ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
หมู่บ้านตาโบ (Tabo) ยามเช้าเงียบสงบและสำรวมดุจนักบวช แต่พลุ่งพล่านข้างใน หมู่บ้านขนาบข้างแม่น้ำสปิติ หากแม่น้ำสตลุชคือดุรงค์หนุ่ม สปิติก็คือดุรงค์ที่หนุ่มกว่า กล้ามเนื้อหนั่นแน่นกว่า ทั้งปราดเปรียวและเกรี้ยวกราด แม่น้ำสปิติเร็วรี่พุ่งปรี่ปะทะก้อนหินน้อยใหญ่ทั้งใต้ผิวน้ำและโผล่พ้นเป็นปราการขวางทาง แต่สายน้ำไม่รอมชอม สปิติพุ่งชนทุกก้อนหินที่ขวางหน้า ละอองน้ำแตกกระเซ็น เสียงก็ดังซ่าซัด สปิติชวนหลงใหลแต่น่ากลัว อึกทึกแต่สงบ งดงามแต่ไม่น่าเข้าใกล้ ชวนให้นึกถึงความตายมากกว่าการก่อเกิด
องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้หมู่บ้านตาโบประหนึ่งลามะผู้เป็นนักบวชตั้งแต่เยาว์วัย แต่สายน้ำเชี่ยวดุจดุรงค์หนุ่มรุ่มร้อนข้างใน ผละลาสิกขาจากชีวิตนักบวชแปรเปลี่ยนใช้ชีวิตปุถุชน เขาบรรลุธรรมจากความสามานย์และสามัญของชีวิต ย้อนกลับไปสู่สงบในรูปในนามของนักบวชในบั้นปลายที่เหลือ
ตาโบเป็นเช่นลามะในภาพยนตร์ Samsara ในรู้สึกนึกคิดข้าพเจ้า
หมู่บ้านตาโบตั้งอยู่ในจังหวัดลาฮอล-สปิติ (Lahaul-Spiti) ใกล้เขตปกครองตนเองทิเบตในความดูแลของจีน บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,280 เมตร ภายในหมู่บ้านมีวัดโบราณ Tabo Monastery วิหารตาโบ ดุจฟอสซิลดำรงอยู่ในโถงถ้ำดึกดำบรรพ์ รอคอยการถูกค้นพบ
Tabo Monastery ถูกค้นพบในคริสต์ศักราช 996 โดยโพธิสัตว์ลามะ Yeshe-Ö บูรณะในอีก 46 ปีต่อมา ภายในวัดเก็บรักษาจิตรกรรมฝาผนังและปฏิมากรรมพุทธอัตลักษณ์ทิเบตตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ราวหนึ่งพันปีที่แล้ว วัดตาโบเป็นสถานที่หลอมรวมสองวัฒนธรรม ทิเบตและอินเดีย บัณฑิตอินเดียเดินทางมาเรียนรู้วัฒนธรรมชนชาวทิเบตที่นี่ ภาพเขียนบนฝาผนังตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นหลักฐานยืนยันการแลกเปลี่ยนของสองวัฒนธรรม บนผนังยังจารึกภาพจิตรกรรมและปฏิมากรรมพุทธ และวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชนชาวทิเบต ก่อนศาสนาพุทธมหายานจะเข้ามามีอิทธิพล
พวกเขาเคยนับถือผีหรือลัทธิบอน บรรพบุรุษชาวสปิเตียนคือผู้คน ภาษา วัฒนธรรมในอาณาจักรชางชุง (Zhang Zhung) ก่อนที่จะกลายมาเป็นพุทธ เป็นทิเบต เป็นสปิเตียนในหิมาจัลประเทศ รัฐของอินเดีย
การจดจารและปกปักความทรงจำนี้ไว้คือการกล่าวย้ำต่อผู้มาทีหลังว่า พวกเราล้วนกลายจากสิ่งเก่ามาสู่สิ่งใหม่ ผลัดจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่ง สั่งสมและทบทับกันมา รอยพิมพ์บนหินฟอสซิลบันทึกเหตุการณ์อัดแน่นกดทับผ่านกาล เผยให้เห็นกะพริบติดดับของเวลา ขึ้นรูปเป็นตัวเป็นตนใหม่
ผู้คนในสปิติวัลเลย์คือกลุ่มคนใช้ภาษาทิเบต ย้อนกลับไปปลายศตวรรษที่ 10 ถึงปี 1630 ภูมิภาคในเขตสปิติวัลเลย์เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกูเก (Guge) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทิเบตปัจจุบัน ผู้ปกครองสนับสนุนนักบวชและบำรุงพุทธศาสนา
ระบบสืบทอดสมบัติยุคโบราณของชาวสปิติคล้องแขนเดินคู่ศาสนา และถูกถ่ายเทจากบนลงล่าง จากกษัตริย์สู่ผู้คนใต้ปกครอง ถ้าครอบครัวมีบุตรมากกว่าหนึ่งคน ลูกชายคนโตเป็นผู้รับมรดกและทรัพย์สินทั้งหมดของครอบครัว บุตรคนอื่นๆ จะต้องเป็นนักบวช
ภายหลังสงครามสามอาณาจักร ทิเบต – ลาดัคห์ – โมกุล (Tibet – Ladakh – Mughal War 1679-1684) การรวมตัวเป็นอาณาจักรทิเบตภายใต้องค์ดาไลลามะที่ 5 ก่อตัวขึ้น พื้นที่บริเวณสปิติวัลเลย์และใกล้เคียงอยู่ภายใต้การควบคุมจากส่วนกลางของอาณาจักรทิเบต พื้นที่ชายแดนที่ห่างไกลจากหุบเขาสปิติอยู่ใต้การควบคุมของอาณาจักรลาดัคห์
กระทั่งปี 1846 สปิติวัลเลย์อยู่ใต้การควบคุมโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ก่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียหลังประกาศเอกราชในปี 1947
สปิติทั้งแห้งแล้งและหนาวเย็น บันทึกของนักเดินทางที่เข้ามาในสปิติศตวรรษที่ 19 ยืนยันกับข้าพเจ้าว่า สปิติคือดินแดนภูเขาหินเหงา มันเปล่าเปลี่ยวจากต้นไม้ถึงขนาดนั้น “…แทบจะไม่มีต้นไม้เลย ผู้คนผอมบาง หมู่บ้านเล็ก หมู่บ้านที่ใหญ่สุดมีไม่เกินห้าหลังคาเรือน”
นอกจากความเปลี่ยนแปลงของสปิติวัลเลย์ที่มีผลจากนโยบายท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศก็คือความน่ากังวลหนึ่งของหุบเขาแห่งนี้ ช่วงปลายทศวรรษที่ 1900 ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้เกิดดินถล่มและบ้านเรือนเสียหาย ทั้งๆ ที่บันทึกเดินทางอีกชิ้นในปี 1840 ของ โธมัส ฮัตตัน (Thomas Hutton) สังเกตเห็นปริมาณฝนที่น้อยนิด ดุจ “การมาเยือนของนางฟ้า” รัฐบาลอินเดียลงทุนโครงการปลูกต้นไม้ในสปิติวัลเลย์ แต่เท่าที่เห็นในศตวรรษที่ 21 สปิติยังแล้งเหมือนบันทึกของนักเดินทางในศตวรรษที่ 19
อีกปัญหาใหญ่ทั่วชมพูทวีปคือ พฤติกรรมขับถ่ายกลางแจ้งของชาวอินเดีย เราไม่สามารถหาห้องน้ำริมถนนระหว่างทางในสปิติวัลเลย์ได้ง่ายนัก เว้นสถานที่ที่เป็นจุดพักนักเดินทาง ซึ่งนานๆ ทีจะเจอสักแห่ง ระหว่างการเดินทางไต่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลหลายพันเมตร ข้าพเจ้ากลัว Altitude Sickness หรือโรคแพ้ความสูง มาเบียดบังอากาศหายใจ จึงดื่มน้ำทุกๆ ครั้งที่นึกขึ้นได้ และดื่มทุกครั้งที่เริ่มวิงเวียนและหายใจไม่ทั่วท้อง ผลที่ตามมาคือ ปวดปัสสาวะ
ด้วยความนอบน้อม ข้าพเจ้าขออนุญาตเทือกหิมาลัยตามรายทางเป็นระยะ ขอสิ่งมีชีวิตผู้ผ่านทางได้ปลดปล่อยของเสียออกจากร่างกาย แน่นอนว่าเทือกหิมาลัยย่อมไม่ถือสากับปฏิกูลของโฮโมเซเปียนส์
แม้แต่เมืองใหญ่อย่างคาซา (Kaza) ตั้งบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,650 เมตร เป็นเมืองถัดจากตาโบ ตลาดคาซาไม่มีห้องน้ำสาธารณะ ข้าพเจ้าดื่มไจและสั่งโมโม่ (แผ่นแป้งห่อไส้ต่างๆ แล้วนึ่ง) ที่ร้านอาหารในตลาด ก่อนจะถามหาห้องน้ำ เขาชี้นิ้วไปนอกร้านเหมือนเจ้าของร้านอาหารส่วนมากในสปิติวัลเลย์
เอาท์ไซด์ – เอาที่ชอบๆ เถิด
เดินตามช่องกำแพงหินระหว่างบ้านที่สลับซับซ้อน คดเคี้ยวตามอาคารหิน ข้าพเจ้าก็พบเวิ้งลับตาคน ร่องรอยและเศษซากอารยธรรมระยะใกล้เกลื่อนพื้น อุจจาระมนุษย์เหล่านี้ยืนยันว่า คุณมาถูกที่แล้ว
รัฐบาลอินเดียต้องการปฏิรูปการขับถ่ายกลางแจ้งให้ได้ภายในวันที่ 2 ตุลาคม ปี 2019 ราวกับว่ารัฐบาลอินเดียต้องการเฉลิมฉลองชาตะกาลปีที่ 150 ของ มหาตมะ คานธี รัฐบาลจัดสรรงบประมาณกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างห้องน้ำ และรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ธนาคารโลกให้เงินกู้เพิ่มอีก 1,500 ล้านดอลลาร์ นี่คือรูปธรรมการปฏิรูปการขับถ่ายกลางแจ้งของอินเดีย
ในกลุ่มนักเดินทางด้วยจักรยาน 16 คน มีผู้หญิงร่วมเดินทางสามคน 1. มัลลิกา เจริญวงศ์ 2. ปิยนารถ ธรรมวัฒนะ 3. วิราภรณ์ ว่องเจริญ
“ไม่รู้สึกว่าลำบาก” วิราภรณ์บอกทันที โดยเทียบเคียงประสบการณ์การมาอินเดียเมื่อ 10 ปีก่อน เธอโดยสารรถบัสที่เมื่อรถจอดให้ทำธุระ ผู้ชายอินเดียกรูกันลงรถลงไปหาพุ่มไม้ข้างทาง แต่เธอกับเพื่อนสาวไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ การปัสสาวะใส่ถุงพลาสติกแล้วโยนออกนอกหน้าต่างรถบัสเมื่อ 10 ปีก่อนคือภูมิคุ้มกันให้แก่วิราภรณ์
ห้องน้ำที่สะอาดและมิดชิดน่าจะเป็นเซฟตี้โซนเล็กๆ ในการเดินทางของผู้หญิง เธอยืนยันว่า ถ้ารักจะทัวริ่ง “เราต้องพร้อมเผชิญสภาพนั่งยองๆ ตักน้ำในส้วมมาอาบ ถ้าเราอยากสบายเราก็นอนอยู่บ้าน อาบน้ำที่บ้าน”
ง่ายๆ แต่จริง
เงื่อนไขชีวิตของวิราภรณ์แตกต่างจากนักเดินทางคนอื่นๆ เธอออกแบบให้การงานกับชีวิตมีสัดมีส่วน ในหนึ่งปีจึงทำงาน 3-6 เดือน เวลาที่เหลือคือฟรีไทม์
เธอรู้ว่าตนต้องการชีวิตแบบไหน และออกแบบให้เป็นเช่นนี้ตั้งแต่อายุยังไม่เต็มสามสิบ
พี่วิ-วิราภรณ์ แบ่งพาร์ทชีวิตในหนึ่งปีออกเป็นสองส่วน พำนักที่เมืองปารีสและกรุงเทพฯ ทำงานและใช้ชีวิต อยากรู้อะไรก็ไปเรียน อยากท่องเที่ยวก็ออกเดินทาง และเล่นกีฬาอย่างหักโหม
ชีวิตของวิราภรณ์คืออุดมคติของมนุษย์ตั้งแต่ Gen Y ลงไปจนถึง Digital Nomad แต่พี่วิของข้าพเจ้าเป็นคน Gen X – ถ้านับตามเกณฑ์อายุ
วิราภรณ์แตกต่างสิ้นเชิงจาก มัลลิกา เจริญวงศ์ หรือ แม่หน่อง
เมื่อสี่ปีก่อน ข้าพเจ้าเคยร่วมเดินทางด้วยจักรยานกับแม่หน่อง และพยายามจะเรียก พี่หน่อง เธอไม่อนุญาตพร้อมกำกับโดยอ้อมให้เรียก ‘แม่’
หญิงวัย 56 ขี่จักรยานเชื่องช้า สวมกางเกงพิมพ์ลายพื้นถิ่น ตะกร้าสานอย่างงานหัตถกรรมลาวห้อยท้ายรถ
“แกค่อยๆ ไปของแกเรื่อยๆ จังหวะของพี่หน่องสม่ำเสมอ เทมโปแกนิ่ง ถ้าเราปั่นตามหลังพี่หน่อง มันเป็นการเรียนรู้ที่ดีมาก” พี่วิ-วิราภรณ์ แสดงความคิดเห็นถึงแม่หน่อง
สี่ปีต่อมา ข้าพเจ้าพบแม่หน่องอีกครั้งที่สปิติวัลเลย์ ปีนี้แม่หน่องอายุ 60 อายุเท่าแม่บังเกิดเกล้าของข้าพเจ้า เกิดและเติบโตในเมืองเดียวกันกับแม่ เส้นด้ายไม่รู้ชื่อผูกพันข้าพเจ้าไว้กับแม่หน่อง แต่อย่างมีระยะ ไม่มากไปหรือน้อยไป
หลังเออร์ลีรีไทร์ปี 2552 แม่หน่องขออนุญาตลูกสาวทั้งสี่ออกเดินทางท่องโลกกว้างด้วยจักรยาน ทั้งชีวิตเป็นครูสอนชั้นประถมในสังคมอีสาน แม่หน่องเป็นผู้หญิงที่เติบโตมากับวัฒนธรรมแบบที่ผู้หญิงทำงานหนัก ประคับประคองลูกและครอบครัว ชนิดที่เรียกว่า “ไม่ได้เงยหน้าดูฟ้า”
รัฐบาลมีโครงการเออร์ลีรีไทร์ ลูกสาวสามคนแรกเรียนจบ และพร้อมซัพพอร์ตน้องสาวคนสุดท้าย แม่หน่องขออนุญาตลูกสาวทั้งสี่ออกจากบ้านไปปั่นจักรยาน – ท่องโลกกว้าง
ทริปแรก ซื้อทัวร์จากเชียงใหม่ไปภูเก็ต แม่หน่องใช้เวลา 28 วัน ประสบพบอาการไข้ขึ้น รถล้ม ชนหมาจำนวนสองตัวที่ประจวบคีรีขันธ์ หัวเข่าแตก ปั่นต่อไม่ได้ ต้องใส่เฝือก แต่ “ไม่กลับ เพราะยังไม่ถึงภูเก็ต ใช้สิทธิ์ให้เต็มที่ เราจ่ายไปแล้วนี่ ไปทั้งเฝือก ไม้ค้ำจั๊กกะแร้ ไปจนถึงภูเก็ต จักรยานก็เอาขึ้นรถเซอร์วิส ตอนนั้นอายุ 52”
กิจกรรมท่องโลกกว้างเพิ่งเริ่มต้น เธอเริ่มมองหากลุ่มทัวริ่งกลุ่มอื่นๆ กลุ่มเกษียณอายุก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับเธอ จากนั้นเริ่มหัดออกเดินทางคนเดียว แล้วพบว่า “ชอบมาก มันอิสระเนาะ เราอยากจะหยุดหรือพักหรืออยากจะกิน อยากจะยืนดูอะไรนานๆ ทำได้หมด เพราะอยู่คนเดียว เรารู้สึกว่าปั่นคนเดียวมันใช่กว่า แต่ก็ไม่รังเกียจกลุ่มนะ ไปกับกลุ่มเหมือนเดิมอยู่”
ระหว่างทางมีสายตาคลางแคลงบ้าง คำถามในดวงตาคนพื้นถิ่นที่ไปเยือนฟ้องออกมาว่า “บ้ารึเปล่า”
“เราเป็นผู้หญิงด้วย ถ้าเป็นผู้ชาย เขาคงไม่สงสัย แต่ถ้าเป็นผู้หญิง บางคนก็ชื่นชมเรา บางคนก็คลางแคลง”
แม่หน่องยังคงทำตามฝัน นั่นคือ ท่องโลก ลาว เวียดนาม มาเลเซีย – ไปคนเดียว เตรียมตัวรอบคอบ เคยกระทั่งเขียนแผนเดินทางรอบโลกด้วยจักรยาน หาสปอนเซอร์สนับสนุน แต่โครงการล้มพับ ฝันสลาย ช่างมัน เดินทางเท่าที่ไหว ไม่เบียดบังตัวเองและครอบครัว
การเดินทางด้วยจักรยานให้ประสบการณ์ใหม่แก่เธอ – การปรับตัวเข้าหาผู้อื่น
“ด้วยความที่เราอยู่แต่กับครอบครัว ก้มหน้าเลี้ยงลูก ไม่ได้ออกสังคมอะไรทั้งสิ้น ในการออกมาปั่นจักรยานก็เหมือนการเริ่มต้นใหม่กับสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเราแก่ก็ยิ่งยากในการปรับตัว แต่ก็พยายาม”
วัยชราปรับตัวยากกว่าคนหนุ่มสาว ไม่ว่าคุณ ‘จะแก่’ หรือ ‘จะเก่ง’ มาจากไหน เมื่อคุณมาอยู่กับวัยเด็กกว่า คุณจะต้องปรับตัวมากกว่าพวกเขา แม่หน่องบอกข้าพเจ้าเช่นนั้น
“เพราะอะไรครับ” ใคร่รู้ยิ่ง
“ไม่รู้…” แม่หน่องอ้ำอึ้ง “สิ่งใหม่สำหรับคนแก่จะยากกว่า เด็กหนุ่มสาวอาจจะมองว่าง่ายหรือธรรมดา แต่ผู้ใหญ่จะยาก ทำไมมันยาก เป็นเพราะคิดว่าตัวเองเก๋ากว่ารึเปล่า…ไม่รู้ เลยไม่ยอมรับ น่าจะอย่างนั้นนะ คิดว่าตัวเองเก๋ากว่า มันเลยปรับตัวยาก”
เป็นคำตอบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ยังคงเดินทางท่องไปเรียนรู้สิ่งที่ตนสนใจ หญิงสาวบางคนเข้ามาจีบแม่หน่อง นึกว่าเธอชอบผู้หญิงเหมือนกัน แต่ “ไม่ใช่ ฉันเป็นผู้หญิง” แม่หน่องลากเสียงยาวเฟื้อย
เวลานั่งบนอานจักรยาน แม่หน่องเหมือนภิกษุณีเงียบในโลกข้างในตน วันที่ 9 และ 10 ของการเดินทาง แม่หน่องเดินทางด้วยจักรยานไม่ไหว เหมซ์แวะรับขึ้นรถระหว่างทาง สีหน้าของเธอเครียดและกังวล พี่เหมซ์ยกจักรยานขึ้นท้ายรถเซอร์วิส เจ้าของเดินขึ้นไปนั่งด้านหน้า เหงาหงอยเหมือนเด็กหญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปเล่นกับเพื่อนที่สนามหญ้า
ระหว่างเลาะเลียบแม่น้ำสปิติ อีกด้านคือภูเขาหินมีทางน้ำที่ไหลละลายจากหิมะเป็นทางธาร พี่เหมซ์จอดรถกะทันหัน แม่หน่องลงจากรถ เดินเริงร่าไปหาแผ่นน้ำแข็งสีมอซอขนาดใหญ่ที่ถูกย้ายให้พ้นทางสัญจรริมน้ำสปิติ ลูบคลำสัมผัสแผ่นน้ำแข็ง เธอตื่นเต้นกับแผ่นน้ำแข็งที่ร่วงลงมาจากภูเขาเหมือนเด็กหญิงร่าเริงเมื่อรถน้ำแข็งไสผ่านหน้าบ้านวันอากาศร้อน เป็นของขวัญชดเชยที่ไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนที่สนามหญ้า
“มาทริปนี้ เรารู้ตัวเองว่าแก่ไปมาก” แม่หน่องบอก
คำถามเกิดขึ้นมากมาย ทำไม ทำไม และทำไม ทำไมเราจึงปั่นไม่ได้ ก็คนอยากปั่นอยากเดินทางด้วยจักรยาน แต่ร่างกายไม่สามารถทนแรงกระแทกของหินในหุบเขาสปิติได้ “กระแทกปึกปัก มันไม่เหมือนคนหนุ่มนะ กระดูกมันจะแตกสลายให้ได้ ก็เลยยอมรับสภาพตัวเอง ก็นั่งรถสองวัน ปั่นไม่ได้เลย ลองแล้วนะ ไม่ใช่ไม่ลอง”
ระหว่างฟังเรื่องราวของแม่หน่อง ข้าพเจ้าคิดถึงผู้หญิงอีกคนที่อายุเท่ากับแม่หน่อง เกิดและเติบโตในเมืองเดียวกับแม่หน่อง ทำงานและเลี้ยงลูกชนิดไม่ได้เงยหน้ามองฟ้าเหมือนแม่หน่อง จึงถามแม่หน่องออกไป แต่ในใจคิดถึง ‘สาวใหญ่แห่งวัยชรา’ อีกคนหนึ่งนั้น
(วิคตอร์ อูโก เคยเปรียบเปรยว่า “สี่สิบคือผู้เฒ่าของวัยหนุ่ม ส่วนห้าสิบคือคนหนุ่มของวัยชรา” ข้าพเจ้าจึงพลิกแพลงไปว่า หกสิบก็คือสาวใหญ่แห่งวัยชราที่สุมขุมลุ่มลึก)
“เรามักคิดว่าแม่ไม่มีความฝันแล้ว แม่ทำงานและเลี้ยงพวกเรานั่นคือความสุขแม่แล้ว แม่ไม่เคยบอกเลยครับว่าอยากไปประกวด The Mask Singer หรืออยากเดินทางรอบโลก แต่คนเป็นแม่ก็น่าจะมีความฝันซ่อนไว้อยู่ตลอดเวลาใช่มั้ย” ข้าพเจ้าถามแม่ ราวกับต้องการรู้ความลับที่ไม่เคยสงสัยมาก่อน
“มี แต่เก็บไว้ไง” แม่หน่องตอบเร็ว “ตอนนี้เราทำตรงนี้ก่อน ทำตรงนี้ให้เสร็จ แล้ววันหนึ่งจะถึงเวลาของฉันบ้าง แม่ไม่เคยทิ้งฝันเลย ขอส่งลูกถึงฝั่งก่อน เดี๋ยวถึงเวลาของแม่บ้าง กำลังใจเรามันไม่หมดไปนะ ไม่เคยหมดกำลังใจที่จะเดินทางออกไปข้างนอก ไม่เคยหายไปไหนเลย เราเก็บไว้ก่อน…รอก่อน นั่นแหละ เป็นคนแบบนี้…ห้ามไม่ฟัง เพราะแม่เป็นคนรั้นมาก ตอนออกเดินทางคนเดียว ลูกๆ ก็ห้ามนะ เพราะกลัวแม่ได้รับอันตราย ไหนใครจะดูแล แม่ไม่กลัว…แม่จะไป แม่อยู่คนเดียว ออกไปข้างนอกจะส่งผลดีกว่าที่จะให้เราอยู่บ้านเหมือนผู้หญิงคนอื่น ดูแลครอบครัว นั่งดูโทรทัศน์ตั้งแต่เช้าจนดึก…ไม่เอา โทรทัศน์แม่ก็ไม่ดู”
นี่คือความฝันของแม่หน่องที่เริ่มต้นทำมันตอนอายุ 52 วันนี้ในวัย 60 แม่หน่องยังคงทำมันอยู่ ทริปหน้าแม่หน่องจะออกเดินทางขึ้นเหนือเพียงลำพัง เลาะตะเข็บความทรงจำเมื่อครั้งเคยมาขี่จักรยานริมพื้นที่ชายแดนทางภาคเหนือ การเดินทางครั้งนี้แม่หน่องพยายามจะเลี่ยงเส้นทางที่มีองศาความชันสูงๆ และ “น้ำหนักของกระเป๋าอาจจะต้องลดลง อาหารการกินอาจต้องซื้อ เสื้อผ้าสองชุดพอ กางเกงปั่นสองตัว เต็นท์ต้องเตรียม…เวลามียุง นอนรีสอร์ท ต้องนอนรีสอร์ท ไม่กล้ากางเต็นท์ตามวัด เพราะไปคนเดียว แต่ถ้าไปพักที่พื้นที่อุทยานฯ ก็กางได้เพราะคนเยอะ ทางที่คุ้นเคยเราก็ไม่กลัว”
นี่คือแผนเตรียมการเดินทางคร่าวๆ ของหญิงวัย 60 กับกางเกงพิมพ์ลายพื้นถิ่นสีสดใส