จาก Soft Power ถึง Sharp Power: เมื่อยุทธศาสตร์การทูตของจีนกลายพันธุ์

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา สถาบัน USC Center on Public Diplomacy และ Portland ได้ออกรายงานฉบับหนึ่ง ชื่อ The Soft Power 30: A Global Ranking of Soft Power 2019 เป็นรายงานที่จัดทำโดย โจนาธาน แมคคลอรี (Jonathan Mcclory) และคณะ เพื่อจัดอันดับประเทศต่างๆ ในเรื่องของความสามารถและประสิทธิภาพในการประยุกต์ใช้กลไกทางด้าน Soft Power (กลไกการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรมหรือความคิดในการโน้มน้าวให้อีกฝ่ายกระทำการใดๆ ตามที่ผู้ใช้ต้องการโดยปราศจากการบีบบังคับหรือกดดัน)

ประเทศที่ติด 10 อันดับแรก เป็นประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด โดยมีประเทศจากทางฝั่งเอเชียอยู่เพียงประเทศเดียว คือ ญี่ปุ่น (ซึ่งติดอันดับ 8) ส่วน 5 อันดับแรกนั้นตกเป็นของฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ส่วนจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียนั้นถูกจัดให้อยู่ในอันดับรั้งท้าย คือ อันดับที่ 27 (ตามหลังทั้งเกาหลีใต้และสิงคโปร์ที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 19 และ 21 ตามลำดับ)

ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับผลสำรวจของรายงานฉบับเดียวกันของปีที่ผ่านๆ มา จะพบว่า จีนไม่เคยได้ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ดีกว่าอันดับที่ 25 เลย จะสลับขึ้นลงระหว่างอันดับ 30, 28, 25, และ 27 มาตลอด 5 ปีตั้งแต่เริ่มต้นการจัดอันดับ การไม่ติดทั้งในระดับ 10 และ 20 กำลังชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ Soft Power ของจีนอาจไม่ได้โดดเด่นอย่างที่คิด หรืออย่างที่หลายๆ ฝ่ายเข้าใจกันแต่แรก

แม้ว่าทางการจีนจะมีการโหมกระแสและภารกิจสร้างภาพลักษณ์ที่อ่อนโยนมีไมตรีจิตของตนเองบนเวทีโลกผ่าน Soft Power มาก่อนหน้า ผ่านกลไกเช่นการเผยแพร่สถาบันการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีน (Confucius Institutes) ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก พร้อมกับการประกาศหลักการต้อนรับทุกฝ่าย (inclusivity) ภายในโครงการ ‘Belt and Road Initiative’ ก็ตาม แต่จากผลสำรวจตลอด 5 ปี กลับมีนัยออกมาว่าจีนนั้นแทบไม่ได้มีวิวัฒนาการในด้านภาพลักษณ์ของการใช้ Soft Power เลย

คำถามที่ควรค่าแก่การตั้งคำถามจึงปรากฏขึ้นในกรอบที่ว่า แล้วอะไรคือปัญหาที่คั่งค้างอยู่ภายในนโยบายการใช้ Soft Power ของจีน อะไรคือสิ่งที่เป็นอุปสรรคของจีนต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านนี้?

ในความเป็นจริงแล้วนโยบาย Soft Power ของจีนไม่ได้มีปัญหาภายในตัวเอง สิ่งที่เป็นอุปสรรคนั้นอยู่ที่แนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจีน เพราะจีนไม่ได้ใช้แค่ Soft Power ในการเผยแพร่อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากภาษา อาหารหรือการแลกเปลี่ยนแรงงานและประชากรเป็นหลัก แบบที่รัฐบาลมหาอำนาจอื่นๆ ใช้กัน แต่รัฐบาลจีนได้นำกลยุทธ์แทรกซึมทางข่าวสารและสังคม (disinformation) เข้ามาด้วย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ Sharp Power

อนึ่ง Sharp Power นั้นเป็นปรากฏการณ์ของการดำเนินนโยบายต่างประเทศรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันในหมู่มหาอำนาจขั้วเผด็จการอย่างจีนและรัสเซีย โดยจะเน้นที่เป้าหมายหลักๆ คือ การปลุกปั่น การสร้างกระแสบิดเบือนข่าวสารหรือข้อมูลบางประการภายในต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมืองและการทูตของรัฐบาลนั้นๆ

หากจะกล่าวอย่างพื้นฐานที่สุด Sharp Power นั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ยกระดับการโฆษณาชวนเชื่อขึ้นมาใช้กับเป้าหมายที่ไม่ใช่ประชาชนภายในประเทศตนเอง เพื่อหวังที่จะเปลี่ยนแปลงรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของตนเองบนเวทีประชาคมโลก แล้วดึงความสนใจของประชาคมโลกให้หลุดออกไปจากประเด็นด้านลบภายในประเทศตนเอง

ตัวอย่างภายในรัสเซีย เช่น การโหมสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกของ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ผ่านสำนักข่าว RT ที่เผยภาพถอดเสื้อเดินบนหิมะ และท่าทีที่เป็นมิตรต่อเหล่าสรรพสัตว์อยู่ตลอดเวลาซ้ำๆ มาตั้งแต่ช่วงที่ Facebook เปิดตัวใหม่ๆ หรือแม้แต่การสร้างเพจบน Facebook ขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องวีรกรรมของปูติน ครั้งยังทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย เป็นต้น

ส่วนกรณีของรัฐบาลจีนนั้นมีเยอะมาก เช่น กรณีการทุ่มเงินสนับสนุนให้กับสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศทั่วโลกเพื่อให้นำเสนอข่าวที่ให้ภาพลักษณ์เชิงบวกแก่รัฐบาลจีน ไม่ว่าจะภายในสหรัฐอเมริกา อย่าง Washington Post หรือแม้แต่การลงทุนเปิดสำนักข่าวภายในกัมพูชา และเปิดเพจ Facebook ที่ใช้เป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลเชิงบวกเกี่ยวกับรัฐบาลจีนในภาษาไทย เช่นเดียวกับภายในวงการวิทยุกระจายเสียงที่องค์กร China Radio International นั้นเป็นผู้สนับสนุนช่องวิทยุมากกว่า 20 ช่องภายใน 14 ประเทศอย่างลับๆ

นอกจากสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ หรือสถานีวิทยุกระจายเสียงแล้ว รัฐบาลจีนยังมีแผนใช้องค์กรอย่างสถาบันขงจื๊อ (ฮั่นบั้น) ในการขยายอิทธิพลของตนเอง ด้วยการทุ่มเงินสนับสนุนและกดดันสถาบันวิจัย รวมถึงมหาวิทยาลัยหลายแห่งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ให้ยอมเปลี่ยนเนื้อหาข้อมูลที่สอนกันไปในทางเดียวกับที่รัฐบาลจีนต้องการอีกด้วย หากมหาวิทยาลัยใด หรือหน่วยงานใดไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็จะมีผลต่อเงินลงทุน เงินบริจาคที่รัฐบาลมีให้ต่อสถาบันนั้น (ในบางแห่งนั้นเงินลงทุนในด้านนี้อาจขยายผลไปถึงการสนับสนุนพรรคการเมืองด้วย เช่นกรณีออสเตรเลีย)

กรณีที่เห็นได้ชัดเจนมากอีกกรณีหนึ่งก็คือ การแทรกแซงการเลือกตั้งท้องถิ่นของไต้หวัน ด้วยการสร้าง Facebook ปลอมมาเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับนักการเมืองท้องถิ่นนาม Han Kuo-yu แล้วระดมกดแชร์กันจนเกิดเป็นกระแสที่ทำให้คะแนนความนิยมของ Han Kuo-yu เพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลายภายในไม่กี่เดือน ซึ่งเมื่อทางการไต้หวันได้ทำการตรวจสอบก็พบหลักฐานและร่องรอยว่าบัญชี Facebook ปลอมเหล่านั้นมีต้นตอมาจากทางฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่เกือบทั้งหมด

จะเห็นว่าการสร้างข่าวปลอม การโฆษณาชวนเชื่อ และการปลุกปั่นกระแสสังคมนั้นมีบทบาทอย่างมากภายในยุทธศาสตร์ Sharp Power โดยที่เป้าหมายหลักไม่ใช่คนภายในประเทศ หากแต่เป็นประชาชนภายในต่างประเทศ และประชาคมโลก การเข้ามาควบคุมข่าวสาร และเนื้อหาของทั้งข่าว วงการบันเทิง และงานเขียนเชิงวิชาการด้วยตนเองของรัฐบาลจีนภายในต่างประเทศนั้น จึงเป็นปฏิบัติการเชิงรุกที่มุ่งจะเปลี่ยนความคิดของประชาคมโลก ด้วยการแทรกซึมด้วยการใช้ประโยชน์จากสังคมที่มีความเปิดกว้างต่อการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นเครื่องมือเบี่ยงเบนและสร้างกระแสให้เกิดรอยร้าวและความแตกแยกภายในสังคมพื้นที่เป้าหมาย เพื่อที่สังคมภายนอกนั้นจะมีการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ภายในจีนลดลง

Sharp Power นั้นแม้จะมีช่องทางและรูปแบบขั้นตอนการปฏิบัติคล้ายกับ Soft Power แต่ Sharp Power นั้นมีแบบแผนและแนวคิดที่แตกต่างจาก Soft Power อย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลนั้นได้ดึงเอามิติของการกดดัน และการบีบบังคับเข้ามาใช้ผสมรวมภายในยุทธศาสตร์ Soft Power ของตนเอง จน Soft Power เหล่านั้นกลายเป็นยุทธศาสตร์ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของ Hard Power (อำนาจที่ใช้มาตรการทางด้านเศรษฐกิจในการกดดัน) หากจะกล่าวว่า Sharp Power นั้นเป็น Hard Power ที่นำเอาวิธีการและช่องทางแบบ Soft Power มาประยุกต์ใช้ก็คงจะไม่ผิดเสียทีเดียว

ไม่ว่าจะสถาบันขงจื๊อ หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนภายในต่างประเทศนั้น ล้วนแต่ก้าวข้ามขอบเขตของการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรมในการเปลี่ยนความคิดแบบ Soft Power ไปยังปริมณฑลที่อยู่คาบเกี่ยวกับการแทรกแซงการเมืองภายในประเทศ การโฆษณาชวนเชื่อภายในประเทศเป้าหมายไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงตอบได้ไม่ยากว่าทำไมหรือเพราะเหตุใด Soft Power ของจีนถึงไม่เคยถูกจัดลำดับให้อยู่ในระดับแถวหน้าของโลกเลย ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 2 ของโลก

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า