ก้าวไปถึงขั้นกว่าจริงๆ สำหรับรัฐบาลจีน เมื่อพวกเขาสร้างระบบ Social Credit Score ซึ่งเป็นเหมือนแต้มทางสังคม เพื่อระบุตัวตนคุณให้ชัดเจนว่า คนแบบคุณ ควรได้รับ ‘ความเอ็นดู’
ที่ผ่านมา การทำงานของรัฐบาลจีนเรียกได้ว่าไม่ต่างจาก Big Brother – พี่เบิ้ม ในนิยาย 1984 ที่พยายามสอดส่องและควบคุมประชาชนของตนให้อยู่ในร่องในรอย ภายใต้ระเบียบเข้มงวด ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของรัฐ
เมื่อรัฐสามารถควบคุมทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จ ระบบ Single Gateway ที่เรากลัวๆ กันเรียกว่า เป็นเด็กๆ ไปเลย
ระบบ Social Credit คือการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลในด้านต่างๆ เพื่อนำมาแบ่งเกรดประชาชนเป็นระดับต่างๆ เคยมีรายงานว่า ระบบนี้ถูกออกแบบและเตรียมการใช้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา กระทั่งปลายเดือนพฤศจิกายน Social Credit ก็ถูกประกาศใช้จริง โดยรัฐบาลท้องถิ่นเมืองหางโจว (Hangzhou) และอีกเกือบ 30 เมืองเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งจีนมองไปถึงอนาคตว่า ภายในปี 2020 ระบบ Social Credit จะครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ข้อมูลที่รัฐบาลจีนจะเก็บจากประชากร 1,400 ล้านคน จะแบ่งเป็นด้านต่างๆ เช่น (ดูตัวอย่างอินโฟของ wall street journal )
+ พฤติกรรมทางการเงิน / การเสียภาษี ค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าปรับ
+ พฤติกรรมด้านสังคม / ความมีระเบียบวินัย การฝ่าฝืนกฎจราจร ได้รับใบสั่ง ข้ามถนนผิดที่ การวางแผนครอบครัว การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม
+ พฤติกรรมในโลกออนไลน์ / การช็อปปิ้งออนไลน์ หัวข้อสนทนาบนอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ค
ข้อมูลเหล่านี้ของคุณจะถูกรัฐรวบรวมไว้ – ด้วยวิธีใดก็ตามแต่ ซึ่งจะถูกเก็บรวบรวมไว้ในระบบดิจิตอล ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีอัลกอริธึมสามารถตัดเกรด ให้คะแนน และคัดกรองได้ว่า คุณ…เป็น ‘คนดี’ ของรัฐ…แค่ไหน
นี่คือระบบที่ทางการจีนไม่สามารถทำเองได้ ถ้าไม่มีพันธมิตรสนับสนุน Alibaba คือหนึ่งในแปดบริษัทที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการให้คะแนน Social Credit ด้วย Alipay หรือธนาคารบนอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีน ซึ่งรองรับการทำธุรกรรมครบวงจร Alipay จะนำข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคนมาประมวลและคำนวณเป็นคะแนน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานอย่างแบรนด์สมาร์ทโฟนของผู้ใช้ ไปจนถึงรายละเอียดการช็อปปิ้งออนไลน์
สิทธิ์ต่างๆ หลังจากที่ข้อมูลของคุณไหลออกมาจากระบบที่ปลายทางแล้ว จะลดหลั่นไปตามลำดับขั้นความดี อาทิ การเดินทางออกนอกประเทศ เข้าพักโรงแรมหรู สิทธิ์ในการใช้รถไฟความเร็วสูง ใช้อินเทอร์เน็ต ขอทุนการศึกษา เข้าถึงระบบบริการของรัฐ และสิทธิ์ในการรับราชการ
อ้างอิงจาก:
wsj.com
fortune.com
technologyreview.com