โซฟี โชล นักศึกษาเยอรมันผู้ต่อต้านนาซีซึ่งถือกำเนิดเมื่อ 100 ปีก่อนในวันนี้ (9 พฤษภาคม) ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญ และถือว่าเป็นวีรสตรีแห่งชาติสำหรับหลายคนและหลายกลุ่มความคิดที่แตกต่างในเยอรมนีสมัยใหม่
แต่ท่ามกลางการระบาดของไวรัส Covid-19 กับมาตรการสุขอนามัยของรัฐบาลเยอรมัน มรดกวีรกรรมของหญิงสาวผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยมเนื่องจากแจกจ่ายเอกสารคัดค้านพรรคนาซีอย่างสันตินั้น กำลังถูกฉกฉวยมาอ้างอิงโดยขบวนการต่อต้านการการล็อคดาวน์ของรัฐบาลเยอรมนีปัจจุบัน ซึ่งได้ก่อความตื่นตกใจให้กับนักประวัติศาสตร์และผู้คนที่ห่วงใยอยู่บ้าง
ในการชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนเมษายน หญิงสาวคนหนึ่งแสดงป้ายประกาศที่มีรูปของ โซฟี โชล ห้อยพาดอยู่บนไหล่ของเธอ พร้อมข้อความ “ความเสียหายแท้จริงเกิดขึ้นโดยคนนับล้านที่ต้องการเพียงจะ ‘อยู่รอด’ ผู้คนซื่อตรงเพียงต้องการอยู่อย่างสงบสันติ” ซึ่งเป็นคำพูดที่มักถูกป่าวประกาศโดยนักรณรงค์ต่อต้านการล็อคดาวน์และมาตรการให้สวมหน้ากากอนามัย
แม้กระทั่งหลานชายคนหนึ่งของโซฟี ที่ชื่อ ยูเลียน ไอเคอร์ (Julian Aicher) ยังประกาศอย่างชัดเจนในกลุ่มผู้ประท้วงที่ไม่ยอมเชื่อเรื่องภัยร้ายแรงของโคโรนาไวรัส รวมถึงบนเวทีที่ประดับด้วยดอกกุหลาบสีขาว ซึ่งหมายความอ้างอิงถึงชื่อของกลุ่มต่อต้านที่โซฟี กับ ฮันส์ พี่ชายของเธอ ร่วมกับพวกนักศึกษาในมิวนิคดำเนินการต่อต้านนาซีในสมัยสงคราม
ในประเทศที่ลัทธิหัวรุนแรงฝ่ายขวาถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งต่อความมั่นคงและมีการบันทึกอาชญากรรมที่ทำต่อคนต่างชาติและการต่อต้านชาวยิวจำนวนมากครั้งเป็นประวัติการณ์ในปี 2020 นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า การยักยอกหรือฉกฉวยความทรงจำต่อ โซฟี โชล ไปใช้นั้นน่าสะพรึงอย่างยิ่ง
บางคนยังส่งเสียงเตือนด้วยว่า ประชาธิปไตยกำลังถูกโจมตีในช่วงเวลาที่ประจักษ์พยานที่ยังคงมีชีวิตหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังลดจำนวนลงจนแทบจะมลายหายสูญไปหมดสิ้นแล้วตามกาลเวลา
“การดูแคลนและลดทอนเหตุการณ์ล้างผลาญชาวยิว (Holocaust) กับความร้ายแรงของระบอบเผด็จการโดยท่าทีของนักเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย” ลุดวิก สปาเอนเลอ (Ludwig Spaenle) สมาชิกคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับต่อต้านชาวยิวของรัฐบาวาเรียกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ชาวเยอรมันให้คะแนนนิยมอันดับ 4
เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 1943 โซฟี กับ ฮันส์ โชล พี่ชายของเธอซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มต่อต้านขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘กุหลาบขาว’ ถูกประหารชีวิตด้วยการบั่นศีรษะด้วยกีโยตินในเรือนจำชตาเดลไฮม์ (Stadelheim) ในรัฐบาวาเรีย หลังจากการพิจารณาคดีอย่างรวบรัดโดยศาลนาซี
ทั้งสองกับสมาชิกกลุ่มคนอื่นถูกตัดสินว่ามีความผิดในการแจกจ่ายเอกสารในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมิวนิค ไม่นานหลังจากสองพี่น้องได้บังเกิดอาการ ‘ตาสว่าง’ จากสถานะสมาชิกขององค์กรนาซีในช่วงวัยรุ่น แล้วเปลี่ยนใจมาเป็นฝ่ายต่อต้านเมื่อได้รับรู้ความอำมหิตน่าสะพรึงของผู้นำเผด็จการแห่งอาณาจักรไรค์ที่สาม
โซฟี เกิดวันที่ 9 พฤษภาคม 1921 แล้วได้กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดของขบวนการต่อต้าน โดยมีภาพถ่ายที่ยังมีชีวิตหลงเหลืออยู่ แสดงให้เห็นวัยเยาว์ที่ร่าเริงโดดเด่นกับรอยยิ้มที่มุ่งมั่นของเธอ
ปัจจุบันมีโรงเรียน สี่แยก และถนนหลายร้อยแห่งในเยอรมนีปรากฏนามของเธอประทับไว้เป็นอนุสรณ์ เมื่อปี 2003 เธอได้รับเลือกให้เป็นคนเยอรมันยอดนิยมอันดับ 4 ของประเทศ รองจากเพียง คอนราด อาเดนาวเออร์, มาร์ติน ลูเธอร์ และ คาร์ล มาร์กซ์
ชนชั้นนำทางการเมืองของเยอรมนียุคใหม่มักแสดงออกด้วยความภูมิใจเมื่อกล่าวถ้อยคำให้หวนรำลึกถึงความทรงจำของนักศึกษาชีววิทยารุ่นเยาว์ผู้นี้ที่ยืนหยัดต่อต้านพวกนาซีจนถึงวาระสุดท้าย
อันนาเลอนา แบร์บ็อค (Annalena Baerbock) ผู้สมัครของพรรค Green ที่จะลงเลือกตั้งเพื่อแข่งขันเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของเยอรมนี หลังจาก อังเคลา แมร์เกิล (Angela Merkel) ถึงวาระออกจากตำแหน่งในฤดูใบไม้ร่วงนี้ เคยกล่าวไว้ว่า โซฟี โชล คือหนึ่งในบรรดา ‘วีรสตรี’ ของเธอ
คารอลา แร็กเกอเตอ (Carola Rackete) อดีตกัปตันเรือช่วยเหลือผู้อพยพ Sea-Watch 3 กล่าวว่าหากโซฟี ยังมีชีวิตอยู่ เธอน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางการเมืองฝ่ายซ้ายหรือที่เรียกกันว่า Antifa
แต่ในอีกด้านหนึ่งของเฉดสีสเปกตรัมทางการเมืองเยอรมัน พรรค AfD ขวาสุดโต่ง ยังอุตส่าห์อ้างเมื่อปี 2017 ว่า โซฟีน่าจะลงคะแนนให้แก่พวกตนแน่นอน
มาบัดนี้ ภาพลักษณ์ของผู้รณรงค์ต่อต้านเผด็จการในอดีต กลับถูกปล้นชิงไปโดยผู้ประท้วงคัดค้านมาตรการล็อคดาวน์ Covid-19 ของรัฐบาลเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสในเยอรมนี ซึ่งนักประท้วงคัดค้านเหล่านี้บ่อยครั้งมักพยายามเปรียบเทียบตนเองให้ดูน่าเวทนาราวกับเป็นเหยื่อของพวกนาซีนั้นเอง
“การฉีดวัคซีนทำให้คุณเป็นอิสระ”
มีการพบเห็นผู้ประท้วงบางคนติดรูปดาวสีเหลืองคล้ายกับที่ชาวยิวเคยถูกบังคับให้สวมชุดเช่นนั้นภายใต้อำนาจของนาซี โดยมีคำว่า “ไม่ฉีดวัคซีน” ติดอยู่ด้วย
ผู้ประท้วงรายอื่นบางคนสวมเครื่องแบบคล้ายกับผู้คุมแห่งค่ายกักกันในอดีต และถือป้ายประกาศที่มีคำว่า “Impfen macht frei” (“การฉีดวัคซีนทำให้คุณเป็นอิสระ”) ซึ่งอ้างอิงถึงถ้อยคำจารึก “Arbeit macht frei” (“Work makes you free” หรือ “การงานทำให้คุณเป็นอิสระ”) ที่เบื้องบนประตูทางเข้าค่ายกักกันนรก เอาซ์วิตซ์ (Auschwitz) ในอดีต
“ฉันรู้สึกเหมือน โซฟี โชล เพราะฉันเคลื่อนไหวในกลุ่มต่อต้านมาหลายเดือนแล้ว” ผู้ประท้วงคนหนึ่งกล่าวในการชุมนุมต่อต้านมาตรการจำกัดการแพร่ไวรัส ซึ่งนำไปสู่การประณามอย่างกว้างขวาง
“คนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดชอบจินตนาการว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ในขณะที่มักจะสร้างภาพปีศาจร้ายแล้วป้ายความผิดให้แก่กระบวนการประชาธิปไตย (democratic processes)” ซามูเอล ซัลซ์บอร์น (Samuel Salzborn) ผู้ทำงานเฝ้าระวังการต่อต้านชาวยิวในเบอร์ลินกล่าวกับสำนักข่าว AFP
จากข้อมูลของ เยนส์-คริสเตียน วากเนอร์ (Jens-Christian Wagner) นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันที่เชี่ยวชาญยุคนาซี แสดงว่าการฉกฉวยใช้ภาพลักษณ์ของ โซฟี โชล โดยนักเคลื่อนไหวต่อต้านหน้ากากอนามัย แสดงให้เห็นถึงการสูญเสีย ‘การรับรู้ทางประวัติศาสตร์’ ในบางส่วนของหมู่ประชากรเยอรมัน
วากเนอร์กล่าวกับ AFP ว่า “แทบไม่เหลือพยาน” แห่งยุคนาซีอยู่อีกแล้วในปัจจุบัน
“พวกเขาไม่สามารถปกป้องตัวเองได้อีกต่อไปเมื่อต้องมาตกเป็นเครื่องมือ หรือเมื่อกลุ่มขวาสุดโต่งพยายามเขียนประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ปัจจุบันขึ้นใหม่ โดยยกความผิดให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นการย้อนกลับด้านกัน แบบนี้มันทำให้ผมเป็นกังวลมาก”
หน่วยข่าวกรองแห่งเยอรมนีกล่าวว่ากำลังเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของขบวนการ ‘Querdenker’ (‘Lateral Thinkers’ หรือ ‘นักคิดเทียบเคียง’) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านมาตรการล็อคดาวน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแกนนำที่ส่งเสียงเรียกร้องมาแล้วหลายหน เนื่องจากมีความกังวลว่านี่คือกลุ่มที่เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยและมีความสัมพันธ์กับลัทธิหัวรุนแรงขวาจัด
ผู้ประท้วงที่ไม่ได้เห็นแก่ชีวิตผู้อื่น
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในฮันโนเวอร์ เยอรมนี ถึงกับต้องลงมือขัดขวางผู้หญิงที่เข้าใจผิดและสับสนในความไม่สะดวกของตนเองเมื่อถูกบังคับให้สวมหน้ากากอนามัย
หญิงสาวยานา (Jana) ผู้ต่อต้านการสวมหน้ากากวัย 22 ปี ขึ้นกล่าวปราศรัยในที่สาธารณะเพื่อประท้วงต่อต้านการล็อกดาวน์ แล้วเธอเปรียบเทียบตนเองกับ โซฟี โชล อีกด้วยเช่นเดียวกับพวกผู้ประท้วงในเบอร์ลินและที่แห่งอื่น
ตรงกันข้ามกับโซฟี ผู้มีประวัติคัดค้านฮิตเลอร์เพราะต้องการรักษาชีวิตพลเมืองเยอรมันในสงคราม แต่ยานาไม่ได้ต้องการสวมหน้ากากเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่นในสังคมของตนเอง
“ฉันรู้สึกเหมือน โซฟี โชล นับตั้งแต่ฉันออกเคลื่อนไหวต่อต้าน ขึ้นปราศรัย ไปแจกใบปลิวประท้วง” เธอพูดขณะมีคนปรบมือเล็กน้อย
“ฉันอายุ 22 ปี เช่นเดียวกับโซฟี ก่อนที่เธอจะตกเป็นเหยื่อของพวกนาซี” เธอกล่าวต่อ จากนั้นเธอให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมแพ้และจะยืนหยัดเพื่อ “สันติภาพ ความรัก และความยุติธรรม”
จากนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่รับทำหน้าที่ดูแลเธอในการชุมนุมก็กลับเดินไปหน้าเวทีและขอบอกเลิกการยุ่งเกี่ยว “ผมจะไม่ยอมมีส่วนร่วมกับเรื่องไร้สาระแบบนั้น” เขาบอกยานา “ผมจะไม่ดูแลความปลอดภัยให้ใครที่พูดเรื่องห่วยๆ แบบนั้น ผมขอลาออก”
คำอธิบายของเขาในการเลิกมีส่วนร่วมนั้นเรียบง่ายและทรงพลัง
“นี่เป็นการบอกว่าโฮโลคอสต์ไม่มีความสำคัญ” เขาประกาศ และหลังจากเขาพูดคุยกับยานาได้ไม่กี่คำ เธอถึงกับน้ำตาไหล เธออาจร้องไห้เพราะตระหนักดีว่าคำพูดของเธอช่างบ้องตื้นโดยแท้
ขณะที่ยานาคิดว่าเธอเป็นคนกล้าหาญที่ต่อต้านล็อคดาวน์ เจ้าหน้าที่คือผู้กล้าที่แท้จริงในการยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง งานของเขาคือการปกป้องผู้คน และการหยุดยั้งการแสดงออกของยานาเช่นนั้นอาจช่วยชีวิตบางคนไว้ก็ได้
การเทียบเคียงที่น่าจะเกิดขึ้นได้เพียงอย่างเดียวระหว่างการระบาดของ Covid-19 กับโฮโลคอสต์ คือ ทั้งสองเหตุการณ์ได้รับการกระตุ้นโดยอวิชชาและการรับรู้ข้อมูลที่ผิดในหมู่ผู้คน แล้วมันก็นำไปสู่ความตายและการทำลายล้างอย่างเสียสติ
อีกไม่นานต่อมา ไฮโก มาส (Heiko Maas) รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ได้กล่าวถึงหญิงสาวยานา ลงในหน้าทวิตเตอร์
“ทุกวันนี้ใครต่อใครมักชอบเปรียบเทียบตนเองกับ โซฟี โชล หรือ แอนน์ แฟรงค์ ซึ่งเป็นการล้อเลียนถึงความกล้าหาญในการยืนหยัดต่อสู้กับพวกนาซี” มาส เขียนในทวีตของเขา
“มันทำให้โฮโลคอสต์ดูเหมือนเป็นแค่หายนะเล็กน้อย และแสดงให้เห็นถึงการลืมเลือนประวัติศาสตร์แบบที่ช่างเหลือทน ไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงการประท้วงโคโรนาไวรัสกับนักสู้นักต่อต้านเผด็จการเลย ไม่มีอะไรจริงๆ!”
อ้างอิง
https://www.dw.com/en/coronavirus-germany-braces-for-anti-lockdown-protests/a-55513848