การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา บ่อยครั้งมักเกิดขึ้นและจบลงด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงโดยฝ่ายผู้ชุมนุมเองหรือการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งพบเห็นได้ผ่านภาพและคลิปบนโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าภาพและเสียงจำนวนไม่น้อยที่ถูกเผยแพร่มาจากกล้องโทรศัพท์มือถือของประชาชนทั่วไปที่อยู่ในเหตุการณ์ และบางกลุ่มที่เรียกตนเองว่า ‘สื่อพลเมือง’
ปัญหาของการทำหน้าที่ระหว่างสื่อพลเมืองกับเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มมาถึงจุดขัดแย้ง เมื่อประเด็น ‘สื่อแท้-สื่อเทียม’ ถูกยกขึ้นมาเพื่อใช้จำแนกผู้ที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมออกจากกันก่อนที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะเข้าทำการจับกุมหรือใช้กำลังสลายการชุมนุมต่อไป ในลักษณะนี้จึงทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อพลเมืองได้รับบาดเจ็บหรือถูกจับกุม จนเกิดคำถามถึงการแบ่งแยกสถานะความเป็นสื่อ
WAY ร่วมพูดคุยกับผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะจาก ThaiPBS สมเกียรติ จันทรสีมา ถึงประเด็นของความเป็นสื่อพลเมือง สื่อใหม่ สถานะของคนทำข่าว รวมไปถึงข้อพิพาทระหว่างสื่อมวลชนทั้งหลายกับเจ้าหน้าที่รัฐในสถานการณ์การสลายการชุมนุม เพื่อหาคำอธิบายเพิ่มเติมต่อสถานการณ์ที่ยังค้างคาใจของทุกคนในสังคม
สื่อคือใครและอะไรคือสื่อ เมื่อความเป็นสื่อไม่เท่ากันในสายตารัฐ
“ทุกคนคือสื่อ”
ถึงแม้จะดูเป็นคำตอบที่เรียบง่าย แต่สมเกียรติก็ยังได้ขยายความต่อไปถึงคำว่า ‘สื่อ’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสื่อมวลชนที่เป็นวิชาชีพเท่านั้น แต่หมายถึงทุกคนมีเสรีภาพในการสื่อสารตามระบอบประชาธิปไตย
สำหรับการดูว่าใครคือสื่อบ้างนั้น สมเกียรติกล่าวถึงแนวคิดวารสารศาสตร์พลเมือง อันหมายถึงศาสตร์ว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกสู่สาธารณะที่ต้องมีหลักยึดอยู่บนเจตจำนงและเป้าหมายในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร หากเป้าหมายดังกล่าวคือการมุ่งให้เกิดเสรีภาพของข่าวสารและเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อเท็จจริงแล้ว เราก็นับได้ว่านั่นคือสื่อ แต่จะเป็นสื่อประเภทใดบ้างก็คงต้องพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ
“แน่นอนว่าข้อเท็จจริงไม่ได้มีเพียงมุมเดียว และการรายงานของสื่อพลเมืองก็ไม่จำเป็นต้องรอบด้านหรือสมดุลด้วยตัวของมันเอง”
สมเกียรติพูดถึงข้อแตกต่างสำคัญระหว่างสื่อวิชาชีพกับสื่อพลเมือง โดยอธิบายว่าสื่อพลเมืองนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมีหลักการทำงานแบบเดียวกับสถาบันสื่อก็ได้ เนื่องจากเป็นการสื่อสารในมุมมองของ ‘คนใน’ ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว หรืออาจจะเป็นได้ตั้งแต่พยาน ผู้พบเห็นเหตุการณ์ หรือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นๆ
ในแวดวงวิชาการเองก็เริ่มมีการศึกษาไปถึงการเกิดขึ้นของสื่ออีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า User Generated Content หรือ UGC ที่หมายถึงการที่ผู้ใช้สื่อกลายมาเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้เสพเนื้อหา ดังนั้นเป้าหมายในการสื่อสารจึงอาจไม่ได้อิงกับประโยชน์สาธารณะเป็นอันดับแรกก็ได้ กรณีนี้เองสมเกียรติกล่าวย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกับสื่อพลเมืองที่วางสถานะตนเองอยู่กึ่งกลางระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับเสรีภาพด้านการสื่อสารเป็นหลัก
ปลอกแขน ความปลอดภัย กับการทำงานด้วยใจของสื่อในพื้นที่
ประเด็นร้อนแรงอย่างการมีปลอกแขนเป็นสัญลักษณ์แสดงตนของสื่อในพื้นที่การชุมนุม ไปจนถึงการได้รับบาดเจ็บหรือถูกจับกุมแม้จะสวมใส่ปลอกแขนอยู่ก็ตาม ยังคงเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนทุกสำนักไปจนถึงไร้สังกัดต่างรู้สึกติดค้างอยู่ในใจตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
“สื่อพลเมืองไม่ได้สังกัดองค์กรวิชาชีพสื่อ จึงไม่ต้องมีปลอกแขนหรือแม้กระทั่งบัตรประจำตัวเพื่อบอกสังกัด”
สมเกียรติพูดถึงการทำงานของสื่อพลเมืองในอดีตที่ผ่านมา โดยอธิบายว่าการเข้าไปในพื้นที่ในฐานะพยานของเหตุการณ์ หรือการเป็น ‘คนใน’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านสื่อหรือเทคโนโลยีที่ตนมีนั้น ไม่ใช่สิ่งที่กระทำไม่ได้ หากเป็นเสรีภาพในการสื่อสารที่ประชาชนทุกคนพึงมี ส่วนการมีปลอกแขนขององค์กรสื่อสำนักต่างๆ นั้นก็ขึ้นกับนโยบายขององค์กรวิชาชีพเหล่านั้นจะจัดการ
ในขณะที่สื่อได้รับบาดเจ็บหรือถูกจับกุมแม้จะมีปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ผู้สื่อข่าว จนทำให้เกิดคำถามตามมานั้น สมเกียรติมองว่า ปลอกแขนทำได้เพียงบ่งบอกความเป็นสื่อ และเป็นเครื่องยืนยันต่อสาธารณะในการเข้าถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าผ่านสถานะสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตาม หลายกรณีที่ผ่านมาสื่อมวลชนยังคงถูกกระทำด้วยความรุนแรง ทั้งถูกยิงด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุเพราะเข้าไปรายงานและสังเกตการณ์อยู่ในฝั่งของผู้ชุมนุม
“กรณีนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในไทย อย่างเช่นในฝรั่งเศส สาเหตุมาจากการบังคับใช้กฎหมายลูกที่ไปละเมิดกฎหมายใหญ่อย่างสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารอันบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีคำว่า ‘ประชาธิปไตยทางการสื่อสาร’ อยู่ แต่พอลงมาถึงการปฏิบัติจริงกลับเกิดปัญหาขึ้นมาได้”
หากเปรียบเทียบกรณีฝรั่งเศสกับกรณีของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยที่จะให้ความสะดวกกับสื่อมวลชนที่มีปลอกแขนเท่านั้น ในการทำหน้าที่สื่อระหว่างที่มีการสลายการชุมนุม สมเกียรติเน้นย้ำว่า สื่อทุกคนควรยืนยันสิทธิในการสื่อสารของตนเองถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะมองว่าเป็นการละเมิดกรอบการทำงานบางอย่างของรัฐก็ตาม ความขัดแย้งกันระหว่างประเด็นสิทธิและมุมมองของภาครัฐเช่นนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ต้องยกระดับการเรียนรู้และการทำความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม
กรณีที่มีการจับกุมผู้สื่อข่าวจาก สำนักข่าวราษฎร เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดคำถามเรื่องการแบ่งแยกสื่อ โดยสมเกียรติกล่าวว่า สำนักข่าวราษฎรเป็นสื่อพลเมืองในฐานะทางเลือกที่นำเสนอข่าวสารผ่าน Facebook กับ YouTube ในช่องทางของตนเอง ซึ่งรัฐที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงย่อมหวาดระแวงและมองว่าสำนักข่าวราษฎรคือคู่ขัดแย้งเช่นเดียวกันไม่ต่างจากกลุ่มผู้ชุมนุม
สื่อคือพื้นที่กลางของสถานการณ์ความขัดแย้ง
“สื่อมวลชนให้คุณค่ากับความเป็นวิชาชีพเป็นหลัก เช่นนั้นจึงไม่แปลกที่อาจจะมองว่าสื่อพลเมืองไม่ใช่นักวิชาชีพสื่อ”
สมเกียรติกล่าวถึงท่าทีของสมาคมสื่อต่อเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงกรณีการสร้างข้อตกลงระหว่างสมาคมสื่อกับเจ้าหน้าที่เรื่องการมีปลอกแขนบ่งบอกสถานะที่ชัดเจน ท่าทีดังกล่าวทำให้สื่อพลเมืองส่วนใหญ่ทำงานได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากไม่มีหน่วยงานที่สังกัด
“เพราะสื่อพลเมืองส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดทำบนฐานคิด ‘มือสมัครใจ’ ไม่ได้อยู่บนกรอบวิชาชีพหรือจริยธรรมสื่อวิชาชีพ เช่น ต้องรอบด้าน ต้องสมดุล ฯลฯ เสมอไป”
เมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งหรือการปะทะ สมเกียรติกล่าวว่า ควรมีสื่อเป็นพื้นที่กลาง โดยเฉพาะสื่อวิชาชีพทั้งหลาย ขณะเดียวกัน ในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้ง พื้นที่กลางในลักษณะนี้ก็มักจะเป็นพื้นที่ที่ถูกทำลายก่อนเสมอ
“คำถามแรกคือ สื่อทำหน้าที่เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่กลางให้สังคมแล้วหรือยัง เพราะเราจำเป็นต้องรักษาพื้นที่กลางเหล่านี้เอาไว้ แม้แต่กับสื่อพลเมืองที่ถูกมองว่าไม่ใช่พื้นที่กลางก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องเรียนรู้ร่วมกันต่อไป”
สมเกียรติกล่าวเช่นนี้เพราะความสำคัญของพื้นที่กลางท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมนั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากพื้นที่กลางจะเป็นการรับประกันว่า เหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่จะมีโอกาสพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้น้อยลงกว่าการไม่มีพื้นที่กลางคอยสังเกตการณ์อยู่เลย
“ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าใจตรงนี้เช่นกันว่า ทุกคนไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติมากในสังคม แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องนำไปสู่ความรุนแรง”
สมเกียรติกล่าวว่า ความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ จุดสำคัญคือความขัดแย้งมีได้หลายระดับ แต่ก็มีโอกาสพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นมาแล้ว เจ้าหน้าที่เองก็ควรที่จะเข้าใจเรื่องความเป็นพื้นที่กลางของสื่อให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลายหรือนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายขึ้น
“ความเข้าใจเรื่องพื้นที่กลางของทุกฝ่าย จะช่วยให้สังคมไทยไม่ต้อง ‘จ่ายราคาแพง’ ทุกครั้งที่มีประเด็นที่ต้องยกระดับความเข้าใจกันในวันข้างหน้า”