ข้อสังเกตร่วมสมัยมีอยู่ว่า อายุขัยเฉลี่ยที่ผู้คนคาดหวังหดสั้นลงเรื่อยๆ คนที่อยาก ‘มีชีวิต’ จนแก่เฒ่า น่าจะเป็นสุ้มเสียงที่เบาลงเรื่อยๆ เราจึงได้ยินเสียงในทำนองว่า ‘ตายไปตอนนี้เลย ก็ไม่เสียใจนะ เหนื่อย ชีวิตไม่เห็นมีอะไรสนุกเลย’
เมื่อบริบทรอบตัวไม่เอื้อให้รู้สึกอิ่มเอมกับการมีชีวิต การพูดถึงความตายในสังคมร่วมสมัยก็ถูกรับรู้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของชีวิต มากกว่าที่จะถูกตำหนิว่าพูดจาไม่เป็นมงคล
‘เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร’ – เป็นคำถามที่ดังออกมาจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Soul (2020)
เรื่องราวของ โจ การ์ดเนอร์ (Joe Gardner) ครูสอนดนตรีผู้รักแจ๊สมิวสิค แม้ว่าบรรดาลูกศิษย์จะตั้งใจเรียนบ้างไม่ตั้งใจบ้าง แต่โจไม่เคยหมดความหวังที่จะ ‘จุดประกาย’ ความรักในเสียงดนตรีให้เกิดภายในใจของผู้คน
โจได้รับข่าว (ที่ทุกคนคิดว่า) ดี เขาได้รับการบรรจุเป็นครูประจำที่โรงเรียน การมีอาชีพการงานที่มั่นคงเป็นเรื่องที่ดี แต่นี่ไม่ใช่เป้าหมายในชีวิต โจอยากเป็นนักดนตรีอาชีพ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของแม่ อาชีพนักดนตรีน่ะมันไม่มั่นคง
วันเดียวกันนั้นเอง ข่าวดีที่ 2 ก็มาถึงหูโจ เขาได้โอกาสไปออดิชั่นเพื่อเล่นดนตรีในวงแจ๊สควอร์เต็ต ของ โดโรเธีย วิลเลียมส์ (Dorothea Williams) และด้วยลีลาการดีดเปียโนที่เข้าถึงอารมณ์ ทำให้เขาผ่านการออดิชั่น อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าเขาจะบรรลุเป้าหมายชีวิตแล้ว
ถ้าเขาไม่ประสบอุบัติเหตุเสียก่อน…
โจลืมตาขึ้นมา ร่างของเขาไม่เหมือนเดิม กลายเป็นรูปลักษณ์คล้ายดวงวิญญาณ เขายืนอยู่บนทางเลื่อน สายพานค่อยๆ เลื่อนเข้าใกล้ห้วงสีขาวทีละน้อย
‘ไม่ ไม่ ไม่ ตอนนี้ยังตายไม่ได้’ โจวิ่งสวนทางเลื่อน ฝ่าฝูงวิญญาณตนอื่น จนเขาหลุดออกจากสายพาน
โจลืมตาขึ้นมาใน ‘ดินแดนก่อนโลก’ (The Great Before) สถานที่ที่จิตวิญญาณใหม่จะได้รับบุคลิกภาพเฉพาะก่อนจะไปเกิดบนโลก หนังกำหนดเงื่อนไขให้จิตวิญญาณบน The Great Before ได้เคลื่อนย้ายไปเกิดบนโลก ก็คือการหา ‘จุดประกาย’ หรือ spark (ต่อไปในบทความจะเรียกว่า สปาร์ค) ของตัวเองให้เจอ เมื่อเจอแล้วแผ่นบุคลิกภาพจะเปลี่ยนเป็นตั๋วเดินทาง ส่งวิญญาณดวงนั้นไปเกิดบนโลกมนุษย์
‘ดินแดนก่อนโลก’ ในจินตนาการของดิสนีย์-พิกซาร์สตูดิโอ เป็นโลกสีละมุนโทนเย็น น้ำเงิน-เขียว-ม่วง เต็มไปด้วยเหล่าดวงวิญญาณตัวกลมน่ารัก เจ้าหน้าที่ในดินแดนนี้คือสิ่งนอกเหนือความเข้าใจของมนุษย์ ถูกออกแบบโดยใช้เส้นสีขาว วาดเป็นเส้นแบนๆ สองมิติ คล้ายลักษณะการวาดภาพบุคคลยุคหนึ่งของ ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ซึ่งรูปร่างของตัวละครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามปรารถนา
FEMALE BUST, 1935 WOMAN SITTING NEAR A WINDOW, 1932 THE DREAM, 1932 SEATED WOMAN WITH A STRAW HAT, 1938
ดนตรีประกอบในฉากของ ‘ดินแดนก่อนโลก’ เป็นองค์ประกอบที่น่าประทับใจ เป็นดนตรีสังเคราะห์ แบบ new-age ที่นอกจากจะทำหน้าที่หลักของตัวมันเอง คือการประกอบภาพได้ดีแล้ว ยังมีความพิเศษที่เพิ่มเข้ามาอีกคือ เป็นดนตรีแนวดนตรีบำบัด ฟังเรื่อยๆ เพลินๆ ให้ใจสงบ หากเปิดอัลบั้มเพลงของหนังมาฟัง มีหลายแทร็คทีเดียวที่ช่วยทำให้ผ่อนคลาย และมีสมาธิขึ้นได้ ใครชอบฟังดนตรีแนวๆ นี้ระหว่างทำงาน แนะนำให้ลองเปิดฟัง
ในโลกของ Soul การจะหาสปาร์คให้เจอ จำเป็นต้องมี ‘พี่เลี้ยง’ เข้ามาช่วย ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับหน้าที่นี้ แต่คนคนนั้นต้องมีชีวิตที่ ‘คนส่วนใหญ่มองเห็นว่าประสบความสำเร็จ’ เพื่อที่จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าดวงวิญญาณได้
ภารกิจของโจคือช่วยวิญญาณสักดวงตามหาสปาร์ค
โจถูกจับคู่กับ ‘22’ ดวงวิญญาณที่ไม่ต้องการลงไปใช้ชีวิตบนโลก ‘ทำไมฉันต้องไปใช้ชีวิต? อยู่ที่นี่ก็ดีอยู่แล้ว’ 22 เป็นตัวละครที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับฉัน (ผู้เขียน) มาก วันๆ ทำรูทีนให้มันผ่านไป ไม่ได้รู้สึกทุกข์ และไม่มีอะไรให้น่าตื่นเต้นนัก อืม…ใช่เลย
22 ได้เห็นภาพชีวิตของโจ ซึ่งต่างจากชีวิตพี่เลี้ยงคนอื่นๆ ที่ 22 เคยรู้จัก ผู้ชายคนนี้ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าประสบความสำเร็จเลย แล้วเหตุใดโจถึงดิ้นรนอยากกลับไปมีชีวิตขนาดนี้ – การมีชีวิตนี่มันดียังไง?
ด้วยความผิดพลาดบางประการ โจ และ 22 ได้กลับมาที่โลกมนุษย์อีกครั้ง แต่วิญญาณของ 22 ดันไปอยู่ในร่างโจ และวิญญาณของโจไปอยู่ในร่างของแมว โจต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่เขาจะได้กลับร่างตัวเองให้ทันเวลาก่อนที่วงดนตรีจะเริ่มแสดง ทำให้ระหว่างทาง 22 ก็ได้จำลองการใช้ชีวิตบนโลกผ่านร่างกายของโจ
ครั้งแรกที่ได้กินพิซซ่าบนโลกมันโคตรอร่อย ไม่เหมือนพิซซ่าจำลองในดินแดนก่อนโลกเลยนะ เพราะที่โลกนั้นวิญญาณจะไม่มีสัมผัส ไม่รู้สึกเจ็บปวด ไม่รับรู้รสชาติอาหาร
ครั้งแรกที่ได้พูดชมใครสักคนว่าสิ่งที่เขากำลังทำมันเจ๋งแค่ไหน เธอทำมันได้ดีมาก แล้วเขาลุกขึ้นมาพยายามอีกครั้ง ความรู้สึกมันอิ่มใจมากเลยนะ
ครั้งแรกที่ได้สร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่น ครั้งแรกที่บทสนทนาของเราทำให้ได้รู้จักคนคนนึงในมุมอื่น มันเซอร์ไพรส์มากเลยนะ เขามีมุมแบบนี้ด้วยเหรอ ว้าวจัง
ขอเสริมว่าฉากหนึ่งที่ฉันชอบมาก คือ เพื่อนของโจเดินมาบอกร่างกายของโจซึ่งตอนนั้นบรรจุจิตวิญญาณของ 22 ว่า บทสนทนาวันนี้มันดีมากเลยนะ ได้คุยกันเรื่องอื่นบ้าง เพราะปกติโจจะคุยแต่เรื่องดนตรีแจ๊สที่ตนสนใจ เขามองข้ามความสนใจของคนอื่น โจในร่างแมวได้แต่เงียบฟังความในใจของเพื่อน เป็นฉากเรียบง่ายที่ลึกซึ้งดี
ไม่ว่าเธอจะอยาก ‘มีชีวิต’ หรืออยากจะ ‘เกิด’ หรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าเธอได้ค้นพบ ‘สปาร์ค’ ของตนโดยไม่รู้ตัว ตอนนี้แผ่นป้ายกลายเป็น ‘ตั๋วเดินทาง’ ไปยังโลกมนุษย์ ชีวิตของโจที่เธอเคยดูแคลน ช่วยทำให้ 22 ค้นพบสปาร์คของตัวเองโดยไม่รู้ตัว
คืนนั้น โจได้เล่นดนตรีในคลับตามที่เขาใฝ่ฝันมาตลอด เขาทำการแสดงได้ดีไร้ที่ติ แต่เมื่อการแสดงจบลง เขารู้สึกว่างเปล่า เป้าหมายในชีวิตของเขาลุล่วงแล้ว แต่เขากลับไม่รู้สึกตื่นเต้นดีใจอย่างที่คิดไว้ ระหว่างที่รอรถกลับบ้าน โจคุยกับโดโรเธียหัวหน้าวง โดโรเธียบอกเขาว่าการแสดงจบแล้ว พรุ่งนี้เราก็แค่มาทำการแสดงใหม่ ‘เท่านั้นเองเหรอ’ สีหน้าของโจบอกเช่นนั้น โดโรเธียจึงเล่าเรื่องให้โจฟัง
ปลาตัวหนึ่งว่ายน้ำไปหาปลาที่แก่กว่าแล้วพูดว่า
“ผมกำลังหาสิ่งที่เรียกว่า ‘มหาสมุทร’ อยู่”
“มหาสมุทร? ที่นี่ไงมหาสมุทร”
“นี่น่ะเหรอ? นี่มันคือ ‘น้ำ’ สิ่งที่ผมกำลังหาน่ะ มันคือมหาสมุทรต่างหากล่ะ”
เรื่องเล่าจบลงเท่านี้ โดโรเธียขึ้นรถแล้วจากไป
หลังจากกลับมาที่บ้านโจครุ่นคิดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นพร้อมกับเล่นเปียโนไปด้วย เมื่อเข้าสู่ภวังค์ จิตของเขาหลุดมาที่โลกวิญญาณอีกครั้ง เขามอบตั๋วไปเกิดคืนให้กับ 22
22 ที่ยังกล้าๆ กลัวๆ การไปเกิดบนโลก มีโจจับมือพากระโดดลงไปยังโลก โจให้กำลังใจ 22 จนวินาทีสุดท้ายที่จากกัน ฉากนี้หลายคนคงภาวนาอยู่ในใจ ด้วยความปรารถนาดีกับ 22 ว่า อย่าตกลงมาที่ไทยแลนด์เลยนะ ไม่งั้นใจเธอจะห่อเหี่ยวไปตั้งแต่ขวบปีไหนก็ไม่รู้ ไม่แน่ใจว่าชาวต่างชาติที่ได้ดูหนังเรื่องนี้เขาจะคิดแบบเราๆ บ้างหรือไม่ แต่เอาเถอะรสชาติของชีวิตมันต้องมีทั้งขมทั้งหวานปนๆ กันไปเป็นเรื่องธรรมดา
22 ไปเกิดแล้ว แต่ยังมีเรื่องค้างคาใจโจอยู่เรื่องนึง ‘สปาร์คของ 22 คืออะไร’ ‘มันคือเปียโนใช่ไหม’ เพราะ 22 ได้รับสปาร์คมาตอนที่ใช้ชีวิตในร่างของเขา เช่นนั้นแล้ว 22 จะไปเกิดเป็นคนที่มีดนตรีเป็นเป้าหมายแบบเขาเหรอ แล้วสิ่งนั้นมันจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต 22 ได้อย่างไร
‘ดูก่อนโจ’ เจอร์รี (เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในดินแดนก่อนโลก) ไม่ได้กล่าว …
เจอร์รีพูดกับโจว่า ‘สปาร์คไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต แต่การอยากมีชีวิตต่างหาก คือชีวิต’
เป็นประโยคที่ทำให้รู้สึกอุ่นในใจขึ้นมาหน่อยๆ เลย ในโลกที่ทุกคนยึดติดกับคำว่า ‘ความสำเร็จ’ และ ‘เป้าหมาย’ จนกดดันตัวเองมากเกินไป หรือคนที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตต้องเอามือทาบอกแล้วพึมพำกับตัวเองว่า นี่ฉันผิดบาปมากนักหรือที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตแบบคนอื่นเขา หนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกอะไรมากไปกว่า แค่คุณรู้สึกว่าอยากใช้ชีวิต มันก็เพียงพอแล้วล่ะ
ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายใหญ่โตอะไรก็ได้ สำหรับบางคนการทำตามคู่มือ how to เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อาจไม่ตอบโจทย์ชีวิต ‘ทำไปทำไม’ ‘ทำแล้วได้อะไร’ ‘ถ้าทำสำเร็จแล้วจะมีความสุขจริงไหม’ ถ้าคุณกำลังมีคำถามมากมายในหัว ก็แค่ go with the flow เหมือนที่โจชอบพูดกับ 22 บ่อยๆ ‘เธอกำลัง jazzing (you’re jazzing.)’ ชีวิตไม่ต่างกับดนตรีแจ๊สที่ต้องอาศัยการอิมโพรไวส์ ปล่อยไปตามอารมณ์ ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องกำหนดกะเกณฑ์อะไรมากก็ได้ ไม่ใช่เรื่องผิดเลย
การรู้จักชื่นชมสิ่งเล็กๆ รายทางรอบตัว อาจเป็นทางหนึ่งที่ทำให้ชีวิตประจำวันน่าเบื่อๆ มีชีวิตชีวาขึ้น ณ จุดนี้บางคนอาจเริ่มเบ้ปากว่า จะโลกสวยไปไหนค้าบบบ เห็นด้วยว่าเป็นแนวคิดที่โลกสวยเอามากๆ แต่ถ้าเบื่อที่จะเบื่อแล้ว ลองให้ตัวเองได้ jazzing บ้าง ก็ไม่มีอะไรเสียหายหรอกนะ