21 ข้อเกี่ยวกับเด็กสาวกุหลาบขาวที่ถูกประหารชีวิตตอนอายุ 21

 

1

ถ้า โซลฟี โชล ยังมีชีวิต ในปี 2017 เธอจะมีอายุ 96 ปี โซฟี โชล เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 1921 เสียชีวิตวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943

2

ตอนอายุ 14 ครูหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รักเคารพของนักเรียนถูกปลดออกจากโรงเรียน โซฟีวิจารณ์ด้วยความไม่เข้าใจ:

เขาไม่ได้ทำผิดอย่างใดแม้สักนิด เพียงเพราะว่าเขาไม่ได้เป็นนาซีเท่านั้น ทำไมต้องถือว่านั่นเป็นอาชญากรรมด้วย

 

 

 3

ครั้งหนึ่งโซฟีตั้งข้อสังเกตกับบิดาว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ น่าจะรู้ดีเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของค่ายกักกัน เนื่องจากมีการต้อนคนเข้าค่ายเช่นนั้นสักระยะหนึ่งแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ใช้อำนาจสูงสุดยกเลิกมันไปเลย แล้วทำไมบางคนที่ถูกปล่อยตัวออกจากค่ายมาจึงถูกห้ามไม่ให้เปิดปากพูดเลยว่าได้ผ่านสิ่งใดมาบ้าง แต่ถึงอย่างไรครอบครัวโชลก็ยังไม่มีความทุกข์เดือดร้อนอันเป็นรูปธรรม โรเบิร์ต โชล เป็นนักธุรกิจที่ก่อร่างสร้างตัวได้เร็ว มีรายได้ดี ครอบครัวโชลมีเอกสารแสดงตัวตนว่าอยู่ในสถานะ ‘เลือดอารยันบริสุทธิ์’ จัดอยู่ในระดับชนชั้น ‘สหายแห่งชาติ’ (national comrades) ที่มีสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมเต็มพิกัด มีเสรีในการเดินทาง การใช้ชีวิต เท่าที่กฎเกณฑ์อำนวย

4

โซฟีและพี่น้องตระกูลโชลกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งโดยธรรมชาติย่อมต้องการทดลองและอยากรู้เห็นสารพัดเรื่องเกี่ยวกับเพศสภาพ ร่างกาย อารมณ์ และการใช้ชีวิตในสังคม แต่ทั้งหมดถูกจำกัดกรอบให้ต้องรักษาวินัยเข้มงวดทั้งโดยโรงเรียนและหน่วยยุวชนฮิตเลอร์ ที่ยิ่งเพิ่มมาตรการเคร่งครัดลักษณะทหาร เป็นที่กังขาในสายตาของผู้รู้จักใช้เหตุผลมากขึ้นทุกวัน การพูดคุยแบบเสรีและเปิดเผยจากใจตรงไปตรงมา อาจทำได้เพียงกับญาติหรือแวดวงเพื่อนสนิท บ้านสกุลโชลจึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมมิตรสหายของครอบครัวพวกที่รู้สึกแปลกแยกแหนงหน่ายต่อสภาพภายนอกที่ต้องระวังคำพูดตลอดเวลา ที่นี่กลายเป็นพื้นที่เสวนาสังสรรค์ วิพากษ์วิจารณ์ข่าวสาร และหาถ้อยคำมาเหน็บแนมก่นด่าสภาพความเป็นไปในสังคมได้บ้าง

5

ในที่ชุมนุมกลุ่มยุวชนหญิง BDM (Bund Deutsche Mädel) เธอได้อ่านบทกวีของ ไฮนริช ไฮเนอ (Heinrich Heine) ผู้เคยกล่าววิจารณ์การกระทำของพลพรรคนาซีด้วยคำคม “ที่ใดเผาหนังสือ ต่อไปก็จะเผามนุษย์ด้วย” (Where they burn books, they will also burn people.) ไฮเนอเป็นนักเขียนและกวีเชื้อสายยิว หนังสือและกวีนิพนธ์ของเขาถูกกระทรวงโฆษณาการนาซีสั่งห้ามให้เผยแพร่

การอ่านบทกวีของไฮเนอครั้งนั้นได้ยินไปถึงพวกผู้ดูแล ผู้นำหน่วยตำหนิโซฟีแล้วออกคำสั่งให้เธอเลิกนำเอาบทกวีของไฮเนอมาอ่านอีก โซฟีตอบโดยกล่าวว่า “ใครไม่รู้จักไฮเนอ ย่อมไม่รู้จักวรรณกรรมเยอรมัน” ครูที่โรงเรียนของโซฟีคนหนึ่งเล่าว่า ระหว่างอยู่ในชั้นเรียนเธอชักจะเก่งกล้าแสดงออกซึ่ง ‘ความคิดเห็นแบบน่าตระหนก’ บ่อยครั้งมากขึ้น

6

โซฟี โชล มีอายุ 17 ปี และกำลังเตรียมตัวสอบไล่เพื่อให้ได้ Abitur ประกาศนียบัตรเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แต่ว่าระหว่างอยู่ในโรงเรียนโซฟีมักแสดงอาการแหนงหน่ายต่อระบบการสอนวิชาพื้นฐานจนถึงขั้นเลื่อนลอย ครูบางคนเล่าว่า โซฟีมักตอบคำถามได้อย่างถูกต้องเสมอ แม้ว่าเธอแสดงความเป็นตัวของเธอเองอย่างสูง ขณะอยู่ในเครื่องแบบนักเรียน เธอมักแสดงออกถึงความไม่ยอมลงรอยกับกฎระเบียบด้วยการทัดดอกไม้ดอกหนึ่งไว้ด้านหลังใบหู เพื่อให้ต่างจากเพื่อนนักเรียนหญิงคนอื่น ในที่ชุมนุมของกลุ่ม BDM ซึ่งยังคงเป็นสภาพบังคับ โซฟียิ่งรู้สึกแปลกแยกออกจากเพื่อนสมาชิกด้วยกันเพราะเธอเห็นว่าการประชุมกลุ่มเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย เธอมีข้อขัดแย้งกับพวกหัวหน้าหน่วย BDM แห่งท้องถิ่นบางคนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม เมื่อเธอเสนอว่าควรพยายามเพิ่มเติมสิ่งที่อาจเป็นไปในเชิงเสริมแรงกระตุ้นสติปัญญาให้แก่พวกสมาชิกบ้าง เมื่อมาถึงขั้นนี้ โซฟีได้ผันตัวตนมาเป็นผู้คัดค้านนโยบายต่างประเทศแบบแข็งกร้าวของฮิตเลอร์อย่างชัดเจน เธอเอ่ยปากขอร้องมิตรสหายชายผู้ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารทุกคนว่า ขอให้พวกเขาจงอย่าได้ลงมือฆ่าใครเลย

ครูหลายคนที่โรงเรียนมัธยมยิมเนเซียมแห่งอูล์ม (Ulm Gymnasium) ที่โซฟีเข้าศึกษาอยู่เป็นพวก ‘สงวนท่าที’ หรือออกห่างจากแนวทาง ‘สังคมชาตินิยม’ หลักของนาซีที่ครอบงำสังคมอยู่ในขณะนั้น หลักฐานบันทึกหลายชิ้นแสดงว่าครูส่วนใหญ่พยายามผ่อนเบาเนื้อหาลักษณะยัดเยียด สั่งสม หรือครอบงำเด็กด้วยอุดมการณ์ของนาซีลงให้เหลือเพียงน้อยนิด ครูหลายคนไม่ยอมกลัดเครื่องหมายนาซีบนปกเสื้อตามข้อบังคับ คุณครูวิชาประวัติศาสตร์คนหนึ่งมักนำเอาตัวอย่างในอดีตมาเป็นหัวข้อเสวนาในชั้นเรียนเพื่อกระตุ้นการถกเถียงโดยเปิดเผย บางครั้งนำเอาเรื่องราวในประวัติศาสตร์อังกฤษมาให้นักเรียนวิเคราะห์กัน นักเรียนที่มีแนวโน้มทางสนับสนุนนาซีก็ออกความเห็นเชิงอำนาจนิยม และเห็นว่าสมควรปราบปรามการลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐอย่างเด็ดขาด โซฟีโต้แย้งว่ารัฐน่าจะต้องทำการทุกอย่างภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย และต้องให้การคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนที่ออกมาประท้วงคัดค้านเมื่อเขารู้สึกว่ารัฐใช้อำนาจปกครองแบบทรราช มันชัดเจนอยู่ว่าประเด็นเหล่านี้สามารถนำเอามาเทียบเคียงได้ทันทีว่านาซีเยอรมนีกำลังตกอยู่ในสภาพสังคมและการเมืองการปกครองแบบไหน การนำอดีตกลับมาวิพากษ์วิจารณ์กัน ก็คือการวิเคราะห์โดยทางอ้อมต่อข้อปัญหาความรับผิดชอบชั่วดีในสังคมแบบมีนัยยะแฝงเร้น โดยไม่ได้ฝ่าฝืนชัดเจนกับหลักสูตรการศึกษาที่จัดให้คล้อยตามอุดมการณ์นาซีของโรงเรียนเยอรมันทั่วไปในขณะนั้น

7

ฤดูร้อนปี 1939 ยุโรประอุเดือดขึ้นและขยับเข้าใกล้การปะทุของสงครามด้วยข้อพิพาทระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์เรื่องเมืองท่าเสรีดานซิก แวร์เนอร์ โชลน้องชายคนเล็ก กลายเป็นสมาชิกคนแรกของครอบครัวโชลที่ออกมาแสดงการแข็งขืนต่อระบอบนาซีอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ เขาลาออกจากยุวชนฮิตเลอร์ด้วยความเข้าใจเต็มเปี่ยมว่านั่นเป็นการทำให้ตนเองถูกตัดสิทธิเข้าสอบไล่ Abitur ซึ่งจะหมดหนทางศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยไปด้วย และขณะอายุเพียง 17 ปี แวร์เนอร์ ลงมือแสดงการประท้วงหนักข้อยิ่งกว่านั้น กลางดึกคืนหนึ่งหนุ่มน้อยปีนป่ายขึ้นไปจนถึงยอดสุดของรูปปั้น ‘เทพียุติธรรม’ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าอาคารที่ทำการศาลยุติธรรมในเมืองอูล์ม แล้วเอาผืนผ้าติดตราสวัสดิกะคาดศีรษะปิดทับส่วนนัยน์ตาของเทพธิดาที่กำลังถือตราชูยุติธรรมไว้

8

9 พฤษภาคม 1940 โซฟีฉลองวันเกิดอายุครบ 19 ปี โดยมีฟริตซ์ ฮาร์ตนาเกิล เพื่อนชายผู้เป็นทหารสังกัดกองทัพนาซีอยู่เคียงข้าง หลังจากเขาได้รับวันลาระยะสั้นจากหน่วยทหาร หลังจากเดินเที่ยวเล่นแถบริมน้ำดานูบ โซฟีเดินไปส่งฟริตซ์ยังสถานีรถไฟอูล์ม เพราะเขาต้องเดินทางกลับเข้าหน่วยที่ชายแดนเนเธอร์แลนด์ บนชานชาลา โซฟีประคองดอกแดฟโฟดิลช่อใหญ่ที่ฟริตซ์ซื้อให้เธอไว้แนบกาย เธอเขย่งกอดและจุมพิตเขาอย่างเศร้าสร้อย แล้วโบกมืออำลาขณะรถไฟเคลื่อนขบวนจากไป

วันรุ่งขึ้นกองทัพเยอรมัน รวมทั้งหน่วยของฟริตซ์ รุกเข้าสู่ดินแดนเนเธอร์แลนด์ ด้วยวิธีการโจมตีแบบทำลายล้างฉับพลัน

9

16 พฤษภาคม 1940 โซฟีเขียนถึงฟริตซ์ ฮาร์ตนาเกิล ว่า บัดนี้ชาวอูล์มไม่เพียงได้ฟังข่าวสงคราม แต่แทบทุกนาทีผู้คนได้ยินเสียงกระหึ่มของเครื่องบินที่กำลังบินผ่านไป เนื่องจากชีวิตของฟริตซ์กำลังตกอยู่ในอันตราย เธอจึงแจ้งเขาว่า “สิ่งที่ฉันต้องการตอนนี้คือความรัก ไม่ใช่เพียงมิตรภาพหรือความเป็นเพื่อน สิ่งที่ฉันปรารถนาสูงสุดคือ ขอให้คุณรอดชีวิตจากสงคราม และจงอย่าได้กลายเป็นผลิตผลของมัน”

บางครั้งโซฟีตั้งคำถามว่า เป็นเรื่องเหมาะควรหรือไม่ที่เธอมีสัมพันธ์รักกับนายทหารใน Wehrmacht กองทัพอันเป็นศูนย์กลางลัทธิทหารของฮิตเลอร์ เธอแสดงความข้องใจในจดหมายถึงฟริตซ์ เธอบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวโดยตรงกับตัวตนของเขา แต่เป็นเรื่องของหน่วยงานและอุดมการณ์ที่เขาต้องรับใช้ บางทีเธอก็สงสัยว่า ทั้งสองควรคู่กันหรือเปล่า บางครั้งโซฟีบรรยายด้วยน้ำเสียงห่างเหิน และบอกว่าเธอตำหนิตนเองที่มาตกอยู่ในสภาพนี้

10

การอพยพทหารครั้งใหญ่เกิดขึ้นช่วง 27 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 1940 ใช้เรือทุกขนาดที่หาได้ลำเลียงกำลังพลอังกฤษ 338,226 นาย รวมทั้งทหารฝรั่งเศส 140,000 นาย ข้ามไปยังฝั่งอังกฤษ 10 มิถุนายน 1940 อิตาลีตัดสินใจเข้าร่วมสงคราม โดยเข้าพวกกับนาซีเยอรมนี ด้วยสาเหตุหลักใหญ่คือมุสโซลินีคิดว่าฮิตเลอร์จะเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด พอถึง 14 มิถุนายน 1940 กองทัพเยอรมันยาตราเข้าสู่กรุงปารีสในฐานะผู้พิชิตโดยไม่มีการต้านทานอย่างใด โซฟีเขียนไว้ว่า “บอกความจริงได้เลย ตอนนี้ไม่ว่าเหตุการณ์จะผันแปรไปทางไหนฉันก็ไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไรแล้ว แต่ฉันก็ยังเป็นห่วงฮันส์อย่างมาก เพราะเขาช่างอ่อนไหวเสียเหลือเกิน” ช่วงนี้ฮันส์ซึ่งมีสถานะนักศึกษาแพทย์ถูกส่งตัวเข้าช่วยงานเสนารักษ์ของหน่วยแพทย์ทหารที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองเริมส์ของฝรั่งเศส งานส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลสนามเป็นการช่วยแพทย์ดูแลรักษาทหารบาดเจ็บ ช่วยตัดแขนหรือขาที่เสียหายร้ายแรง และทุกอาการทั้งหนักและเบา สมาชิกของ ‘หน่วยนักศึกษาแพทย์’ (Student Medical Corps) ในกองทหารประกอบด้วยคนหนุ่มสาวจากครอบครัวชนชั้นกลาง และส่วนหนึ่งเป็นผู้ยึดถือแนวทางเสรีนิยมหรือเป็น ‘ผู้เห็นต่าง’ ที่คัดค้านระบอบนาซีโดยตรง

สมาชิก ‘ขบวนการกุหลาบขาว’ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา บางส่วนก็เป็นนักศึกษาแพทย์เสนารักษ์ชายหรือนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดหญิงเหล่านี้

11

แวดวงมิตรสหายของฮันส์ (ขบวนการกุหลาบขาว) ยังไม่มีใครเสนอรูปแบบการต่อต้านว่าควรเป็นเช่นไร แต่เมื่อถึงฤดูร้อน 1941 ซองจดหมายสีน้ำตาลบรรจุใบปลิวไม่ลงนามฉบับหนึ่งเดินทางมาถึงบ้านครอบครัวโชลที่ ‘จัตุรัสแห่งอาสนวิหาร’ แห่งอูล์ม ใบปลิวนั้นพิมพ์ด้วยเครื่องทำสำเนาเอกสาร บรรจุข้อความทั้งหมดของถ้อยคำเทศนาครั้งหนึ่งโดยสังฆราชคาทอลิกเยอรมัน คลีเมนส์ กราฟ ฟอน กาเลน (Clemens August Graf von Galen) ซึ่งได้กล่าวประณามการกระทำการุณยฆาต (euthanasia) โดยรัฐบาลภายใต้อำนาจฮิตเลอร์ ซึ่งระบอบนาซีได้ก่อตั้งโครงการนี้ (รหัส T4) ภายใต้การปิดลับตั้งแต่สิงหาคม 1939 การลงมือสังหารอย่างเป็นระบบ ขจัดทิ้งผู้คนทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่มีร่างกายพิการ หรือเจ็บป่วยทางจิตในโรงพยาบาลเยอรมันจำนวนหนึ่ง โครงการ T4 ใช้ทั้งยาฉีด รถแวนติดแก๊ส และห้องอาบน้ำแปลงเป็นห้องรมแก๊สเพื่อการสังหารคนเหล่านี้ ในใบปลิวมีผู้แสดงความเห็นต่อท้ายสนับสนุนคำเทศนาของสังฆราชกาเลนจำนวนหนึ่ง มีข้อความขอร้องให้ผู้ได้รับทุกคนช่วยทำสำเนาหกฉบับแล้วส่งต่อไปยังมิตรสหาย

ฮันส์ประทับใจกับวิธีการต่อต้านแบบนิรนามและชาญฉลาดนี้อย่างมาก เขาบอก อิงเงอ โชล ผู้เป็นพี่สาวว่า “ในที่สุด ก็มีคนกล้าลุกขึ้นพูด” หลังจากอ่านรายละเอียดแล้วเขาบอก “เราน่าจะหาเครื่องทำสำเนามาใช้บ้าง”

และการแจกจ่ายใบปลิววิจารณ์รัฐบาลและนโยบายสุดโต่งของนาซีในนามกุหลาบขาวจึงเริ่มต้นขึ้น

12

ขบวนการกุหลาบขาว คือกลุ่มนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ แห่งมหาวิทยาลัยมิวนิค พวกเขาต้องการเคลื่อนไหวต่อต้านนาซีโดยสงบ ปริมาณสำเนาใบปลิวสี่ฉบับแรกไปถึงผู้รับสารจำนวนไม่มากนัก และไม่ได้ให้ก่อผลกระทบตามเป้าหมาย ทุกคนตกลงใจว่าจะหาทางติดต่อกับนักต่อต้านกลุ่มอื่นเพื่อพยายามสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกัน นอกจากนั้นยังต้องหาเงินทุนมาสนับสนุนกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มตนให้แพร่กระจายกว้างขวางออกไป

ระหว่างหลายเดือนช่วงท้ายปี 1942 โซฟี โชล เข้ารับรู้ร่วมลงมือในกิจกรรม ‘ขบวนการกุหลาบขาว’ ทุกความเคลื่อนไหว ซึ่งได้เปลี่ยนไปมากแล้วจากกลุ่มนักศึกษาขนาดเล็ก ปิดลับในมหาวิทยาลัยแห่งมิวนิค ดำเนินการเป็นเอกเทศโดยนักศึกษาหนุ่มสาวระดับปริญญาตรี บัดนี้กลายมาเป็นองค์กรต่อต้านนาซีที่มีระบบจัดการอยู่บ้างในระดับหนึ่ง และกำลังวางแผนจะขยายกิจกรรมงานต่อต้านออกไปอีก

โซฟีเข้าร่วมประชุมวางแผนทุกครั้งและรับหน้าที่ดูแลด้านการเงินของขบวนการ ลงบัญชีรายรับรายจ่าย จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อหาวัสดุสิ่งของสำหรับทำงาน ในหลายโอกาสเธอก็ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับเพื่อนในกลุ่มเพื่อหาซื้อกระดาษ ซองจดหมาย แสตมป์ ครั้งละเล็กน้อยมาสะสม เพื่อไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในกิจกรรมพิมพ์สำเนาใบปลิวและแพร่กระจายทางไปรษณีย์

13

กุมภาพันธ์ 1942 โรเบิร์ต โชล บิดาของเธอ ถูกตำรวจเกสตาโปจับกุมเพราะได้เอ่ยถ้อยคำวิพากษ์ระบอบนาซีตามความเคยชินในที่ส่วนตัว คราวนี้ขณะอยู่ที่สำนักงานเขาเผอเรอพูดกับเลขานุการสาว “ฮิตเลอร์คือไอ้ตัวหายนะที่พระเจ้าส่งมาผลาญมนุษยชาติ” และเสริมต่อว่า “ถ้าไม่ยุติสงครามในเร็ววัน พวกรัสเซียนจะยกโขยงมานั่งกันสลอนที่เบอร์ลินภายในสองปีแน่นอน” เลขานุการอนงค์นั้นกล่าวยอมรับภายหลัง: “ดิฉันเคารพ แฮร์ โชล อย่างมาก และสำนึกขอบคุณที่ท่านรับดิฉันเข้ามาทำงาน” แต่บอกว่าเธอจะวางเฉยปล่อยให้คำวิพากษ์ ‘หมิ่นหยาม’ อันหนักหน่วงต่อมหาอานุภาพแห่ง ‘ท่านผู้นำ’ เช่นนั้นผ่านเลยไปไม่ได้ เธอรายงานสิ่งที่ได้ยินต่อสำนักงานเกสตาโปแห่งท้องถิ่น เกสตาโปคืออะไรบางสิ่งมีลักษณะที่รอคอยรายงานประเภทนี้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพื่อจะได้ลงมือเล่นงาน ‘พวกกระด้างกระเดื่องไม่รู้คุณแผ่นดิน’ ให้พินาศคามือ คำวิพากษ์แบบนั้นเข้าข่ายความผิดตาม ‘กฎหมายประสงค์ร้ายต่อรัฐ’ (Heimtücke) ที่ตราไว้เมื่อปี 1934 ก่อนสงครามเกิดขึ้น

14

25 มกราคม 1943 โซฟีส่งใบปลิวทางไปรษณีย์สู่ผู้รับ 250 รายในออกซ์บูร์ก อีกสองวันต่อมาเธอนำใบปลิว 600 ถึง 700 แผ่นหย่อนลงในตู้รับไปรษณีย์จำนวนมากในชตุตการ์ต เธอหลบหลีกทำงานกระจายใบปลิวช่วงกลางคืนในเมืองอูล์ม ด้วยความช่วยเหลือของพรรคพวกนักเรียนนักศึกษาแห่งท้องถิ่น ได้แก่ ฟรานซ์ มึลเลอร์, ฮันส์ เฮอร์เซิล กับ ไฮน์ริช กูเตอร์

ใบปลิวฉบับที่ห้ากลายเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจของเจ้าหน้าที่เกสตาโปอย่างมาก สำนักงานใหญ่ตำรวจเกสตาโปแห่งมิวนิคต้องก่อตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นเพื่อตามล่าหาตัวกลุ่มคนผู้จัดทำ นายตำรวจมือเก่า โรเบิร์ต มอห์ร (Robert Mohr) เข้ารับหน้าที่ผู้นำหน่วย

มอห์รได้รับคำสั่งให้เร่งควานหาตัวระดับนำของ ‘ขบวนการกุหลาบขาว’ มาให้ได้ หลังจากใบปลิวฉบับที่ห้าแพร่กระจายไปยังเมืองใหญ่หลายแห่ง เขาสืบรู้มาแล้วว่าวัสดุจำพวกกระดาษ ซองจดหมาย แสตมป์ ทั้งหมดมีต้นทางจากมิวนิค

 

15

ด้วยวัย 21 เธอ และฮันส์ โชล และ คริสตอฟ พรอบส์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้านนาซีในนาม ‘กุหลาบขาว’ ถูกประหารชีวิตพร้อมกันในวันที่ 22 กุมภาพันธ์โดยการใช้กิโยติน ซึ่งก่อนหน้านั้นสี่วัน พวกเขาถูกจับระหว่างลักลอบวางใบปลิวที่มีเนื้อหาต้านนาซีภายในมหาวิทยาลัยมิวนิค เกสตาโปสอบสวนจนพบหลักฐานว่า ทั้งสามคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับใบปลิวที่ถูกแจกจ่ายก่อนหน้าทั้งห้าฉบับ

16

17 กุมภาพันธ์ 1943 โซฟีนำแผ่นเสียงวง chamber music ห้าชิ้นที่บรรเลงบทประพันธ์ Piano Quintet in A major หรือที่เรียกกันว่าTrout Quintet  อันไพเราะของ ฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) วางลงบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง ชูเบิร์ตมีอายุเพียง 22 ปีขณะรังสรรค์บทคีตนิพนธ์แสดงบรรยากาศเกื้อหนุนชโลมจิตใจชิ้นนี้ ซึ่งมี Movement ที่ 4 เป็นท่วงทำนอง andantino สลับ allegretto สอดคล้องกับกิริยาแหวกว่ายอย่างร่าเริงและสนุกสนานของปลาเทราต์ในลำน้ำธรรมชาติ

นี่คือเพลงสุดท้ายที่เธอได้ฟังในวัย 21

17

18 กุมภาพันธ์ ฮันส์กับโซฟีนัดหมายกันลักลอบแจกจ่ายใบปลิวต่อต้านนาซีฉบับที่ 6 ที่มหาวิทยาลัยมิวนิค

โซฟีกับฮันส์แยกย้ายกันทำงาน นำแผ่นใบปลิวเป็นปึกย่อยออกวางข้างรูปปั้น และต่อมาอีกหลายจุดบนพื้นที่สองปีกของอาคาร เดินขึ้นบันไดสู่ชั้นสองและต่อไปบนชั้นสามก็ทำแบบเดียวกัน โดยวางปึกกระดาษใบปลิวไว้ด้านหน้าห้องบรรยายและตามเชิงบันได บนชั้นสาม ฮันส์วางใบปลิวปึกหนึ่งไว้บนราวลูกกรงหินอ่อนภายใต้เรือนนาฬิกาขนาดมหึมา ทันใดนั้น อาจเป็นด้วยแรงกระตุ้นบางอย่างพลุ่งพล่านขึ้นทันใด โซฟีปัดมือผลักใบปลิวปึกนั้นให้ร่วงหล่นลงจากจุดวางบนราวลูกกรงหินอ่อน แผ่นกระดาษปลิวกระจัดกระจายลงสู่ห้องโถงใหญ่เบื้องล่าง ในชั่วขณะเดียวกับที่เหล่านักศึกษาจำนวนมากพากันทยอยหลั่งไหลออกจากห้องบรรยายหลายห้องโดยรอบ

ขณะนั้น ยาคอบ ชมิด (Jakob Schmid) นักการภารโรงวัย 46 ของมหาวิทยาลัย มองเห็นแผ่นกระดาษกำลังปลิวว่อนลงพอดี และเดาว่าน่าจะถูกทิ้งลงมาจากชั้นบนจึงส่งเสียงตะโกน “หยุดนะ!” พลางวิ่งขึ้นตามขั้นบันได

18

ใบปลิวฉบับนั้นเป็นใบปลิวฉบับที่ 6 มีเนื้อหาบางส่วนดังนี้

ลุกขึ้นเถิด!: ชื่อประเทศเยอรมนีจะต้องเสื่อมเกียรติไปชั่วกาลนาน ถ้าหากเยาวชนเยอรมันไม่ยืนหยัดลุกขึ้นมาในที่สุด จงเอาคืน จงสำนึกผิด จงทำลายผู้ทรมานทรกรรมประเทศ แล้วก่อตั้งยุโรปแบบใหม่ที่เปี่ยมจิตวิญญาณ

19

ระหว่างฮันส์ พี่ชายของโซฟี โชล ถูกสอบปากคำ เจ้าหน้าที่เกสตาโป อันตน มาห์เลอร์ พยายามคาดคั้นอยู่นานหลายรอบเพื่อเค้นเอาให้ได้ว่าที่มาของชื่อ ‘กุหลาบขาว’ มีเบื้องหลังอย่างไร ฮันส์ให้คำอธิบายแบบคลุมเครือและกว้างเกี่ยวกับ ‘สีขาว’ หลายแง่มุม ในที่สุดเขาบอกว่าได้ชื่อนี้มาจากกวีนิพนธ์ในศตวรรษที่ 19 The White Rose โดยกวีชาวเยอรมัน Clemens Brentano ซึ่งในเนื้อหาไม่มีสิ่งใดล่อแหลมหรือเกี่ยวข้องกับการเมือง

เกสตาโปยอมรับคำอธิบายนี้ แต่ความจริงนั่นเป็นเพียงลูกเล่นของฮันส์เพื่อเบี่ยงเบนและปิดบังสมาชิกคนอื่นของขบวนการ ผู้วิเคราะห์ภายหลังเชื่อกันว่าชื่อ ‘กุหลาบขาว’ ได้มาจากนวนิยายภาษาเยอรมัน Die Weiße Rose (The White Rose) ตีพิมพ์ในเบอร์ลินปี 1929 โดยนักเขียนผู้ใช้นามแฝง ‘B.Traven’ ซึ่งไม่มีใครแน่ใจว่าตัวตนจริงเป็นใคร แต่น่าจะเป็นเยอรมันหัวแข็งบางคนที่หลบออกไปอยู่ในเม็กซิโกก่อนยุคนาซี นิยายหลายเล่มของ ‘B.Traven’ แฝงแนวทางสังคมนิยมหรือกระทั่งอนาคิสต์ ชนชั้นกรรมาชีพ การขูดรีดเอาเปรียบ มวลชนต่อสู้กับอำนาจรัฐ นวนิยาย กุหลาบขาว คือเรื่องของชาวบ้านเม็กซิกันลุกฮือขึ้นต่อต้านการพยายามฮุบพื้นที่หมู่บ้าน La Rosa Blanca (หมู่บ้านกุหลาบขาว) โดยบริษัทขุดเจาะน้ำมันอเมริกัน และผู้มีอำนาจรัฐแห่งท้องถิ่นก็ช่วยกันบีบคั้นชาวบ้านด้วยการจำกัดเสรีภาพและรังคัดรังแกหลายวิถีทาง เรื่องแบบนี้น่าจะวนเวียนอยู่ในห้วงคิดคำนึงของฮันส์ระหว่างหงุดหงิดอยากจะหาทางลงมือทำกิจกรรมต่อต้านฮิตเลอร์

ต่อมานวนิยายของ ‘B.Traven’ ทั้งหมดถูกนาซีจัดให้อยู่ในรายการหนังสือต้องห้าม รวมกับงานของนักเขียนอื่นมากมาย

20

หลังการตายของสามนักศึกษาในนาม ขบวนการกุหลาบขาว (กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิค และนักวิชาการที่ต่อต้านระบอบนาซี) ในค่ำวันเดียวกันนั้นกลุ่มนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิคนับพันคนร่วมกับพลเมืองชาวมิวนิคผู้คลั่งไคล้นาซีและศรัทธาท่านผู้นำ แถลงการณ์ประณามกลุ่มนักศึกษากุหลาบขาวว่าเป็น ‘คนทรยศ’

21

“ลูกจะได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์” คือคำพูดสุดท้ายที่ โรเบิร์ต โชล ผู้เป็นพ่อของ ฮันส์ และโซฟี โชล บอกกับสองนักโทษประหารชีวิตข้อหาแจกใบปลิวต่อต้านนาซี ซึ่งเป็นลูกของเขา โรเบิร์ต โชล พูดถูก เพราะในเวลาต่อมา ประวัติศาสตร์ได้กลับข้าง ลานจัตุรัสใกล้กับอาคารศูนย์กลางในมหาวิทยาลัยมิวนิคได้จารึกชื่อ ‘จัตุรัสสองพี่น้องโชล’ การตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ เป็นชื่อบุคคลในขบวนการกุหลาบขาวมีใจความที่ การยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรม

มีการสร้างหมุดตรึงบนพื้นถนนหน้ามหาวิทยาลัยที่เธอเคยเรียน คือ Ludwig Maximilian University of Munich ‘หมุดกุหลาบขาว’ ถูกออกแบบเป็นใบปลิวที่เอามาวางเป็นรูปดอกกุหลาบ นัยหนึ่งเพื่อสื่อถึงชื่อกลุ่มของเธอ และอีกนัยหนึ่งสะท้อนถึงกองใบปลิวที่ร่วงลงมาจากแรงปัดและแรงบันดาลใจไม่รู้ชื่อของเธอในเช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์

เรียบเรียงจากหนังสือ Sophie Scholl: กุหลาบขาวและนาซี โดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ สำนักพิมพ์ WAY OF BOOK

อ่านเพิ่มเติม on this day: โซฟี โชล ถูกเกสตาโปจับ ฐานแจกใบปลิวต้านนาซี และจตุภัทร์ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า