Start-Up: ความหมายใหม่ของความสำเร็จและเป้าหมายในชีวิตของคนรุ่น Start-Up

เเต่ละคนนิยามความสำเร็จและเป้าหมายในชีวิตแตกต่างกัน อีกทั้งเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเลือกทางเดินในชีวิต คำถามเเละคำเเนะนำของคนรอบข้างก็ประดังเข้ามาในความคิดทำให้เราลังเลใจ เเต่เป็นไปได้ไหมว่าเราจะตัดสินใจด้วยความรู้สึกของตัวเราเอง หลายคนคงบอกว่าได้ แต่พอเกิดขึ้นจริงก็ยากที่จะปฏิเสธ เพราะการตัดสินใจไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องของครอบครัว แฟน เพื่อน หรือคนในสังคมที่อยากให้ตัวเราเป็นไปตามที่เขาคาดหวังและภูมิใจ

คำที่เรามักได้ยินจากญาติผู้ใหญ่ คือ “ต้องตั้งใจเรียนนะ พอได้เกรดดีๆ แล้วจะมีงานมั่นคง เลี้ยงดูครอบครัวได้” แล้วเคยตั้งคำถามกลับไปหาพวกเขาไหมว่า ถ้าเราตั้งใจเรียน แต่เกรดไม่ดี หรือเราอาจจะไม่ได้เรียนสูงๆ แต่มีงานมั่นคง เลี้ยงดูครอบครัวได้ ทำแบบนี้ เราจะผิดไหม?  

ถ้าคุณเคย อยากให้ลองดูซีรีส์เกาหลีเเนว coming of age เรื่อง Start-Up เพราะซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนคำถามเหล่านั้นออกมาอย่างหมดเปลือก ทั้งเรื่องการศึกษา ครอบครัว ภาพลักษณ์ และสังคม เนื่องจากเป็นเรื่องราวการทำตามความฝันของคนรุ่นใหม่ด้วยการเริ่มต้นธุรกิจของตนเองที่แทบจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้ แต่สุดท้ายบทเรียนระหว่างทางก็ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จและคนรอบข้างเองก็ยอมรับ

บทความนี้จึงอยากจะเสนอเส้นทางในโลกความจริงที่ผ่านเรื่องจริงที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญ และอยากจะนิยามความหมายใหม่ของคำว่าความสำเร็จและเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างจากสิ่งที่สังคมยุคก่อนช่วยกันนิยาม

ความฝัน ความหวัง และเป้าหมาย

นิยามความฝัน ความหวัง และเป้าหมายของคนเกาหลีใต้รุ่นก่อนคือ การประสบความสำเร็จและมีความมั่นคงในชีวิตผ่านการทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่บอก หรือเดินตามกรอบของสังคมตามแนวคิดของลัทธิขงจื๊อที่บอกว่า ‘ตัวเราจะพัฒนาผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติตามกรอบศีลธรรม’ ไม่ต่างจากประเทศไทยที่พ่อแม่บอกว่า ให้ลูกหลานตั้งใจเรียน มีการศึกษาที่ดี เรียนสูงๆ จะได้มีงานที่มั่นคง เข้าไปทำงานบริษัทเอกชนฐานเงินเดือนสูง หรือทำงานข้าราชการที่มีสวัสดิการครอบคลุมคุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัว

แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่ในปี 2021 กำลังแสวงหาและอยากประสบความสำเร็จจากการเริ่มต้นสิ่งใหม่ที่พวกเขาเป็นคนกำหนดเอง ขณะเดียวกันไม่ใช่ทุกคนจะทำความฝัน ความหวัง และเป้าหมายของตัวเองได้สำเร็จ เพราะแต่ละคนเข้าถึงคุณภาพชีวิตและโอกาสทางการศึกษาที่แตกต่างกันเหมือนกับตัวละครใน Start-Up

พนักงานจ้างชั่วคราวที่เรียนจบแค่ชั้น ม.ปลาย อย่าง ซอดัลมี ก็กำลังต่อสู้ดิ้นรนกับความยากจนและขนบของคนรุ่นก่อนที่บอกต่อกันว่า การศึกษาที่ดีจะช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จ จนมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ฮันจิพยอง ก็เป็นบทสรุปของชีวิตเด็กกำพร้าที่ใช้ความสามารถเปลี่ยนชีวิตให้เป็นนักลงทุนได้ และ นัมโดซาน ค้นพบเส้นทางชีวิตของตัวเอง หลังเดินออกจากความภาคภูมิใจของพ่อแม่ 

ซอดัลมี นัมโดซาน และ ฮันจิพยอง

ไม่ใช่แค่ทั้ง 3 ตัวละครในเกาหลีใต้อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เยาวชนไทยยังหวังที่จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีงานที่มั่นคง รายงานผลสำรวจของมูลนิธิคนไทย ปี 2014 ระบุว่า เยาวชนไทยร้อยละ 63 อยากเรียนจบให้สูงๆ และร้อยละ 44 อยากมีงานที่ดีและมั่นคง ถึงแม้พวกเขาจะอยากเรียนในระดับการศึกษาที่สูง แต่ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม ‘iSEE ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ รายงานว่า ในเขตกรุงเทพมหานครยังมีเด็กอยู่นอกระบบการศึกษาถึง 300,000 คน 

อีกทั้งยังมีนักเรียน 250 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือเพราะยากจน ตามรายงานการเฝ้าระวังด้านการศึกษาโลกประจำปี 2020 (2020 Global Education Monitoring Report) ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) 

Follow Your Dream ทำตามความฝันของตัวเอง 

คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่ส่งผลต่อความฝัน ความหวัง และเป้าหมายของชีวิตเปลี่ยนไป ด้วยการเลือกเส้นทางชีวิตจากสิ่งที่พวกเขาเป็นคนเลือกเอง 

ในซีรีส์เรื่อง Start-Up ว่าด้วยเรื่องเส้นทางธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ที่เริ่มต้นจากการฝ่าฟันอุปสรรคในการทำธุรกิจ แต่ความจริงแล้วในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่าง เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม แอร์บีเอ็นบี หรือเว็บไซต์รีวิวอาหารยอดนิยมของประเทศไทยอย่าง วงใน ต่างมีผู้บริหารเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมายหรือเป็นทายาทเศรษฐี แต่พวกเขามองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากเทคโนโลยีในอนาคต 

ส่งผลให้ปัจจุบันคน Gen Z ที่เกิดหลังปี 1995 อยากจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง และหันมาสนใจการทำธุรกิจสตาร์ทอัพและสร้าง VC (venture capital) หรือการก่อตั้งบริษัทระดมทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจที่น่าสนใจและมีการเติบโตของคนในเจเนอเรชั่นเดียวกัน

ผลการศึกษาของ Nielson บอกว่า 54 เปอร์เซ็นต์ ของคน Gen Z ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองและกำลังตั้งคำถามว่า ค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยยังจำเป็นไหมสำหรับความสำเร็จในอนาคต รวมถึงผลสำรวจของมหาวิทยาลัย Bently ปี 2018 ระบุว่า 2 ใน 3 หรือ 67 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ทำแบบสอบถามที่เป็นยุค Millennium เกิดตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา มองเป้าหมายในชีวิตคือการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง

แต่พวกเขาก็ต้องยอมรับว่า เส้นทางที่เขาเลือกอาจจะไม่ได้สวยงามเหมือนที่คิด เพราะนัมโดซานเองก็เดินออกจากกรอบความภูมิใจของพ่อแม่ในตัวลูกชายเพื่อเปิดบริษัทร่วมกับเพื่อน แต่สุดท้ายบริษัทซัมซานเทคมาถึงทางตันแล้วต้องปิดตัวลง แล้วเขาก็ไปเริ่มต้นการเดินทางและประสบการณ์ครั้งใหม่ที่ต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาวาดเส้นทางอนาคตด้วยตัวเขาเองจนประสบความสำเร็จในที่สุด

เส้นทางใหม่ที่เราเป็นคนเลือกเอง

ความเชื่อของคนรุ่นก่อนในเกาหลีใต้บอกต่อกันมาว่า บริษัทใหญ่อย่างแชโบล (กลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีผลต่อตัวเลขจีดีพีของเกาหลีใต้) คือความมั่นคงและความสำเร็จในชีวิต แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ เส้นทางนี้ไม่ใช่คำตอบของชีวิต เพราะพวกเขารับรู้มาตลอดว่า บรรพบุรุษต้องเรียนและทำงานหนักในการตอบโจทย์นโยบายการศึกษาที่กำลังสร้างญาติผู้ใหญ่ของพวกเขาเป็นนักรบอุตสาหกรรมและแรงงานที่ขยันขันแข็ง มาช่วยเหลือประเทศที่กำลังยากจนจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีก่อน

ข้อมูลจากหนังสือ มหัศจรรย์เกาหลี: จากเถ้าถ่านสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ระบุอีกว่า แม้ทุกวันนี้ค่านิยมการทำงานหนักจะเริ่มจางหายไป แต่พนักงานบริษัทก็ยังคงต้องก้มหน้าทำงานต่อไป โดยในปี 2017 พนักงานเกาหลีใต้ทำงานกว่า 2,193 ชั่วโมง ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมองค์กรจัดอันดับเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  

รวมถึงข้อมูลของซัมซุง อธิบายเพิ่มเติมว่า พนักงานร้อยละ 74.4 รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ทำให้พวกเขาเป็นโรคซึมเศร้า ไม่เพียงเท่านั้น คนทำงานส่วนใหญ่ยังมีวุฒิการศึกษาสูงกว่าคุณสมบัติที่บริษัทตั้งไว้ ทำให้การแข่งขันของคนเกาหลีใต้ไม่ได้จบลงหลังจากเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ยังคงต้องแข่งขันในโลกการทำงานด้วย

อีกทั้งผลสำรวจของรัฐบาลเกาหลีใต้ในช่วงกลางปี 2020 พบว่า ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และผู้ที่ตั้งใจจะเข้าสู่ตลาดแรงงานแต่ยังไม่ได้เริ่มหางานทำ มีอัตรากึ่งว่างงานร้อยละ 25.6 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของแรงงานทั้งหมด สตาร์ทอัพจึงเป็นธุรกิจแนวใหม่ที่เกาหลีใต้กำลังผลักดันเพื่อกอบกู้ภาพรวมเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่กำลังหยุดชะงัก การหวังพึ่งการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหมือนก่อนคงจะเป็นไปไม่ได้ และเป็นอีกทางเลือกในการทำงานให้กับนักศึกษาจบใหม่ที่อยู่ในภาวะว่างงาน

รัฐบาลเกาหลีใต้จึงยอมสนับสนุนเงินทุนกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2017 พร้อมกับกระทรวงศึกษาธิการยังใส่หลักสูตรการเริ่มต้นสตาร์ทอัพไว้ในนโยบายการศึกษาเรื่องการเตรียมพร้อมผู้เรียนสู่สังคมในด้านต่างๆ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งขยายวิชาเอกสู่ความต้องการของสังคม (majors geared toward social demand) ที่สามารถช่วยเหลือนักศึกษาจบใหม่ปี 2017 จำนวน 15,000 คน ให้มีงานทำ และสนับสนุนการตั้งชมรมสตาร์ทอัพด้วย

นอกจากนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์ Seoulz ปี 2018 บอกว่า ปัจจุบันสตาร์ทอัพในเกาหลีใต้มีอยู่เกือบ 30,000 ราย และมีพนักงานอีก 100,000 คน อีกทั้งยังมียูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์) อยู่ 12 เเห่ง ทั้งหมดนี้คงจะเป็นตัวเลขที่บ่งบอกได้ว่า สตาร์ทอัพในเกาหลีใต้กำลังอยู่ในช่วงบ่มเพาะและรอวันที่จะเทียบชั้นกับนานาชาติได้

บทสรุปนิยามความสำเร็จ

“บางทีการได้เตร็ดเตร่บ้างก็ไม่เห็นเป็นไร บางทีการเเล่นเรือโดยไร้เเผนที่ ก็ยอดเยี่ยมได้เหมือนกัน” 

นี่คือบทเรียนของ ซอดัลมี ที่เรียนรู้เเล้วว่า กรอบเดิมของสังคมอาจจะไม่ได้นำพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จได้ เเต่การเดินทางเเบบไม่วางเเผนก็สามารถทำให้พวกเขาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตได้ เหมือนที่เธอเลือกจะไปทำงานบริษัทของพี่สาวที่เธออยากเอาชนะมาตั้งเเต่ต้นเรื่อง

นัมโดซานเเละซัมซานเทคเลือกจะปิดบริษัท เเล้วเริ่มทางเดินที่พวกเขาเลือกไปหาความรู้ที่สหรัฐอเมริกา มองหาเป้าหมายระยะสั้นในชีวิต เเทนที่จะตั้งเป้าหมายสูงเหมือนกับที่ผ่านมา ส่วนฮันจิพยองเองก็พัฒนาธุรกิจของตัวเองเพื่อช่วยเหลือสังคมนอกเหนือจากเเสวงหากำไร

บทเรียนของแต่ละตัวละครเป็นภาพสะท้อนเป้าหมายและความสำเร็จในชีวิตที่ไม่ได้หมายถึงปลายทางที่มีคนมาชื่นชมหรือยอมรับในตัวพวกเขา แต่ความสำเร็จนี้กำลังพูดถึงวันที่ล้มเหลวว่าพวกเขามีวิธีกลับมาลุกขึ้นและเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นสังคมไทยหรือสังคมเกาหลีคงจะไม่มีใครอยากถูกบันทึกว่าเป็นคนล้มเหลวในสายตาของคนอื่น

อีกทั้งความจริงแล้วไม่ใช่แค่กับดักของความคิด ค่านิยม หรือความเชื่อ รวมถึงแรงกดดันของคนในสังคมที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กล้าที่จะเดินออกจากเซฟโซนของตัวเอง แต่ระบบโครงสร้างและสภาพแวดล้อมทางสังคมก็เป็นส่วนสำคัญที่จะเอื้อให้พวกเขาได้ทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง

ในโลกความจริง การทำธุรกิจสตาร์ทอัพอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จภายใน 3 ปี เหมือนในซีรีส์เรื่องนี้ เพราะความสำเร็จในการทำธุรกิจมีทั้งความเสี่ยงและความไม่แน่นอน แต่เชื่อว่าวันหนึ่งจะเป็นเวลาของเราที่จะเป็นคนหนึ่งที่คนอื่นยอมรับ ไม่เพียงแค่การทำธุรกิจ แต่หมายรวมถึงทุกความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคน 

คุณอาจจะลองถามตัวเองในวันนี้เลยก็ได้ว่า ความสำเร็จและเป้าหมายในชีวิตคืออะไร?

อ้างอิง

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
นักศึกษาจบใหม่ที่ชอบดูซีรีส์เกาหลีเเละสนใจ soft power ทุกรูปเเบบ เชื่อว่างานบันเทิงคือเเรงขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า