์ผ่านองค์กรร่วมระหว่างรัฐบาล

ในทำนองเดียวกัน รัฐขนาดกระจ้อยร่อยซึ่งโผล่ขึ้นมาจากคลื่นแบ่งแยกดินแดนทั่วโลกก็อาจไม่มีความสามารถที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ เมื่อถึงตอนนั้น โลกาภิบาลก็เลยจะกลายเป็นสิ่งถูกควบคุมโดยเครือข่ายลักษณะนานาชาติ ที่ความจริงอาจเป็นของส่วนบุคคลที่ยังเหลืออยู่ก็ได้ สถานการณ์แบบนี้มันช่างน่ากลัวอย่างแน่นอน

นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องหยุดนิ่งแล้วตรึงหมุดพรมแดนปัจจุบันของชาติต่างๆ ในโลกใบเดิมไว้จนตลอดกาล  สิ่งที่น่าคำนึงคือ เราจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างและการจัดการของรัฐทั้งหลายไปสู่รูปแบบใหม่ๆ บ้าง เพื่อตอบสนองต่อพลเมืองของรัฐซึ่งประกอบด้วยอัตลักษณ์และความต้องการหลากหลาย

คำตอบเพื่อบรรเทาสถานการณ์ความปรารถนาแบ่งแยกดินแดนที่อาจน่าสนใจว่าจะดำรงคงอยู่ยั่งยืนนานกว่าอย่างอื่น น่าจะอยู่ที่การพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรัฐจำนวนหนึ่งไปสู่รูปแบบสหพันธรัฐแนวคิดใหม่ มากกว่าการชูธง ‘อำนาจอธิปไตยบริสุทธิ์’ ที่ผนวกรวมเอา ‘อธิปไตย’ ของกลุ่มชนย่อย กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เข้ามาไว้ภายในเขตรัฐชาติ โดยเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และการเข้ามีส่วนร่วมของสมาชิกสังคมให้มากสุดเท่าที่จะสามารถทำได้

แท้จริงแล้ว ในยุคที่รัฐชาติต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันในปัจจุบัน ‘อธิปไตย’ เป็นเพียงภาพลวงตา ยกเว้นกรณีที่ดินแดนนั้นเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ ปัญหาหลายประการที่มีอยู่ในโลกนั้นมันใหญ่เกินไป ขณะที่วิธีการรับมือของรัฐบาลใหม่ (จากการแยกดินแดนออกมา) แล้วได้ชื่อว่ามี ‘อธิปไตย’ นั้น มีขนาดเล็กน้อยกว่ากันเยอะ

ตัวอย่างยุคใหม่ในบางประเทศ

ดินแดนภายใต้อิทธิพลของอดีตสหภาพโซเวียต

หากไม่นับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตระหว่างปี 1990-1991 ซึ่งเป็นการทำให้ดินแดน 14 แห่งแยกตัวออกมาเป็นสาธารณรัฐเอกราชนอกเหนือจากสหพันธ์รัสเซีย ได้แก่ มอลโดวา ลัตเวีย ยูเครน จอร์เจีย คาซัคสถาน เตอร์เมนนิสถาน อาเซอร์ไบจาน เคอร์กิสถาน ทาจิกกิสถาน เบลารุส เอสโตเนีย และลิทัวเนีย แล้ว ในภาคพื้นยุโรปยังมีเช็กโกสโลวาเกีย ซึ่งแยกดินแดนกันเองออกเป็นสาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย โดยสันติ ในปี 1993

กลุ่มชาติอื่นๆ ภายในรัฐโซเวียตเดิมที่ต้องการอิสรภาพจากสหพันธ์รัสเซีย เช่น เชชเนีย เกิดมีกองกำลังกบฏที่ออกทำการหลายครั้งเพื่อพยายามแสวงหาเอกราช แต่ได้รับการลงโทษอย่างรุนแรงโดยกองทัพรัสเซีย

 

ควิเบ็ค (แคนาดา)

พลเมืองส่วนใหญ่ของควิเบคพูดภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยการแข่งขันล่าอาณานิคมของอังกฤษกับฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาเหนือ ควิเบกมีประชากร 8.2 ล้านคน เป็นหนึ่งใน 10 จังหวัดของสหพันธรัฐแห่งแคนาดาซึ่งมีประชากร 36 ล้านคน ขบวนการเพื่ออธิปไตยควิเบต (Mouvement souverainiste du Québec) เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยอุดมการณ์ คุณค่า และแนวความคิด ที่สนับสนุนความเป็นอิสรภาพของจังหวัดควิเบกแห่งแคนาดา ที่รวมตัวกันนับตั้งแต่ ทศวรรษ 1960 เพื่อก่อตั้ง พรรคควิเบค (Parti Québécois) แห่งท้องถิ่นขึ้น

การลงประชามติในปี 1980 และ 1995 ปรากฏคะแนนเสียงข้างมากสนับสนุนให้ควิเบกยังคงรวมอยู่กับแคนาดา และรัฐสภาแคนาดาได้ลงมติในปี 2006 เพื่อให้ควิเบกมีฐานะเป็น ‘ชาติ’ แห่งหนึ่งภายใต้สหภาพแคนาดา

ควิเบกมีคณะผู้แทนของตนเองในสหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ควิเบกยังเป็นสมาชิกโดยใช้สิทธิของตนเองในองค์กรระหว่างประเทศบางแห่ง เช่น ยูเนสโก (Unesco) แห่งองค์การสหประชาชาติ จังหวัดควิเบกสามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของจังหวัดเอง โดยยังคงอยู่ภายใต้ข้อบังคับของรัฐบาลกลาง

 

สกอตแลนด์

ก่อนการรวมกันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรบริเตน สกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรที่แยกต่างหาก แล้วยังมีศาสนจักรแห่งชาติ เพรสไบทีเรียน (Presbyterian) มีระบบการศึกษาและระบบกฎหมาย รวมทั้งภาษาสกอตติชเกลิก (Scottish Gaelic) ของตัวเอง ซึ่งพูดกันอยู่ในส่วนต่างๆ ของภูมิภาคไฮแลนด์และหมู่เกาะแห่งสกอตแลนด์

ในยุคใหม่พรรคชาตินิยมสกอต (Scottish National Party: SNP) เริ่มรู้สึกว่ากิจการขุดค้นใช้ประโยชน์จากน้ำมันและก๊าซในทะเลเหนือ ได้ผลิตเงินภาษีตอบแทนมาเพียงเล็กน้อยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของสกอตแลนด์ จึงเกิดความพยายามผลักดันเพื่อความเป็นอิสรภาพ ในปี 1999 ผลงานของขบวนการเพื่ออิสรภาพส่วนหนึ่งได้ก่อให้เกิดรัฐสภาสกอตแลนด์ที่มีอำนาจในการขึ้นภาษี

ในปี 2007 พรรค SNP กลายเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาสกอตแลนด์ การลงประชามติปี 2014 ชาวสกอตส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแยกดินแดน แต่รัฐสภาสกอตแลนด์ก็สามารถกำหนดการเก็บและใช้ภาษีอากรของตนเองได้อย่างกว้างขวางและมากกว่าเดิม

มาตรการภาษีด้านต่างๆ ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ผ่อนคลาย ทำให้แนวคิดแบ่งแยกดินแดนในสกอตแลนด์บรรเทาลงไปบ้าง แต่เมื่อบริเตนลงประชามติประสงค์จะแยกต้วออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แล้ว ชาวสกอตจำนวนมากก็ได้ออกมาส่งเสียงแสดงความต้องการจะลงประชามติเพื่ออิสรภาพของดินแดนตนครั้งใหม่ เพราะไม่ต้องการให้สกอตแลนด์สูญเสียผลประโยชน์หลายประการเมื่อสหราชอาณาจักรต้องขาดจากความเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

 

ฟลานเดอร์ส (เบลเยี่ยม)

หลังจากได้รับอิสรภาพจากเนเธอร์แลนด์ในปี 1830 เบลเยียมก็ต้องมาเผชิญกับเสียงเรียกร้องหาความเท่าเทียมกันจากพลเมืองพูดภาษาดัตช์ในเขตฟลานเดอร์ส (Flanders) ตอนเหนือ ที่ด้อยกว่าผู้คนพูดภาษาฝรั่งเศสในเขตวัลโลเนีย (Wallonia) ทางตอนใต้ที่มีฐานะดีกว่า แล้วความแตกแยกระหว่างพลเมืองที่พูดภาษาต่างกันก็แพร่ขยายมาโดยตลอด

นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ความต้องการเป็นอิสรภาพของชาวเฟลมมิช (Flemish) ค่อยๆ พุ่งขึ้นสูงอย่างไม่เคยลดละ ชาวเฟลมมิชแห่งฟลานเดอรส์มีจำนวนกว่า 6 ล้านคนในจำนวนประชากรเบลเยียมทั้งประเทศ 11 ล้านคน

ปัญหาความขัดแย้งแบบร้าวลึกระหว่างกลุ่มคนที่พูดต่างภาษากันได้ขยายตัวต่อเนื่องทีละน้อยนับตั้งแต่ต้นศตวรรษใหม่ปี 2000 ภาษาเป็นข้อปัจจัยพื้นฐานในหัวใจหลักของวิกฤตการณ์อัตถิภาวนิยมของเบลเยี่ยม มีบทบาทแทนที่ปัจจัยด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นที่เป็นอยู่ในสังคมอื่น

ทุกเรื่องราวในเบลเยียมขับเคลื่อนไปบนพื้นฐานของการแบ่งแยกภาษา ซึ่งเป็นพิษติดเชื้อเกาะกุมทุกสิ่งอย่าง นับจากห้องสมุดประชาชน ไปจนถึงหน่วยปกครองท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ระบบการศึกษา พรรคการเมือง โทรทัศน์แห่งชาติ หนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งทีมฟุตบอล

ในเบลเยียมโดยทั่วไปไม่มีการประกาศบอกเล่าเรื่องราวใดๆ ระดับชาติ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเนื้อหาตรงกันข้ามหากไม่ใช่ในภาษาดัตช์ก็เป็นภาษาฝรั่งเศส ผลที่ได้คือการสนทนาคล้ายคนหูหนวกที่ไม่ค่อยยอมเข้าใจสารจากอีกฝ่ายหนึ่ง ความขัดแย้งเรื่องภาษาลุกลามหนักข้อขึ้นถึงขั้นเกิดความคิดต้องการแยกแบ่งเบลเยียมออกเป็นสองประเทศเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา

พรรคการเมืองแนวชาตินิยมเฟลมิช (Nieuw-Vlaamse Alliantie: N-VA) ตัวแทนการต่อสู้ทางการเมืองของชาวเฟลมิช ซึ่งชูนโยบายแบ่งแยกดินแดน ระบุว่า เขตฟลานเดอร์ส ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้พลิกกลับมามีฐานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าเขตวัลโลเนีย ไม่สมควรต้องมาแบกรับภาระจากความยากจนของพลเมืองพูดภาษาฝรั่งเศสทางภาคใต้

นับตั้งแต่ปี 2007 เบลเยี่ยมประสบปัญหาวิกฤติการเมืองระดับชาติจนยากจะประสานได้ ทั้งที่เบลเยี่ยมอยู่ในสถานะเมืองศูนย์กลางแห่งยุโรป กรุงบรัสเซลส์เมืองหลวงเป็นที่ตั้งของสหภาพยุโรป (EU) และกองบัญชาการนาโต้ (NATO) แต่ประเทศนี้กลับสร้างสถิติแบบที่ไม่พึงปรารถนา เช่น เป็นประเทศเดียวในยุโรปที่คณะรัฐบาลมีอายุสั้นและล้มลุกคลุกคลานตลอดเวลา เคยถึงขั้นที่ไม่มีคณะรัฐบาลบริหารประเทศเป็นตัวเป็นตนยาวนานติดต่อกันถึง 541 วัน ระหว่างปี 2010-2011

 

บาสก์ (สเปน)

ส่วนใหญ่ของพลเมืองชาวบาสก์ (Basques) 2.5 ล้านคน อาศัยอยู่ในสี่เขตการปกครองที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน และอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในสามเขตบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสที่มีพรมแดนต่อเนื่องกัน วัฒนธรรมบาสก์แตกต่างจากส่วนอื่นของสเปน (และฝรั่งเศส) รวมถึงมีภาษาบาสก์ ยิสคารา (Euskara) ของตนเอง ภูมิภาคบาสก์เป็นที่ตั้งของท่าเรือประมงขนาดใหญ่ มีอุตสาหกรรม และธนาคารที่มั่งคั่ง เป็นเขตเศรษฐกิจดีที่สุดแห่งหนึ่งของสเปน

แคว้นบาสก์ได้รับเอกราชจากผู้ปกครองก่อนหน้านี้ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ต่อมาองค์กรทางการเมืองระดับชาติ (Euskadi ta Askatasuna: ETA) ก่อตั้งขึ้นในยุคทศวรรษ 1960 แล้วประกาศทำสงครามกับรัฐบาลสเปน ด้านการปราบปรามของรัฐ ผู้เผด็จการของสเปน นายพล ฟรังซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) เคยยับยั้งวัฒนธรรมบาสก์โดยห้ามใช้ภาษายิสคารา ยึดทรัพย์สิน และจับกุมกักขังพวกปัญญาชน

กลุ่ม ETA ดำเนินการรณรงค์เพื่ออิสรภาพด้วยรูปแบบใช้ความรุนแรง โดยกำหนดเป้าหมายที่ตำรวจ กองกำลังความมั่นคง บุคคลทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐบาล และอาคารต่างๆ มีการระบุว่าการต่อสู้อย่างเข้มแข็งจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะก่อตั้งสาธารณรัฐบาสก์ที่เป็นอิสระ ประกอบด้วยทั้งเขตแดนในสเปนและฝรั่งเศส

ในปี 1979 ผลการลงประชามติทั่วประเทศโดยการจัดการของรัฐบาลสเปนได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามให้ชาวบาสก์มีส่วนปกครองตนเอง และมีการก่อตั้งรัฐสภาบาสก์ขึ้น อย่างไรก็ตาม การโจมตีอย่างต่อเนื่องหลายปีของกลุ่ม ETA ทำให้ชาวสเปนหลายคนตกเป็นเหยื่อ เมื่อเดือนมกราคม 2000 คนนับล้านร่วมกันเดินขบวนในกรุงมาดริด เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อความรุนแรงของ ETA

รัฐบาลสเปน ฝรั่งเศส สหภาพยุโรปโดยรวม และสหรัฐอเมริกา พิจารณาจัดให้ ETA เป็นองค์กรก่อการร้าย หลังจากหน่วยติดอาวุธของชาวบาสก์ก่อการการสังหารผู้คนไปแล้วมากกว่า 820 รายตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมา

หลังจากสูญเสียแรงสนับสนุนไปมากมาย แม้กระทั่งในหมู่ชาวบาสก์เอง เดือนมีนาคม 2006 กลุ่ม ETA ประกาศหยุดยิง ‘เป็นการถาวร’ โดยระบุว่าจะเข้ามีส่วนร่วมในการส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยในท้องถิ่นบาสก์ เพื่อสร้างกรอบการทำงานใหม่ซึ่งสิทธิของชาวบาสก์ในฐานะประชาชนจะได้รับการยอมรับ และรับประกันโอกาสที่จะพัฒนาทางเลือกด้านการเมืองทั้งหมดในอนาคต

แต่ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นประปราย 5 กันยายน 2010 ETA จึงประกาศให้มีการหยุดยิงครั้งใหม่ โดยระบุว่าจะไม่ดำเนินการโจมตีอีกแล้ว เดือนมกราคม 2011 ETA ประกาศยุติการสู้รบแบบถาวรแบบที่สามารถ “ตรวจสอบได้ในระดับสากล” แต่ยังไม่ยอมประกาศปลดอาวุธ

เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ กลุ่ม ETA เปิดเผยแหล่งที่ซ่อนอาวุธยุทธภัณฑ์ต่อทางการ และประกาศว่าได้ปลดอาวุธตนเองอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่รัฐบาลสเปนระบุว่ากลุ่มนี้จะ “ไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทน” แล้วเรียกร้องให้ ETA “ปลดอาวุธและสลายตัวเอง” อย่างจริงจัง

 

คาตาลุญญา (สเปน)

คาตาโลเนีย (Catalonia) หรือ คาตาลุญญา (Catalunya) แคว้นที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีรายได้มากกว่าแคว้นอื่น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสเปนตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันได้รับสถานะกึ่งปกครองตนเองนับแต่ศตวรรษที่ 20 ในยุคของผู้เผด็จการ นายพลฟรังซิสโก ฟรังโก ชาวคาตาลันถูกรัฐบาลฟาสชิสต์ปราบปรามอย่างทารุณ ไม่ให้ใช้อัตลักษณ์และเผยแพร่วัฒนธรรมพื้นถิ่น แต่แนวคิดเรียกหาเอกราชยังคงซึมลึกในหมู่พลเมืองมาโดยตลอด

ยุคหลังนี้ ชาวคาตาลันฟื้นฟูวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เดิมขึ้นมา จัดการก่อตั้งสภาแห่งแคว้นและคณะบริหารท้องถิ่น มีรายได้สูงจากการท่องเที่ยว ค้าขาย และด้านอื่นมากจนร่ำรวยมั่งคั่ง และดำรงความสำคัญอย่างมากต่อสเปน

ชาวคาตาลันจำนวนมากไม่พอใจที่ต้องส่งเงินภาษีสูงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ ให้แก่รัฐบาลกลางในมาดริดนำไปช่วยเหลือภูมิภาคอื่นๆ ที่ยากจนกว่า กิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชในแคว้นคาตาลันทวีความแข็งแกร่งขึ้นในช่วงหลายปีมานี้

กระแสการเรียกร้องเอกราชของชาวคาตาลันพุ่งขึ้นสูงในช่วงปี 2013 จากวิกฤตยูโรโซนของสหภาพยุโรปที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสเปนถดถอย ศาลรัฐธรรมนูญสเปนมีคำตัดสินให้การลงประชามติปี 2014 ของชาวคาตาลันเป็นโมฆะเพียงไม่กี่วันก่อนกำหนดการ แต่การลงประชามติก็ดำเนินต่อไป แม้จะเป็นเพียงในเชิงสัญลักษณ์และมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง แต่คะแนนเสียงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ชี้ว่าชาวคาตาลันต้องการแยกตัวเป็นอิสระ

ต่อมาในปีนี้ หลังจากคาตาลุญญาดึงดันจัดการลงประชามติอีกครั้งเมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีสเปน มารีอาโน ราฮอย (Mariano Rajoy) ก็ตอบโต้ด้วยการใช้มาตรา 155 ตามรัฐธรรมนูญถอดถอนคณะผู้บริหารท้องถิ่นคาตาลันออกทั้งชุด แล้วเข้าควบคุมกำลังตำรวจของแคว้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลของประชาคมโลก

 

เคอร์ดิสถาน

เคอร์ดิสถาน (Kurdishtan) เป็นดินแดนของชาวเคิร์ด ภายในบริเวณภาคเหนือของประเทศอิรัก ติดกับพรมแดนตุรกีและอิหร่าน มีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญอิรัก ชาวเคิร์ดมีจำนวน 30 ล้านคน กระจัดกระจายกันเป็นกลุ่มๆ แถบพื้นที่ของตุรกี อิรัก อิหร่าน และซีเรีย

เมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมา เคอร์ดิสถานลงประชามติแยกเป็นเอกราชจากประเทศอิรัก โดยชาวเคิร์ดกว่า 93 เปอร์เซ็นต์หรือ 5 ล้านคน ออกมาลงคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์เพื่อแยกตัวออกจากอิรัก แต่รัฐบาลแบกแดด ประกาศว่าการทำประชามติเป็นสิ่งผิดกฎหมายและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอิรัก และไม่ยอมรับประชามตินี้ สอดคล้องกับท่าทีของนานาประเทศที่ไม่ยอมรับเช่นกัน ยกเว้นอิสราเอล

 

เชชเนีย (รัสเซีย)

ดินแดนเชชเนีย หรือที่มีชื่อทางการคือ สาธารณรัฐเชเชน (Chechen Republic) เป็นสาธารณรัฐหนึ่งภายในสหพันธรัฐรัสเซีย เชชเนียตั้งอยู่ในภูมิภาคคอเคซัสเหนือ ส่วนใต้สุดของยุโรปตะวันออก มีประชากร 1.27 ล้านคน

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายปี 1991 สาธารณรัฐเชเชนได้รับการประกาศเป็นสาธารณรัฐอินกูเชเตียเชเชน ซึ่งแสวงเอกราช หลังสงครามเชเชนครั้งที่หนึ่งกับรัสเซีย เชชเนียได้รับเอกราชโดยพฤตินัยเป็นสาธารณรัฐอินกูเชเตียเชเชน (Chechen-Ingush)

ต่อมากลุ่มกบฏเชชเนียซึ่งมีอำนาจมากที่สุดนำกำลังเข้ายึดสาธารณรัฐดาเกสถาน  (Dagestan) ทางตะวันออกของเชชเนีย พร้อมประกาศจะปลดปล่อยดินแดนทางตอนเหนือของเทือกเขาคอเคซัสออกจากรัสเซีย แล้วเปลี่ยนให้เป็นรัฐอิสลามทั้งหมด ทำให้รัสเซียต้องส่งทหารเข้าโจมตีที่ตั้งของกบฏในเชชเนียตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 1999 นับเป็นสงครามเชเชนครั้งที่ 2 โดยสามารถยึดพื้นที่ไว้ได้ทั้งหมด รวมทั้งกรุงกรอซนี (Grozny) เมืองหลวงของเชชเนีย

รัสเซียฟื้นฟูการควบคุมจากส่วนกลางขึ้นระหว่างและหลังสงครามเชเชนครั้งที่ 2 นับแต่นั้น มีกระบวนการบูรณะและสร้างใหม่อย่างเป็นระบบ การสู้รบเพื่อแยกดินแดนยังคงเหลือเพียงบริเวณเทือกเขาตามแนวชายแดนทางใต้ของสาธารณรัฐเท่านั้น ที่มักเกิดการซุ่มโจมตีของกลุ่มกบฏ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
BBC / bbc.co.uk
The Guardian / theguardian.com
The Independent / independent.co.uk
Huffington Post / huffingtonpost.com

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า