หากหัวใจไม่สามัญ: หากยังพอมองเห็นใบหน้าของพวกเขา

1

“…ในเมือง เราอาจโดดเดี่ยวกลางฝูงชน อันที่จริงสิ่งที่ทำให้เมืองเป็นเมืองคือมันยอมให้เราซ่อนดวงจิตพิสดารไว้ภายใต้ฝูงชนหลากหลาย

ยามที่เนริมันเดินอยู่กลางฝูงชน มีเหตุผลสองข้อที่เมฟลุตชอบผ่อนฝีเท้าลงในบางครั้งและทิ้งระยะห่างให้มากขึ้น

1. การมองเห็นจุดสีน้ำตาลแดงในฝูงชนและบอกได้เสมอว่าเนริมันจะไปทางไหน ไม่ว่าอยู่ไกลแค่ไหน ทำให้เมฟลุตรู้สึกว่ามีความใกล้ชิดทางจิตวิญญาณแบบพิเศษเหลือเกิน

2. ตึกราม ร้านค้า หน้าต่างร้าน ผู้คน ป้ายโฆษณา และโปสเตอร์หนังที่ขวางกั้นอยู่ ดูเหมือนเป็นชิ้นส่วนหลากหลายของชีวิตที่เขาใช้ร่วมกับเนริมัน เมื่อจำนวนก้าวระหว่างกันทวีมากขึ้น ก็ดูราวกับว่าพวกเขามีความทรงจำร่วมกันมากขึ้น…”

2

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้

…เวลาเราพูดถึงคนจนเมือง มีสองสิ่งที่ต้องพูดถึงคือ หนึ่ง – ที่มาที่ไปของเขา สอง – ก็คือสิทธิของเขา และอาจจะต้องเพิ่มอีกเรื่องหนึ่งคือบทบาทของเขาที่มีต่อเมือง โดยไม่ควรเริ่มมองคนจนเมืองในฐานะที่เป็นภาระ…

พอมองสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน ข้อที่จับใจเราแต่แรกที่มองข้ามไปในหากหัวใจไม่สามัญเมื่อเทียบกับ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา คือ เรื่องนี้พูดถึงความรักในสเกลที่ใหญ่มากขึ้นแต่กลับผูกโยงเรื่องราวอยู่กับกลุ่มคนระดับล่างๆ ของตุรกี คนขายของหาบเร่ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ซึ่งในอีกสถานะก็คือกลุ่มคนจนเมืองในบริบทที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์พูดถึง

ความรักในสเกลใหญ่ขึ้นของ หากหัวใจไม่สามัญ จัดวางตัวเองในแง่ของความรับผิดชอบ อย่างน้อยก็ตั้งแต่พาร์ทเปิดเรื่อง เมื่อ เมฟลุต ต้องรับผิดชอบใช้ชีวิตกับหญิงสาวผิดฝาผิดตัว จนมาถึงเรื่องราวในหนหลังของเมฟลุตและการอพยพเข้ามาหาบเร่เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในอิสตันบูล ซึ่งหากเทียบกับท่าทีของรัฐ-ไม่ว่าเป็นรัฐไหน-ความรับผิดชอบอาจไม่เคยมีอยู่ในมันสมอง

กระนั้นเรื่องราวใน หากหัวใจไม่สามัญ ก็ไม่ได้มีบรรยากาศที่ค่อนไปในทางหดหู่และจริงจัง ถึงขั้นต้องกางตำราว่าด้วยประวัติศาสตร์ของตุรกีเพื่ออ่านประกอบนิยายขนาดนั้น

ผู้เขียน – ปามุกยังคงเป็นปามุก อาศัยหยิบยืมปากของตัวละครเพื่อบอกเล่าถึงสารที่ตนอยากสื่อในลักษณะของวงกลมของเรื่องเล่าที่วนไปเรื่อยๆ หลากหลายมุมมอง ซึ่งสะท้อนทัศนะต่อบริบทประวัติศาสตร์ของตุรกีในช่วงทศวรรษนั้นผ่านสายตาของชนชั้นล่าง ซึ่งถูกอนุญาต-แน่นอนโดยตัวปามุกเอง-ให้มีความรู้ขึ้นมาเพื่อที่การสอดแทรกทัศนะของผู้เขียนลงไปในเนื้อเรื่องผ่านปากของตัวละครจะได้ไม่เคอะเขินมากนัก

ทว่าไม่อาจปฏิเสธได้แน่นอนว่า ภายใต้กรอบของการพัฒนาโดยรัฐที่แทบไม่เคยเหลียวแลคนยากคนจน ซึ่งอาจเป็นเหมือนกันในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่มีระบอบความคิดแบบรัฐจารีตครอบงำค่อนข้างสูง ยังเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นลายเซ็นของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวตุรกีผู้นี้ โดยไม่ลืมแง่มุมโรแมนติกของความรักที่ดูเหมือนตัวปามุกเองจะค่อนข้างนิยมชมชอบกับความรวดร้าว และการปะทะทางความคิดระหว่างหญิง/ชาย ระหว่างจารีต/เสรี อยู่เสมอ ดั่งจะเห็นได้ตั้งแต่ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ที่เทียบเคียงความรักอันบริสุทธิ์กับตุรกีในแง่งามของประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหวนคืน

มาจนถึง หากหัวใจไม่สามัญ

จะด้วยจงใจหรือเป็นเพียงการหยิบยืมปากตัวละครจนเผลอไผลไปในแง่ของการวิพากษ์ที่ย้อนกลับมาวิจารณ์ตัวละครของปามุกเอง ตัวละครอย่าง เคลมาน ใน พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ที่แม้จะมีความรักอันมั่นคงต่อ ฟูซุน ผ่านการล่อหลอกและล่อลวงอย่างชาญฉลาดเมื่อเทียบกับเมฟลุตที่ใช้วิธีบุกไปลักพาตัวหญิงสาวจากครอบครัวเจ้าหล่อนเพียงเมื่อมารู้ภายหลังว่าผิดคนแล้ว ตัวละครอย่างเคลมานจึงแทบไม่แตกต่างจากทัศนคติของชนชั้นกลางในหลายประเทศ และอาจรวมถึงบางประเทศที่ทำได้เพียงสร้างสิ่งรำลึกถึงคนรัก ของรัก ที่จากไปเพื่อแสดงออกถึงเรื่องราวในอดีตอันชอกช้ำและการสำนักผิดของตนเอง

เราจึงได้เห็นพิพิธภัณฑ์ที่ไร้ชีวิตมากมายที่ไม่เคยทำหน้าที่สัมพันธ์กับชุมชนหรือสังคม

เราจึงเห็นคนอย่างเคลมานและเมฟลุตที่ถูกฉีกอออกจากกันด้วยนโยบายทางการเมือง และกรอบจารีตประเพณีทางสังคมของรัฐ

ในขณะที่คนแบบเคลมานมีทุนทรัพย์ในการสร้างตำแหน่งแห่งที่ของความทรงจำตัวเอง แย่หน่อยที่คนแบบเมฟลุตแทบไม่มีใครจดจำ ด้วยความสามัญธรรมดาของคนหาบเร่ขายของไปทั่วเมืองอิสตันบูล หากไม่มีปากเสียงจากตัวปามุกเองในฐานะผู้เล่า จะมีสักกี่คนที่อยากรับรู้เรื่องราวชองคนหาบเร่ขายของ

หากไม่ใช่ผู้สนใจด้านรัฐศาสตร์-สังคม-นโยบายรัฐ และการก่อเกิดผลกระทบตั้งแต่ในวงกว้างจนมาถึงระดับแคบสุด ภายในสำนึกคิดของผู้คนแล้ว

เราจะอ่านเรื่องราวของพวกเขาไปเพื่ออะไรกัน?

นั่นอาจเป็นจุดที่แยกกันระหว่างรัฐกับประชาชน ระหว่างสามัญชนกับผู้มากบุญบารมี

แม้ไม่อาจมีพิพิธภัณฑ์ของตัวเองแบบเคลมาน อย่างน้อยเรื่องราวทั้งใน หากหัวใจไม่สามัญ และ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา โดยผู้เขียนคนเดียวกัน ก็ไม่พยายามยกย่องประวัติศาสตร์ตนเองให้เป็นประวัติศาสตร์ร่วมกันเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่มองประวัติศาสตร์อื่นของคนในชาติเหมือนรัฐ

รัฐที่ไม่เคยมองหัวของผู้คนสามัญ อย่าว่าแต่มองให้ถึงหัวจิตหัวใจ.

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า