ศิลป์สถานะ: ศิลปินที่ดีคือศิลปินที่เลว

ที่มาภาพ: สำนักพิมพ์ยิปซี

  • เมื่อวงการศิลปะร่วมสมัยไทย หมกมุ่นอยู่กับระเบียบทางศิลปะ ศีลธรรม ความดี สร้างผลงานยึดติดกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เอาแต่เข้าใจถึงธรรมชาติ เข้าถึงความเชื่อทางศาสนา ผลงานศิลปะต้องสะอาด สว่าง สงบ
  • ศิลปินต้องจงรักภักดีอย่างสูงที่มนุษย์พึงมีได้ต่อพระผู้เป็นเจ้า ทำให้การกระทำงานศิลปะจะเป็นไปเพื่อถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า
  • พูดง่ายๆ ศิลปินที่ดีต้องอุทิศตนและทุกข์ทรมานตนเพื่อสิ่งนี้ ยอมเหนื่อยและทำงานอุทิศตนเพื่อถวายพระผู้เป็นเจ้าด้วยใจอันสงบสุข
  • ฉะนั้นไม่แปลกที่ศิลปินพวกนี้ไม่สนใจโลกความเป็นจริง ไม่สร้างสรรค์งานเพื่อคนในสังคม สร้างสรรค์งานสะท้อนปัญหาทางสังคมและการเมือง

บางส่วนจากบทสนทนาในงานเปิดตัวหนังสือ ศิลป์สถานะ เขียนโดย ถนอม ชาภักดี

‘ศิลป์สถานะ’ หนังสือวิจารณ์วงการศิลปะไทย ยาขมของศิลปินไทยร่วมสมัย

เชื่อหรือไม่ ในประเทศไทยมีอาจารย์สอนศิลปะที่ไม่เคยสร้างสรรค์งานศิลปะ ‘สร้างสรรค์งานศิลปะ’ – ในที่นี้ หมายถึงการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หรือศิลปะแขนงอื่นๆ

ถนอม ชาภักดี คืออาจารย์สอนศิลปะคนที่เรากล่าวถึง

วงการศิลปะวิจารณ์ยกให้เขาเป็นนักวิจารณ์ศิลปะปากจัดคนหนึ่ง เพราะเคยมีคนพูดถึงถนอมว่า เมื่อใดที่เขาเดินทางไปดูงานของศิลปินคนไหน ศิลปินคนนั้นก็มักจะได้รับคำวิจารณ์ ถึงขั้นไม่อยากคบหาสมาคมกับเขาก็มี

เพื่อนสนิทของเขาอย่าง กฤติยา กาวีวงศ์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (The Jim Thompson Art Center) บอกว่า ถนอม คือคนที่กล้าเลือกเดินทางสายงานศิลปะที่ไม่เหมือนเพื่อนในวงการ โดยการเป็นนักวิจารณฺ์ศิลปะที่กล้าหาญและโดดเดี่ยวตั้งแต่ปี 2527 จนเพื่อนในวงการศิลปะของเขาได้ดิบได้ดีจากการเป็นศิลปิน

“ถนอมแน่วแน่บนเส้นทางนี้อย่างเยือกเย็น จนเพื่อนในวงการศิลปะไม่คบ” กฤติยากล่าวสั้นๆ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563 งานเปิดตัวหนังสือที่รวบรวมบทวิจารณ์ศิลปะของเขาตั้งแต่ปี 2527-2543 ชื่อ ศิลป์สถานะ State of the Art; on Thai Contemporary Art ของถนอม จัดพิมพ์โดยสํานักพิมพ์ยิปซี จัดขึ้น ณ ห้องไอยรา พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ภายในงานมีเพื่อนของถนอมและคนในวงการศิลปะและการเมืองร่วมสนทนาถึงหนังสือของเขาได้อย่างน่าสนใจ

เส้นทางนักวิจารณ์ศิลปะในสังคมที่เกลียดการถูกวิจารณ์

เส้นทางการเป็นนักวิจารณ์ศิลปะของถนอม ถูกบอกเล่าผ่าน ‘คำนำ’ ของหนังสือเล่มนี้ว่า เขาเริ่มเข้าสู่วิถีของการเป็นนักวิจารณ์ศิลปะเมื่อปลายทศวรรษ 2520 หลังจากดั้นด้นไปเรียนการวิจารณ์ศิลปะที่ประเทศอังกฤษ โดยเขียนบทวิจารณ์ศิลปะลงนิตยสารและวารสารต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน

“ประวัติศาสตร์ศิลป์ในประเทศไทยไม่ยึดโยงกับสังคม วัฒนธรรม การเมืองของผู้คน ซึ่งเป็นสิ่งน่าเวทนาอย่างยิ่ง”

ถนอม ชาภักดี ศิลปิน นักวิจารณ์ศิลปะ และอาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาพจากสํานักพิมพ์ยิปซี

ถนอมบอกอีกว่า การเป็นนักวิจารณ์ศิลปะในประเทศไทยไม่ได้ง่าย เพราะต้องเผชิญกับระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ของคนในวงการศิลปะ รวมถึงต้องเผชิญความท้าทายในการวิจารณ์ถึงสถาบันทางสังคมต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์งานของคนศิลปะ ที่ทำให้การวิจารณ์นั้นต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง

“การวิจารณ์ศิลปะไม่ค่อยได้รับความสนใจและตอบรับจากคนในวงการศิลปะมากนัก ด้วยเพราะการวิจารณ์ถือเป็นยาขมสำหรับผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ”

เขากล่าวอีกว่า เมื่อศิลปะในประเทศนี้ไม่ได้ผลิตสร้างเพื่อตอบสนองต่อการรับรู้ทางอารมณ์และรสนิยมปัจเจก เพราะศิลปะในประเทศนี้คือนิยามแห่งความดี ความงามที่ต้องการการชื่นชม ทำให้การวิจารณ์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา

“ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงมิติประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างสังคม การเมือง วัฒนธรรม ในแต่ละช่วงปี พ.ศ. เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดแหว่งในการบันทึกประวัติศาสตร์ศิลป์กระแสหลักที่มักไม่ถูกหยิบมาพูดถึง”

หนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย

สำหรับ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขามองว่า หนังสือเล่มนี้คือ หนังสือประวัติศาสตร์ของศิลปะร่วมสมัยของสังคมไทย

“หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสต์ศิลปะในยุคหนึ่งของไทยที่เกิดขึ้นและหายไป และจะไม่เกิดขึ้นอีก มันฉายภาพงานศิลปะกับสภาพสังคมในอดีตที่เราอาจจะไม่ได้เห็นอีก” บัณฑิตกล่าว

เขาอธิบายอีกว่า หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่เก็บภาพความทรงจำเกี่ยวกับงานศิลปะและศิลปินสร้างงานศิลปะตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 ถึงทศวรรษที่ 2550 ที่เกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว

ทัศนัย เศรษฐเสรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่

ทัศนัย เศรษฐเสรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมสนทนา มองว่า หนังสือเล่มนี้เสมือนกระจกส่องสะท้อนคนในวงการศิลปะไทยที่ติดกับดักทางความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมการสร้างสรรค์งานศิลปะ

“ในสังคมไทย ศิลปินต้องสร้างสรรค์ผลงานที่ต้องยึดโยงกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปินที่ดี และถึงจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติที่มีชื่อเสียง” ทัศนัยกล่าว

หนังสือของถนอมเล่มนี้ พยายามวิจารณ์คนในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยที่ยังยึดติดกับระเบียบทางศีลธรรมทางศาสนาพุทธ ความเป็นคนดี สะอาด สว่าง สงบ อีกทั้งต้องการสังคมที่มีความปรองดอง

ทัศนัยมองว่า ระเบียบทางศีลธรรมที่เชื่อมโยงกับศาสนาพุทธ ต่างเป็นตัวปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ และการปลดปล่อยพลังแห่งอิสระเสรีในการสร้างสรรค์สังคม

“ถนอมพยายามต่อต้านแนวคิดในการสร้างสรรค์ศิลปะที่ทำให้งานศิลปะไม่รับใช้สังคม ไม่รับใช้ผู้คน” ทัศนัยกล่าว

ทัศนัยบอกว่า แหล่งบ่มเพาะศิลปินไทยในลักษณะข้างต้น เริ่มมาจากในโรงเรียนผลิตนักเรียนศิลปะ เช่น วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่มีคณะสอนศิลปินยังมีกิจกรรมรับน้องใหม่ที่มีลักษณะอำนาจนิยมอยู่ เช่น นักศึกษาชายที่เข้ามาใหม่ต้องตัดผมเกรียน แต่งกายเหมือนกัน ต้องเคารพนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาก่อน เป็นต้น

“บางมหาวิทยาลัยกำหนดกฎชัดเจนเลยว่า ทุกคนที่เข้ามาศึกษาที่นี่ต้องสละละทิ้งตัวตน ชื่อเสียงเรียงนามแล้วต้องตั้งชื่อขึ้นมาใหม่เพื่อเรียกขานกันในคณะ” ทัศนัยกล่าว

สำหรับทัศนัย กรณีดังกล่าวสะท้อนว่า คนในวงการศิลปะไทย หรือใครอยากเป็นศิลปินที่ดี ล้วนแล้วต้องละทิ้งตัวตนเพื่อมาอยู่รวมกันในโลกใหม่ และทำสัญญากันว่าจะสร้างโลกใหม่ด้วยกัน ซึ่งละทิ้งสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงมาอยู่ในโลกของศิลปะด้วยกัน

“ทุกคนเป็นพี่น้องกันตามลำดับชั้น และพี่น้องตามลำดับชั้นนี้จึงปฏิเสธเรื่องความคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค” ทัศนัยกล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า ศิลปินไทยส่วนใหญ่มักจะเข้าวัด แสวงหาหนทางไปสู่โลกในอุดมคติที่ตัวเองคิดว่าดี โดยละทิ้งปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม พูดง่ายๆ ผลงานทางศิลปะของคนเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม

“ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ที่บอกว่าตัวเองมีความเป็นตัวตน ขี้โม้ คนเหล่านี้อยู่ภายใต้ระเบียบของความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมตั้งแต่เริ่มต้น” ทัศนัยกล่าว

ทัศนัยบอกว่า แม้แต่ ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังบอกว่าจิตวิญญาณทางศิลปะที่แท้จริงคือการเข้าใจธรรมชาติ ศิลปินที่ดีต้องมีความเชื่อทางศาสนาเหมือนกับนักบวชในศาสนา มีความเชื่อว่าธรรมชาติ ศาสนา ศิลปะมันเป็นเรื่องเดียวกัน

ตรงนี้สะท้อนชัดเจนว่าศิลปินที่ดีต้องมีศีลธรรม มีระเบียบศีลธรรมกำกับชีวิต ดังนั้นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่จะเข้าใจความจริงทั้งสามส่วนนั้นได้ ศิลปินต้องจงรักภักดีอย่างสูงที่มนุษย์พึงมีได้ต่อพระผู้เป็นเจ้า ทำให้การกระทำงานศิลปะจะเป็นไปเพื่อถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า

“พูดง่ายๆ ศิลปินที่ดีต้องอุทิศตนและทุกข์ทรมานตนเพื่อสิ่งนี้ ยอมเหนื่อยและทำงานอุทิศตนเพื่อถวายพระผู้เป็นเจ้าด้วยใจอันสงบสุข” ทัศนัยกล่าว

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ฉะนั้นไม่แปลกที่ศิลปินพวกนี้ไม่สนใจโลกความเป็นจริง ไม่สร้างสรรค์งานเพื่อคนในสังคม สร้างสรรค์งานสะท้อนปัญหาทางสังคมและการเมือง

Author

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ สนใจประเด็นสิทธิมนุยชน และชอบฝังตัวเพื่อฟังเสียงชาวบ้านโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน นอกจากทำมาหากินผ่านการเขียนข่าวและบทความแล้ว ยังเป็นจิตอาสาคอยลีดกีตาร์เพลงร็อคขับกล่อมผู้คนบนโลกออนไลน์โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า