หากจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ประจักษ์แจ้งในชั่วโมงแหลมคมทางการเมือง ก็คือ การเผยตัวของความรุนแรงที่ค้ำยันความมั่นคงของรัฐ เพราะเมื่อเพดานข้อเรียกร้องถูกผลักและรื้อไปถึงฝ้า ความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่รัฐใช้เพื่อกดให้ทุกอย่างกลับเข้าที่เข้าทาง
ด้านหนึ่ง การระดมยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาจากเจ้าหน้าที่ ถูกให้ความหมายว่านี่ไม่ใช่ความรุนแรง ส่วนอีกด้านหนึ่ง การโต้กลับของผู้ชุมนุมก็สามารถถกเถียงกันได้ว่า ใช่หรือไม่ใช่ความรุนแรง แต่คำถามสำคัญคือ อะไรทำให้เรื่องหนึ่งๆ เป็นหรือไม่เป็นความรุนแรง หรือความรุนแรงนั้นๆ เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี คำตอบของคำถามนี้จึงขึ้นอยู่กับ ‘อุดมการณ์’
ศาสตราจารย์สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงประเด็นความรุนแรงผ่านหัวข้อ ‘ความซับซ้อนของอารมณ์ และความรุนแรงในการปฏิวัติ’ ผ่านรายการ We Talk ของเพจ We Watch โดยเปิดหัวด้วยเรื่องเล่าของ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek) นักปรัชญาสโลวีเนียน ความว่า
…คนงานในโรงงานแห่งหนึ่งถูกหมายหัวว่ามักแอบขโมยของจากโรงงาน ดังนั้น ทุกๆ เย็นเขาจะถูกยามตรวจค้นตัว กระนั้น ยามก็ไม่เคยพบของกลาง นอกเสียจากรถเข็นติดล้ออันว่างเปล่าที่เขาลากกลับบ้านทุกครั้ง ปรากฏว่าสิ่งที่คนงานผู้นี้ขโมยทุกๆ เย็นก็คือ ‘รถเข็น’ นั่นเอง
สำหรับเรื่องสั้นนี้ ชิเชคต้องการโยงว่า เรามักจะมองความรุนแรงว่าเป็นอะไรที่เห็นชัด เลือดสาด ระบุตัวตนของผู้กระทำได้ เหมือนการเพ่งเล็งไปยังสิ่งที่อยู่ภายในรถเข็น อันจะพบว่าไม่มีสิ่งใดที่ถูกขโมยไป ทั้งนี้ มันจำเป็นต้องพิจารณาบริบทที่แวดล้อมอยู่ด้วย กล่าวคือ ‘ต้องอย่าลืมมองรถเข็น’
สรวิศชี้ว่า ความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่รบกวนความปกติของเรา หากแต่แฝงฝังอยู่ในสภาวะปกติต่างหาก มันไม่มีสภาวะใดที่มีค่าความรุนแรงเท่ากับศูนย์ เพราะมันมีความรุนแรงเชิงระบบ ยกตัวอย่างเช่น ในการที่พระจะสามารถรักษาธรรมวินัยได้ ก็ต้องอาศัยความรุนแรงเชิงระบบมากมาย เอาแค่อาหารที่ญาติโยมนำมาถวายก็ไม่อาจแยกจากความรุนแรงที่มาจากการขูดรีดแรงงานได้
สรวิศรวบยอดว่า ชิเชคแยกความรุนแรงออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ความรุนแรงเชิงอัตวิสัย กับความรุนแรงเชิงภววิสัย เพื่อโยงไปยัง ‘ความรุนแรงเพื่อการปลดปล่อย’
อะไรคือความรุนแรงที่ดีและไม่ดี
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว สรวิศเล่าก่อนว่า ‘อำนาจ’ คือ การกำหนด (fixed) พิกัดของความเป็นไปได้ให้อยู่ในกรอบ มันคือตัวกำหนดว่า เรื่องใดเป็นไปได้ เรื่องใดเป็นไปไม่ได้ โดยที่ ‘ความรุนแรง’ เป็นกลไกหนึ่งที่กำหนดพิกัดความเป็นไปได้เหล่านี้
สำหรับความรุนแรงที่ดี จะอิงกับ ‘การแตกหัก’ ซึ่งเป็นการขยับขยายพิกัดของความเป็นไปได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความพยายามเปลี่ยนแปลงความเป็นจริง เป็นสิ่งที่มากกว่าแค่การแตะๆ เพดาน แต่เป็นการเปลี่ยนเพดานให้เป็นพื้น เป็นการสรรค์สร้างอะไรใหม่ๆ และทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลับเป็นไปได้ เช่น ในสังคมที่มีทาส ‘การเลิกทาส’ ก็เป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้ายความรุนแรงที่ดีก็ทำให้การเลิกทาสเกิดขึ้น ความรุนแรงที่ดีจะทำให้เห็นว่า หลายๆ ครั้งสิ่งที่ถูกระบุว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นผลจากอำนาจเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ตามจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ต่างเป็นไปได้ ถ้าพิกัดมันเปลี่ยนไป
สรวิศยังยกตัวอย่าง ‘การตกหลุมรัก’ ว่าเป็นความรุนแรงที่ดี เพราะเมื่อตกหลุมรักคนคนหนึ่ง เราไม่สามารถกลับไปเป็นคนเดิมได้ เพราะได้เปลี่ยนพิกัดชีวิตของเราไปแล้ว หรือกรณีของศิลปะเองก็เป็นความรุนแรงที่ดีได้ เพราะมันสร้างการแตกหัก (rupture) ของการรับรู้ และได้กลับหัวกลับหางการรับรู้ ให้ได้รับรู้ในสิ่งใหม่ๆ
ความรุนแรงที่ดีและไม่ดีในการประท้วง
เมื่อกล่าวถึงการประท้วง (เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา) สรวิศชี้ว่า ความรุนแรงที่ไม่ดี เป็นความพยายามที่จะรักษาพิกัดเดิม ยับยั้งความเปลี่ยนแปลง และต่อต้านสารของการเปลี่ยนแปลง หรือสารใดๆ ที่รบกวนพิกัดสถานภาพของความเป็นจริงเดิม โดยปรากฏผ่านเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่ถูกฝึกมาให้ทำลายและยับยั้งมวลชนไม่ให้แสดงออกทางการเมือง เพราะการแสดงออกทางการเมืองบางอย่างอาจไปรบกวนพิกัด หรือทำให้เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ
ส่วนความรุนแรงที่ดีซึ่งอาจนำไปสู่การแตกหัก สรวิศเห็นว่า ยังคงเป็นแค่ศักยภาพ (potential) เพราะหลายๆ ครั้ง กิจกรรมเหล่านี้กลับถูกสลายก่อนที่จะมีกิจกรรม อย่างการประท้วงวันที่ 7 สิงหาคม ก็ถูกสลายก่อนการตั้งขบวนเสียอีก แต่การลุกฮือก็สะท้อนให้เห็นว่า มีคนมากมายที่ไม่พอใจและต้องการท้าทายพิกัดความเป็นจริงที่เป็นอยู่
และเมื่อถามว่า หากความรุนแรงที่ดีพ่วงมากับการสูญเสีย มันจะยังเป็นเรื่องที่ดีอยู่ไหม
สรวิศตอบว่า มันไม่ใช่สิ่งที่นักปรัชญาหรือนักทฤษฎีเป็นคนกำหนด ว่าจะต้องมีจำนวนผู้สูญเสียเท่าไหร่ สรวิศรู้สึกว่า ฝ่ายที่หยิบยกเหตุผลนี้ขึ้นมา เป็นพวกที่บอกว่า คนจัดชุมนุมเป็นคนไม่ดีเพราะจะพาคนไปตาย ซึ่งอาจเป็นพวกอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม หรือกระทั่งพวกตรรกะประหลาดแบบที่โทษผู้หญิงแต่งตัวโป๊ทำให้ถูกข่มขืน หรือไม่ก็เป็นฝ่ายที่ต้องการ ‘การเมืองที่ไม่เป็นการเมือง’ ต้องการการประท้วงที่ไม่ใช่การประท้วง กล่าวคือ ไปประท้วงแล้วไม่ต้องท้าทายอะไรมากนัก ไปแล้วเกิดความรู้สึกดี มีความสุข หัวเราะเริงร่า จากนั้นก็กลับบ้าน
สรวิศยังเห็นว่าการท้าทายด้วยงานศิลปะ บนฐานคิดว่าเป็นกิจกรรมอันสร้างสรรค์ โดยบอกว่านี่คือ ‘สิ่งที่เรามี’ ซึ่งเมื่อทาบกับฝั่งอนุรักษนิยม อย่าง ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็แต่งเพลงเหมือนกัน เสียงหัวเราะไม่ได้บอกว่าจะนำไปสู่การปลดปล่อย เรื่องตลกมากมายก็เป็นการเหยียดเชื้อชาติ (racism) กระทั่งรอยยิ้มของไทยก็เป็นรอยยิ้มที่ทำลายคนได้มากมาย
สรวิศบอกว่า มันเป็นอาการที่ บียุง-ชอล ฮัน (Byung-Chul Han) นักปรัชญาชาวเกาหลี-เยอรมัน เรียกว่า ‘The Palliative Society’ หรือสังคมที่ปราศจากความเจ็บปวดใดๆ เป็นสังคมในเชิงบวกเท่านั้น ไม่มีความขัดแย้งหรือเชิงลบใดๆ สรวิศเปรียบว่าเป็นคล้ายกับกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาล … สรวิศตั้งคำถามถึงการประท้วงที่ไม่มีการประท้วง ไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย มีแต่เรื่องดีๆ ว่า อาจเป็นอาการเดียวกับสิ่งเหล่านี้ อันเป็นสินค้าที่ถูกขายให้กับเรา
เมื่อว่าถึงการประท้วงวันที่ 7 สิงหาคม สรวิศดูจะไม่เห็นด้วยกับการโทษกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) อยู่ฝ่ายเดียว
“ผมไม่ได้บอกว่ามันต้องเสี่ยงถึงขั้นเลือดสาด ประเด็นคือ การเมืองมันต้องมากับความเสี่ยง การประท้วงมันมากับความเสี่ยง ไม่มีการประท้วงใดที่ความเสี่ยงเป็นศูนย์ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มสั่นคลอนพิกัดอะไรบางอย่าง มันก็จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป้าหมายคือการสร้างอะไรใหม่ๆ มันคือความเสี่ยงมโหฬาร เพราะฝ่ายที่ถืออำนาจไม่มีทางปล่อยไปแน่ๆ”
ในสายตาของสรวิศ ยิ่งพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือการแตกหักในระดับรากฐานมากเท่าใด ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความรุนแรงเชิงอัตวิสัยมากเท่านั้น ทั้งนี้ หากผู้ร่วมชุมนุมคนใดไม่ต้องการเผชิญกับความเสี่ยงในระดับสูง ก็มีวิธีจัดการความเสี่ยงตรงนี้ได้ เช่น อาจยืนในตำแหน่งกลางๆ ตลอดไปจนถึงท้ายๆ ขบวนได้
“โจทย์ของผมคือ ให้ตายยังไงถ้าเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงระบบอย่างถึงราก (systematic transformation) มันหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อผู้เรียกร้องไม่ได้เลย”
อารมณ์โกรธ
เมื่อพูดถึงอารมณ์โกรธ สรวิศเตือนว่า ต้องไม่ลืมว่าความโกรธของผู้ชุมนุมเป็นปฏิกิริยาจากพฤติกรรมของตำรวจ เพราะตำรวจมีความอดกลั้นเป็นศูนย์ (zero tolerence) มันจึงนำไปสู่ความโกรธของผู้ชุมนุม เกิดการตอบโต้ระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วผู้ชุมนุมบ้าคลั่ง ในอีกแง่หนึ่ง อารมณ์โกรธนี้อาจเป็นภาพสะท้อนที่ดีว่า ผู้ชุมนุมมีสิ่งที่รัก มีสิ่งที่ให้คุณค่า แต่กลับถูกด้อยค่าโดยชนชั้นนำ
“เขาอาจจะโกรธเพราะโลกโคตร fuck up เลย”
โจทย์สำคัญคือ ความโกรธนำพาไปสู่ความรุนแรงแบบไหน เป็นความโกรธที่นำไปสู่ความสิ้นหวัง หรือนำไปสู่การแตกหัก (ซึ่งอาจไม่ใช่การแตกหักที่เป็นการปะทะเสมอไป) สรวิศสังเกตว่า ผู้ชุมนุมเองก็พยายามทดลองและปรับเปลี่ยนกับสถานการณ์
“ถ้าสังเกตดีๆ มันมีรูปแบบ (form) มากมาย มีการปรับเปลี่ยนทดลอง ทุกคนอาจไม่ใช่นักปฏิวัติหรือนักเคลื่อนไหวอาชีพ มันมีพื้นที่ให้ความโกรธ ไม่ใช่ไปยื่นดอกไม้ให้ คฝ. โจทย์ของการโกรธคือ มันนำไปสู่การแตกหักรึเปล่า”
เมื่อว่าต่อไปถึงความโกรธระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย สรวิศเห็นว่า ฝ่ายขวาจะเป็นฝ่ายที่สูญเสียมากกว่า และมักเล่นกับอารมณ์ เพราะฝ่ายขวามี enjoyment มากมายที่จะชโลมใจ เช่น การเป็นชาตินิยมนั้น ก็จะมี enjoyment มากมาย เป็นคุณค่าที่เกิดจากการกีดกัน และมีแพะรับบาปที่ขโมย enjoyment ไป เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ทำลายพวกละเมิดหลักการที่สูงส่ง และจำเป็นต้องถูกกำจัดเพื่อนำความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกลับมา
ตรงนี้เองที่ฝ่ายซ้ายเป็นรองฝ่ายขวา เพราะหลายๆ ครั้ง ฝ่ายซ้ายสร้าง enjoyment ได้ไม่ดีเท่าฝ่ายขวา ความโกรธแบบฝ่ายซ้ายจึงต้องไปโยงกับความขาดพร่องและการสูญเสีย หรือไปโยงกับผู้ที่สูญเสียและผู้ถูกขูดรีด
“สำหรับคนส่วนใหญ่มันยังไม่น่าลงใจเท่าชาติ ไม่น่าลงใจเท่าการกำจัดสวะสถุนของแผ่นดิน หรือกำจัดพวกชังชาติทั้งหลาย ปัญหามันไม่ใช่โกรธไม่พอ ปัญหาคือเราเอาความโกรธไปวางไว้ตรงไหน ไปวางบนฝั่งผู้ที่สูญเสีย ผู้ถูกขูดรีดเอาเปรียบ ผู้ที่ขาดพร่อง หรือเอาความโกรธไปวางไว้กับชาติ อำนาจ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว องค์รวม เพื่อไปลงกับพวกที่กำจัดหรือทำลายความสุข”
แบนสินค้า/บริษัทไม่ได้ เพราะกลัวพนักงานตกงาน
ต่อประเด็นว่า แม้การแบนสินค้า/บริษัทจะเป็นแนวทางการต่อสู้หนึ่ง แต่หลายๆ ครั้งก็ทำได้ไม่สุดทาง เพราะกลัวว่าพนักงานในสังกัดของบริษัทนั้นๆ จะตกงาน สรวิศเห็นว่า เป็นผลจากความจริงในโลกทุนนิยม ที่คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาตลาดเพื่อการอยู่รอด กล่าวคือ ต้องมีงาน และเมื่อโครงสร้างเป็นเช่นนี้ จึงยากมากที่จะหาทางออก
สิ่งที่เร่งด่วนคือ ต้องเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในระดับที่สามารถทำให้คนหยุดงานได้ ไม่ต้องพึ่งตลาดเท่านั้นเพื่อจะต้องอยู่รอด ตราบใดที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น เหตุผลนี้ก็ยังคงมีน้ำหนัก และวังวนของมันก็จะไม่จบสิ้น
“ปัญหาก็คือ เราต้องเปลี่ยนเกมเล่น ต้องเปลี่ยนโครงสร้างในระดับของทุน ต้องหามาตรการให้คนมีสิทธิที่จะไม่ทำงานหรือหยุดงานได้”
อุดมการณ์และแฟนตาซี
เมื่อถามว่า หากความรู้ไม่ได้นำไปสู่การต่อสู้ แล้วอะไรที่นำไปสู่การต่อสู้ สรวิศตอบว่า ในแง่จิตวิเคราะห์ ความรู้ใหม่ ความคิดชุดใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่ ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเลย เพราะเมื่อพูดถึงความเป็นจริง (reality) มันไม่สามารถมีการประสบกับความเป็นจริง (experience reality) ได้โดยตรง แต่ต้องกระทำผ่านสื่อกลางเสมอ สื่อกลางที่ว่านั้น คือ อุดมการณ์และแฟนตาซี
อุดมการณ์และแฟนตาซี ไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับความเป็นจริง การให้ความรู้ ความคิด หรือข้อเท็จจริงชุดใหม่ อาจเป็นการรบกวนได้แค่ความเป็นจริง แต่หากมันไม่ได้รบกวนในระดับอุดมการณ์และแฟนตาซี ก็ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเป็นจริง เพราะหลายๆ ครั้ง สิ่งที่ยึดโยงต่อระบบ ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่เป็นแฟนตาซีอะไรบางอย่างที่ทำให้เราลงใจกับระบบนั้น
การที่แฟนตาซีกับความเป็นจริงดำรงอยู่คนละระดับกันนี้ สรวิศยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Parasite (2019) ของ บง จุน โฮ ว่า ตลอดทั้งเรื่องจะเห็นความแตกต่างระหว่างชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวยากจนกับครอบครัวร่ำรวยอย่างชัดเจน แต่สุดท้ายข้อเท็จจริงทั้งหมดที่รู้นี้ก็ไม่ได้รบกวนแฟนตาซี เพราะสุดท้ายตัวละครในครอบครัวยากจนก็หวังว่าจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ ขยันเก็บเงิน แล้วนำเงินกลับไปซื้อบ้านเพื่อช่วยเหลือพ่อของเขา
เมื่อถูกถามว่าจะดึงคนที่ยังไม่ออกมาต่อสู้ได้อย่างไร สรวิศตอบว่า กลุ่มคนที่รู้ดีอยู่แล้วแต่ยังไม่ออกมา เพราะอาจมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น กลัวตกงาน กลัวโควิด-19 หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำความเข้าใจได้ยาก ในทำนองเดียวกับการที่คนคนหนึ่งไม่ยอมละทิ้งคู่ชีวิตที่ทุบตีและทำร้ายร่างกาย สรวิศเห็นว่า บางทีอาจเป็นเหตุผลที่อยู่ในระดับแฟนตาซี ในเบื้องต้นอาจหาทางแก้ได้อยู่บ้าง เช่น หากกลัวโควิด-19 ก็ใส่หน้ากากอย่างดีเพื่อป้องกัน
อย่างไรก็ดี อีกโจทย์หนึ่งที่แก้ยาก คือ พวก cynical เพราะพวกนี้รู้ดีว่าปัญหาคืออะไร แต่ต้องการให้อนาคตมันแย่ เพื่อจะบอกว่า “เห็นไหม เป็นไปตามที่ฉันบอกไม่มีผิดเลย” สรวิศเห็นว่าในด้านหนึ่งพวก cynical นับว่ามีจำนวนเยอะมาก และพวกนี้เองที่เป็นวังวน (loop) ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ใครคือสหาย ใครคือพันธมิตร
ต่อคำถามว่าใครเป็นแนวร่วมบ้าง สรวิศแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นสหาย อีกกลุ่มเป็นพันธมิตร ซึ่งการเป็นพันธมิตรจะหลวมกว่าการเป็นสหาย เพราะเป็นเพียงการร่วมมือกันเฉพาะกิจ เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วก็แยกทางกัน สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องบอกกับผู้ที่เป็นพันธมิตรคือ อย่าเพิ่งมาแทงข้างหลังกัน
“มันไม่ใช่การกลบความขัดแย้งหรือกลบความแตกต่าง แต่ยังไม่ควรแทงข้างหลังกัน และควรจะอะลุ้มอล่วยกันให้มากกว่านี้ อย่ารีบอัปเปหิขับออกจากกลุ่ม … ต้องเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวมีหลายปีก มีหลายแทคติค ถ้าบอกว่า ไม่เอาพวกรุนแรงเลย มันก็จะเป็นการประสานเสียงกับฝั่งอนุรักษนิยมที่กำลังต่อสู้อยู่รึเปล่า
“การเมืองมันมากกว่าเลข 2 มันต้องไป 3 4 5 หากพูดแบบ อาแล็ง บาดียู (Alain Badiou) การเมืองมันคือการนำความเหมือน/ความสากลมาสู่ความแตกต่าง ตราบใดที่มีธงและก้าวข้ามความแตกต่าง/ความเฉพาะในแต่ละกลุ่มได้ ก็จะสร้างความสามัคคีอะไรบางอย่างได้ แต่ถ้าแต่ละกลุ่มยึดอัตลักษณ์ของตน ไม่มีอะไรร้อยเป็นกลุ่มได้ ก็จะเป็นปัญหามากกว่า”
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น สรวิศเห็นว่าเป็นเรื่องของปัจเจกที่ยังเข้ากันไม่ได้ เป็นปัญหาของรูปแบบองค์กรที่แตกต่างกันชัดเจน เป็นปัญหาของรูปแบบการต่อสู้ ซึ่งหากว่ากันตามจริงก็ยังสามารถไปด้วยกันได้ เพราะการต่อสู้ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียว หนำซ้ำ หากไม่ใช้หลายๆ รูปแบบ ก็อาจเป็นการยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง
เมื่อถูกถามถึงกระแสความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ในฐานะเครื่องมือการต่อสู้ สรวิศตอบว่า ไม่แน่ใจว่าเครื่องมือนี้จะทำลายอำนาจนำ (hegemony) เสมอไป เพราะยังมีคนที่อ้างอิงตนเอง (Identify) กับสิ่งเหล่านี้อยู่ ตัวอย่างเช่น การเปิดเผยพฤติกรรมแย่ๆ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่ได้ทำให้คนศรัทธาน้อยลง บางคนอาจจะลงใจมากขึ้นด้วยซ้ำ
“ฝ่ายซ้ายต้องการซินแสหรือเปล่า ชีวิตที่ดีของพวกนี้ก็เหมือนเดิมหรือเปล่า มันยังรักษาลำดับชั้นหรือเปล่า เป้าหมายมันคืออะไร จะนำไปสู่อะไร ผมแอบรู้สึกว่า ถ้าจะเล่น ก็ต้องดูว่าหมอดูเป็นฝ่ายซ้ายหรือเปล่า แต่ถ้าหาแพทย์ที่เป็นฝ่ายซ้ายอาจจะแก้ระบบได้มากกว่า”
การเคลื่อนไหวกำลังไปสู่การปะทะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือไม่
สรวิศตอบว่า ถ้ามองจากฝั่งของรัฐที่ไม่ต้องการให้มีการแสดงออกทางการเมืองใดๆ ถ้าแสดงออกจะต้องถูกลงโทษ ก็ชัดเจนว่าความอดกลั้นของฝั่งรัฐมีค่าเท่ากับศูนย์ ดังนั้น การปะทะมีขึ้นอย่างแน่นอน
โจทย์สำคัญคือ ฝั่งผู้ชุมนุมจะเติมฟืนไฟให้กันเองหรือเปล่า หรือทำให้คนไม่ออกมาร่วม
“มันกลายเป็นว่าเรามีความอดกลั้นค่อนข้างสูงกับความรุนแรงของรัฐ แต่มีความอดกลั้นค่อนข้างต่ำในความรุนแรงจากผู้ชุมนุม”
สรวิศเห็นว่าอาจเป็นเพราะศีลธรรมหรือวัฒนธรรมการเมืองที่แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน อย่างสหรัฐก็มีความอดกลั้นต่อผู้ชุมนุมค่อนข้างต่ำ ตรงกันข้ามกับฝรั่งเศส ที่แก๊สน้ำตา การขว้างอิฐใส่ตำรวจ หรือการเผารถ แทบจะเป็นเรื่องปกติ กรณีของไทย ความอดกลั้นมีค่อนข้างต่ำมากสำหรับผู้ชุมนุม กล่าวคือ การใช้คำหยาบ หรือปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน มักไม่เป็นที่ยอมรับได้เลย
โจทย์การชุมนุมที่ต้องแก้ให้ได้เร็วที่สุด
สุดท้าย เมื่อถามถึงโจทย์การชุมนุมที่ต้องแก้ให้ได้เร็วที่สุด สรวิศตอบว่า ในประเด็นของ ‘รูปแบบการชุมนุม’ ยังมีโจทย์เดิมว่า จะฝ่าตู้คอนเทนเนอร์หรือฝ่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไปได้อย่างไร แต่หากเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม ก็จะไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องพวกนี้มาก
ในส่วนของ ‘ข้อเรียกร้อง’ ก็ต้องสู้กันต่อไป และต้องคงข้อเรียกร้องที่เปลี่ยนพิกัดความเป็นจริง ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นข้อเรียกร้องที่กว้างเพื่อให้คนยอมรับได้มาก แต่สุดท้ายกลับไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย
“ถ้าลดข้อเรียกร้องทุกอย่าง เหลือแค่นายกฯ ลาออก ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลง”