คุมเข้มกันทุกปี งัดมาตรการมาใช้ หาวิธีการมาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุกครั้งที่มีเทศกาลวันหยุดยาว พี่น้องชาวไทยก็ต้องบาดเจ็บล้มตายบนท้องถนนคนแล้วคนเล่า ศพแล้วศพเล่า
สงกรานต์ปีนี้เริ่มนับหนึ่งกันไปแล้วกับมาตรการเฝ้าระวัง 7 วันอันตราย ทว่าขณะที่กำลังเรียบเรียงข้อมูลอยู่นี้ก็มีคนตายบนท้องถนนเฉียด 100 รายแล้ว เทศกาลแห่งความสุขและความเศร้าอยู่คู่กันมาทุกปี บางคนเปียกปอนจากการเล่นน้ำสงกรานต์ อีกไม่น้อยก็ปาดน้ำตาเพราะสูญเสียคนรักและคนในครอบครัว พวกเขาสังเวยความร้อนของเดือนเมษายนด้วยความเศร้า
แน่นอนว่าเราไม่นิยมชมชอบการนั่งนับหยดน้ำตา แต่ตัวเลขที่รวบรวมมาก็น่าจะบอกเรื่องราวบางประการว่าเราควรจะทำอะไรบ้างเพื่อลดตัวเลขเหล่านี้ให้น้อยลง
- 7 วัน คือระยะเวลาที่มีการเฝ้าระวังและคุมเข้มเพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นพิเศษ
- 5 ปีล่าสุด ตั้งแต่ พ.ศ. 2556-2560 คือข้อมูลที่เรารวบรวมมาเพื่อให้เห็นตัวเลขบางประการของความสูญเสีย
- 51 คน คือตัวเลขเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตใน 1 วัน
- 361 คน คือตัวเลขเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตใน 7 วันอันตราย
- 1,807 คน คือจำนวนคนที่ไม่หายใจอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ
- 17,330 คน คือจำนวนผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บบนท้องถนน
- 16,335 ครั้ง คือจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
เหล่านี้เป็นตัวเลขเบื้องต้นที่เกริ่นให้เห็นอย่างกว้างที่สุด ส่วนรายละเอียดรายวันรายปีเป็นอย่างไรนั้น เชิญอ่านจากกราฟ หรือจะคลิกดาวน์โหลด PDF เพื่ออ่านแบบตารางก็ได้เช่นกัน
[uberchart id=”1″]
[uberchart id=”13″]
[uberchart id=”19″]
[uberchart id=”22″]
[uberchart id=”25″]
จากข้อมูลที่ปรากฏจะพบความคล้ายกันอย่างหนึ่งคือ กราฟแสดงผลเป็นรูประฆังคว่ำ นอกจากจะเห็นว่าอุบัติเหตุและความสูญเสียค่อยพุ่งขึ้นและเดินทางอย่างไรแล้ว จะพบว่าทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บมักจะสูงกว่าจำนวนครั้งเสมอ ซึ่งหากเทียบกับพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนจะเห็นความสอดคล้องอย่างหนึ่งคือ รถ 1 คันมักบรรทุกคนมากกว่า 1 เมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งจึงมีผู้บาดเจ็บมากดังที่เห็น
ทีนี้ต้องสังเกตกราฟด้านล่างต่อไปอีกว่า ตลอด 7 วันอันตรายนั้น วันไหนบ้างที่มีอุบัติเหตุและความสูญเสียมากที่สุด
[uberchart id=”28″]
จากกราฟนี้จะพบว่า วันที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือวันที่ 3 ของการเฝ้าระวัง เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติกรรมก็จะพบว่า วันแรกของเทศกาลหยุดยาวนี้ผู้คนจำนวนมากติดอยู่บนท้องถนน ใช้ความเร็วไม่ได้มาก แต่เมื่อถึงวันที่ 3 ซึ่งหมายถึงคนจำนวนมากเดินทางถึงบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว การพบปะเพื่อนฝูง ซึ่งจำนวนมากมักสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กอปรกับบนท้องถนนสามารถใช้ความเร็วได้มากขึ้น แทบทุกปีจึงพบว่า วันนี้เองที่เกิดอุบัติเหตุนำมาซึ่งการบาดเจ็บล้มตายสูงที่สุด โดยเกิดอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง บาดเจ็บ 3,499 คน และเสียชีวิต 337 ราย สูงกว่าวันแรกและวันสุดท้ายของการเฝ้าระวังเกือบสองเท่า
[uberchart id=”31″]
กราฟสุดท้ายนี้บอกอะไร ทำไมมาตรการเฝ้าระวังต่างๆ นานาถึงไม่สามารถลดจำนวนความสูญเสียได้ ตัวเลขอุบัติเหตุและจำนวนคนบาดเจ็บในช่วง 5 ปีหลังสูงขึ้นทุกปี แม้ปีล่าสุดคนตายจะลดลงแต่จำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2560 ก็มากถึง 354 ราย ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้มีนัยเพียงความเศร้าของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โอกาสในการพัฒนาชีวิตและอาชีพ อุบัติเหตุแต่ละครั้งนำมาซึ่งคดีความ การฟ้องร้อง และเสียเวลาไม่น้อยกว่าจะคลี่คลายสถานการณ์
มีข้อมูลระบุว่าในแต่ละปีไทยต้องสูญเสียงบประมาณอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตปีละ 3-4 แสนล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลผู้รอดชีวิตที่บาดเจ็บและพิการอีก 1 ใน 3 จากงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชายวัยรุ่นและวัยทำงาน และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่เพียงไม่กี่วันมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5 ของอุบัติเหตุตลอดทั้งปี
อ้างอิงจาก:
m-society.go.th
thairsc.com
roadsafetythailand.com
news.ch3thailand.com