เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพ: อิศรา เจริญประกอบ
[…] สักพักใหญ่ๆ เจ้าหน้าที่ร่างสูงผิวขาวซีดและเจ้าหน้าที่ตัวโตผิวคล้ำก็ประคองเด็กสาวผู้น่าสงสารที่หายไปกลับออกมาส่งที่รถ
เธอก้มหน้านิ่ง ผมยาวสยายของเธอแผ่เต็มกลางหลัง เพราะมันไม่มียางรัดของไว้มัดรวบแล้ว เธอพยายามปีนกลับขึ้นรถด้วยท่าทางที่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เห็นได้ชัดว่ามือและขาของเธอแทบจะควบคุมไม่ได้ เธอแทบจะก้าวขึ้นบนรถไม่ไหวด้วยซ้ำ เด็กสาวไม่ได้พยายามจะพูดหรือสื่อสารอะไรกับฉันหรือน้องสาวของเธออีก แต่ดวงตาบวมช้ำและแดงก่ำของเธอบอกอะไรฉันได้มากมาย […][1]
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า เรื่องแต่งบางครั้งหรือบ่อยครั้งบอกเล่าความจริงได้ดีเสียยิ่งกว่าตัวความจริงนั้นเอง ยิ่งหากเรามีอคติ แทบทุกครั้งตัวความจริงนั้นบางครั้งอาจถูกปฏิเสธด้วยความรักในชาติ หรือไม่ก็ถูกปฏิเสธด้วยความชังจากความเชื่อในคุณความดี จนบ่อยครั้งที่เราลืมถามถึงสิ่งสำคัญกว่าพรมแดนของเชื้อชาติ และจริยธรรมของจารีตศาสนา นั่นคือ มนุษยธรรม
มูลนิธิอภิวัฒน์สาธารณสุขไทย (ภวส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนพูดคุยเสวนาว่าด้วยเรื่องราวของทารกแรกเกิดที่พ่อแม่จำต้องทอดทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล เหตุเพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าทำคลอด และด้วยพวกเขาเหล่านั้นเป็นแรงงานข้ามชาติผู้หาเช้ากินค่ำ
วงสนทนาเล็กๆ ชวนสังคมให้ตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นไหม?
ทำไมทุกวันนี้จึงเกิดเด็กไร้สัญชาติขึ้นมากมาย?
ทำไมแรงงานข้ามชาติจึงเลือกที่จะทิ้งลูกของตนเอง?
ทำไม และทำไม ฯลฯ
ไม่มีใครอยากทิ้งลูก
ภาคภูมิ แสวงคำ มูลนิธิรักษ์ไทย ในฐานะที่ติดตามสถานการณ์เด็กไร้สัญชาติมาตั้งแต่ปี 2537 ด้วยการลงพื้นที่สมุทรสาครเพื่อส่งเสริมความรู้ในการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดให้กับแรงงานข้ามชาติ บอกเล่าว่า โดยข้อเท็จจริงไม่ได้มีแรงงานข้ามชาติมากมายนักที่เลือกจะไม่จ่ายค่าทำคลอดเนื่องจากไม่มีเงิน ขณะที่อีกหลายคนก็เลือกที่จะผ่อนผันด้วยการชำระเป็นงวดๆ
การทอดทิ้งลูกให้เป็นภาระของโรงพยาบาลอาจมีอยู่บ้างบางกรณี แต่ส่วนมากจะเป็นกรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่างเช่นแรงงานชาวไทใหญ่ในจังหวัดสมุทรปราการที่ถูกนายหน้าข่มขืน กว่าจะรู้ว่าตั้งท้องก็ผ่านไปแล้ว 8 เดือน เมื่อหากเป็นนายจ้างที่มีสำนึกรับผิดชอบ เมื่อทราบเรื่องแล้วก็ทำหน้าที่นายจ้างที่ดีด้วยการพาแรงงานมาปรึกษากับมูลนิธิ จนมีทางออกให้เก็บเด็กไว้แทนการทำแท้งเนื่องจากอายุครรภ์ที่มากแล้ว เกรงจะไม่ปลอดภัย จากนั้นจึงประสานสถาบันสังคมสงเคราะห์ในการรับเด็กไปดูแลเพื่อจะหาพ่อแม่บุญธรรมรับไปอุปการะต่อไป
“คำถามที่ว่ามีไหมที่ทิ้งลูกตัวเอง ส่วนมากแล้วไม่ทิ้งนะครับ เขาก็มองเรื่องบาปเหมือนกัน เพราะพวกเขาก็เป็นชาวพุทธ”
เมื่อมองปัญหาย้อนกลับไป ภาคภูมิเล่าว่าสมัยก่อนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์จะอาศัยหมอตำแยที่เป็นชาวเมียนมาร์ด้วยกันทำแท้งให้ วิธีทำแท้งก็คือ ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นแทงเข้าไปในช่องคลอดเพื่อให้ตกเลือด
“ผลปรากฏว่ามีแม่จำนวนไม่น้อยที่ติดเชื้อและเกือบเอาชีวิตไม่รอด” – นั่นเป็นสมัยที่แรงงานข้ามชาติยังไม่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย และยังไม่มีระบบการซื้อประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ
กระนั้น ปัญหาแรงงามข้ามชาติเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายยังปรากฏอยู่เนืองๆ ภาคภูมิอธิบายว่าเป็นเพราะภายในรอบปีที่รัฐจะเปิดให้แรงงานมาขึ้นทะเบียนได้นั้น มีแรงงานข้ามชาติบางส่วนที่ขึ้นทะเบียนไม่ทันและรอไม่ได้ด้วยภาระปากท้องของครอบครัวที่รออยู่ การลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจึงเกิดขึ้น แรงงานที่หลั่งไหลเข้าสู่ระบบโดยไม่มีบัตรประจำตัว ไม่มีประกันสุขภาพจึงเพิ่มจำนวน เมื่อเจ็บป่วย พวกเขาจึงต้องเผชิญความเสี่ยง
สิทธิของมนุษย์ทุกคน
“เรื่องของสาธารณสุข เรื่องของสุขภาพ เราต้องเข้าใจในหลักการพื้นฐานก่อนว่า การให้บริการสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ เป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนหมายความว่า คนทุกคนต้องได้รับ” สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิช่วยเหลือสังคมเพื่อเด็กและสตรี กล่าวต่อในประเด็นเรื่องเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายว่า ไม่ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นจะเข้าเมืองมาอย่างถูกหรือผิดกฎหมาย แต่สิทธิในการได้รับการบริการด้านสาธารณสุขจากรัฐจะต้องไม่มีการยกเว้น
หากทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการไม่ขึ้นทะเบียนของแรงงานข้ามชาติ สุรพงษ์ยกตัวอย่างพื้นที่ที่อำเภอป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับโลก โดยที่โรงพยาบาลป่าตองต้องรับภาระการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยในอัตราค่าบริการต่อหัวที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ปัญหามาจากงบประมาณที่ไม่ตรงกับจำนวนตัวเลขของผู้ที่หลั่งไหลเข้าสู่ป่าตอง ซึ่งไม่จำกัดเพียงแค่แรงงามข้ามชาติที่ขึ้นหรือไม่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนไทยที่เข้ามาพักอาศัย มาทำการค้า ตลอดจนนักท่องเที่ยว ซึ่งมีจำนวนนับแสนๆ คน
“พอมีภาระต้องดูแลคนเยอะ แต่งบน้อย ก็ต้องบริหารโรงพยาบาลให้อยู่รอด ถามว่าจะแก้ปัญหายังไง ขั้นแรกก็ต้องเอาคนที่เข้ามาอยู่ในป่าตอง ไม่ว่าจะมาเที่ยวหรือมาทำอะไรเข้าสู่ระบบทั้งหมด คนไทยก็ขึ้นทะเบียนแบบคนไทย คนที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายก็ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก็ขึ้นทะเบียนอย่างผิดกฎหมาย แล้วนำเข้าสู่ระบบงบประมาณ โรงพยาบาลก็จะดูแลคนได้ดีขึ้น สะดวกขึ้น ไม่เป็นภาระอย่างที่เป็นในปัจจุบันนี้”
ภาษีเรา ไฉนจ่ายให้เขา
อีกประเด็นที่สุรพงษ์บอกเล่าคือ ในเรื่องเงินภาษีที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์กันในทำนองว่าเงินภาษีของคนไทย ทำไมต้องไปจ่ายค่ารักษาให้กับแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย แถมยังให้การรักษาฟรี ในเรื่องนี้สุรพงษ์กล่าวว่า แม้เงินภาษีจะเป็นเงินที่ต้องนำไปใช้บริหารบ้านเมือง แต่เงินภาษีไม่ใช่เงินที่ใครจ่ายมากจะได้รับบริการมากกว่าคนอื่น
“เราจ่ายเงินภาษีเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อจะได้รับบริการคืนนะครับ แต่เพราะคุณมีรายได้ในแผ่นดินนี้ ใครมีรายได้ในแผ่นดินนี้มากต้องเสียภาษีมาก ใครมีรายได้ในแผ่นดินนี้น้อยก็จ่ายน้อย ใครมีรายได้น้อยจริงๆ รัฐก็ยกเว้นให้”
หวนมาดูสถานะรายได้ของแรงงานข้ามชาติ สุรพงษ์กล่าวว่า ภาษีในบริบทที่เราเข้าใจมี 2 ส่วน คือ ภาษีทางตรงกับภาษีทางอ้อม ภาษีทางตรงก็คือภาษีจากรายได้ส่วนบุคคลที่จะต้องจ่ายให้กับรัฐ อีกส่วนหนึ่งคือภาษีทางอ้อม หรือ VAT 7% ไม่ว่าเราจะขึ้นรถ ลงเรือ ซื้อกับข้าว ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ล้วนมี VAT อยู่ในนั้นทั้งหมด คำถามที่สุรพงษ์ถามคือ แล้วแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องจ่ายไหม
“จ่ายเหมือนกันหมดครับ ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ใช่ว่าเป็นแรงงานต่างด้าวเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วไม่ต้องเสีย VAT นะครับ ขึ้นรถลงเรือก็ต้องจ่ายหมดครับ แล้วเขาอยู่ในประเทศไทย เขาก็มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ไม่มีใครอยู่ได้โดยไม่ใช้เงิน ยกเว้นบวชเป็นพระนั่นอีกเรื่องหนึ่ง”
ทั้งหมดที่สุรพงษ์ต้องการบอกคือ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย ทุกคนล้วนต้องเสียภาษี เมื่อพวกเขาเสียภาษีให้กับแผ่นดิน สิทธิในการรักษาพยาบาลจึงเป็นสิทธิที่พวกเขาควรได้รับ
เมื่อมีสิทธิ ทำไมไม่ใช้
คำถามต่อมาในวงเสวนาคือ ในเมื่อมีทั้งสิทธิและประกันสุขภาพให้แล้ว ทำไมแรงงานข้ามชาติบางส่วนจึงไม่ไปใช้สิทธิ ภาคภูมิอธิบายเรื่องนี้โดยแบ่งเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ตัวแรงงานเองประการที่หนึ่ง ตัวนโยบายจากภาครัฐประการที่สอง และตัวสถานพยาบาลเองประการสุดท้าย
“ถามว่าประกันสุขภาพ 3,200 บาทต่อสองปี แพงไปไหม ก็ถือว่าไม่แพงมาก กระทรวงสาธารณสุขก็มีวิธีคิดอยู่ว่า หลักการนี้เป็นหลักการที่สมเหตุผล และไม่เป็นภาระทางการเงิน”
ในส่วนของนโยบาย ภาคภูมิมองว่าเป็นปัญหาในเชิงประชาสัมพันธ์ที่แรงงานข้ามชาติบางส่วนไม่ได้รับข้อมูลในเรื่องนี้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นแรงงานในภาคการเกษตรต่างๆ บางส่วนก็อยู่ในพื้นที่ที่การเดินทางค่อนข้างลำบาก การจะให้แรงงานข้ามชาติลางานเพื่อมาซื้อประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลในตัวเมืองจึงเป็นไปได้ยาก
“ดังนั้น ข่าวสารเดียวที่พวกเขาจะได้คือจากนายหน้าหรือแรงงานข้ามชาติด้วยกัน ถ้านายหน้าบอกราคา 4,000 บวกกำไร พวกเขาก็ต้องซื้อตามที่นายหน้าบอก เพราะนายหน้าเป็นคนไปยื่นเรื่องให้ ชีวิตพวกเขาต้องผูกกับนายหน้าเป็นหลัก ทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่าราคาประกันสุขภาพเท่าไหร่กันแน่ ใช้ได้กี่ปี ใช้ได้กับทุกโรคไหม ซึ่งเป็นคำถามที่แรงงานในพื้นที่มักจะถามอยู่เรื่อยๆ”
ขณะที่สถานพยาบาลเองก็มีปัญหาอย่างที่สุรพงษ์ได้บอกเล่า ว่าทางโรงพยาบาลสามารถกำหนดนโยบายเองได้ ดังนั้น หากเกิดกรณีแรงงานข้ามชาติมาซื้อประกันสุขภาพน้อย เงินที่ทางโรงพยาบาลจะได้รับจากกองทุนประกันสุขภาพก็จะได้น้อยตามลงไปด้วย ปัญหาที่เกิดตามมาคือโรงพยาบาลต่างๆ ออกประกาศยกเว้นการรักษาด้วยยาในโรคบางประเภท เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV รวมถึงแรงงานที่ตั้งครรภ์ อีกทั้งยังกำหนดเกณฑ์ในการซื้อประกัน จะต้องมีแรงงานไม่น้อยกว่า 50 คนต่อ 1 โรงงาน
“ฉะนั้น แรงงานก็จะเกิดปัญหาว่าหากเขาจะซื้อประกันสุขภาพเฉพาะตัวเองหรือเฉพาะครอบครัวไม่ได้ ก็ต้องรอเพื่อนในโรงงานเดียวกันมาซื้อพร้อมๆ กัน เพราะโรงพยาบาลเขามองเรื่องความคุ้มทุน นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีเงื่อนไขที่เกินความจำเป็น กล่าวคือ ต่อให้คุณเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย มีใบลงทะเบียนถูกต้องแล้ว หากคุณจะซื้อประกันสุขภาพ คุณจะต้องไปขอสำเนาบัตรประชาชนของนายจ้างมาด้วย ซึ่งนายจ้างคนไทยก็จะไม่ค่อยมอบสำเนาไปให้ใครมั่วๆ ฉะนั้น การที่ทางโรงพยาบาลขอเอกสารพวกนี้เพิ่มเติมขึ้นมาก็ทำให้เป็นปัญหาด้วยเหมือนกัน”
รัฐขาดทุนจริงหรือไม่
สุรพงษ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องตัวเลขผู้ซื้อบริการประกันสุขภาพ ซึ่งรัฐจะต้องจ่ายให้กับบริการด้านสุขภาพราว 600 ล้านบาทต่อปี ขณะที่แรงงานผิดกฎหมาย ผู้มีรายได้น้อย คนไร้บ้าน รัฐต้องจ่ายอีก 300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ทำให้เกิดข้อวิจารณ์กันว่ารัฐขาดทุนจากการเข้าไปอุ้มบริการเหล่านี้
“ถามว่ารัฐขาดทุนจริงไหม” สุรพงษ์โยนคำถามขึ้นก่อนจะอธิบายว่า แรงงามข้ามชาตินั้นซื้อประกันสุขภาพเป็นเงิน 3,200 บาทต่อ 2 ปี นั่นเท่ากับว่ารัฐได้เงินล่วงหน้ามาแล้ว 1,600 บาทต่อปี หากแรงงานข้ามชาติทั้งหมดขึ้นทะเบียนครบเท่าที่มีการประมาณ ณ ปัจจุบันที่ 1 ล้านคน รัฐก็จะมีเงิน 1,600 ล้านบาทต่อปี
“นี่เป็นเงินที่กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับ โดยจะจ่ายไปจริงๆ 900 ล้านบาท ถามว่ากำไรหรือขาดทุนครับ”
แม้คำตอบจะชัดเจน แต่สุรพงษ์ก็ไม่ปฏิเสธว่า ตัวเลขที่ได้อธิบายไปเป็นแต่เพียงตัวเลขในระดับภาพรวม ในขณะที่ภาพย่อยลงไปยังโรงพยาบาลแต่ละแห่งที่ประสบปัญหาขาดทุน เช่น ที่อำเภอแม่สอด หรือสมุทรสาครที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากนั้น เป็นปัญหาจากการไม่ขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเรื่องงบประมาณที่ขาดทุนตามที่มีการนำเสนอออกมาก่อนหน้านี้
ไม่มีใครอยากเข้าโรงหมอ
ภาคภูมิกล่าวเสริมในเชิงพฤติกรรมของแรงงานข้ามชาติที่ไม่ต่างจากคนไทย โดยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มองเรื่องการเสียรายได้จากการทำงานในแต่ละวันเป็นหลัก เพราะพวกเขาต่างมีภาระที่รอคอยอยู่ข้างหลัง โดยที่แรงงานข้ามชาติหากไม่เจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล มักจะเลือกไปคลินิกของเอกชนในช่วงเย็นหลังเลิกงานแทนมากกว่า แม้จะจ่ายแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ
ด้วยเหตุนี้ คลินิกตามอำเภอต่างๆ ที่มีแรงงานข้ามชาติจึงเกิดขึ้นอย่ารวดเร็ว บางคลินิกถึงขั้นมีล่ามแปลภาษา มีป้ายแสดงภาษา เพื่อให้บริการแรงงามข้ามชาติโดยเฉพาะ
สอดคล้องกับสุรพงษ์ที่กล่าวว่า การให้บริการด้านสาธารณสุขปัจจุบัน เรามองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหรือมองเป็นเรื่องธุรกิจ หากจะแก้ปัญหาการขาดทุนด้วยการขึ้นเบี้ยประกัน เราต้องทบทวนคำถามทั้งสองนี้ด้วย ถ้าเรามองการบริการด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน จำเป็นที่เราต้องควบคุมราคาประกันสุขภาพไม่ให้แพงไปกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งต้องคำนึงเรื่องการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง
“ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการไม่ดูแลจากรัฐมีมาตลอด ถึงขนาดมีบางคนเสนอว่า แรงงานพวกนี้ถ้าตั้งครรภ์ควรส่งกลับประเทศ เพราะเป็นภาระของประเทศ คือ ต้องเข้าใจว่าการที่มนุษย์มาทำงานด้วยกัน ใกล้ชิดกัน แล้วเกิดมีลูกขึ้นมา เป็นเรื่องปกติของธรรมชาติที่ต้องเป็นแบบนี้”
ความรับผิดชอบในนามของรัฐ
สุรพงษ์ยังระบุอีกว่า มีกรณีที่แม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติกลัวถูกส่งกลับแล้วไปทำแท้งอย่างผิดกฎหมาย แต่กลับต้องเสียชีวิตไป ซึ่งในอีกมุมหนึ่งรัฐก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อรัฐไม่รับผิดชอบ ปัญหาที่ส่งผลต่อมาคือ กรณีที่แม่ของเด็กไม่พร้อมดูแล ด้วยเงื่อนไขของสวัสดิการต่างๆ ด้วยข้อจำกัดจากสถานพยาบาล ตลอดจนด้วยการเอารัดเอาเปรียบจากมนุษย์ด้วยกัน แม่ของเด็กจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องทิ้งเด็กไว้ในโรงพยาบาล อย่างน้อยก็เชื่อว่าโรงพยาบาลคงไม่ทอดทิ้ง และในที่สุดก็อาจหาคนดูแลลูกได้
สุรพงษ์ยังกล่าวอีกว่า จำเป็นที่นายจ้างจะต้องส่งเสริมให้ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติรับรู้ข้อหนึ่งว่า การไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าทำคลอดนั้น เป็นเพียงหนี้สินทางแพ่ง ไม่ทำให้ติดคุก โรงพยาบาลไม่สามารถยึดบัตรหรือกักขังหน่วงเหนี่ยวให้จ่ายค่ารักษาก่อนได้ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจริงคือ มีโรงพยาบาลหลายแห่งร่วมมือกับตำรวจและตำรวจตรวจคนเข้าเมืองข่มขู่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้
เด็กไร้สัญชาติ
ภาคภูมิเล่าเสริมกรณีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นกับหญิงชาวกะเหรี่ยงอายุ 18 ซึ่งคลอดลูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยนายจ้างที่เป็นหมอไม่รับทราบมาก่อนว่าแม่ของเด็กตั้งครรภ์อ่อนอยู่ก่อนแล้ว จนกระทั่งสอบถามจนได้ความจริงที่ชวนตกใจสำหรับทุกคนในห้วงเวลานั้น คือ ตำรวจไทยข่มขืนเด็กสาวชาวกะเหรี่ยงที่มีสัญชาติเมียนมาร์คนนี้จนท้อง
แม้ภาคภูมิจะบอกว่านี่เป็นเพียงคำกล่าวอ้างของเด็กสาวข้างเดียว ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นคือ หลังคลอด 1 เดือน เด็กสาวชาวกะเหรี่ยงก็หลบหนีออกจากโรงพยาบาล ทิ้งลูกให้อยู่ในความดูแลของนายจ้างที่ต้องรับอุปการะเด็กไร้สัญชาติต่อมาถึงอายุ 18
จนกระทั่งถึงวัยที่จะต้องเรียนมหาวิทยาลัย เด็กต้องเดินทางข้ามจังหวัดไปเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ตนเองสอบติด ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เด็กไม่เคยได้รับสัญชาติที่ถูกต้อง แม้จะได้รับการศึกษาตามกฎหมาย นายจ้างจึงมอบเด็กให้อยู่ในความดูแลของหัวหน้าคนงานที่เป็นหญิงทั้งคู่ และอยู่กินด้วยกัน ทั้งสองจึงรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอเรื่องต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.)
สุรพงษ์เองเสริมว่า จริงๆ แล้วหน่วยงานอย่าง พม. มีหน้าที่ในการดูแลเด็กที่ถูกทอดทิ้ง หากผู้อุปการะดูแลไม่ดีหรือดูแลไม่ได้ ซึ่งในมุมมองของสุรพงษ์มองว่ายังเป็นไปได้ยาก เพราะ พม.ยังไม่อนุญาตให้รับเด็กไร้สัญชาติมาเป็นบุตรบุญธรรม
ทางออกของปัญหา
ภาคภูมิกล่าวว่าการจะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ การส่งเสริมในเรื่องป้องกันการตั้งครรภ์เป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขคือ มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อประชาสัมพันธ์ รวมถึงมีกิจกรรมให้ความรู้
“เราจะต้องบอกให้เขารู้ว่า การวางแผนครอบครัวเป็นสิทธิ การจะมีลูกก็เป็นสิทธิ รวมถึงการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งก็เป็นสิทธิที่เขาจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่การที่เขาจะไปตัดสินใจอย่างนั้นได้ มันจะต้องขึ้นอยู่กับการมีฐานข้อมูลก่อน มีความรู้ระดับหนึ่งก่อนที่จะตัดสินใจอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัย และไม่เป็นภาระต่อตัวเองและครอบครัว”
คำตอบที่เหมือนไม่มี
เมื่องานเสวนาจบลงพร้อมคำถามและคำตอบที่ยังคงไม่แน่ชัดว่า ท้ายที่สุดแล้ว ทางออกของปัญหามีอยู่จริงไหม ฉากและใบหน้าของเด็กสาวในเรื่องสั้น ดอยรวก ที่เคยอ่านเมื่อนานมาแล้วก็กลับปรากฏขึ้น
ระหว่างเด็กสาวที่เอาชีวิตมาทิ้งที่ดอยรวกกับเด็กสาวที่ทอดทิ้งลูกของตนไว้บนแผ่นดินอื่น
เรื่องบางเรื่องอาจดีกว่าจริงๆ ถ้าทำใจว่ามันคือเรื่องแต่ง