จาก Cool Japan สู่ Cold Japan: จากความแจ๋วสู่ภาวะยะเยือกของ Soft Power ญี่ปุ่น

‘Made in Japan’ เป็นหนึ่งในคำอันทรงพลังของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ทำให้คนจำนวนมากทั่วโลกเชื่อมั่นว่า สินค้าเชิงพาณิชย์ที่มีคำนี้ติดอยู่บนฉลาก คือสินค้าคุณภาพดี มีมาตรฐานสูงในการผลิต ปลอดภัย และระยะเวลาการใช้งานคงทนถาวร ทำให้แบรนด์จากแดนอาทิตย์อุทัยนี้ได้รับความนิยมจนตีตลาดไปทั่วโลก เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าญี่ปุ่น จนทำให้ประเทศผู้ผลิตที่ตามมาทีหลังอย่างเกาหลีใต้ ต้องยกระดับอุตสาหกรรมตนเองให้ทัดเทียม ด้วย ‘กระบวนการทำให้เป็นญี่ปุ่น’ (Japanisation) ทางอุตสาหกรรม จนในที่สุดเกาหลีใต้สามารถพัฒนาสินค้าอยู่ในระดับเดียวกับญี่ปุ่นได้ 

การสร้างมาตรฐานสินค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ทำให้ต่างชาติจำนวนมากรู้สึกถูก ‘โน้มนำ’ ให้มาบริโภคของจากญี่ปุ่น ส่วนนักอุตสาหกรรมไทยไม่น้อยต้องบินไปดูงานถึงญี่ปุ่น ซื้อเครื่องจักร ปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมตามแบบมาตรฐานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Japan Industrial Standard: JIS) 

สิ่งเหล่านี้มีที่มาจากรากฐานทางวัฒนธรรม (Culture) ของญี่ปุ่น หากจะพยายามให้นิยาม คนไทยก็จะบอกว่ามันคือ ‘ความใส่ใจแบบญี่ปุ่น’ และอาจมีภาพใหญ่คือ แนวคิดแบบ ‘โอโมเตนาชิ’ (おもてなし) หรือ ‘จิตวิญญาณแห่งการบริการ’ แนวคิดที่สืบต่อเนื่องมานับพันปี อันเป็นเบื้องหลังสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นจำนวนมาก เราอาจกล่าวได้ว่านี่คือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ของญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จมาหลายทศวรรษ และการยกตัวอย่างเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐ ที่เน้นยํ้าแนวคิดและคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตั้งแต่สมัยสงครามเย็น 

แน่นอนว่าคนไทยจำนวนมากต่างคุ้นเคยกับสินค้าทางวัฒนธรรมจากญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานมากแล้ว อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1980 กับการเข้ามาของวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) ทั้งดนตรีที่เคยถูกนำมาแปลงเนื้อร้องในภาษาไทย หรือวงไอดอลสาย 48 ละคร (ドラマ) อนิเมะ (アニメ) มังงะ (漫画) อาหาร หรือแม้แต่แฟชั่นมินิมอลไร้โลโก้อย่าง มูจิ (Muji: 無印良品) ที่ล้วนเชื้อเชิญเราให้เลือกบริโภคอย่างใจจดจ่อ โดยทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการวางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านเอเจนซีอันเป็นหน่วยงานภายในของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบซอฟต์พาวเวอร์ภายใต้ธีม ‘Cool Japan’ 

ญี่ปุ่น ผู้ไม่มี ‘อำนาจแข็ง’ 

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ไม่อาจใช้ ‘อำนาจแข็ง’ (Hard Power) ได้ อันเป็นผลมาจากความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าจะมีกองกำลังป้องกันตนเอง (JSDF) ก็ตาม แต่ก็เป็นการตีความตามมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญที่สหรัฐเป็นผู้เขียนให้ แต่กลับมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการฟื้นตัวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นพยายามนิยามตนเองในฐานะชาติมหาอำนาจระดับกลางที่ไม่มีอำนาจแข็งมากำกับ 

อีกทางหนึ่ง บาดแผลของประเทศต่างๆ ที่เกิดจากการรุกรานของญี่ปุ่นในช่วงสงครามยังคงฝักรากลึกในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ในปี 1977 ฟุกุดะ ทาเคโอะ (Fukuda Takeo; 福田 赳夫) นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบ Heart-to-Heart หรือรู้จักกันในนาม ‘หลักการฟุกุดะ’ (Fukuda Doctrine) มุ่งเน้นไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจรวมไปถึงจีนแผ่นดินใหญ่และสหภาพโซเวียตด้วย พร้อมคำมั่นว่า ญี่ปุ่นปฏิเสธการใช้อำนาจทางการทหาร สร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นระหว่างภาคี และเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ ASEAN) 

และนี่คือหมุดหมายที่สำคัญของการดำเนินนโยบายการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) ที่นำมาสู่การผลักดันสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในปัจจุบัน ต่อมาในทศวรรษให้หลัง เราอาจซึมซาบวัฒนธรรม คุณค่า และนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น โดยปราศจากอำนาจเชิงบังคับ ซึ่งมีมาก่อนที่ โจเซฟ เอส. ไนย์ (Joseph S. Nye) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะนิยามคำนี้ในทางวิชาการในบริบทของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสียอีก

ฟุกุดะ ทาเคโอะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

การพุ่งทยานของวัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่นสู่สัญลักษณ์ ‘Cool Japan’

ในช่วงทศวรรษ 1980 กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น มีความต้องการรีแบรนด์ตนเองจากประเทศที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูด้วยอุตสาหกรรมหนักเป็นหลัก ไปสู่ประเทศที่สามารถขายสินค้าทางวัฒนธรรมได้ จากความพยายามนี้ ญี่ปุ่นได้ส่งโดรามา (ละคร) เรื่องดังในประเทศออกมาสู่โลกภายนอกคือ ‘สงครามชีวิตโอชิน’ (おしん) โดยไม่มีการเก็บค่าลิขสิทธิ์ใน 46 ประเทศทั่วโลก และได้รับความนิยมในประเทศที่ฉายโดรามาเรื่องนี้ 

กระแสการปล่อยสินค้าเชิงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เราเริ่มเห็นอะนิเมะตามหน้าจอทีวี และมังงะที่สร้างกระแสความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เด็กมักคุ้นเคยกับการ์ตูนญี่ปุ่นมากเสียกว่าการ์ตูนจากวอลท์ดิสนีย์ ขณะที่อุตสาหกรรมดนตรีญี่ปุ่นก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ดนตรีป๊อปของญี่ปุ่นอันมีดาวค้างฟ้าอย่าง มัตสึดะ เซโกะ (松田聖子) ซึ่งเชื้อเชิญให้หญิงสาวจำนวนมากต้องตัดผมทรง ‘มัตสึดะบ๊อบ’ กันเลยทีเดียว 

‘สงครามชีวิตโอชิน’ ละครญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ออกสู่สายตาชาวโลกในปี 1984

เมื่อยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ (バブル景気) ของญี่ปุ่นแตกในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นำมาสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่และยาวนานจนกลายเป็นทศวรรษที่สูญหาย (Lost Decade) อย่างไรก็ตาม แม้สภาพเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่นจะไม่สู้ดีนัก แต่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นยังคงอยู่ โดยนิตยสาร Foreign Affairs ในปี 2009 ได้พาดหัวว่า ‘Japan’s Gross National Cool’ หรือ ‘ความแจ๋วมวลรวมของญี่ปุ่น’ ที่พบว่า อิทธิพลทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นอันทรงพลังในทศวรรษ 1980 ทรงพลังเพิ่มขึ้นในทศวรรษถัดมา โดยเฉพาะวัฒนธรรมวัยรุ่นที่มีความ ‘น่ารัก’ (คาวาอี้: かわいい) ที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก รวมไปถึงสินค้าทางวัฒนธรรมในหมวดหมู่อื่นๆ เช่น วิดีโอเกม ภาพยนตร์ แฟชั่น และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สินค้าทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นถูกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง อันเป็นผลจากรากฐานสำคัญในการผลักดันนโยบาย ‘Cool Japan’ ในทศวรรษต่อมา จากความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งออกสินค้าที่มีรากฐานมาจากความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นออกไปยังตลาดโลกมากขึ้น จนเกิดเป็นนโยบาย Cool Japan” ซึ่งมีแนวคิดการพัฒนาสินค้าและบริการของญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติมองว่ามีความพิเศษหรือ Cool พร้อมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการทูต เพื่อเตรียมพร้อมให้กับการต่อยอดและส่งออกสินค้าและบริการที่มีความเป็นญี่ปุ่นจากนโยบาย Cool Japan ไปสู่นานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ที่พยายามพลักดัน Cool Japan อย่างหนักหน่วง เพื่อแข่งขันกับเกาหลีใต้ที่โหม ‘กระแสเกาหลี’ (Korean Wave; ฮันรยู) ไปทั่วเอเชียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ในปี 2012 METI ได้ออกยุทธศาสตร์ Cool Japan มุ่งเน้นตลาดความต้องการของการบริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยมีเป้าหมายในการสร้างงานผ่านอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ตั้งเป้าเอาไว้ 18 อุตสาหกรรม โปรโมตความต้องการในการบริการและสินค้าของญี่ปุ่น จนนำไปสู่การสร้าง Cool Japan Fund ในปี 2013 ในการสนับสนุนเงินทุนให้กับภาคเอกชนและสาธารณะ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมเหล่านี้

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ผู้ล่วงลับ ขณะรับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพ ‘โตเกียวโอลิมปิก 2020’ ที่ ริโอ ดิ จาเนโร ประเทศบราซิล โดยแต่งตัวเป็นซูเปอร์มาริโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครเกมของญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก

ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดจากการผลักดันสินค้าทางวัฒนธรรมภายใต้ธีม Cool Japan คือ การสร้างวงไอดอลน้องสาวในตระกูล 48 (48 Grpup) ที่ชาติต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับเอาโปรดักซ์ที่ฝัง ‘อัตลักษณ์ญี่ปุ่น’ เข้าไปในเกิร์ลกรุ๊ป จนทำให้เกิด JKT48 ของอินโดนีเซีย BNK48 ของไทย และ MNL48 ของฟิลิปปินส์ 

จาก Cool สู่ Cold Japan

ในปี 2020 สื่อญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังถูกโต้ด้วยคลื่นฮันรยูของเกาหลีใต้ซัดชายฝั่งประเทศในภูมิภาคนี้เสียสิ้น รวมไปถึงชายฝั่งคานากาวะของญี่ปุ่นเอง โดยมีเหตุมาจากการสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันด้านสื่อและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่เน้นการโฟกัสเฉพาะตลาดภายในเป็นหลัก แม้ญี่ปุ่นจะมีการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถรั้งตำแหน่งผู้ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรมอย่างน้อยก็ในภูมิภาคได้อีกต่อไป รวมไปถึงการตัดงบประมาณในการสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

BLACKPINK เดินทางไปร่วมโต๊ะเสวยกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่พระราชวังบัคกิงแฮม

เมื่อมองลงไปในผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเหล่านั้นระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตั้งแต่รูปลักษณ์และหีบห่อของสินค้าวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ดูจะมีความเป็นสากลมากกว่าญี่ปุ่นที่มักสอดใส่ ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ ลงไป แต่ไม่ทั้งหมดเพราะหลายสิ่งหลายอย่างของญี่ปุ่นก็ให้ความรู้สึกเป็นสากล ตัวอย่างเช่น ‘เกิร์ลกรุ๊ป’ จากเกาหลีใต้กับ ‘ไอดอล’ จากญี่ปุ่น ที่ญี่ปุ่นเน้นความน่ารักสดใสมากกว่าความเฉียบแบบเกาหลีใต้ ที่ดูมีความสากลจนดึงดูดแบรนด์ดังระดับโลกให้ไปเป็นพรีเซนเตอร์ หรือล่าสุด BLACKPINK ที่ได้รับเชิญร่วมโต๊ะเสวยกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (Charles III) ในงานเลี้ยงต้อนรับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นการยกระดับและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้เอง 

แม้ว่าปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงยืน 1 ใน 5 ของตารางซอฟต์พาวเวอร์โลก 2023 มากกว่าเกาหลีใต้ ทว่าคลื่นสึนามิจากแดนโสมขาวได้โหมกระหนํ่าไปทั่วโลก ซึ่งเป็นที่น่าคิดว่าการกำหนดยุทธศาสตร์ Cool Japan ที่ออกมาครั้งแรกในปี 2012 ถึงเวลาที่จะต้องยกเครื่องใหม่หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้ประสบความสำเร็จอีกครั้ง แม้แต่ไทยเองที่ต้องการผลักดันเรื่องนี้อาจจะต้องตั้งโจทย์ให้เหมาะสมและชัดเจนทั้งในบริบทไทยและบริบทสากลด้วย

อ้างอิง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า