วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะมีการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เพื่อคัดสรรตัวแทนในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนและบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ โดยเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นวันสุดท้าย
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 และนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนได้ฝ่ายละ 7 คน
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นจะต้องมีสัญชาติไทย มีสถานะเป็นผู้ประกันตน หรือเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม 2566) และมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน ส่วนกรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลจะต้องอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจและหากเป็นผู้มีอำนาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 แห่ง จะสามารถเลือกใช้สิทธิได้แห่งเดียว
สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ https://sbe.sso.go.th/sbe/
โดยขั้นตอนการลงทะเบียนมีดังนี้
- ก่อนเข้าสู่ระบบการใช้งาน เลือกใช้สิทธิในฐานะผู้ประกันตนหรือนายจ้าง
- ใส่ข้อมูลเลขประจำตัวบัตรประชาชน ชื่อ-นามสกุล เลขหลังบัตรประชาชน และวันเดือนปีเกิด
- กรอกข้อมูลเบอร์ติดต่อและเลือกพื้นที่เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง
- กดยืนยันการลงทะเบียนใช้สิทธิ
เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว สามารถตรวจสอบผลการลงทะเบียนและสถานที่เลือกตั้งได้ในเว็บไซต์ของประกันสังคมในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
นอกจากนี้นายคารมยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สามารถสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โทร. 02-956-2222 ในวันและเวลาราชการ หรือหากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ จังหวัด สาขาทุกแห่ง หรือที่สายด่วน 1506”
ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดให้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หลังจากมีการเรียกร้องมาอย่างยาวนานจนนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2558 และการเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีส่วนความสำคัญในการกำหนดบทบาทของบอร์ดประกันสังคมในประเด็นต่างๆ อาทิ การเสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมตามพระราชบัญญัติ การออกกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ การวางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน หรือการวางระเบียบเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง รวมไปถึงการพิจารณางบดุลและรายงานการรับเงินของกองทุนฯ และรายงานผลปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น
อ้างอิง:
- การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม
- ประกาศ หลักเกณฑ์ และคุณสมบัติ การเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม