หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ด้านภาษาแล้ว คำว่า ‘ซอฟต์ พาวเวอร์’ (soft power) ถือเป็นคำใหม่ มีอายุเพียงประมาณ 30 ปี คนที่ใช้เป็นครั้งแรกคือ นักรัฐศาสตร์ชื่อ โจเซฟ ไนร์ จูเนียร์ (Joseph Nye Jr.) ในหนังสือของเขาชื่อ Bound to Lead ตีพิมพ์ ค.ศ. 1990 ไนร์ให้นิยามซอฟต์ พาวเวอร์ ว่าเป็นความสามารถของประเทศในการมีอิทธิพลเหนือประเทศอื่นโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงในการกดดันหรือบีบบังคับ พลังของซอฟต์ พาวเวอร์ คือการดึงดูดและการโน้มน้าวใจ ต่างจากพลังของฮาร์ด พาวเวอร์ ที่ต้องกดดันและบีบบังคับ และหลายกรณีมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่หากมองในแง่การใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศ จะพบว่าสามารถย้อนประวัติศาสตร์ไปได้ไกลกว่านั้นหลายสิบปี ช่วงเวลาที่โลกได้เห็นการใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ เข้ามามีบทบาททางการเมืองในเวทีโลกชัดเจนคือ ช่วงเวลาที่โลกเผชิญปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่เห็นได้ชัดคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น
กรณีตัวอย่าง ซอฟต์ พาวเวอร์ ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
● ข่าวสาร
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซอฟต์ พาวเวอร์ หลักที่มีอิทธิพลอย่างมากคือ การใช้สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ มีสหรัฐเป็นผู้นำ Voice of America คือสถานีวิทยุที่รัฐบาลอเมริกาก่อตั้งขึ้นมา มีเป้าหมายชัดเจนว่าเพื่อต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของนาซี และเมื่อมาถึงยุคสงครามเย็น Free Radio Europe (FRE) ก็ถูกก่อตั้งขึ้นที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ในปี 1949 โดยมี CIA สำนักข่าวกรองของสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ
วัตถุประสงค์หลักของ FRE คือการต่อต้านการกระจายตัวของแนวคิดคอมมิวนิสต์ โดยมุ่งเน้นกระจายเสียงในประเทศที่สื่อท้องถิ่นถูกเซ็นเซอร์และมีการปราบปรามผู้เห็นต่างเป็นหลัก เนื้อหาของ FRE นอกจากจะรายงานความเคลื่อนไหวและบอกเล่าความสร้างสรรค์ของสังคมประชาธิปไตยแล้ว ยังมุ่งเผยแพร่คุณงามความดี และผลงานของปัญญาชนและศิลปินของยุโรปที่ถูกเนรเทศจากประเทศในช่วงนั้น พร้อมๆ กับการตอกย้ำความล้มเหลวต่างๆ ของสหภาพโซเวียต เช่น การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล
แน่นอนว่าสหภาพโซเวียตได้ออกมาประณาม FRE ว่าเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกา เพราะในช่วงนั้น FRE ทำให้ภาพลักษณ์ของอเมริกาและแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตยสวยสดงดงามมาก ขณะที่สหภาพโซเวียตและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ค่อยๆ เสื่อมเสียภาพลักษณ์ลง
FRE เบ่งบานมากในช่วงทศวรรษ 1980 บทบาทของมันขยายตัวกว้างกว่าการเป็นสื่อมวลชนที่มีหน้าที่เผยแพร่ข่าวสาร ไปสู่การเป็นเวทีแสดงออกทางการเมืองของผู้ฝักใฝ่แนวทางปฏิรูปที่ต้องการพาประเทศตนเองและทวีปยุโรปออกจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โปแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ผู้คนติดตาม FRE อย่างเหนียวแน่น ว่ากันว่าชาวโปแลนด์มากถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดคอยรับข่าวสารจาก FRE ซึ่งตอนนั้นมีสโลแกนว่า “โปแลนด์จะไม่มีม่านแห่งความเงียบอีกต่อไป” เลช วาเลซา (Lech Walesa) ประธานาธิบดีคนแรกของโปแลนด์หลังสิ้นสุดยุคคอมมิวนิสต์ เคยกล่าวถึงอิทธิพลของ FRE ในช่วงสงครามเย็นไว้ว่า “มากจนไม่สามารถบรรยายได้ มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีโลกที่ไม่มีพระอาทิตย์”
การใช้ข่าวสารเป็นเครื่องมือเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองยังคงมีมาถึงปัจจุบัน CNN ของอเมริกา และ อัลจาซีรา (Al-Jazeera) ของกาตาร์ เป็นตัวอย่างที่ดีในช่วงสงครามอ่าวและสงครามตะวันออกกลาง รวมถึงยุคที่เรียกกันว่า ‘Clash of Civilization’ ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมที่นำไปสู่เหตุการณ์ 9/11 โลกได้เห็นบทบาทของ CNN ในการปกป้องแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของอเมริกาในฐานะตัวแทนโลกตะวันตกอย่างชัดเจน ขณะที่การกำเนิดของสำนักข่าวอัลจาซีรา ในปี 1996 ก็ทำให้กาตาร์ ประเทศอาหรับเล็กๆ กลายเป็นประเทศที่โลกต้องจับตามอง โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่อัลจาซีราเป็นสำนักข่าวแรกๆ ที่เผยแพร่ภาพของโอซามะฮ์ บิน ลาเดน (Iman bin Laden) ให้โลกได้รู้จัก
● ดนตรี
การใช้ดนตรีและนักดนตรีเป็นแนวหน้าในการพาประเทศออกสู่เวทีระหว่างประเทศ ปรากฏในประวัติศาสตร์เด่นชัด 2 รูปแบบ คือ การใช้ดนตรีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง และการใช้เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ รูปแบบแรกมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ รูปแบบที่สองมีเกาหลีใต้เป็นผู้นำ
ในทศวรรษ 1950 ขณะที่โลกกำลังอึมครึมด้วยภาวะสงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งนักดนตรีแจ๊ส 4 คน ได้แก่ หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) ดุค เอลลิงตัน (Duke Ellington) ดิซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) และ เดฟ บรูเบ็ค (Dave Brubeck) ออกไปทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อส่งความปรารถนาดีไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงว่าจะอ่อนไหวต่ออิทธิพลคอมมิวนิสต์ ภารกิจสำคัญของทูตนักดนตรีกลุ่มนี้คือ การเผยแพร่วัฒนธรรมดนตรีของตะวันตกออกไปให้โลกรู้ และเพื่อเปลี่ยนแปลงปรับปรุงภาพลักษณ์ของอเมริกาในสายตาชาวโลก ท่ามกลางการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางอุดมการณ์อันดุเดือดของสงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐหวังว่าความพยายามนั้นจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นปัจเจกนิยม และความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในดนดรีแจ๊สและสังคมสหรัฐ ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ มีความผูกพันกับสหรัฐ ทุนนิยม และประชาธิปไตยมากขึ้น
อดัม เคลย์ตัน พาวเวลล์ จูเนียร์ (Adam Clayton Powell, Jr.) สมาชิกสภาคองเกรส ในปี 1915 เป็นเจ้าของไอเดียการส่งออกดนตรีแจ๊สในฐานะทูตทางวัฒนธรรมของอเมริกา เขาเคยกล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของโลกตะวันตกต่อสงครามเย็นว่า “อาวุธลับของอเมริกาคือบลูโน้ต ในคีย์ไมเนอร์”
บทบาทของดนตรีแจ๊สในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองยังเกิดขึ้นภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเองด้วย คนผิวดำใช้แจ๊สเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนเองมาโดยตลอด และก็ประสบความสำเร็จโดยตลอดด้วย จอห์น โครเทน (John Coltrane) แต่งเพลง ‘Alabama’ เพื่อต่อต้านกลุ่มขวาสุดโต่ง Klu Klux Klan ขณะที่เพลง ‘Strange Fruit’ ของ นีนา ซีโมน (Nina Simone) บรรยายถึงความโหดร้ายของชีวิตทาสผิวดำในอเมริกาได้จับใจผู้ฟัง
ส่วนการใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเปิดทางและสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในเวทีโลก เพิ่งปรากฏชัดในยุคหลัง ที่โดงดังคือ K-Pop ของเกาหลีใต้ ในช่วงที่โลกกำลังก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้กำลังดิ่งเหว นอกจากประคองเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับวิกฤตการเงินในเอเชีย ท่ามกลางวิกฤตนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจลงทุนในสิ่งที่โลกคิดไม่ถึง ซึ่งต่อมาได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าการตัดสินใจของรัฐบาลเกาหลีใต้ในวันนั้นเป็นสายตาที่แหลมคมอย่างยิ่ง
เพลงป๊อปเกาหลี คือสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีเลือกหยิบมากอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ให้การส่งเสริมในทุกมิติ ทั้งการตั้งหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนและส่งเสริม K-Pop อย่างเป็นทางการ ลงทุนสร้างสถานที่แสดงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ จน K-Pop กลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงที่มั่งคั่งที่สุดในโลกอุตสาหกรรมหนึ่ง และทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จากการสำรวจในปี 2017 พบว่า 1 ใน 13 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาหลีใต้ ระบุว่าเหตุผลในการไปเยือนเกาหลีใต้ของพวกเขาคือ บอยแบนด์ BTS
ยุทธศาสตร์ที่ฮือฮาที่สุดในการใช้ K-Pop เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ สร้างจุดยืนที่มั่นคงให้กับประเทศคือ การที่ประธานาธิบดี มูน แจอิน (Moon Jae-in) แต่งตั้งให้สมาชิกวง BTS เป็นทูตพิเศษของประเทศไปร่วมงานกับองค์กร UNICEF เพื่อทำแคมเปญ Love Myself ต่อต้านการรังแก (bully) ในหมู่เด็กและเยาวชนทั่วโลก การจับมือร่วมกันระหว่าง BTS และ UNICEF สามารถระดมเงินบริจาคจากทั่วโลกได้ถึง 3.6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 121 ล้านบาท
20 กันยายน 2021 หลังการแพร่ระบาดอย่างเลวร้ายของโควิด-19 ผ่านพ้นไป โลกถูกเขย่าด้วย K-Pop จากเกาหลีใต้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ BTS ไปปรากฏตัวต่อที่ประชุมใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงนิวยอร์ก ในฐานะทูตพิเศษของคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรมในอนาคต (Special Envoy for Future Generation) ประธานาธิบดีมูน แจอิน เป็นผู้กล่าวแนะนำและเชิญพวกเขาขึ้นสู่เวทีใหญ่ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติด้วยตนเอง การปราศรัยของ คิม นัมจุน (Kim Nam Joon) หรือ RM หัวหน้าวง BTS ต่อที่ประชุมในครั้งนั้น ดึงดูดผู้ชมออนไลน์มากถึง 1 ล้านคน มากกว่าผู้ชมในช่วงเวลาที่ผู้นำหลายๆ ประเทศกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมครั้งนั้น การประชุมเดียวกันนั้นเอง BTS ก็กลายเป็นวงดนตรีวงแรกที่เปิดการแสดงในที่ประชุมสหประชาชาติ เมื่อพวกเขาได้รับอนุญาตให้ทั้งร้องและเต้น เพื่อเปิดตัวซิงเกิลใหม่ ‘Permission to Dance’ ในห้องประชุมนั้น
● ภาพยนตร์
ฮอลลีวูดเป็นภาพที่น่าจะชัดเจนที่สุดของการใช้ภาพยนตร์เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ที่ส่งอิทธิพลในหลากหลายด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หลายต่อหลายครั้งที่ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดเทรนด์ต่างๆ ในสังคมโลก
ลองมาดูตัวอย่าง Top Gun ของอเมริกา ที่ถูกส่งออกไปฉายทั่วโลกในปี 1986 ตอนที่โลกยังอยู่ในช่วงสงครามเย็น ภาพ ทอม ครูซ (Tom Cruise) ในวัย 23 ปี ผมเรียบเป็นมันเงา ขับเครื่องบิน F-14A Tomcat และสวมชุดนักบินอันโด่งดัง นอกจากจะทำเงินเข้าประเทศ 180 ล้านเหรียญในตอนนั้น ยังทำให้ภาพลักษณ์กองทัพอเมริกันดูยิ่งใหญ่ มีคนสมัครเข้ากองทัพเรือและกองกทัพอากาศของอเมริกาเพิ่มมากขึ้น และแว่นกันแดดเรย์แบน (Ray-Ban) ก็กลายเป็นเครื่องประดับประจำตัววัยรุ่นยุค 90 ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถส่งออกภาพยนตร์และสร้างความแข็งแกร่งจนกลายเป็นคู่แข่งฮอลลีวูด ช่วงทศวรรษ 1980-1990 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกไม่มีใครไม่รู้จัก ‘ผู้กำกับรุ่นที่ 5’ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน เฉิน ข่ายเกอ (Chen Kaige) จาง อี้โหมว (Zhang Yimou) เถียน จ้วงจ้วง (Tian Zhuangzhuang) และคนอื่นๆ ไม่เพียงพาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมจีนไปปรากฏบนจอภาพยนตร์ทั่วโลก พวกเขายังกวาดรางวัลในเวทีภาพยนตร์ระดับโลกกลับประเทศมากมาย และทำให้ Beijing Film Academy หรือ BFA โรงเรียนสอนภาพยนตร์ในกรุงปักกิ่งกลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนสอนภาพยนตร์ที่ผู้รักในการสร้างภาพยนตร์ทั่วโลกใฝ่ฝันมาเรียน เบียดกับโรงเรียนชื่อดังในตะวันตกทั้ง FAMU แห่งปราก London Film School ในกรุงลอนดอน สถาบัน La Fémis แห่งกรุงปารีส รวมถึง CalArts และ USC School of Cinematic Arts แห่งสหรัฐอเมริกา
● โครงการสำรวจอวกาศและวัคซีนโควิค-19
ไม่เพียงแค่ปฏิบัติการข่าวสาร ดนตรี ภาพยนตร์ จะถูกนำมาใช้เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ อันทรงพลังแล้ว ยังมีซอฟต์ พาวเวอร์ อีกหลายหลายรูปแบบที่แต่ละประเทศนำมาใช้ จนสร้างความแข็งแกร่งทางใดทางหนึ่งให้กับประเทศของตนเอง เช่น การให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนประเทศต่างๆ หรือแม้กระทั่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่โด่งดังมากๆ เช่น โครงการอวกาศของโซเวียต ที่ส่งดาวเทียมดวงแรกขี้นสู่วงโคจรของโลกสำเร็จในปี 1957 และโครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกาที่ข่มสหภาพโซเวียตกลับด้วยการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก หรือในสมัยปัจจุบันที่เห็นชัดเจนคือ การที่อินเดียสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้สำเร็จ และสร้างตัวเองเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วนำวัคซีนนั้นมาผนวกกับมาตรการทางการทูตด้วยการแจกฟรีให้กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้ เป็นการเสริมความมั่นคงให้กับฐานอำนาจทางการเมืองของอินเดียต่อประเทศในภูมิภาคเดียวกันขึ้นไปอีก
ความเป็นไปได้ที่ซอฟต์ พาวเวอร์ ไทยจะสะเทือนเวทีโลก
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซอฟต์ พาวเวอร์ จากประเทศไทยสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับโลกหลายครั้ง โดยเฉพาะการส่งออกจากศิลปินไทยที่ใช้ความสามารถก้าวสู่เวทีโลก และนำซอฟต์ พาวเวอร์ ของสังคมไทยติดตัวไปอวดชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นการสวมรัดเกล้ายอดของ ‘ลิซ่า’ ลลิษา มโนบาล ในมิวสิควิดีโอเพลง ‘Lalisa’ ที่มียอดชมทั่วโลกแตะหลักล้านในเวลาอันสั้น การกินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์บนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลก Coachella ของ ‘มิลลิ’ ดนุภา คณาธีรกุล หรือแม้กระทั่ง ‘กางเกงช้าง’ ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวในประเทศไทยจนเกือบจะเป็นเครื่องแบบของนักท่องเที่ยว ไปจนถึงชุดไทยโบราณที่นักท่องเที่ยวนิยมสวมเมื่อไปเที่ยววัดอรุณราชวราราม จนเกิดอุตสาหกรรมเช่าชุดไทยโดยรอบวัด
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงศักยภาพและพลังของซอฟต์ พาวเวอร์ ของประเทศไทย ซึ่งในความเป็นจริงเรามีอาหาร เครื่องแต่งกาย และวัฒนธรรมอีกหลายอย่าง รวมถึงศิลปะป้องกันตัวอย่างมวยไทย ที่หากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานภาครัฐ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเกาหลีใต้ผลักดัน K-Pop ประเทศไทยก็อาจเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งและสามารถส่งออกวัฒนธรรมเป็นสินค้าหลักได้เช่นเดียวกัน
ข้อจำกัดของซอฟต์ พาวเวอร์ ในรัฐเผด็จการ
ขณะที่ซอฟต์ พาวเวอร์ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหลายประเทศ แต่ก็อาจประสบกับการต่อต้านจากประเทศที่รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการของพลเมือง โดยเฉพาะในประเทศเผด็จการ อย่างเช่นอุตสาหกรรมภาพนต์ฮอลลีวูดเป็นตัวอย่างชัดเจนที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในจีน ภาพยนตร์หลายเรื่องถูกห้ามฉายในประเทศจีน หรือถ้าได้รับอนุญาตให้ฉายก็อาจถูกเซ็นเซอร์จนเสียอรรถรส หรือแม้กระทั่งการห้ามนักแสดง ผู้กำกับ หรือบุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างภายนตร์ที่มีเนื้อหากระทบกับอุดมการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมของจีนไม่ให้เข้าประเทศจีน ดังที่เคยเกิดขึ้นกับแบรด พิตต์ (Brad Pitt) ดารานำใน 7 Years in Tibet
ย้อนกลับไปสู่ภาพยนตร์เรื่อง Top Gun ภาคแรกที่สร้างในปี 1986 นอกเหนือจากแว่นกันแดดเรย์แบนแล้ว ภาพลักษณ์ของทอม ครูซ ที่ทุกคนจำได้ติดตาคือ บอมเบอร์ แจ็กเก็ต (bomber jacket) ของเขา ที่ด้านหลังจะมีสัญลักษณ์ธงชาติของญี่ปุ่นและไต้หวันติดอยู่อย่างโดดเด่น ตอนที่มีการสร้างภาคต่อของ Top Gun ในปี 2019 จีนกำลังเปิดประเทศ และเป็นบล็อกบัสเตอร์ที่สำคัญของฮอลลีวูด บอมเบอร์ แจ็กเก็ต ของ Top Gun: Meverick ไม่มีสัญลักษณ์ธงชาติของทั้ง 2 ประเทศ ให้ระคายเคืองสายตารัฐบาลจีนเลย เป็นการทำให้สูญหายโดยที่รัฐบาลจีนไม่ต้องเป็นฝ่ายเตือนหรือทักท้วง เพราะตลาดภาพยนตร์ที่มหึมาในจีนเป็นเครื่องเตือนใจฮอลลีวูดโดยอัตโนมัติ
ปัจจุบัน แม้การส่งผ่านซอฟต์ พาวเวอร์ จะเกิดขึ้นง่ายๆ และรวดเร็ว ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ แต่ประเทศเผด็จการที่เข้มแข็งอย่างจีนก็สามารถตอกย้ำจุดแข็งในซอฟต์ พาวเวอร์ ของตัวเองด้วยการแบนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ทั่วโลกใช้ มีการออกนโยบายบีบบังคับให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจีนต้องใช้แอปพลิเคชัน WeChat แทน Line หรือใช้ Weibo แทน X และ Facebook และใช้ Baidu แทนเสิร์ชเอนจินอย่าง Google ขณะเดียวกันจีนกลับสามารถส่ง TikTok ไปสั่นสะเทือนแพลตฟอร์มออนไลน์ของโลกอย่างไม่มีใครต่อกรได้
ข้อจำกัดของซอฟต์ พาวเวอร์ ยังเกิดขึ้นได้กับกลุ่มประเทศมุสลิม ดังกรณีสำนักข่าวอัลจาซีรา ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญของโลกมุสลิม ก็ยังถูกปิดกั้นในประเทศมุสลิมเอง ปี 2017 ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และบาห์เรน ต่างพากันเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศของอัลจาซีรา ด้วยเหตุผลว่าเป็นสำนักข่าวที่ส่งเสริมแผนการของกลุ่มก่อการร้าย
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ควรถูกหยิบมาเป็นเครื่องบั่นทอนการส่งเสริมซอฟต์ พาวเวอร์ ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซอฟต์ พาวเวอร์ ยังเป็นอำนาจที่ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทุกแห่ง ประวัติศาสตร์ของการใช้ชอฟต์ พาวเวอร์ ที่ผ่านมาเป็นพยานหลักฐานถึงอำนาจของเครื่องมือนี้ในเวทีระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ต้องไม่ลืมปัจจัยสำคัญที่ โจเซฟ ไนร์ จูเนียร์ กล่าวไว้ด้วยว่า การจะใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างได้ผลนั้น รัฐบาลหรือผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถระบุแหล่งทรัพยากรซอฟต์ พาวเวอร์ ของประเทศตนเองได้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้การออกนโยบายและการสนับสนุน กระทำไปอย่างหลงทิศหลงทาง
อ้างอิง:
- When Hollywood Met China
- Soft power: the origins and political progress of a concept
- How the U.S. Used Jazz as a Cold War Secret Weapon
- Generation Unlimited: BTS speak to world’s youth
- BTS perform new song at UN headquarters: ‘We are here to share the stories of our future generations’
- What Is Soft Power?